(ต่อ1) แนวทางการบริหารจัดการระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 5, 2004 13:23 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                          ในการออกแบบอุทกวิทยาน้ำหลาก ได้พิจารณาปริมาณน้ำฝนสะสมสูงสุด 30 วัน ของแต่ละปี โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ปี 2507 ถึง 2539 ซึ่งครอบคลุมปีที่มีน้ำหลากสูงสุด เช่น ปี 2526  2533  2538  และสรุปได้ว่า ปริมาณฝนที่เกิดในปี พ.ศ. 2533 เป็นปริมาณฝนสูงสุดในพื้นที่เร่งด่วน และทำให้เกิดปริมาณน้ำหลาก จากการประเมินได้ดังนี้
ปริมาณน้ำฝนสะสมสูงสุด 30 วัน เท่ากับ 436.20 มิลลิเมตร
ปริมาตรน้ำหลากจากฝน 30 วัน เท่ากับ 119.62 ล้าน ลบ.ม.
ปริมาณน้ำนองสูงสุดจากฝน 30 วัน เท่ากับ 302.20 ลบ.ม./วินาที
7.2.2 แนวทางการระบายน้ำและแก้ไขน้ำท่วมพื้นที่เร่งด่วน
(1) พื้นที่ระหว่างชายทะเลถึงคลองสำโรง
- ปรับปรุงขุดลอกคลองระบายน้ำเดิม
- ปรับปรุงแนวคันกั้นน้ำภายในด้านตะวันออกและอาคารบังคับน้ำ
- ปรับปรุงสถานีสูบน้ำบริเวณคลองชายทะเล
- ก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่เพื่อระบายน้ำจากคลองสำโรงออกสู่ทะเลโดยตรง
(2) พื้นที่ระหว่างคลองสำโรงถึงคลองประเวศบุรีรมย์
- ปรับปรุงขุดลอกคลองระบายน้ำเดิม
- ปรับปรุงแนวคันกั้นน้ำภายในด้านตะวันออกและอาคารบังคับน้ำ
- กำหนดขอบเขตทางน้ำหลากโดยใช้หลักการผังเมืองเฉพาะ และควบคุมการใช้ที่ดิน
- ปรับปรุงสะพานและท่อลอดบริเวณถนนบางนา-บางปะกง เพื่อเร่งระบายน้ำจากพื้นที่รอบสนามบินลงสู่คลองสำโรง
- พื้นที่ชะลอน้ำหลาก (แก้มลิง)
(3) พื้นที่ระหว่างคลองประเวศบุรีรมย์ถึงคลองแสนแสบ
- ปรับปรุงขุดลอกคลองระบายน้ำเดิม
- ปรับปรุงแนวคันกั้นน้ำภายในด้านตะวันออกและอาคารบังคับน้ำ
- พื้นที่ชะลอน้ำหลาก (แก้มลิง)
- การผันน้ำจากคลองต่างๆ ไปลงคลองพระองค์ไชยานุชิต
- กำหนดขอบเขตทางน้ำหลากโดยใช้หลักการผังเมืองเฉพาะ และควบคุมการใช้ที่ดิน
- กำหนดปริมาณน้ำที่จะระบายลงด้านใต้
หมายเหตุ : ทุกพื้นที่เสนอแนวทางการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชน้ำ
7.2.3 ความสามารถในการระบายน้ำของคลองธรรมชาติในพื้นที่เร่งด่วน
(1) ความสามารถในการระบายน้ำของคลองระบายน้ำปัจจุบัน
จากการศึกษาด้วยการใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลการเกิดน้ำหลากสูงสุดในปี พ.ศ. 2533 พอสรุปความสามารถในการระบายน้ำของคลองธรรมชาติสายหลักในพื้นที่เร่งด่วนทั้งกรณีสภาพก่อนการขุดลอกและกรณีที่มีการขุดลอกตามที่ได้ออกแบบไว้โดยกรมชลประทาน สรุปได้ดังนี้
ความสามารถในการระบายน้ำ (ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที)
คลองสายหลัก กรณีก่อนขุดลอก กรณีหลังขุดลอก
ต้นคลอง ปลายคลอง ต้นคลอง ปลายคลอง
คลองประเวศ-คลองสำโรง
คลองลาดกระบัง 15 12 20 15
คลองบางโฉลง 25 15 28 18
คลองจรเข้ใหญ่ 22 15 22 18
คลองเสาธง 10 10 14 14
คลองสำโรง-คลองชายทะเล
คลองบางคลี่ 2 10 8 20
คลองบางปลาร้า 11 16 19 23
คลองบางปลา 30 55 32 55
คลองเจริญราษฎร์ 13 14 18 20
คลองหนามแดง 15 30 20 36
สำหรับคลองระบายน้ำที่อยู่ระหว่างคลองสำโรงและคลองชายทะเล จำนวน 5 สายนั้น มีความสามารถในการระบายน้ำรวมกันสูงสุดก่อนการขุดลอกประมาณ 125 ลบ.ม./วินาที และหลังการขุดลอก ประมาณ 154 ลบ.ม./วินาที ซึ่งไม่พอเพียงที่จะระบายน้ำจากคลองสำโรงไปยังสถานีสูบน้ำบริเวณตามแนวคลองชายทะเลได้ทันกับความสามารถสูงสุดของเครื่องสูบน้ำทุกสถานี จึงสมควรหาแนวทางเร่งระบายน้ำจากคลองสำโรงไปยังบริเวณชายทะเล และสูบระบายออกโดยตรงเพิ่มเติม
