นับตั้งแต่ไทยกับสหรัฐอเมริการ่วมลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ (Treaty of Amity and Economic Relations) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2509 ความสัมพันธ์ทางการค้า บริการ และการลงทุนระหว่างสองประเทศแน่นแฟ้นขึ้นเป็นลำดับ แต่เนื่องจากสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจขัดกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ เพราะไทยให้สิทธิพิเศษเฉพาะกับสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวโดยเฉพาะในด้านบริการและการลงทุน ทำให้รัฐบาลไทยต้องทบทวนจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องนี้ใหม่ก่อนจะถึงกำหนดสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2547
สาระสำคัญของสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
บุคคลและนิติบุคคลของสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนหรือประกอบกิจการในไทยจะได้รับการประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) ขณะที่บุคคลและนิติบุคคลของไทยที่เข้าไปลงทุนหรือประกอบกิจการในสหรัฐฯ จะได้รับสิทธิดังกล่าวเช่นกัน สนธิสัญญาไมตรีฯ ให้สิทธิพิเศษด้านบริการและการลงทุน อาทิ สิทธิในการจัดตั้งบริษัท สิทธิในการทำธุรกิจต่างๆ สิทธิในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญากับกิจการต่างๆ ยกเว้นการลงทุนหรือการประกอบกิจการ 6 ประเภท คือ การสื่อสาร การขนส่ง การดูแลทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น การธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการรับฝากเงิน การค้าภายในที่เกี่ยวกับผลิตผลทางการเกษตรพื้นเมือง และการแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นฝ่ายได้ประโยชน์อย่างมากจากสนธิสัญญาไมตรีฯ เนื่องจากมีความก้าวหน้าด้านธุรกิจบริการและการลงทุน จึงมีบุคคลและนิติบุคคลเข้ามาลงทุนในไทยและใช้สิทธิจากสนธิสัญญาไมตรีฯ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสิทธิที่อนุญาตให้บุคคลและนิติบุคคลของสหรัฐฯ ถือหุ้นกิจการในไทยได้ 100% (ขณะที่พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจคนต่างด้าวของไทยกำหนดให้บุคคลและนิติบุคคลของต่างประเทศมีสิทธิถือหุ้นกิจการในไทยได้ไม่เกิน 49%) ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทของสหรัฐฯ กว่า 1,000 แห่ง ใช้สิทธิตามสนธิสัญญาไมตรีฯ เข้ามาลงทุนหรือประกอบกิจการในไทย
สนธิสัญญาไมตรีฯ กับหลัก MFN ของ WTO
ตามมาตรา 4 ของสนธิสัญญาไมตรีฯ ไทยให้สิทธิพิเศษด้านบริการและการลงทุนแก่บุคคลและนิติบุคคลของสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวซึ่งขัดต่อ “หลักการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง” (Most-favoured Nation Treatment: MFN) ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการค้าบริการในกรอบการเจรจารอบอุรุกวัย (General Agreement on Trade in Services: GATS) ของ WTO ที่ไทยเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาการให้สิทธิตามสนธิสัญญาไมตรีฯ แก่สหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว รัฐบาลไทยได้ยื่นหนังสือต่อ WTO เพื่อขอยกเว้นการปฏิบัติตามหลัก MFN (MFN Exemption) เป็นเวลา 10 ปี ทั้งนี้ MFN Exemption กำลังจะสิ้นสุดลง ณ สิ้นปี 2547
สนธิสัญญาไมตรีฯ กับทางเลือกของไทยในอนาคต
หาก MFN Exemption สิ้นสุดลงและสนธิสัญญาไมตรีฯ ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ ประเทศสมาชิกของ WTO อีก 145 ประเทศ สามารถเรียกร้องตามหลัก MFN เพื่อขอใช้สิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาไมตรีฯ ที่เท่าเทียมกับสหรัฐฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการค้า บริการ และการลงทุนของไทยอย่างมาก
สำหรับทางเลือกของรัฐบาลไทยต่อกรณีที่ MFN Exemption กำลังจะสิ้นสุดลง ไทยอาจดำเนินการยกเลิกสนธิสัญญาไมตรีฯ ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ก่อนที่ MFN Exemption จะสิ้นสุดลง หรือไทยอาจยื่นเรื่องกับ WTO เพื่อขอต่ออายุ MFN Exemption ออกไปอีกซึ่งเป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้มาก นอกเหนือจากทางเลือกดังกล่าวไทยอาจนำสิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาไมตรีฯ เข้าไปรวมไว้ในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ระหว่างไทย-สหรัฐฯ เนื่องจากข้อตกลง FTA ไม่ถือว่าขัดกับหลัก MFN ของ WTO อย่างไรก็ตาม หากไทยเลือกวิธีการนี้รัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องรีบเจรจาจัดทำข้อตกลงดังกล่าวให้แล้วเสร็จและเริ่มบังคับใช้ก่อนที่ MFN Exemption จะสิ้นสุดลง
