= รัฐสภาจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ
รัฐสภาจัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติ "สมเด็จพแม่ของแผ่นดิน ในวันศุกร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ โดยนายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษำร เป็นประธานในพิธี ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน ๗๓ รูป นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานในการประกอบพิธีศาสนาคริสต์ และนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานในการประกาอบพิธีศาสนาอิสลาม
จากนั้น เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานในพิธีเปิดการจัด กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งร่วมพิธีถวายราชสดุดีและร่วมร้องเพลง "นวมินทรมหาราชินี" การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย การจัดแสดงชุดไทยและ แสดงตราไปรษณียากร รวมทั้งการบริจาคโลหิตและอวัยวะเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
= เปิดซุ้มเฉลิมพระเกียรติ
วันพุธที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๐.๐๙ นาฬิกา ณ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ รัฐสภา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดซุ้มเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และลงนามถวายพระพรทางอินเตอร์เน็ต เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๖ รอบ พร้อมทั้งลงนามทางอินเตอร์เน็ตเป็นปฐมฤกษ์
ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมลงนามถวายพระพรทางอินเตอร์เน็ต เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายได้ที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ รัฐสภา และที่ www.Q-ITCARD.com ตั้งแต่วันที่ ๔ สิงหาคม - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๗
= ให้การรับรอง
วันอังคารที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรองนายยูน จี จูน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้ารับหน้าที่และหารือความสัมพันธ์ทั่วไป ณ ห้องรับรอง ๑ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๑
= สัมมนา e-Learning
วันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๒.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องฝึกอบรมหมายเลข ๑ ชั้น ๒๐ อาคารทิปโก้ สำนักพัฒนาบุคลากร ร่วมกับ สำนักสารสนเทศ จัดโครงการอบรมเรื่อง "ระบบบริหารจัดการเรียนการสอนผ่านอินเตอร์เน็ต (e-Learning) เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ และพัฒนาบุคลากรของสำนักงานให้มีความรู้ที่ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถนำเอาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาช่วยในการแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงาน และเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีของผู้เข้าอบรมด้วย ซึ่งในการอบรมครั้งนี้มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน ๖๐ คน และมีการบรรยายให้ความรู้ในเรื่องของ e-Learning รวมทั้งมีการสาธิตการประยุกต์ใช้ e-Learing ในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้ารับการอบรมอีกด้วย
ทั้งนี้จะมีการอบรมในโครงการเผยแพร่ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT UPDATE) ครั้งที่ ๖ เรื่อง ระบบพัฒนาบริหารเว็บไซต์ ในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๗
= บัตรเติมเงินมหากุศลฯ
ด้วยคณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทยร่วมกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้จัดทำบัตรเติมเงินมหากุศลเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้น เพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วส่วนหนึ่งสนับสนุนงานบริการโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และเพื่อเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องใน วโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา
จึงขอเชิญชวนข้าราชการและลูกจ้างสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซื้อบัตรเติมเงิน ซึ่งเป็นบัตรที่ใช้ได้ตามปกติสำหรับโทรศัพท์ระบบ วัน ทู คอล ได้ที่ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร. ๐ ๒๒๕๖ ๔๓๐๑ โทรสาร ๐ ๒๒๕๔ ๓๔๗๑
= พระราชกรณียกิจ (ตอนที่ ๔)
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงจัดตั้งโครงการอาชีพเสริมต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยโครงการอาชีพเสริมได้แพร่หลายไปในภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศจึงเป็น ที่รับทราบกันอย่างกว้างขวาง จึงได้มีผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อใช้จ่าย ในกิจการเหล่านี้ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๙ พระราชทานชื่อว่า "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์" เพื่อสนับสนุนการประดิษฐ์ศิลปะพื้นบ้านให้เป็นอาชีพเสริมแก่ชาวไร่ชาวนาในยามว่างจากฤดูทำไร่ทำนา ได้ทรงริเริ่มโครงการตามพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย เช่น
๑. โครงการป่ารักน้ำ ณ ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
๒. โครงการอนุรักษ์เต่าทะเล ที่เกาะมัน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
๓. โครงการสวนสัตว์ธรรมชาติภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
