สรุปผลการประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับสินค้าเร่งลดภาษี ( Early Harvest Scheem : ESH )จำนวน 82 รายการ ภายใต้เขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 4, 2004 15:14 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กำหนดจัดประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับสินค้าเร่งลดภาษี (ESH) จำนวน 82 รายการ ภายใต้เขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย เพื่อระดมความคิดเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมทั้งหาแนวทางรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เมื่อวันพุธที่ 4 สิงหาคม 2547 เวลา 09.30 -15.00 น. ณ ห้องประชุม 30314 ชั้น 3  สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร) เป็นประธานการประชุม โดยมีคุณซาติ๊ซ เซกาล เป็นผู้แทนสภาหอการค้าฯ เข้าร่วมประชุม  สรุปสาระสำคัญได้  ดังนี้
1. เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1. กำหนดการเดินทางไปยังประเทศอินเดียของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวัฒนา เมืองสุข) ในวันที่ 23 สิงหาคม 2547 เพื่อร่วมลงนามในแผนการเร่งลดภาษีรายการสินค้า 82 รายการ ภายใต้เขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย โดยภายหลังการลงนามของทั้งสองฝ่ายแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2547
2. รายการลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที (Early Harvest Scheme : EHS ) จำนวน 82 รายการ โดยใช้การลดภาษีแบบสัดส่วน (Margin of Preference : MOP) ดังนี้ 1) 1 ก.ย.47 ลดภาษีลง 50% จากอัตราปัจจุบัน 2) 1 ก.ย.48 ลดภาษีลง 75% จากอัตราปัจจุบัน และ 3) 1 ก.ย.49 ลดภาษีลงเหลือ 0%
3. รายการสินค้าที่ถูกถอนออกจากรายการ EHS จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย
- สินค้าพิกัด 3907.60 โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเรต เนื่องจากเป็นความประสงค์ของภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย
- สินค้าพิกัด 7307.92 ข้องอและปลอกเลื่อนทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เนื่องจากไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าได้
4. แนวทางเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้าไทย-อินเดีย ได้แก่
- จัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่ประสานงาน (Focal Point) ระหว่างภาครัฐและเอกชน
- จัดตั้งหน่วยงานประเมินความคืบหน้า (Review Machanism) เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิผลจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย ทั้งนี้ อาจประเมินจากรายได้การนำเข้า-ส่งออก เป็นต้น
- จัดทำโครงการสำรวจตลาดอินเดียระหว่างภาครัฐและเอกชนร่วมกัน โดยอาจแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการออกเป็นรายสาขา
- การประสานงานระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ FICCI , CCII ของอินเดีย
- จัดสัมมนาระหว่างไทย-อินเดียหลังการเปิดเสรีสินค้า EHS 82 รายการ ทั้งในส่วนของหัวหน้าทีมเจรจาของฝ่ายไทยและอินเดีย รวมถึงภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายด้วย
มติที่ประชุม ที่ประชุมรับทราบ
1. คุณซาติ๊ซ เซกาล ผู้แทนสภาหอการค้าฯเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม ดังนี้
การจัดตั้งหน่วยงานประเมินความคืบหน้า (Review Machanism) ในชั้นต้นหลังจากมีการเริ่มลดภาษี 82 รายการ ควรมีการประเมินทุก 3 เดือน หลังจากนั้นจึงจัดประเมินทุก 6 เดือน
โครงการสำรวจตลาดอินเดีย ควรมีการจ้างทีมวิจัยเพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมการบริโภคของชาวอินเดียในลักษณะของ country profile
จัดสัมมนาระหว่างไทย-อินเดียหลังการเปิดเสรีสินค้า EHS 82 รายการ นอกเหนือจากผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว ควรมีนักวิชาการด้วย
งานแสดงสินค้าควรมีโครงสร้างของสินค้าที่จะนำไปจัดแสดง 4 ระยะ ดังนี้
- สินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดอินเดีย 25 รายการแรก
- สินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดอินเดีย ลำดับที่ 26-50
- สินค้าที่ยังไม่ได้รับการส่งเสริม แต่มีศักยภาพในการทำการค้า (เป็นสินค้าที่อินเดียไม่ได้ซื้อจากไทย แต่ซื้อจากประเทศคู่แข่งอื่น)
- สินค้าที่ยังไม่ได้รับความสนใจในตลาดอินเดีย แต่คาดว่ามีศักยภาพพอที่จะเจาะตลาดอินเดีย
2. ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม ดังนี้
เห็นด้วยกับแนวทางการลดภาษีแบบ MOP เนื่องจากเป็นระบบที่เป็นการลดแบบสัดส่วน มีเวลาในการปรับตัวของรายสินค้า
ควรมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารแบบ 2 ทาง ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
3. ผู้แทนหอการค้าไทย-อินเดีย เสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม ดังนี้
เห็นด้วยและพร้อมให้ความร่วมมือในส่วนของการจัดสัมมนาระหว่างไทย-อินเดียหลังการเปิดเสรีสินค้า EHS 82 รายการ
นอกเหนือจากการให้ความสนใจในการเปิดเสรีทางการค้า ทั้งในส่วนของรายการ EHS 82 รายการ และรายการสินค้าที่คาดว่าจะเปิดในอนาคตแล้วนั้น อินเดียยังให้ความสนใจในส่วนของการเปิดเสรีภาคบริการ เช่น สาขาการเงินการธนาคาร สาขาการท่องเที่ยว เป็นต้น
2. เรื่องเพื่อพิจารณา
2.1 การเตรียมความพร้อมของสินค้า 82 รายการ
1. กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป
สินค้ามะขามและสินค้าพืชเกษตร เป็นรายการสินค้าที่มีศักยภาพในการเปิดตลาดในอนาคต
2. กลุ่มสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม
ขอให้ภาครัฐเจรจากฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า โดยใช้หลักการแปรสภาพเท่านั้น
-เหล็กไร้สนิม เป็นรายการสินค้าที่มีศักยภาพในการเปิดตลาดในอนาคต
-เสนอให้มีการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ
-ขอให้มีตลาดที่ชัดเจน
3. กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ
ขอให้ภาครัฐเจรจาขอแหล่งกำเนิดสินค้ากลุ่มนี้ โดยใช้หลักการแปรสภาพ แต่หากทางอินเดียไม่ยอมรับในหลักการดังกล่าว ก็ขอให้ทางอินเดียชี้แจงเหตุผล
4. กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
กลุ่มสินค้าที่ประเมินว่ามีความได้เปรียบในการเปิดเสรี น่าจะเป็นกลุ่มสินค้าที่มีรายการที่จะเร่งลดภาษีในอนาคต
2.2 ผลกระทบ ปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น มาตรการรองรับ
1. มาตรการทางภาษี
ที่ประชุมได้มีการแสดงความกังวลต่อระบบการจัดเก็บภาษีของอินเดีย ซึ่งค่อนข้างมีความซ้ำซ้อน อย่างไรก็ตามผู้แทนสภาหอการค้าฯ (คุณเซกาลฯ) ได้ชี้แจงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีของอินเดียให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1.1 The Central Government levies customs & central excise duties : ในส่วนของ customs duties เป็นภาษีที่รัฐบาลกลางเรียกเก็บกับภาษีนำเข้าทั่วไป 20% ขณะที่ central excise duties เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ โดยปัจจุบันมี 3 อัตรา คือ 0%, 8% และ 16%
ทั้งนี้ ข้อตกลงการจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย ขอบเขตการลดภาษีจะครอบคลุมในส่วนของ Customs duties เท่านั้น
1.2 The State Government levies sales tax : เป็นภาษี sales tax ที่จะเก็บขึ้นตามรายละเอียดของชนิดสินค้า (ไม่มีอัตรากำหนดตายตัว และขึ้นกับแต่ละรัฐ) ทั้งนี้ภาษีดังกล่าวจะเรียกเก็บเพียงครั้งเดียว ณ รัฐที่ใช้ผลิตสินค้าหรือรัฐที่ผู้ประกอบการนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย
1.3 The Municipal Government levies local taxes : เป็นภาษีขาเข้าเมืองเมื่อเทียบกับ octroi
2. มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