(2) แนวทางการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจากคลองสำโรงไปออกสู่ทะเลโดยเร็ว
การเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ หมายถึง การพัฒนาเพิ่มอาคารระบายน้ำ เพื่อนำน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนเหนือคลองสำโรง ให้ออกสู่ทะเลเร็วที่สุด เพื่อลดขนาดและระยะเวลาของน้ำท่วมขัง อันจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมในพื้นที่ตอนบนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิให้เหลือน้อยที่สุด จากการทบทวนผลการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ พอสรุปแนวทางการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำดังกล่าวได้ดังนี้
1) ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบริเวณใต้คลองบางปลา (ตามผลการศึกษาของกรมชลประทาน 2544) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอุโมงค์ 7 เมตร ความยาวอุโมงค์ 11.06 กิโลเมตร อัตราการระบายสูงสุด 115 ลบ.ม./วินาที ขนาดเครื่องสูบน้ำ 23 ลบ.ม./วินาที จำนวน 5 เครื่อง
2) ปรับปรุงเพิ่มความจุคลอง 16 สาย พร้อมก่อสร้างกำแพงริมคลองในเขตคลองเดิม บริเวณพื้นที่ใต้คลองสำโรงที่อยู่ระหว่างแนวคันกั้นน้ำตามพระราชดำริกับคลองพระองค์ไชยานุชิต โดยขุดท้องคลองให้ลึกที่ระดับ —5.0 ม.รทก. (หรือลึกเป็นสองเท่า) และเพิ่มสถานีสูบน้ำในคลองที่ตั้งอยู่ชายทะเล (ตามผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2546)
3) ก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่ พร้อมถนนคมนาคมทั้งสองฝั่งคลอง ลึกประมาณ 3.4 เมตร อัตราการระบายน้ำสูงสุด 100 ลบ.ม./วินาที สูบน้ำออกสู่ทะเลโดยมีสะพานน้ำข้ามคลองชายทะเลและถนนสุขุมวิท
7.3 รูปแบบคลองระบายน้ำสายใหม่ (คลองสำโรง-คลองชายทะเล)
7.3.1 องค์ประกอบหลักของคลองระบายน้ำสายใหม่
(1) ในการศึกษาและออกแบบคลองระบายน้ำสายใหม่ พิจารณาเกณฑ์ปริมาณฝนสูงสุดติดต่อกัน 7 วัน ในปี พ.ศ. 2533 ซึ่งมีรอบปีการเกิดประมาณ 25 ปี โดยมีปริมาณฝนสะสมรวม 280 มิลลิเมตร จากระบบคลองระบายน้ำเดิมที่ได้ปรับปรุงขุดลอกแล้วนั้น จะไม่สามารถระบายได้ทัน ยังคงมีปริมาณน้ำที่จะต้องระบายด้วยการสูบออกทะเลโดยตรง ด้วยอัตราสูงสุดประมาณ 100 ลบ.ม./วินาที
(2) การเร่งระบายน้ำในคลองระบายน้ำสายใหม่และสูบออกทะเลโดยตรง ควรเป็นอิสระกับน้ำระบายจากคลองบริเวณด้านข้าง เพื่อที่จะลดระดับน้ำในคลองหรือเพิ่มระดับน้ำในคลองสายใหม่ โดยไม่มีผลกระทบกับระดับน้ำในคลองข้างเคียง สมควรมีคันกั้นน้ำตามแนวคลองทั้งสองฝั่ง และเพื่อให้ใช้เป็นทางคมนาคมได้ สมควรก่อสร้างเป็นถนนทั้งสองด้านของคลองระบายน้ำสายใหม่
(3) เพื่อให้การสัญจรไปมาของประชาชนในพื้นที่ไม่มีผลกระทบจากสภาพเดิมมากนัก สมควรมีคลองระบายน้ำขนาดเล็กพอที่เรือหางยาวสัญจรได้บริเวณด้านนอกและเลียบถนนทั้งสองด้าน และตามแนวถนนทั้งสองด้าน จะมีสะพานพร้อมประตูระบายน้ำข้างละ 5 แห่ง เพื่อให้เรือสัญจรเข้ามาภายในคลองระบายน้ำได้ในยามปกติ และเมื่อมีการเร่งระบายน้ำในคลองสายใหม่ จะทำการปิดประตูระบายของสะพานทุกแห่ง
7.3.2 รูปแบบของคลองระบายน้ำสายใหม่