๔. โครงการศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่ช่องกล่ำบน จังหวัดสระแก้ว และที่โคกไม้เรือ จังหวัดนราธิวาส
๕. โครงการสวนสัตว์เปิด ศูนย์ป่าตอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
๖. โครงการศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดอยุธยา
= ดำเนินการทางวินัย
นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการและลูกจ้างในสังกัด ให้รักษาวินัยอย่างเคร่งครัด โดยให้ปฏิบัติดังนี้
๑. ให้ผู้บังคับบัญชา กำชับ กำกับดูแล ให้ข้าราชการและลูกจ้างในสังกัดรักษาวินัยอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น
๒. ในกรณีที่ข้าราชการและลูกจ้างกระทำผิดวินัย และได้มีการว่ากล่าวตักเตือน หรือทำทัณฑ์บน ให้ทำบันทึกเรื่องการว่ากล่าวตักเตือน หรือการทำทัณฑ์บนเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้ง และ รายงานการดำเนินการนั้นให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แล้วรายงานให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบ
๓. เมื่อข้าราชการและลูกจ้างมีการกระทำผิดวินัย ให้ผู้บังคับบัญชารีบเสนอรายงาน ไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรโดยด่วน เพื่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะได้สั่งการให้มีการดำเนินการทางวินัยต่อไป
= การแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภา ประจำปี ๒๕๔๗
การจัดการแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภาเป็นการดำเนินการร่วมกันของ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา มีทัศนคติและความเข้าใจที่ดีต่อการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยจะดำเนินการจัดการแข่งขันฯ ในแต่ละพื้นที่ของสำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการ ๑-๑๒ และเขตตรวจราชการส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร ตามวัน เวลา และสถานที่ ดังต่อไปนี้
เขต ๑ ปทุมธานี แข่งขันวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงเรียนปทุมวิไล จังหวัดปทุมธานี
เขต ๒ ลพบุรี แข่งขันวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ ศูนย์สัมมนามณนิภา จังหวัดลพบุรี
เขต ๓ ชลบุรี แข่งขันวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงแรมซีซ่าร์พาเลซ จังหวัดชลบุรี
เขต ๔ เพชรบุรี แข่งขันวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี
เขต ๕ นครราชสีมา แข่งขันวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงเรียนเทคโนโลยีช่างกลพณิชยการนครราชสีมา
จังหวัดนครราชสีมา
เขต ๖ อุดรธานี แข่งขันวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงเรียนอุดรพิชัยรักษ์พิทยา จังหวัดอุดรธานี
เขต ๗ ประกอบด้วย ๒ จุดการแข่งขัน ได้แก่
จุดที่ ๑ นครพนม แข่งขันวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงเรียนนครพนมวิทยาคม จังหวัดนครพนม
จุดที่ ๒ อุบลราชธานี แข่งขันวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี
เขต ๘ นครสวรรค์ แข่งขันวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ ห้องประชุมสำนักผู้ตรวจราชการ ประจำเขตตรวจราชการ
ที่ ๘ จังหวัดนครสวรรค์
เขต ๙ พิษณุโลก แข่งขันวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จังหวัดพิษณุโลก
เขต ๑๐ เชียงใหม่ แข่งขันวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงเรียนเทคโนโลยีเอเชีย จังหวัดเชียงใหม่
เขต ๑๑, ๑๒ แบ่งการแข่งขันออกเป็น ๓ จุดแข่งขัน ได้แก่
จุดที่ ๑ สุราษฎร์ธานี แข่งขันวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงเรียนพุนพินพิทยาคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
จุดที่ ๒ ภูเก็ต แข่งขันวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงเรียนสตรีภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
จุดที่ ๓ สงขลา แข่งขันวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงเรียนพณิชยการหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
เขตตรวจราชการส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร
แข่งขันวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย
โดยจะคัดเลือกผู้ชนะเป็นตัวแทนของแต่ละเขตมาแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวันรัฐธรรมนูญต่อไป
= ขอรับทุนการศึกษาเพื่อใช้ในการค้นคว้าวิจัย
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้จัดโครงการให้ทุนการศึกษาแก่นิสิต นักศึกษา บัณฑิตศึกษา เพื่อใช้ในการค้นคว้าวิจัยในหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งการส่งเสริมสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยนี้จะช่วยสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยและทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถในการค้นคว้าวิจัย และส่งผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าตามมา สมดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โดยผู้ขอรับทุนจะต้องยื่นเอกสารดังนี้
๑. ใบสมัครขอรับทุนของมูลนิธิฯ ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ / สารนิพนธ์ ได้รับรองประมาณการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว จำนวน ๑ ชุด และสำเนาใบสมัครดังกล่าว จำนวน ๑ ชุด
๒. สำเนาใบลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ / สารนิพนธ์ ขั้นบัณฑิตศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือเอกชน ในปีการศึกษานั้น (ออกโดยสถาบันการศึกษานั้น ๆ )