สินค้าเกษตร ผู้แทนกระทรวงเกษตรแจ้งว่าจากแผนการปรับปรุงกฎระเบียบการกักกันพืชของอินเดีย ทำให้เจ้าหน้าที่อินเดียต้องตรวจสอบพืชตาม list แต่ปรากฎว่ารายชื่อผลไม้ของไทยในรายการ EHS นั้นไม่มีอยู่ใน list ดังกล่าว ทำให้ผลไม้ของไทยถูกส่งไปตรวจสอบที่กรุงนิวเดลีเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการส่งออกได้ชี้แจงว่าหน่วยงานในการตรวจสอบโรคพืชของอินเดียนั้นมีอยู่ถึง 21 แห่ง แต่อย่างไรก็ตาม ขอนำเรื่องดังกล่าวกลับไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
ประเด็นสุขอนามัยพืช (SPS) สำหรับสินค้าเกษตรที่อยู่ในรายการ EHS ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ
สินค้าอุตสาหกรรม มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในสินค้าอุตสาหกรรมที่อินเดียปฏิบัติกับไทยมากคือ การทุ่มตลาด
3. มาตรการรองรับ
ขอให้ภาครัฐใช้มาตรการ safeguard ในการตอบโต้มาตรการ Anti-Dumping
กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ขอให้ภาครัฐมีนโยบายอุดหนุนผู้ประกอบในขั้นตอนการผลิตบางอย่าง เช่น การไม่เก็บค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ เพื่อให้สินค้าไทยมีต้นทุนที่ถูกลงและสามารถแข่งขันกับอินเดียได้
2.3 การใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย
1. กรมการค้าต่างประเทศ จะปรับเปลี่ยนระบบการขอตรวจต้นทุน โดยคาดว่าจะเผยแพร่อย่างเป็นทางการภายในอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม
2. ระบบการขอตรวจต้นทุนแบบใหม่ ผู้ส่งออกรับรองตนเองด้วยการกรอกข้อมูล เมื่อทำการตรวจสอบเสร็จแล้ว และผู้ประกอบการจะเป็นผู้เก็บหลักฐานไว้เอง ส่วนระบบเดิม ผู้ประกอบการจะต้องนำเอกสารมายื่นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบข้อมูล
3. การกรอกข้อมูลจะมีทั้งระบบ manual คือยื่นเอง และระบบ electronics ซึ่งในระยะแรกต้องมีการฝึกอบรมการใช้ระบบ แต่หากผู้ประกอบการเข้าใจแล้วจะเป็นระบบที่รวดเร็วมาก (ประมาณ 5 นาที)
4. สินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่ง่ายจะใช้เวลาตรวจประมาณ 5 นาที โดยมีจุดตรวจที่สนามบินและท่าเรือ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมมีการตรวจแหล่งกำเนิดสินค้าที่ละเอียดกว่า คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน
5. การตรวจต้นทุนแหล่งกำเนิดสินค้า ใช้หลักการเดียวกับที่ใช้ในกรอบอาเซียน คือใช้ Local Content + ST
6. แบบฟอร์มที่ใช้จะเป็นแบบฟอร์ม A (แบบเดียวกับ EU)
7. กรณีที่ผู้ประกอบการต้องนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนจากอินเดียเพื่อมาผลิตเป็นสินค้าส่งออกที่ผู้ประกอบการต้องการภาษีภายใต้กรอบ FTA ผู้ประกอบการต้องมีรายละเอียด ดังนี้
-ใบ C/O เป็นใบ C/O ชนิดพิเศษที่กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ออกให้ เช่น C/O Form FTA ซึ่งจะกำหนดอีกครั้ง
-ใบขนส่ง
-ใบ invoice
2.4 กิจกรรมส่งเสริมการตลาดในอินเดีย
1. กรมส่งเสริมการส่งออก ได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษ Special Task Force : STF และได้เดินทางไปอินเดียเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 เพื่อสำรวจการบริโภคสินค้า ช่องทางการกระจายสินค้า ปัญหาและอุปสรรคทั้งทางด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีของอินเดีย เพื่อเก็บข้อมูลการตลาดจากประสบการณ์โดยตรง โดยในขั้นแรกจะเจาะตลาดกลุ่มตอนใต้ในเมืองหลัก คือ มุมไบ เชนไน ไฮเดอราบัด บังกะลอร์ และกรุงนิวเดลี และคาดว่าในอนาคตไทยจะขยายตลาดไปทางตอนเหนือของอินเดีย
2. กรมส่งเสริมการส่งออกได้มีการนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจตลาดอินเดีย มาปรึกษากับผู้ประกอบการ โดยได้มีการจัดงานแสดงสินค้าทั้งแบบ Trade Fair, Thailand Exhibition หรือ Thailand Market Place โดยสาขาด้านการบริการที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวอินเดีย คือ Home Living, Spa, Fasion, Kitchen, Auto
3. กรมส่งเสริมการส่งออก มีแผนงานในการรวบรวมฐานข้อมูลทางการค้า รวมถึงการประเมินสถานะทางการเงินของประเทศอินเดียในช่วงเวลา 3 ปี และขั้นตอนต่อไปจะมีการสร้างเครือข่ายเพื่อมี Local Partner
ที่มา: หอการค้าไทย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