คลองระบายน้ำสายใหม่ (คลองสำโรง-คลองชายทะเล) มีความกว้างท้องคลอง 48 เมตร ความลึกของน้ำที่ออกแบบ 3.37 เมตร ลาดตามยาวของคลอง 1 : 25,000 เขตคลองทั้งหมด 170 เมตร ระบายน้ำสูงสุด 100 ลบ.ม./วินาที ที่ความเร็วประมาณ 0.50 เมตร/วินาที องค์ประกอบที่สำคัญมีดังนี้
- คลองระบายน้ำ
- ถนนบนคันคลองข นาด 11 เมตร ทั้งสองด้าน
- อาคารรับน้ำคลองสำโรง
- สะพานถนนเทพารักษ์ข้ามคลองระบายน้ำสายใหม่
- สะพานข้ามคลองสำโรง 2 แห่ง
- สะพานข้ามคลองชายทะเล 2 แห่ง
- อาคารระบายน้ำตามแนวถนนบนคันคลองด้านละ 5 แห่ง
- สะพานน้ำ (Elevated Flume) ด้านปลายคลองข้ามคลองชายทะเลและถนนสุขุมวิท
- สถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำ
- ทางน้ำสำหรับเรือสัญจรขนาดเล็กตามแนวถนนด้านนอกทั้งสองฝั่ง
- สถานีไฟฟ้าย่อย
- ระบบควบคุมระยะไกล
7.4 มาตรการแก้ไขการระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมโดยไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง
มาตรการแก้ไขการระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมโดยไม่ใช้สิ่งก่อสร้างในการติดตามและเฝ้าระวังสภาพน้ำหลากและการทำงานของเครื่องสูบน้ำ จำเป็นจะต้องกำหนดให้มีระบบการตรวจวัดและทำการรับ-ส่งข้อมูลแบบ Real-time Data Collection and Transmission เพื่อให้สามารถรายงานข้อมูลมาที่ส่วนกลางหรือศูนย์ควบคุมได้ทันต่อเหตุการณ์ตลอดเวลาแบบอัตโนมัติ คือ ระบบโทรมาตรอุทกวิทยา ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการช่วยตัดสินใจในการจัดการน้ำหลาก โดยการศึกษาออกแบบระบบโทรมาตรอุทกวิทยา มีแนวคิดดังนี้
7.4.1 ระบบโทรมาตรอุทกวิทยาที่ได้ติดตั้งแล้วโดยกรมชลประทาน สามารถนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในโครงการนี้ได้ คือ
(1) ระบบโทรมาตรโครงการลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 8 สถานี
(2) ระบบโทรมาตรโครงการลุ่มน้ำป่าสัก โดยเฉพาะข้อมูลที่สถานีเขื่อนพระราม 6 ซึ่งจะเป็นดัชนีแสดงสภาพน้ำที่จะมีผลกระทบต่อพื้นที่โครงการ
ข้อมูลของระบบโทรมาตรทั้ง 2 โครงการ สามารถถ่ายเทเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของโครงการนี้ได้
7.4.2 ระบบโทรมาตรอุทกวิทยาที่ทำการติดตั้งในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง
(1) โครงการเร่งด่วนหรือระยะที่ 1 ประกอบด้วย สถานีหลัก หรือห้องควบคุม (Master Station or Control Room) ตั้งอยู่ที่สำนักงานโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่ (คลองสำโรง-คลองชายทะเล) และสถานีตรวจวัดข้อมูล (Field or Remote Station) ทั้งข้อมูลปริมาณฝน ระดับน้ำ และการทำงานของเครื่องสูบน้ำ จำนวน 13 สถานี
(2) โครงการระยะที่ 2 ทำการขยายโครงข่ายตรวจวัดข้อมูลเพิ่มขึ้น โดย สถานีหลัก หรือ ห้องควบคุม เป็นสถานีเดิมตั้งอยู่ที่สำนักงานโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่ (สำโรง-ชายทะเล) และสถานีตรวจวัดข้อมูล (Field or Remote Station) จำนวน 12 สถานี
ตำแหน่งที่ตั้งสถานีระบบติดตามสภาพน้ำและการทำงานของเครื่องสูบน้ำ แสดงไว้ในรูปที่ 3-1 และองค์ประกอบของระบบการติดตามสภาพน้ำและการทำงานของเครื่องสูบน้ำ
8. แนวทางการแก้ไขการระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่ทุ่งฝั่งตะวันออกตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเขตพื้นที่เร่งด่วน