๓. เอกสารวินิจฉัยความสามารถทางวิชาการ (recommendation) ของผู้สมัครจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ / สารนิพนธ์ (เสนอเป็นการลับโดยปิดผนึก)
๔. สำเนาโครงร่างวิทยานิพนธ์ ซึ่งได้รับอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์ / สารนิพนธ์ จากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือเอกชน จำนวน ๓ ชุด
๕. รูปถ่ายครึ่งตัว ขนาด ๑ นิ้ว จำนวน ๒ รูป
ผู้สมัครขอรับทุนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครด้วยตนเอง ได้ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อาคารทิปโก้ทาวเวอร์ ชั้น ๑๖ ถนนพระราม ๖ เขตพญาไท กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๓๕๗ ๓๑๕๕ โทรสาร ๐ ๒๓๕๗ ๓๑๙๓ (Download ใบสมัคร ได้ที่ www.parliament.go.th ภายใต้หัวข้อประกาศสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร) หรือสมัครทางไปรษณีย์ ส่งมาที่มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขที่ ๒ ถนนอู่ทองใน ดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
ทั้งนี้ ผู้สมัครขอรับทุนสามารถสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๗
= จำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวด
การประปานครหลวงได้เริ่มดำเนินการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด ตรา "ปาป้า" จากน้ำประปาคุณภาพได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยโอโซน โดยบรรจุในขวดพลาสติกใส ขนาด ๖๐๐ ซีซี และกำหนดขายในราคาเท่าทุน โหลละ ๓๖ บาท (ขวดละ ๓ บาท) ซึ่งจะวางจำหน่าย ณ ที่ทำการของการประปานครหลวง ในสำนักงานประปาสาขาต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานใหญ่การประปานครหลวง สุขุมวิท พระโขนง สมุทรปราการ แม้นศรี พญาไท ทุ่งมหาเมฆ ลาดพร้าว นนทบุรี ประชาชื่น บางเขน กองประปามีนบุรี ตากสิน บางกอกน้อย ภาษีเจริญ และบางบัวทอง
ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดตรา "ปาป้า" ไว้ใช้ในหน่วยงานหรือครอบครัว สามารถติดต่อได้ตามจุดจำหน่ายของการประปานครหลวงดังกล่าวข้างต้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
= มาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการ
สังกัดรัฐสภา
๑. จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
๒. ภักดีต่อองค์กร
๓. มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน
๔. โปร่งใส ตรวจสอบได้
๕. ซื่อสัตย์ สุจริต
๖. กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง
๗. มีจิตให้บริการ
๘. ไม่เลือกปฏิบัติ
๙. เคารพซึ่งกันและกัน
๑๐. เสียสละ
๑๑. พัฒนาตนเองอยู่เสมอ
๑๒. ประหยัด
= การประชุมสภาผู้แทนราษฎร
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
วันพุธที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๗
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๓.๓๕ นาฬิกา โดยมีนายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เมื่อครบองค์ประชุมประธานได้กล่าวเปิดประชุมแล้วให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอ่านพระบรมราชโองการ ให้ที่ประชุมรับทราบ รวม ๓ ฉบับ
๑. พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัย
ประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. ๒๕๔๗
๒. พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
และแต่งตั้งรัฐมนตรี ดังนี้
๑. ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
(๑) นายประมวล รุจนเสรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
(๒) นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
๒. ให้แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
(๑) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
(๒) นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่า
การกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ เป็นต้นไป
๓. พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้ง นายอภัย จันทนจุลกะ เป็น
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
จากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ คือ
๑. รับทราบเรื่องสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง จำนวน
๓๒ คน
จากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวนำ นางผุสดี ตามไท นายปรีชา สุวรรณทัต นายวิชัย ตันศิริ และนายชูศักดิ์ ศิรินิล ปฏิญาณตนต่อที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา ๑๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
๒. รับทราบที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒๒ (สมัยสามัญทั่วไป) วันอังคารที่ ๒๗
เมษายน ๒๕๔๗ ได้พิจารณาและรับทราบรายงาน จำนวน ๒ ฉบับ คือ
(๑) ผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตของ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๔
(๒) รับทราบรายงานประจำปี ๒๕๔๔ ของสถาบันพระปกเกล้า
๓. รับทราบที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๓๑ (สมัยสามัญทั่วไป) วันจันทร์ที่ ๓๑
พฤษภาคม ๒๕๔๗ และครั้งที่ ๓๒ (สมัยสามัญทั่วไป) วันอังคารที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ ได้พิจารณาและรับทราบรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ปีที่สาม
