แนวทางการบริหารจัดการระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 5, 2004 13:23 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วม
พื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ
1. ความเป็นมา
พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง มีลักษณะของพื้นที่บริเวณทิศตะวันตกตอนล่างเป็นพื้นที่ลุ่มมีระดับพื้นดินต่ำ บางแห่งมีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งท้องกะทะ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ และส่วนหนึ่งเกิดจากการทรุดตัวของแผ่นดินด้วยปัจจัยต่างๆ พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นพื้นที่บริเวณชานเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร จึงเป็นสถานที่รองรับการขยายตัวจากความหนาแน่นของประชากรในเขตเมืองหลวง เป็นชุมชนที่พักอาศัย บ้านจัดสรร นิคมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย ตลาด ร้านค้า รวมถึงหน่วยงานของรัฐและเอกชน เพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการพัฒนาด้านต่างๆ ตามมาอย่างรวดเร็ว เช่น มีการสร้างระบบทางด่วน การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณทางน้ำหลาก ทำให้สูญเสียพื้นที่รองรับน้ำกว่า 20,000 ไร่ในการสร้างและการขยายถนน โครงการบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การสูบน้ำบาดาล ตลอดจนการปลูกสร้างที่พักอาศัย โรงเรือนต่างๆ เป็นต้น จากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่โครงการที่มีลักษณะเป็นแอ่งกะทะ รวมถึงการขยายตัวและการพัฒนาพื้นที่อย่างรวดเร็ว ไม่เป็นไปตามผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะอย่างเป็นระบบ ไม่มีการสร้างความพร้อม และเตรียมการในแนวทางการแก้ไขและป้องกัน ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อสาธารณะเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดสภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ส่วนนี้ต่อเนื่องลึกเข้าสู่พื้นที่ชั้นกลางและชั้นในของกรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑล
จากการที่สนามบินสุวรรณภูมิจะก่อสร้างแล้วเสร็จและจะเปิดดำเนินการในเดือนกันยายน 2548 ย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการก่อสร้างสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดบริการของสนามบิน ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาเพื่อกำหนดและวางผังเมืองเฉพาะบริเวณโดยรอบสนามบินแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็จะมีปัญหาในหลายประการ และสำหรับปัญหาสำคัญซึ่งต้องเร่งแก้ไขประการหนึ่งก็คือ การระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมบริเวณโดยรวมรอบสนามบินและพื้นที่ส่วนใต้สนามบินถึงฝั่งทะเลอ่าวไทย เพราะบริเวณที่ทำการก่อสร้างสนามบินเป็นบริเวณที่ลุ่มต่ำ และเป็นแหล่งรับน้ำปริมาณสูง พร้อมกับเป็นทางน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน และปริมาณน้ำหลากจากบริเวณด้านตะวันออกไหลเข้ามารวมตัวเป็นเสมือนแก้มลิง ซึ่งบรรเทาความเดือดร้อนของบริเวณกรุงเทพมหานครพื้นที่ชั้นใน และปริมณฑล ทั้งนี้ประเด็นพิจารณาเร่งด่วนที่ต้องคำนึงถึงคือการดำเนินการใดๆเพื่อมิให้การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิสร้างผลกระทบต่อสาธารณะ
2. การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานศึกษาและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วม โดยได้นำเสนอ 3 ภัยสำคัญต่อรัฐบาลไปแล้ว ได้แก่ภัยน้ำท่วม ภัยน้ำแล้ง และภัยน้ำเสียซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 ภัยก็ยังเป็นปัญหาอยู่ และปัญหาจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หากสนามบินเปิดดำเนินการ ถ้าทางภาครัฐไม่มีการสร้างความพร้อม และเตรียมการในลักษณะของการแก้ไข และการป้องกันก็ย่อมเกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสาธารณะ ทั้งนี้การดำเนินการต้องเป็นไปอย่างเร่งด่วน และทันเหตุการณ์ ในปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆเข้ามาศึกษา สำรวจ และออกแบบเกี่ยวกับระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมทั้งโดยตรงและเกี่ยวเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีความสอดคล้องกันทุกด้าน และเป็นระบบทั้งบริเวณโดยรอบสนามบิน และพื้นที่เกี่ยวเนื่องโดยรอบครอบคลุมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง
คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการศึกษาในประเด็นดังกล่าวโดย 1) รวบรวมเอกสาร และข้อมูลจากแหล่งต่างๆ 2) จัดประชุมเสวนาร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3)ศึกษาดูงานในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ และพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ และ 4) จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ และป้องกันผลกระทบอันจะมีผลต่อสาธารณะ
3. สภาพพื้นที่
พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำและน้ำท่วมบริเวณโดยรอบสนามบิน ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง มีขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำ 5,200 ตารางกิโลเมตร ดังแสดงในรูปที่ 1-1 ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด 27 อำเภอ โดยมีพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ชลประทานกระจายอยู่ในเขตโครงการชลประทาน 7 โครงการ ของกรมชลประทาน
อย่างไรก็ตาม พื้นที่เร่งด่วนโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิที่มีความสำคัญโดยตรงต่อการระบายน้ำและน้ำท่วมมีขนาดประมาณ 624 ตารางกิโลเมตร ดังแสดงในรูปที่ 1-2 เป็นพื้นที่อยู่ในขอบเขตของแนวคันกั้นน้ำภายใน ครอบคลุมเขตการปกครองทั้งหมดของอำเภอบางเสาธง บางส่วนของอำเภอบางบ่อ บางพลี และอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ บางส่วนของเขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และบางส่วนของอำเภอเมือง อ.บางปะกง และ อ. บ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ภายในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างมีคลองตามแนวทิศเหนือ-ใต้ และทิศตะวันออก-ตะวันตก กระจายอยู่เต็มพื้นที่ โดยคลองในแนวทิศเหนือ-ใต้ จะทำหน้าที่เป็นคลองระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนลงไปสู่พื้นที่ตอนล่าง เช่น คลอง 1 คลอง 2 คลอง 3 เรื่อยไปถึงคลอง 17 และคลองพระองค์ไชยานุชิต ส่วนคลองในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก จะเป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครนายก หรือแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง เช่น คลองรังสิต คลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบ คลองประเวศบุรีรมย์ คลองสำโรง และคลองชายทะเล ซึ่งทำหน้าที่ในการรับน้ำจากแม่น้ำทั้งสองด้านที่ปลายคลองมาเก็บไว้ในคลองสำหรับการเพาะปลูก โดยมีประตูระบายบังคับน้ำสำหรับเก็บกักน้ำที่ปลายคลองทั้งสองด้าน และคลองต่างๆ เหล่านี้ ยังใช้สำหรับการคมนาคมทางน้ำ ติดต่อค้าขายไปมาหาสู่กันด้วย
สำหรับสภาพภูมิประเทศและการระบายน้ำ ได้พิจารณาแบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง และพื้นที่เร่งด่วนโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ดังนี้
1) พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง
พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ประกอบด้วย พื้นที่โครงการชลประทานทางตอนบน 4 แห่ง ได้แก่ โครงการชลประทานนครหลวง ป่าสักใต้ รังสิตเหนือ และนครนายก มีสภาพของระดับของพื้นที่ค่อนข้างสูง คือ จากตอนบนตั้งแต่บริเวณแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำนครนายก ลงมาจนถึงแนวคลองรังสิต มีระดับพื้นที่เฉลี่ยประมาณ +6.50 ม.(รทก.) ถึง +2.50 ม.(รทก.) ด้วยระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร นับว่ามีความลาดเทของพื้นที่ค่อนข้างมาก พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นเสมือนแหล่งรองรับน้ำที่จะระบายลงสู่พื้นที่ทางตอนล่าง เพราะทุกครั้งที่น้ำท่วมนองในพื้นที่ตอนบนแล้วก็จะเคลื่อนผ่านลงสู่พื้นที่ถัดไปทางตอนล่างเสมอ
พื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เป็นพื้นที่ที่ถัดจากพื้นที่ตอนบนลงไปทางทิศใต้ ตั้งแต่แนวคลองรังสิตจนจรดชายทะเล เป็นพื้นที่ในเขตชลประทานของโครงการชลประทานรังสิตใต้ คลองด่าน และพระองค์ไชยานุชิต ทางด้านตะวันออกของพื้นที่ติดกับแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง ทางด้านตะวันตกของพื้นที่ติดกับแนวคันกั้นน้ำตามพระราชดำริ โดยมีระดับพื้นดินดังนี้
พื้นที่ตั้งแต่แนวคลองรังสิตถึงแนวคลองหกวาสายล่าง มีระดับพื้นดินเฉลี่ยประมาณ +2.00 ม.(รทก.)
