บทความ: มาตรการ 3 : มาตรการพัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 5, 2004 14:16 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

                                    คำถาม-คำตอบ
มาตรการ 3 : มาตรการพัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการ
1. ถาม มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์อะไร
ตอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการ โดยมุ่งเน้นที่การบริหารและพัฒนาข้าราชการ ให้มีความรู้ ความสามารถหรือทักษะและคุณภาพที่เหมาะสม สามารถปฏิบัติงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. ถาม มาตรการนี้มีหลักการอะไร
ตอบ (1) พัฒนาข้าราชการในกลุ่มที่สมควรได้รับการพัฒนามากที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก
(2) มีกลไกป้องกันการกลั่นแกล้ง โดยมีระบบประเมินผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและข้าราชการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องทุกข์ได้
(3) หากข้าราชการที่ต้องพัฒนาความรู้ฯ เพิ่มเติม ไม่ต้องการพัฒนาก็เลือกลาออกจากราชการได้ โดยได้รับเงินก้อน 8 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย
3. ถาม มาตรการนี้ดำเนินการอย่างไร
ตอบ ขั้นตอนดำเนินการตามมาตรการที่ 3 เป็นดังนี้
1) ส่วนราชการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และประกาศให้ข้าราชการทราบ
2) ประเมินฯ ครั้งที่ 1 : ( 1 เมษายน 30 กันยายน 2547) จัดลำดับข้าราชการตามผลการประเมิน โดยให้ผู้ที่อยู่ในลำดับ 5% สุดท้าย มีทางเลือก ดังนี้
* ลาออกจากราชการ โดยยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการตามมาตรการฯ และได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กำหนด หรือ
* รับราชการต่อไป โดยจะต้องจัดทำคำรับรองการปฏิบัติงานเพื่อให้มีการพัฒนาที่ชัดเจน และปฏิบัติงานที่หน่วยงานเดิมหรือย้ายไปสำนัก/กอง/กลุ่มงานใหม่ หรือโยกย้ายระหว่างหน่วยงานตามความสมัครใจเพื่อประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ครั้งที่ 2
3) ประเมินฯ ครั้งที่ 2 : ( 1 ตุลาคม 2547 31 มีนาคม 2548) ประเมินข้าราชการที่อยู่ในลำดับ 5% สุดท้ายของส่วนราชการ (ในการประเมินครั้งที่ 1) ตามคำรับรองการปฏิบัติงานที่ทำไว้กับส่วนราชการ และดำเนินการดังนี้
* กรณีผ่านการประเมินตามคำรับรองฯ ในระดับดีทุกรายการให้ข้าราชการ ดังกล่าวสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้
* กรณีไม่ผ่านการประเมินตามคำรับรองฯ ให้ส่วนราชการสั่งให้ข้าราชการผู้นั้น ออกจากราชการตามนัยมาตรา 114 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 หรือตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภท
4. ถาม การเข้าร่วมมาตรการนี้มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง
ตอบ 1) ข้าราชการที่ออกจากราชการตามมาตรการนี้แล้ว จะขอกลับเข้ารับราชการประจำในสังกัดฝ่ายบริหารอีกไม่ได้และมิได้มีข้อห้ามสำหรับหน่วยงานที่ไม่อยู่ในสังกัดฝ่ายบริหาร ตัวอย่างเช่น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรของรัฐอื่น
2) ส่วนราชการต้องไม่บรรจุข้าราชการที่ออกจากราชการตามมาตรการนี้กลับเข้ารับราชการประจำในสังกัดฝ่ายบริหาร
3) ส่วนราชการสามารถคงตำแหน่งผู้เข้าร่วมมาตรการได้ (ไม่ต้องยุบเลิก)
5. ถาม มาตรการนี้ครอบคลุมข้าราชการประเภทใดบ้าง
ตอบ ครอบคลุม ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ข้าราชการ พลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการครู ข้าราชการอัยการและข้าราชการธุรการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร
6. ถาม มาตรการนี้ครอบคลุมลูกจ้างประจำหรือไม่
ตอบ ไม่
7. ถาม ผู้สมัครเข้าร่วมมาตรการนี้ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
ตอบ ผู้มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการที่ 3 ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1) เป็นผู้ได้รับการประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในลำดับ 5% สุดท้าย ของจำนวนข้าราชการทั้งหมดในส่วนราชการที่สังกัด
2) มีเวลาราชการเหลือไม่น้อยกว่า 1 ปีขึ้นไป นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 (ผู้ที่เกษียณอายุราชการปกติในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ไม่มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการ)
3) เป็นข้าราชการประเภทใดประเภทหนึ่ง ต่อไปนี้
- ข้าราชการพลเรือนสามัญและข้าราชการพลเรือนในพระองค์
- ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
- ข้าราชการครู
- ข้าราชการอัยการและข้าราชการธุรการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
- ข้าราชการตำรวจ
- ข้าราชการทหาร
4) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการ ถูกสอบสวนหรือสอบหาข้อเท็จจริงทางวินัย พิจารณาโทษทางวินัย รายงานการลงโทษทางวินัย หรือพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