๔. รับทราบเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้อนุญาตให้นำเรื่องออกจาก
ระเบียบวาระการประชุม ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๕๗ จำนวน ๓ เรื่อง คือ
(๑) ขออนุญาตให้ส่งตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปทำการสอบสวน
คดีอาญา
(๒) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่ง นางปวีณา หงสกุล เป็นผู้เสนอ
(๓) ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่ง
นายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ และนายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นผู้เสนอ
๕. รับทราบเรื่องนายกรัฐมนตรีได้รับร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน
ได้พิจารณาให้คำรับรอง จำนวน ๖ ฉบับ คือ
(๑) ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยหนองคาย พ.ศ. …. ซึ่ง
ว่าที่ร้อยตรี พงศ์พันธ์ สุนทรชัย กับคณะ เป็นผู้เสนอ
(๒) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่ง พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ และนายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ เป็นผู้เสนอ
(๓) ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่ง พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ และนายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ เป็นผู้เสนอ
(๔) ร่างพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่ง
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กับคณะ เป็นผู้เสนอ
(๕) ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน
พ.ศ. …. ซึ่ง นายวัลลภ สุปริยศิลป์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ
(๖) ร่างพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. …. ซึ่ง
พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ และนายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ เป็นผู้เสนอ
๖. รับทราบร่างแผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจทาง
การเงิน การคลัง และงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างแผนปฏิบัติการถ่ายโอนบุคลากรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ต่อจากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอให้นำเรื่องรับทราบรายงาน ที่จะมีการอภิปรายซักถามไปพิจารณาในวันพฤหัสบดีก่อนระเบียบวาระกระทู้ถาม
ซึ่งที่ประชุมรับทราบ
จากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอให้ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๓ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) จำนวน ๑๒ ครั้ง คือ
ครั้งที่ ๒๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๖
ครั้งที่ ๒๒ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันพุธที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖
ครั้งที่ ๒๓ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๖
ครั้งที่ ๒๔ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันพุธที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๖
ครั้งที่ ๒๕ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๖
ครั้งที่ ๒๖ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันพุธที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
ครั้งที่ ๒๗ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
ครั้งที่ ๒๘ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันพุธที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
ครั้งที่ ๒๙ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
ครั้งที่ ๓๐ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
ครั้งที่ ๓๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ และ
ครั้งที่ ๓๒ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
ต่อจากนั้นได้มีสมาชิกฯ เสนอญัตติขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม โดยขอนำพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ (ในระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ ๒๑) ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแถลงเหตุผล มีสมาชิกฯ อภิปรายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบชี้แจงจนได้เวลาพอสมควรแล้วที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้
ต่อมารองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนและได้แจ้งให้ที่ประชุม รับทราบ เรื่อง นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตอบรับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคในรายการชื่อพรรคจากพรรคราษฎร เป็นพรรคมหาชน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๓ ซึ่งที่ประชุมรับทราบ
จากนั้นได้มีสมาชิกฯ เสนอญัตติขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม โดยขอนำระเบียบวาระเรื่องที่มีมติให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนลำดับที่ ๑, ๒ และ ๓ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งที่ประชุม เห็นชอบ
ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องที่ ที่ประชุมมีมติ ตามลำดับคือ