พื้นที่ตั้งแต่แนวคลองหกวาสายล่างถึงแนวคลองแสนแสบและคลองนครเนื่องเขต มีระดับพื้นดินเฉลี่ยประมาณ +1.50 ม.(รทก.)
พื้นที่ตั้งแต่แนวคลองแสนแสบถึงแนวคลองประเวศบุรีรมย์ มีระดับพื้นดินเฉลี่ยประมาณ +1.00 ม.(รทก.) ระดับดังกล่าวนี้ครอบคลุมไปจนถึงริมฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกงในเขตโครงการฯพระองค์ไชยานุชิต
พื้นที่โครงการที่มีระดับต่ำสุด คือ พื้นที่บริเวณแนวคลองประเวศบุรีรมย์ไปจนจรดคลองสำโรง กับแนวคันกั้นน้ำตามพระราชดำริไปจนถึงแนวคลองพระองค์ไชยานุชิต มีระดับพื้นดินเฉลี่ยประมาณ +0.50 ม.(รทก.) ถึง +0.40 ม.(รทก.)
พื้นที่บริเวณด้านล่างริมชายทะเล ตั้งแต่ใต้คลองสำโรงไปจนจรดคลองชายทะเล ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บ่อปลา จะมีระดับพื้นดินสูงขึ้นเล็กน้อย ประมาณ +0.50 ม.(รทก.) ขึ้นไปจนถึง +0.90 ม.(รทก.)
จากทิศทางการไหลของน้ำตามหัวลูกศรในรูปที่ 1-3 แสดงให้เห็นว่า คราวใดที่เกิดฝนตกหนักหรือสภาพน้ำท่วมนองในเขตพื้นที่โครงการ ปริมาณน้ำจะไหลไปรวมกันบนพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีชุมชนอยู่หนาแน่น ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในขอบเขตระหว่างพื้นที่ต่างๆ คือ เขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง ลงมาทางทิศใต้ถึงระหว่างเขตอำเภอบางพลีและอำเภอบางบ่อ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันได้มีการก่อสร้างทางคมนาคมทางบกหลายสายโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีทิศทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก จะขวางทางระบายและมีอาคารระบายน้ำหลายแห่งไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำหลาก
2) พื้นที่เร่งด่วนโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ
พื้นที่เร่งด่วนโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นพื้นที่อยู่ในขอบเขตของแนวคันกั้นน้ำภายใน (รูปที่ 1-4) คือ ทิศเหนือจรดแนวคลองแสนแสบต่อเชื่อมกับคลองเนื่องเขต ทิศตะวันออกจรดแนวคลองพระองค์ไชยานุชิต ตั้งแต่คลองเนื่องเขตจนถึงคลองสำโรงที่อำเภอบางบ่อ กับต่อเลยด้วยแนวถนนปานวิถี ลงมาทางทิศใต้จนถึงถนนสุขุมวิทที่แนวคลองชายทะเล ทิศใต้ติดชายทะเลบริเวณแนวคลองชายทะเลและทิศตะวันตกติดแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ ตั้งแต่ที่คลองแสนแสบ เขตมีนบุรี ลงมาทางทิศใต้จรดถนนสุขุมวิทบริเวณ ปตร.บางตำหรุ
พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณขอบเขตที่มีชุมชนหนาแน่นในเขตพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิแห่งนี้ เป็นบริเวณที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเกิดสภาวะน้ำท่วมนองได้ง่ายเพราะเป็นพื้นที่ที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่น และถ้าเกิดน้ำท่วมนองก็จะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงทุกครั้งไป จึงกำหนดให้พื้นที่แห่งนี้ต้องมีการดำเนินงานเป็นแผนระยะเร่งด่วนเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมโดยพื้นที่แห่งนี้มีระดับพื้นดินเฉลี่ยประมาณจาก +1.00 ม.(รทก.) ถึง +0.40 ม.(รทก.)