5) ไม่เป็นผู้ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องออกจากราชการไม่ว่ากรณีใดๆ ตามกฎหมาย เช่น ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา ถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในระดับอันเป็นที่พอใจของทางราชการตามมาตรา 114 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทนั้นๆ เว้นแต่จะเป็นผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ตามมาตรการที่ 3 มาตรการพัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการ
6) ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างปฏิบัติราชการชดใช้ตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับส่วนราชการในการไปศึกษาฝึกอบรมหรือปฏิบัติการวิจัย หรือหากอยู่ระหว่างปฏิบัติราชการชดใช้จะต้องยินยอมชดใช้เงินตามสัญญาผูกพันที่ได้ทำไว้กับราชการผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ออกจากราชการตามมาตรการนี้จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตั้งแต่วันยื่นใบสมัครจนถึงวันที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากราชการ
8. ถาม กรณีเป็นผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพทางกายหรือทางจิตจะออกจากราชการตาม มาตรการที่ 3 ได้หรือไม่
ตอบ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2547 ได้มีมติว่า กรณีข้าราชการที่มีปัญหาด้านสุขภาพทางกายหรือสุขภาพทางจิตซึ่งมีคุณสมบัติทั่วไป
* เช่นเดียวกับผู้เข้าร่วม มาตรการที่ 3 ให้ส่วนราชการต้นสังกัดพิจารณาสั่งให้ออกจากราชการและได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรการที่ 3 ได้เป็นรายๆ ไป โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะ ทั้งนี้ ให้นำผลการตรวจสุขภาพอย่างเป็นทางการของแพทย์เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาด้วย
*คุณสมบัติทั่วไปของผู้เข้าร่วมมาตรการที่ 3 ได้แก่
- ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการ ถูกสอบสวนหรือสอบหาข้อเท็จจริงทางวินัย พิจารณาโทษทางวินัย รายงานการลงโทษทางวินัย หรือพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
- ไม่เป็นผู้ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องออกจากราชการไม่ว่ากรณีใดๆ ตามกฎหมาย เช่น ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา ถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการเนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในระดับอันเป็นที่พอใจของทางราชการตามมาตรา 114 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทนั้นๆ เว้นแต่จะเป็นผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ตามมาตรการที่ 3 มาตรการพัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการ
- ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างปฏิบัติราชการชดใช้ตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับส่วนราชการในการไปศึกษาฝึกอบรมหรือปฏิบัติการวิจัย หรือหากอยู่ระหว่างปฏิบัติราชการชดใช้จะต้องยินยอมชดใช้เงินตามสัญญาผูกพันที่ได้ทำไว้กับราชการ
9. ถาม ผู้เข้าร่วมมาตรการที่ 3 จะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
ตอบ หากเลือกลาออกจากราชการหลังการประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ครั้งที่ 1 (รอบการประเมิน 1 เมษายน 30 กันยายน 2547) จะได้รับ
(1) เงินก้อน = 8 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย (ไม่รวมเงินประจำตำแหน่ง)
(2) สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(3) สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับเงินก้อนที่ได้รับตามมาตรการฯ
(4) สิทธิประโยชน์ทางภาษีในส่วนของเงินที่ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมมาตรการเป็นสมาชิก กบข.
(5) สิทธิประโยชน์ไม่ต้องชดใช้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามพระราช-กฤษฎีกาสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2535 กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปกติและให้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาต่อไป ในกรณีเป็นผู้กู้เงินตามโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ธอส.) ทั้งนี้ รวมถึงกรณีโครงการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ธอส. กบข. ด้วย
(6) สิทธิได้รับการพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนด
(7) สิทธิขอรับการพิจารณาจัดสรรวงเงินกู้ยืมจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธ.พ.ว.) โดยมีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ส.ส.ว.) ประสานการฝึกอบรมการประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(8) กระทรวงแรงงานสนับสนุนการจัดหางานในภาคเอกชนรองรับผู้ที่ออกจากาชการตามมาตรการฯ
10. ถาม ร้อยละ 5 ของจำนวนข้าราชการทั้งหมดในส่วนราชการที่สังกัด หมายถึงส่วนราชการระดับใด
ตอบ เป็นส่วนราชการระดับกรม สำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญ กรณีข้าราชการ ประเภทอื่นให้กำหนดส่วนราชการที่เทียบเคียงได้ในระดับเดียวกัน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทนั้นๆ กำหนด
(ยังมีต่อ).../11.ถามร้อยละ..

แท็ก ข้าราชการ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