๑. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่..) พ.ศ. …. (การดำเนินคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา) ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ (ในระเบียบวาระเรื่องที่มีมติให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนลำดับที่ ๑) โดยที่ประชุมเห็นชอบให้นำร่าง พระราชบัญญัติทำนองเดียวกันอีก ๑ ฉบับ ขึ้นมาพิจารณารวมกันไป คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (การดำเนินคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา) ซึ่งพลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ และนายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ เป็นผู้เสนอ (ในระเบียบวาระที่ ๕.๓๙)
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและผู้เสนอได้แถลงหลักการและเหตุผลตามลำดับ ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับพร้อมกันไป และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน ๓๕ คน กำหนดการแปรญัตติภายใน ๗ วัน
๒. ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. …. (ผู้รักษาการตามกฎหมาย) ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ
โดย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แถลงต่อ ที่ประชุมว่าเพื่อเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช ๒๔๗๗ เพื่อกำหนดเพิ่มให้ประธานศาลฎีกา และนายกรัฐมนตรี รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๕ กำหนดให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานอิสระขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา และโดยที่ พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดที่อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นสมควรแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช ๒๔๗๗ โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ประธานศาลฎีกาและนายกรัฐมนตรี รักษาการในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ
หลังจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงต่อที่ประชุมถึงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ผู้รักษาการตามกฎหมาย) แล้ว ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับหลักการ แห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๙๔ เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียงไม่มี และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา จำนวน ๓๕ คน กำหนดการแปรญัตติภายใน ๗ วัน
๓. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่ง
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดย เริ่มต้นด้วย ชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง โดยสมาชิกได้อภิปรายถึงเรื่องการเพิ่มเงินอุดหนุน กองทุนหมู่บ้านจากรัฐบาล รวมทั้งเสนอว่าควรปรับปรุงการใช้จ่ายเงินของกองทุนหมู่บ้านและการติดตามการใช้จ่ายเงินของกองทุนหมู่บ้านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในเรื่องของการรับเงินบริจาคที่มีเงื่อนไข ไม่เป็นการเสื่อมเสียและไม่เป็นภาระแก่กองทุนควรเปิดโอกาสให้กองทุนรับบริจาคได้ และเรื่องการคัดเลือกกรรมการกองทุนหมู่บ้านที่กำหนดให้คำนึงถึงสัดส่วนของกรรมการชายและหญิงต้องใกล้เคียงกันนั้น เป็นอย่างไร เรื่องการจดทะเบียนกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่กว่าเจ็ดหมื่นห้าพันแห่งให้แล้วเสร็จภายใน ๓ ปี มีความพร้อมเพียงไร ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ผลัดเปลี่ยนกันชี้แจงว่า เงินอุดหนุนจากรัฐบาลนั้นมีมาตรการควบคุมดูแลการใช้จ่ายโดยเคร่งครัด ซึ่งทำให้การดำเนินการแบบเลือกปฏิบัติ ไม่สามารถกระทำได้ และ
การดำเนินงานก็เป็นไปอย่างยุติธรรมสำหรับประชาชนแน่นอน เรื่องการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกองทุนหมู่บ้านในอดีตที่เคยมีการร้องเรียนก็ได้มีการดำเนินการตรวจสอบแล้ว และกระบวนการในการติดตามประเมินผลก็ได้มีการดำเนินการผ่านทางสถาบันการศึกษา ซึ่งจากการประเมินผลกระทบจากนโยบาย กองทุนหมู่บ้านเป็นไปในทางที่ดี การชำระหนี้คืนกองทุนหมู่บ้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในเรื่องของเงินบริจาคที่ต้องกำหนดให้การรับบริจาคเงินต้องเป็นแบบไม่มีเงื่อนไขนั้น ก็เพื่อเป็นการป้องกันการหาประโยชน์จากกองทุนโดยมิชอบ แต่สำหรับการบริจาคเป็นไปโดยมีเจตนาที่ดีก็สามารถจะกระทำได้อยู่แล้ว ในเรื่องของสัดส่วนระหว่างชายและหญิงที่จะเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านนั้น ที่กำหนดไว้ว่าในการคัดเลือกคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านต้องคำนึงถึงสัดส่วนของกรรมการที่เป็นหญิงต้องใกล้เคียงกับชาย โดยไม่ระบุสัดส่วนให้ชัดเจน ก็เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการคัดเลือกกรรมการกองทุนหมู่บ้านและยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านอีกด้วย เรื่องการจดทะเบียนกองทุนหมู่บ้านนั้นในความเป็นจริงใช้เวลาไม่นานนักสามารถจัดตั้งได้ครบทุกหมู่บ้านได้อย่างแน่นอน
หลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายกันพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๓๒๓ เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง ๕ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ
ปิดประชุมเวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
วันพฤหัสบดีที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๗
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๒ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๔๕ นาฬิกา โดยมีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม เมื่อครบองค์ประชุมประธานการประชุม ได้ดำเนินการพิจารณากระทู้ต่าง ๆ คือ