4. ปัญหาและเหตุแห่งปัญหา
การเกิดปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่โดยรอบสนามบิน มีสาเหตุสำคัญหลายประการเนื่องมาจาก
1) พื้นที่อยู่บริเวณด้านท้ายน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล ดังนั้นน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักและน้ำที่ไหลลงมาจากด้านเหนือมีปริมาณมาก และเนื่องจากสภาพภูมิประเทศมีลักษณะความลาดชันต่ำ ทำให้เกิดการสะสมของปริมาณน้ำจำนวนมากในพื้นที่กลายเป็นปัญหาน้ำท่วมขัง
2) พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นพื้นที่ต่ำ เป็นหนองน้ำ และเป็นแหล่งรองรับน้ำหลากโดยมีพื้นที่ประมาณ 32 ตร.กม. โดยในภาวะปกติจะรับน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ และเมื่อเกิดน้ำท่วมโดยรอบจะมีปริมาณน้ำหลากจากภายนอกมาท่วมบริเวณนี้มากยิ่งขึ้น จึงเป็นแหล่งรองรับน้ำหลากที่สำคัญ และเป็นทางระบายน้ำหลากด้วย ดังนั้นเมื่อมีการถมแหล่งรองรับน้ำเดิมเพื่อเป็นสนามบิน แหล่งรองรับน้ำดังกล่าวที่สูญเสียไปทำให้ปริมาณน้ำต้องเคลื่อนย้ายไปสู่แหล่งอื่น เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำโดยรวมของพื้นที่โดยรอบสนามบิน
3) ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นที่ 20,000 ไร่ ของสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งอยู่ภายใต้ระบบคันคูน้ำโดยรอบ ในกรณีที่ฝนตกหนักลงสู่พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิซึ่งอยู่ภายใต้คันกั้นน้ำ และคูน้ำโดยรอบพร้อมสถานีสูบน้ำ เพื่อให้สนามบินดำเนินการต่อไปได้ก็จำเป็นต้องมีการสูบน้ำออกด้วยปริมาณสูงซึ่งย่อมสร้างปัญหาสู่สาธารณะในประเด็นน้ำท่วม
4) การขยายตัวของชุมชนและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้กีดขวางการไหลของน้ำ อีกทั้งสูญเสียพื้นที่กักเก็บน้ำตามธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง
5) ขนาดคูคลองที่มีขนาดเล็กและตื้นเขินไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จึงเกิดปัญหาน้ำท่วม
6) ระดับน้ำทะเลขึ้น-ลง ทำให้ในช่วงน้ำทะเลขึ้นสูงไม่สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้ จึงทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมขัง และจำเป็นต้องสูบน้ำออกสู่ทะเล
5. ผลกระทบจากการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ
1) สูญเสียแหล่งรับน้ำ และแหล่งรองรับน้ำหลากซึ่งการก่อสร้างสนามบินจะเป็นอุปสรรคต่อทางน้ำหลากตามแนวด้านตะวันออกของคันกั้นน้ำตามพระราชดำริ
2) เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆจะมีผลต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งเป็นไปอย่างไม่มีทิศทาง ถ้าไม่มีมาตรการด้านผังเมืองที่ดีพอ
3) การประกอบอาชีพ และวิถีชีวิตของชุมชน และประชาชนบริเวณโดยรอบสนามบินจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ในกรณีที่ภาครัฐขาดนโยบาย เป้าหมาย แผนงาน และแผนปฏิบัติอย่างบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ
4) การเกิดสภาพไร้ทิศทางของการเติบโตของเมืองโดยรอบและปริมณฑลของสนามบินสุวรรณภูมิ
5) การเกิดภัยน้ำท่วม ภัยน้ำเสียและภัยน้ำแล้งกับพื้นที่โดยรอบและปริมณฑลในแต่ละฤดูกาล