แนวทางการแก้ไขการระบายน้ำและบรรเทาน้ำท่วมนอกเขตพื้นที่เร่งด่วน จากการทบทวนรายงานการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ พอสรุปได้ดังนี้
1) การปรับปรุงสภาพลำน้ำและระบบระบายน้ำเพื่อผันน้ำจากพื้นที่รับน้ำตอนบนและจากแม่น้ำป่าสักลงสู่แม่น้ำบางปะกงตามแนวพระราชดำริ (2542) และพระราชหัตถเลขาในการเพิ่มขีดความสามารถของการระบายน้ำทางทุ่งฝั่งตะวันออก (2544) (รูปที่ 4-1)
2) การปรับปรุงคลองพระองค์ไชยานุชิตและคลองด่านให้มีประสิทธิภาพการระบายน้ำมากยิ่งขึ้น โดยจากผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2546) ได้เสนอให้ปรับปรุงเพิ่มความจุคลองพระองค์ไชยานุชิต และคลองด่าน โดยขุดลึกประมาณสองเท่า (ระดับท้องคลองอยู่ที่ —5.0 เมตร รทก.) พร้อมก่อสร้างกำแพงริมคลองในเขตคลองเดิม ค่าก่อสร้างปรับปรุงประมาณ 10,255 ล้านบาท
3) การขุดคลองผันน้ำบางไทร-คลองด่าน-อ่าวไทยแนวคลองเบื้องต้นที่นำเสนอในการขุดคลองสายใหม่บางไทร-คลองด่าน-อ่าวไทย แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังแสดงในรูปที่ 4-2 โดยเป็นแนวที่ปรับปรุงจากแนวบางไทร-กรุงเทพฝั่งตะวันออก-ชายทะเลที่ JICA เคยเสนอกรมชลประทานไว้เดิมในการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงทะเล โดยมีจุดเริ่มผันน้ำบริเวณจังหวัดอยุธยาผ่านทุ่งตะวันออกและระบายลงทะเลที่อ่าวไทย เพื่อประโยชน์ในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมต่อพื้นที่ทางตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี แนวคลองผันน้ำเบื้องต้นมีรายละเอียดดังนี้
ความจุคลองออกแบบ : ขั้นที่ 1 ความจุ 800 ลบ.ม./วินาที และเพิ่มเป็น 1,100 ลบ.ม./วินาที ในขั้นที่ 2
- ความยาวคลอง : 95 กิโลเมตร
- ความกว้างคลอง : ในขั้นที่ 1 ออกแบบความกว้างคลอง 200 เมตร และขยายเป็น 250 เมตร ในขั้นที่ 2
- ความลึกน้ำในคลอง : ความลึกเฉลี่ย 7.7 เมตร
- การเวนคืนที่ดิน : ในขั้นที่ 1 ประมาณ 10,625 ไร่ และเพิ่มเป็น 14,375 ไร่ ในขั้นที่ 2
- ระดับน้ำในคลองออกแบบ : ต้นคลองที่อยุธยา ระดับ +3.85 เมตร (รทก.) ที่ปากคลองติดทะเล ระดับ +1.60 เมตร (รทก.) ความลาดชันเฉลี่ย 1 : 43,000
จากลักษณะของคลองผันน้ำที่มีแนวตัดผ่านทุ่งตะวันออก ซึ่งมีแนวคลองติดกับคลองระบายน้ำในพื้นที่โครงการจำนวนมาก ที่สำคัญ ได้แก่ คลองรังสิต คลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบ คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสำโรง เป็นต้น และการที่แนวคลองระบายน้ำลงทะเลที่อ่าวไทยโดยตรง ทำให้ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง เช่นเดียวกับแม่น้ำเจ้าพระยา และเมื่อประกอบกับปริมาณน้ำผันรวมถึงน้ำที่จะระบายจากพื้นที่โครงการลงคลองผันน้ำ ทำให้ระดับน้ำในช่วงน้ำนองสูงกว่าระดับพื้นดินโดยเฉลี่ย จึงต้องมีการก่อสร้างแนวคันดินทั้งสองฝั่งคลองโดยเฉพาะในช่วงบริเวณตอนล่างของพื้นที่โครงการ ดังนั้นการระบายน้ำภายในพื้นที่โครงการลงคลองผันน้ำจะต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วยในการระบายน้ำ แนวทางที่พิจารณาทางเลือกนี้ สามารถแก้ไขปัญหาการระบายน้ำ/ป้องกันน้ำท่วมของพื้นที่รุงเทพมหานครได้หมด แต่มีราคาค่าก่อสร้างสูงมาก และมีผลกระทบต่อประชาชนค่อนข้างมาก โดยจะต้องเวนคืนที่ดินเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น