กระทู้ถามสด จำนวน ๓ เรื่อง
๑. กระทู้ถามสดของนายตรีพล เจาะจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง นโยบายทางด้านการค้าเสรีกับต่างประเทศ ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ว่า ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกของ WTO ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้ขออนุมัติจากรัฐสภาแล้ว โดยการเป็นสมาชิก WTO นั้น ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ WTO และกระบวนใด ๆ ที่กระทำกันใน WTO ก็ไม่ต้อง ขออนุมัติจากสภาอีก ส่วนการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) นั้นเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบของ WTO ด้วยเช่นกัน ซึ่งการทำ FTA นั้น ย่อมส่งผลกระทบกับเกษตรกรบางกลุ่ม ทั้งนี้ ทางรัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนหนึ่งหมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกประเทศที่เป็นสมาชิก WTO นั้น จะต้องเปิดเสรีด้านการค้าอยู่แล้ว ดังนั้นการที่ราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำนั้น ไม่ใช่มีสาเหตุมาจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีเพียงอย่างเดียว และการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าตกต่ำด้วย
๒. กระทู้ถามสดของนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารข้อมูลข่าวสารด้านการเงิน การคลัง และข้อมูลโรงพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ว่า ขั้นตอนของการจัดซื้อ จัดจ้างนั้นเป็นไปตามระเบียบพัสดุ ตามอำนาจของปลัดกระทรวง และมีคณะกรรมการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเป็นกระบวนการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่เคยสั่งหรือแทรกแซงแต่อย่างใด แต่จะมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตามที่ปลัดกระทรวงเสนอเท่านั้น และการที่มีคำสั่งย้ายปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้นก็เนื่องมาจากมีพฤติกรรมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หลายครั้ง
๓. กระทู้ถามสดของนายวัฒนา เซ่งไพเราะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาวิกฤตน้ำมัน ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วง ต่อปัญหาดังกล่าว และได้มีมาตรการตรึงราคาน้ำมันเพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมัน นอกจากนี้ยังได้มีมาตรการเสริมในด้านต่าง ๆ เช่น การกำหนดเวลาปิดปั้มน้ำมัน และสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตามการที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้อย่างมีประสิทธิผลนั้น ประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือ กับรัฐบาลด้วย
กระทู้ถามทั่วไป จำนวน ๓ เรื่อง คือ
๑. กระทู้ถามของนายอำนวย คลังผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี พรรค
ไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง มาตรการป้องกันการเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งในเรื่องของกระทู้ถามดังกล่าวนี้ ผู้ตั้งกระทู้ถามได้ขอถอนออกไป
๒. กระทู้ถามของนายวิชาญ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การจัดหรือขยายเส้นทางการเดินรถเพื่อรองรับสนามบินสุวรรณภูมิ และเร่งแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายนิกร จำนง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ว่า รัฐบาลได้อนุมัติให้การรถไฟดำเนินการก่อสร้างระบบการขนส่งทางเชื่อม ซึ่งมีกำหนดจะเปิดใช้ในปี ๒๕๕๑ และยังจัดรถบัสมารองรับด้วย อีกทั้งทางกระทรวงคมนาคม ก็ได้มีการเตรียมการก่อสร้างทางสายหลัก กรุงเทพ - ชลบุรี สายใหม่ โดยขยายช่องทางจาก ๔ ช่องทางเป็น ๘ ช่องทาง ระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร และทางด้านทิศเหนือก็ได้สร้างทางเชื่อมต่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตลอดจนเส้นทางสายอื่น ๆ ก็ได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับสนามบินสุวรรณภูมิด้วยเช่นกัน ทั้งนี้คาดว่าการก่อสร้างทั้งทางสายหลักและทางเชื่อมทั้งหมดจะดำเนินการเสร็จตามแผนอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมตอบกระทู้ว่า ทางกระทรวงมหาดไทยได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ มาโดยตลอด และได้ดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการเก็บภาษี ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมในการบริหารจัดการต่อไป
๓. กระทู้ถามของนายประชา ประสพดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาบ่อนการพนันและอบายมุขทุกชนิด ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ได้อยู่ในที่ประชุมเป็นผลให้กระทู้ตกไป
หลังจากนั้นประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเรื่องการลาออกจากการเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรของนายณรงค์เลิศ สุรพล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคกิจสังคม โดยได้มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ ดั้งนั้น จึงถือว่าสมาชิกภาพได้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๑๘ (๓) โดยขณะนี้ มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหลืออยู่ทั้งสิ้น ๔๗๒ คน
ปิดการประชุมเวลา ๑๖.๑๕ นาฬิกา