6) สภาพการไหลของน้ำจากส่วนเหนือและบริเวณโดยรอบจะเกิดปัญหารุนแรง สร้างผลกระทบรุนแรงหากไม่มีการสำรวจแก้ไขและป้องกันที่ดีพออย่างเป็นรูปธรรม
6. สภาพการระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วม
6.1 ระบบระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมในปัจจุบัน
ระบบระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เป็นพื้นที่ระบบปิดล้อมใหญ่นอกคันกั้นน้ำพระราชดำริ ในปัจจุบันมีคันกั้นน้ำพร้อมประตูระบายน้ำที่ใช้ป้องกันน้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา และจากทะเล รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 353 กิโลเมตร โอบล้อมอยู่โดยรอบพื้นที่ ปัจจุบันสามารถป้องกันน้ำหลากได้ค่อนข้างดี นอกจากนี้ภายในเขตพื้นที่มีโครงการชลประทานอยู่ 7 โครงการ ซึ่งมีคันกั้นน้ำภายในและแนวถนนปิดกั้นขอบเขตพื้นที่โครงการของตัวเองอีกชั้นหนึ่ง ระบบระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่ทุ่งฝั่งตะวันออกตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่เร่งด่วนโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ และพื้นที่นอกเขตพื้นที่เร่งด่วน
6.1.1 ระบบระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมภายในพื้นที่เร่งด่วน
พื้นที่โดยรอบสนามบินซึ่งเป็นพื้นที่เร่งด่วน มีคันกั้นน้ำภายในโดยรอบทั้งด้านตะวันออก (คันกั้นน้ำฝั่งขวาคลองพระองค์ไชยานุชิตและถนนปานวิถี) ด้านตะวันตก (คันกั้นน้ำพระราชดำริ) ด้านใต้คันกั้นน้ำชายทะเล ยกเว้นด้านเหนือบริเวณคลองแสนแสบที่ยังไม่ได้ปิดกั้น เพื่อเปิดให้น้ำจากพื้นที่ตอนบนระบายผ่านได้ (รูปที่ 2-1) ระบบระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมในปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้
สถานีสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่เร่งด่วน โดยทำการสูบน้ำจากด้านใต้บริเวณคลองชายทะเลออกสู่ทะเลโดยตรง จำนวน 6 สถานี (รูปที่ 2-2)
ขุดลอกคลองระบายน้ำสายหลักและกำจัดวัชพืช เพื่อช่วยระบายน้ำที่ไหลจากพื้นที่ตอนบนมายังพื้นที่ตอนล่าง เพื่อทำการสูบระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น ซึ่งกรมชลประทานได้บรรจุไว้ในแผนงานปรับปรุงทุกๆ ปี อย่างไรก็ดี เนื่องจากความลาดเทของพื้นที่ ปริมาณน้ำที่ระบายมายังสถานีสูบน้ำต่างๆ ยังไม่ทันต่อการสูบน้ำเต็มที่ออกสู่ทะเล
6.1.2 ระบบระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมภายนอกพื้นที่เร่งด่วน
พื้นที่ทุ่งฝั่งตะวันออกตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเขตพื้นที่เร่งด่วน มีลักษณะความลาดเทจากด้านเหนือไปสู่ด้านใต้ และจากด้านตะวันออกไปสู่ด้านตะวันตก ระบบการระบายน้ำและบรรเทาอุทกภัยในปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้
สถานีสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำหลากท่วมออกจากพื้นที่ จำนวน 11 สถานี เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา และทะเล
การระบายน้ำออกจากพื้นที่ใช้ระบบคลองระบายทั้งแนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันออก-ตะวันตก โดยมีคลองพระองค์ไชยานุชิตและคลองด่านเป็นคลองหลัก เร่งระบายน้ำลงสู่ด้านใต้และระบายออกสู่ทะเลทั้งทางประตูระบายน้ำเมื่อน้ำทะเลต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง และสูบระบายออกด้วยสถานีสูบน้ำต่างๆ