แนวทางเลือกที่จะต้องศึกษาเปรียบเทียบก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างแนวคลองผันน้ำสายใหม่บางไทร-คลองด่าน-อ่าวไทย ก็คือ การศึกษาการบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่เจ้าพระยาตอนบน ทั้งการพัฒนาก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และการกำหนด/พัฒนาพื้นที่ชะลอน้ำท่วมหรือแก้มลิงขนาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งถึงแม้ว่าจะลงทุนสูงเช่นกัน แต่ก็สามารถนำน้ำที่เก็บกักไว้ในช่วงน้ำหลากมาใช้ในช่วงฤดูแล้งได้
9. สรุปข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไข
9.1 ระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เร่งด่วนโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ
9.1.1 มาตรการที่เสนอให้มีการดำเนินการเร่งด่วน
สมควรดำเนินการตามมาตรการที่เสนอให้มีการดำเนินการเร่งด่วน ซึ่งอยู่ในระหว่างสำรวจและออกแบบขั้น Tender Design โดยกรมชลประทาน และมีแผนที่จะประกวดราคาจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้างในช่วงปี พ.ศ. 2548 — 2550 จำนวนงบประมาณ 9,200 ล้านบาท ประกอบด้วย
(1) การขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ (คลองสำโรง-คลองชายทะเล) เพื่อเร่งระบายน้ำจากคลองสำโรงและน้ำหลากบริเวณพื้นที่เหนือคลองสำโรงออกสู่ทะเลโดยเร็ว โดยมีความยาวของคลองระบายน้ำสายใหม่นี้ประมาณ 12 กิโลเมตร พร้อมถนนคมนาคมทั้งสองด้านของคลองและบริเวณปลายคลอง ติดตั้งสถานีสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็ว มีอัตราสูบน้ำสูงสุด 100 ลบ.ม./วินาที
(2) การติดตั้งระบบโทรมาตรอุทกวิทยาเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำหลากและการทำงานของเครื่องสูบน้ำ ซึ่งเป็นระบบการตรวจวัดและทำการรับ-ส่งข้อมูลแบบ Real-time Data Collection and Transmission เพื่อให้สามารถรายงานข้อมูลมาที่ศูนย์ควบคุมได้ทันต่อเหตุการณ์ตลอดเวลาแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพในการช่วยตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำหลาก
สมควรดำเนินการตามผลการศึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมือง ดังนี้
(3) มาตรการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อควบคุมการใช้ที่ดิน กำหนดคลองระบายน้ำสายหลัก สายรอง และบริเวณทางน้ำหลาก และระบุให้ชัดเจนว่าในแต่ละพื้นที่บริเวณโดยรอบสนามบินควรดำเนินการกิจกรรมประเภทใด โดยคำนึงถึงคุณภาพและวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่เดิม และแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคตเมื่อสนามบินเปิดบริการ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาและจะแล้วเสร็จในต้นปี 2548 พื้นที่ครอบคลุมประมาณ 820 ตร.กม. และครอบคลุมพื้นที่เร่งด่วนแล้ว (กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และปทุมธานี)
9.1.2 มาตรการที่จะต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง
(1) การขุดลอกคลองระบายน้ำเดิมและกำจัดวัชพืชในพื้นที่เร่งด่วนทุกสาย จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำที่ไหลจากพื้นที่ตอนบนมายังพื้นที่ตอนล่าง และทำการสูบระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น