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สิงหาคม 2547--
-พห-
สาระสำคัญของสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
บุคคลและนิติบุคคลของสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนหรือประกอบกิจการในไทยจะได้รับการประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) ขณะที่บุคคลและนิติบุคคลของไทยที่เข้าไปลงทุนหรือประกอบกิจการในสหรัฐฯ จะได้รับสิทธิดังกล่าวเช่นกัน สนธิสัญญาไมตรีฯ ให้สิทธิพิเศษด้านบริการและการลงทุน อาทิ สิทธิในการจัดตั้งบริษัท สิทธิในการทำธุรกิจต่างๆ สิทธิในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญากับกิจการต่างๆ ยกเว้นการลงทุนหรือการประกอบกิจการ 6 ประเภท คือ การสื่อสาร การขนส่ง การดูแลทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น การธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการรับฝากเงิน การค้าภายในที่เกี่ยวกับผลิตผลทางการเกษตรพื้นเมือง และการแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นฝ่ายได้ประโยชน์อย่างมากจากสนธิสัญญาไมตรีฯ เนื่องจากมีความก้าวหน้าด้านธุรกิจบริการและการลงทุน จึงมีบุคคลและนิติบุคคลเข้ามาลงทุนในไทยและใช้สิทธิจากสนธิสัญญาไมตรีฯ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสิทธิที่อนุญาตให้บุคคลและนิติบุคคลของสหรัฐฯ ถือหุ้นกิจการในไทยได้ 100% (ขณะที่พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจคนต่างด้าวของไทยกำหนดให้บุคคลและนิติบุคคลของต่างประเทศมีสิทธิถือหุ้นกิจการในไทยได้ไม่เกิน 49%) ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทของสหรัฐฯ กว่า 1,000 แห่ง ใช้สิทธิตามสนธิสัญญาไมตรีฯ เข้ามาลงทุนหรือประกอบกิจการในไทย
สนธิสัญญาไมตรีฯ กับหลัก MFN ของ WTO
ตามมาตรา 4 ของสนธิสัญญาไมตรีฯ ไทยให้สิทธิพิเศษด้านบริการและการลงทุนแก่บุคคลและนิติบุคคลของสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวซึ่งขัดต่อ “หลักการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง” (Most-favoured Nation Treatment: MFN) ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการค้าบริการในกรอบการเจรจารอบอุรุกวัย (General Agreement on Trade in Services: GATS) ของ WTO ที่ไทยเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาการให้สิทธิตามสนธิสัญญาไมตรีฯ แก่สหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว รัฐบาลไทยได้ยื่นหนังสือต่อ WTO เพื่อขอยกเว้นการปฏิบัติตามหลัก MFN (MFN Exemption) เป็นเวลา 10 ปี ทั้งนี้ MFN Exemption กำลังจะสิ้นสุดลง ณ สิ้นปี 2547
สนธิสัญญาไมตรีฯ กับทางเลือกของไทยในอนาคต
หาก MFN Exemption สิ้นสุดลงและสนธิสัญญาไมตรีฯ ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ ประเทศสมาชิกของ WTO อีก 145 ประเทศ สามารถเรียกร้องตามหลัก MFN เพื่อขอใช้สิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาไมตรีฯ ที่เท่าเทียมกับสหรัฐฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการค้า บริการ และการลงทุนของไทยอย่างมาก
สำหรับทางเลือกของรัฐบาลไทยต่อกรณีที่ MFN Exemption กำลังจะสิ้นสุดลง ไทยอาจดำเนินการยกเลิกสนธิสัญญาไมตรีฯ ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ก่อนที่ MFN Exemption จะสิ้นสุดลง หรือไทยอาจยื่นเรื่องกับ WTO เพื่อขอต่ออายุ MFN Exemption ออกไปอีกซึ่งเป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้มาก นอกเหนือจากทางเลือกดังกล่าวไทยอาจนำสิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาไมตรีฯ เข้าไปรวมไว้ในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ระหว่างไทย-สหรัฐฯ เนื่องจากข้อตกลง FTA ไม่ถือว่าขัดกับหลัก MFN ของ WTO อย่างไรก็ตาม หากไทยเลือกวิธีการนี้รัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องรีบเจรจาจัดทำข้อตกลงดังกล่าวให้แล้วเสร็จและเริ่มบังคับใช้ก่อนที่ MFN Exemption จะสิ้นสุดลง
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สิงหาคม 2547--
-พห-