ภายในแต่ละพื้นที่โครงการชลประทาน มีบริเวณลุ่มต่ำที่เก็บกักน้ำหรือชะลอน้ำหลากชั่วคราวหลายแห่ง (รูปที่ 2-2) เช่น บริเวณด้านใต้ของโครงการชลประทานนครหลวงและป่าสักใต้ สระเก็บน้ำพระราม 9 พื้นที่ในโครงการรังสิตใต้ (คลอง 7-13) และพื้นที่ในโครงการรังสิตใต้ (คลอง 14-19)
6.2 โครงการระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมที่อยู่ในแผน
6.2.1 พื้นที่เร่งด่วนโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ
(1) ระบบป้องกันน้ำหลาก
เป็นแผนการปรับปรุงคันกั้นน้ำภายใน ตามแนวคลองพระองค์ไชยานุชิตฝั่งขวา ความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อป้องกันน้ำจากภายนอกไหลเข้ามาท่วมพื้นที่เร่งด่วน และปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ 20 แห่ง
(2) ระบบเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ประกอบด้วย
การก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม อัตราการสูบ 60 ลบ.ม./วินาที (สูบน้ำได้สูงสุดวันละ 5.18 ล้าน ลบ.ม.) ที่สถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2547
ขุดลอกคลองระบายเดิมบริเวณด้านตะวันออกและด้านใต้ของสนามบิน ประกอบด้วย คลองระบายน้ำ จำนวน 34 สาย ที่ได้ดำเนินการขุดลอกเสร็จแล้วในปี 2546 และจะทำการขุดลอกอีก 26 สาย ในปี 2547 (รูปที่ 2-3)
(3) สำรวจและออกแบบคลองระบายน้ำสายใหม่
เนื่องจากพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิในส่วนที่อยู่ระหว่างคลองสำโรงและคลองประเวศบุรีรมย์เป็นที่ลุ่มต่ำ การระบายน้ำโดยระบบคลองระบายน้ำที่มีอยู่เดิมจากคลองสำโรงไปคลองชายทะเล ที่มีสถานีสูบน้ำตั้งอยู่หลายแห่งไม่สามารถระบายได้ทัน ถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงขุดลอกคลองระบายน้ำเดิมแล้วก็ตาม จะสามารถระบายได้ทันสำหรับน้ำหลากระดับหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่ เพื่อเร่งระบายน้ำจากคลองสำโรงออกสู่ทะเลโดยตรงด้วยการสูบออก ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานกำลังดำเนินการออกแบบและมีแผนที่จะทำการก่อสร้างต่อไป
(4) มาตรการแก้ไขการระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมโดยไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง
ในการติดตามและเฝ้าระวังสภาพน้ำหลากและการทำงานของเครื่องสูบน้ำ จำเป็นจะต้องกำหนดให้มีระบบการตรวจวัดและทำการรับ-ส่งข้อมูลแบบ Real-time Data Collection and Transmission (รายงานผลตามเวลาจริงขณะรายงาน) เพื่อให้สามารถรายงานข้อมูลมาที่ส่วนกลางหรือศูนย์ควบคุมได้ทันต่อเหตุการณ์ตลอดเวลาแบบอัตโนมัติ คือ ระบบโทรมาตรอุทกวิทยา ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ในการช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับบริหารจัดการน้ำหลาก โดยกรมชลประทานได้ทำการสำรวจออกแบบถึงขั้น Tender Design แล้ว
6.2.2 พื้นที่นอกเขตพื้นที่เร่งด่วน