(2) การปรับปรุงระดับฐานรากหรือช่องระบายน้ำบริเวณสะพานและท่อลอดต่างๆ ตามแนวถนนบางนา-บางปะกง เพื่อเร่งระบายน้ำจากบริเวณรอบๆ สนามบินสุวรรณภูมิลงสู่คลองสำโรงอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(3) การปรับปรุงคลองในแนวตะวันออก-ตะวันตก บริเวณด้านเหนือทางรถไฟ และร่องระบายน้ำริมทางรถไฟด้านเหนือ เพื่อระบายน้ำออกไปทางคลองพระองค์ไชยานุชิตให้มากและเร็วขึ้น
(4) การปรับปรุงและบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันตามแนวคลองชายทะเล และรวมถึงสถานีที่กำลังดำเนินการก่อสร้างที่จะแล้วเสร็จในปี 2547 ด้วย ให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(5) รักษาโครงข่ายคลองเดิมไม่ให้มีการรุกล้ำ โดยใช้มาตรการการใช้ที่ดิน/ผังเมืองเป็นตัวควบคุมร่วมกับมาตรการด้านภาษี และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเดิมและนักพัฒนาที่ดินเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันน้ำท่วม
(6) ในกรณีที่อัตราการเจริญเติบโตของเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการรุกล้ำและถมบริเวณทางน้ำหลากและแก้มลิงที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะต้องทำการปรับปรุงเพิ่มความจุที่อยู่เหนือคลองสำโรง จำนวน 13 สาย โดยการขุดคลองให้ลึกลง และก่อสร้างกำแพงกันดิน เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่บริเวณโดยรอบสนามบินผ่านถนนบางนา-บางปะกง มาลงสู่คลองสำโรงโดยเร็ว
(7) จัดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมในการบริหารจัดการน้ำท่วมและการระบายน้ำบริเวณโดยรอบสนามบินและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีตัวแทนมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น กรมชลประทาน สำนักการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานท่าอากาศยานฯ เป็นต้น ตลอดจนตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่
(8) ให้การศึกษา ปลูกจิตสำนึกเด็กและผู้ใหญ่ในเรื่องการช่วยดูแล รักษา คู คลองต่างๆ
(9) มาตรการของรัฐอันทันต่อเหตุการณ์เพื่อความสอดคล้องสัมพันธ์ทั้งภาครัฐเอง และภาครัฐกับภาคเอกชนและภาคประชาชน
9.2 พื้นที่นอกเขตพื้นที่เร่งด่วน
9.2.1 มาตรการและแผนงานระยะสั้น
(1) การปรับปรุงสภาพลำน้ำและระบบระบายน้ำเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงสู่แม่น้ำบางปะกง จากแนวพระราชดำริ (2542) และพระราชหัตถเลขาในการเพิ่มขีดความสามารถของการระบายน้ำทางทุ่งฝั่งตะวันออก (2544) ให้มีการบริหารจัดการน้ำหลากโดยใช้คลองและลำน้ำที่มีอยู่เดิม โดยผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักผ่านคลองระพีพัฒน์ ปล่อยตรงไปทางคลอง 13 และ 14 ลงสู่คลองแสนแสบ แล้วระบายออกไปทางแม่น้ำบางปะกงและคลองพระองค์ไชยานุชิต
(2) การปรับปรุงเพิ่มความจุคลองพระองค์ไชยานุชิตและคลองด่าน โดยขยายคลองเพิ่มขึ้น ซึ่งเขตคลองที่มีการบุกรุกจะต้องรื้อถอนออกให้หมด พร้อมทั้งขุดคลองให้ลึกขึ้น เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็ว และมีประสิทธิภาพและเสริมกับมาตรการในหัวข้อ (1)
(3) เพิ่มประสิทธิภาพของคันกั้นน้ำรอบนอก และปรับปรุงเสริมคันบริเวณที่ต่ำเพิ่มเติมตามความจำเป็น
(4) สำรวจบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำในแต่ละพื้นที่ชลประทาน เพื่อที่จะกำหนดและพัฒนาเป็นที่กักเก็บน้ำหรือชะลอน้ำหลาก (แก้มลิง)
(5) สำรวจและศึกษาบริเวณพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ โดยจะทำการสูบหรือผันน้ำหลากจากคลองระพีพัฒน์เก็บสำรองไว้ในช่วงฤดูแล้ง ในพื้นที่ศูนย์ราชการใหม่บริเวณรอยต่ออำเภอบ้านนา วิหารแดง และหนองแค
9.2.2 การป้องกันน้ำท่วมระยะยาว
(1) ศึกษาแนวทางผันน้ำบางไทร-คลองด่าน-อ่าวไทย โดยมีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดอยุธยาผ่านทุ่งฝั่งตะวันออกและระบายลงทะเลที่อ่าวไทย เพื่อประโยชน์ในการบรรเทาน้ำท่วมต่อพื้นที่ทางตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพมหานคร
(2) ศึกษาแนวทางเลือกเพื่อเปรียบเทียบทางเลือก (1) ได้แก่ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง การกำหนดและพัฒนาพื้นที่ชะลอน้ำท่วมและแก้มลิงขนาดใหญ่ในบริเวณพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะสามารถบรรเทาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่างได้ และสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี
10. ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
1) เมื่อมีการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ จะมีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคตควบคู่กันไป เนื่องจากในอดีตบริเวณที่ก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิและพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่รองรับน้ำทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาพื้นที่จึงควรกำหนดให้มีสระพักน้ำควบคู่กันไป เพื่อรองรับน้ำส่วนเกินก่อนระบายออกด้วยโครงข่ายคลองธรรมชาติและระบบป้องกันน้ำท่วมที่จะก่อสร้างขึ้น การสำรองพื้นที่บางส่วนไว้ให้เป็นสระพักน้ำจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบป้องกันน้ำท่วมได้มาก และสามารถนำน้ำจากสระพักน้ำมาใช้เป็นประโยชน์ได้
2) ในการพัฒนาและก่อสร้างระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วม จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อการใช้น้ำในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณน้ำใช้ในด้านการเกษตรกรรม กล่าวคือ ควรจะใช้ประโยชน์จากโครงการระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมในการกักเก็บกักน้ำหรือผันน้ำไปกักเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ด้วย
3) ในการบริหารจัดการน้ำหลากในบริเวณเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ และบริเวณเกี่ยวเนื่องในทุ่งฝั่งตะวันออกตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา จำเป็นจะต้องให้มีคณะกรรมการร่วม โดยมีคณะกรรมการมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่
4) ควรจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ในการร่วมดำเนินการพัฒนาระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมในทุกขั้นตอน ตลอดจนร่วมในการเฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำหลากอย่างต่อเนื่อง
5) สนามบินสุวรรณภูมิจะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมการบริหารจัดการน้ำหลาก และการระบายน้ำทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการและบำรุงรักษา
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