นอกเหนือจากแผนงานที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนในพื้นที่เร่งด่วนโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว กรมชลประทานมีแผนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่นอกเขตพื้นที่เร่งด่วน ดังนี้
(1) การปรับปรุงสภาพลำน้ำและระบบระบายน้ำเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงสู่แม่น้ำบางปะกง จากแนวพระราชดำริ (2542) และพระราชหัตถเลขาในการเพิ่มขีดความสามารถของการระบายน้ำทางทุ่งฝั่งตะวันออก (2544) ให้มีการบริหารจัดการน้ำหลากโดยใช้คลองและลำน้ำที่มีอยู่เดิม โดยผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักผ่านคลองระพีพัฒน์ คลอง 13 คลองแสนแสบ ลงสู่แม่น้ำบางปะกงและอ่าวไทย ปัจจุบันคลองระพีพัฒน์มีความสามารถรับน้ำสูงสุด 210 ลบ.ม./วินาที สามารถเพิ่มศักยภาพของการระบายน้ำได้เพิ่มขึ้นเป็น 300 ลบ.ม./วินาที โดยการปรับปรุงขยายคลอง และเสริมคันคลองในคลองระพีพัฒน์แยกใต้ (คลอง 13) คลอง 14 แม่น้ำนอก และลำน้ำต่อเนื่องต่างๆ ที่จำเป็น เช่น คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต คลองพระองค์ไชยานุชิต เป็นต้น พร้อมกับปรับปรุงอาคารระบายน้ำกลางคลองให้สามารถรับน้ำได้มากขึ้น เพื่อระบายน้ำไปยังแม่น้ำบางปะกงในปริมาณที่ไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำบางปะกง และสอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำของโครงการเขื่อนท่าด่านในอนาคต (หลังปี 2547)
(2) เพิ่มประสิทธิภาพของคันกั้นน้ำรอบนอก และปรับปรุงเสริมคันบริเวณที่ต่ำเพิ่มเติมตามความจำเป็น
(3) สำรวจบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำในแต่ละพื้นที่ชลประทาน เพื่อที่จะกำหนดและพัฒนาเป็นที่กักเก็บน้ำหรือชะลอน้ำหลาก (แก้มลิง)
(4) สำรวจและศึกษาบริเวณพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ โดยจะทำการสูบหรือผันน้ำหลากจากคลองระพีพัฒน์เก็บสำรองไว้ในช่วงฤดูแล้ง ในพื้นที่ศูนย์ราชการใหม่บริเวณรอยต่ออำเภอบ้านนา วิหารแดง และหนองแค
(5) ศึกษาแนวทางผันน้ำบางไทร-คลองด่าน-อ่าวไทย ซึ่งจะเป็นแผนระยะยาว
7. มาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่เร่งด่วน
แนวทางการระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่เร่งด่วน จะเป็นการจัดการน้ำที่เกิดจากปริมาณฝนที่ตกภายในพื้นที่เร่งด่วน และปริมาณน้ำที่สูบออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ โดยจะยอมให้น้ำตอนบนเหนือคลองแสนแสบระบายลงมาได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนในบริเวณนอกพื้นที่เร่งด่วน จะเป็นการจัดการน้ำที่เกิดจากฝนที่ตกในพื้นที่ และปริมาณน้ำหลากจากบริเวณนอกคันกั้นน้ำภายนอก โดยจะเร่งระบายน้ำออกทางแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำนครนายก และส่วนที่เหลือระบายลงสู่ด้านชายทะเลโดยใช้คลองพระองค์ไชยานุชิตและคลองด่านเป็นทางระบายน้ำหลัก
7.1 ระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมของสนามบินสุวรรณภูมิ
(1) สร้างระบบป้องกันน้ำท่วม (Polder System) ภายในพื้นที่สนามบิน ประกอบด้วย
เขื่อนดินป้องกันน้ำท่วมโดยรอบพื้นที่ ฐานเขื่อนกว้าง 70 เมตร สูง 3.5 เมตร สันเขื่อนกว้าง 3 เมตร ออกแบบให้ป้องกันน้ำท่วมที่เกิดจากฝนในรอบ 1,250 ปี (ที่ระดับ +2.27 ม.รทก.)
ขุดคลองขนานเขื่อนดินภายในพื้นที่กว้าง 35 เมตร ลึก 2 เมตร โดยตลอด เพื่อรองรับน้ำจากฝนภายในบริเวณพื้นที่สนามบิน
อ่างเก็บน้ำรวม 6 แห่ง สามารถรับน้ำได้ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร
รางระบายน้ำฝนจากส่วนต่างๆ ของโครงสร้างอาคาร ทางวิ่ง ทางขับ ลานจอด และระบบถนนภายในสนามบินเชื่อมต่อกับคลองขนานภายในพื้นที่
สถานีสูบน้ำทางด้านมุมทิศใต้ ทั้ง 2 มุมของท่าอากาศยานฯ ด้านละ 1 สถานี และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 2 ลบ.ม./วินาที จำนวน 4 เครื่อง โดยแต่ละสถานีกำหนดให้สูบน้ำออกได้สูงสุดสถานีละ 6 ลบ.ม./วินาที (3 เครื่อง สำรอง 1 เครื่อง)
ทำการปรับปรุงพื้นที่โดยการล้มคันบ่อปลาแล้วเกลี่ยแต่งให้ได้ระดับเฉลี่ย ประมาณ _ 0.00 เมตร รทก. เป็นการปรับปรุงพื้นที่สำหรับรองรับการก่อสร้างท่าอากาศยาน
ระบบระบายน้ำภายในพื้นที่สนามบินนี้ ได้รับการออกแบบสำหรับพายุฝนที่รอบปีการเกิด 10 ปี ส่วนระบบชะลอน้ำไว้ภายในพื้นที่ด้วยคลองขนานเขื่อนดินโดยรอบพื้นที่และอ่างเก็บน้ำ ถูกออกแบบให้สามารถรองรับน้ำฝนจำนวน 7 วัน ของฝนในรอบ 10 ปี โดยไม่ต้องสูบน้ำออกจากพื้นที่
(2) ปรับปรุงคลองภายนอกพื้นที่ ประกอบด้วย
ขุดคลองภายนอกทางด้านทิศเหนือ ขนานกับพื้นที่โครงการฯ เพื่อผันน้ำจากคลองหนองปรือ หนองคา หนองตะกล้า ลงสู่คลองหนองงูเห่า และคลองลาดกระบัง ขนาดของคลองกว้าง 17.5 เมตร ลึก 2.0 เมตร ยาว 6.0 กิโลเมตร
ขุดขยายและขุดคลองหนองงูเห่าและคลองลาดกระบังให้มีความกว้างเพิ่มขึ้นจากเดิม 30-35 เมตร เป็น 40 เมตร และจาก 20 เมตร เป็น 25-30 เมตร ตามลำดับ ลึก 3 เมตร ยาวประมาณ 8.0 กิโลเมตร
ขุดขยายและขุดลอกคลองเทวะตรง ซึ่งเป็นคลองขนานด้านทิศใต้ของโครงการให้กว้าง 17.5 เมตร ลึก 2.0 เมตร ยาวประมาณ 4.0 กิโลเมตร
ขุดลอกคลองบางขวางเล็ก คลองบางขวางใหญ่ และคลองซอยต่างๆ จากแยกคลองเทวะตรงไปจนถึงคลองสำโรง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำจากคลองลาดกระบังสู่คลองสำโรง
ปรับปรุงและขุดลอกคลองบางโฉลง และคลองบางพลี ให้ลึก 3 เมตร ไปจนถึงคลองสำโรง เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน และช่วยระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น
7.2 มาตรการเร่งด่วนการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิของกรมชลประทาน
กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมบริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ทำการว่าจ้าง 3 สถาบัน ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นสถาบันหลัก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมทำการศึกษาโครงการศึกษาทบทวนโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ โดยสรุปผลการศึกษาถึงปัจจุบันได้ดังนี้
7.2.1 การออกแบบด้านอุทกวิทยาน้ำหลาก
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