ลำไย : ตลาดส่งออกคุมเข้มโรคและสารตกค้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2004 15:17 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        ลำไยเป็นผลไม้ที่ตลาดมีความต้องการมาก ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศส่งผลให้ราคาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะสามารถส่งออกได้ทั้งในลักษณะลำไยสด ลำไยแช่แข็ง ลำไยกระป๋องและลำไยอบแห้ง และยังมีโอกาสทางการตลาดที่สดใส ดังนั้นภาครัฐบาลและภาคเอกชน จึงควรร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการพัฒนากระบวนการผลิตและการตลาดของลำไยอย่างเป็นระบบและครบวงจร เพื่อให้เป็นผลไม้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย 
จากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกษตรกรเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วง 4 - 5 ปี ที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่การปลูกลำไยของประเทศในปี 2547 เพิ่มขึ้นรวมประมาณ 688,281 ไร่ หรือเพิ่มจากปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 56 และปริมาณผลผลิตรวมของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 544,575 ตัน หรือร้อยละ 82 เพราะพื้นที่เพาะปลูกใหม่เริ่มให้เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้เป็นปีแรก ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม รวมถึงความสามารถในการปรับปรุงการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นทำให้ความสามารถในการผลิตต่อไร่สูงกว่า 110 กิโลกรัม/ไร่ หรือผลผลิตต่อไร่ของไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16
สำหรับต้นทุนการผลิตลำไยในปี 2545 พบว่าต้นทุนส่วนใหญ่เป็นค่าแรงในการเก็บเกี่ยว รองลงมาคือปุ๋ยเคมี ค่าแรงในการปลูกและดูแล โดยเฉลี่ยแล้ว มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 8.31 บาท/กิโลกรัม
การตลาดภายในประเทศ ลำไยสดส่วนใหญ่มีทั้งตลาดในกรุงเทพฯ ซึ่งได้แก่ ตลาดมหานาค ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และปากคลองตลาด ซึ่งการบริโภคลำไยสดส่วนใหญ่เป็นลำไยเกรด A ที่เหลือจากการส่งออกและเกรด B กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยพ่อค้าจะนำรถไปรับซื้อเองที่สวน หรือจุดรับซื้อแต่ละจังหวัด ซึ่งตลาดรวบรวมที่สำคัญมักอยู่ในจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคนั้นๆ เช่น นครศรีธรรมราชหาดใหญ่ นครสวรรค์ นครราชสีมา เป็นต้น ส่วนลำไยกระป๋อง มักจะกระจายอยู่ตามร้านค้าทั่วๆ ไปหรือตามศูนย์การค้าต่างๆ และลำไยอบแห้ง มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปตามร้านค้าหรือศูนย์การค้าต่างๆ ทั่วประเทศ
การส่งออก ลำไยของประเทศไทยแบ่งเป็น ลำไยแช่แข็ง/สด 53% ลำไยอบแห้ง 36% ลำไยกระป๋อง 11.% ตลาดสำคัญได้แก่ จีน , ฮ่องกง , อินโดนีเซีย และไต้หวัน มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 39 , 31 , 16 และ 4 ตามลำดับ
ผลผลิตลำไยสดไทยแทบจะไม่มีปัญหาด้านคู่แข่งขัน เนื่องจากประเทศผู้ผลิตอื่นๆ เช่น จีน ไต้หวัน เวียดนาม และออสเตรเลีย ยังไม่สามารถแข่งขันกับไทยได้ทั้งในด้านปริมาณ ราคา รวมทั้งคุณภาพ และรสชาติ ลำไยของไทยเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันไม่ควรมองข้าม จีน เนื่องจากขณะนี้จีนเร่งขยายพื้นที่การผลิตลำไยอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในมณฑลกวางสี ได้เร่งปลูกลำไยพันธุ์จูเลี่ยน ซึ่งจะให้ผลผลิตในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อจีนมีปริมาณลำไยในประเทศเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีการนำเข้าลำไยจากต่างประเทศลดลงตามไปด้วย
สำหรับลำไยกระป๋อง มีเพียงไต้หวันและไทยเท่านั้นที่มีการส่งออก แต่ลำไยกระป๋องของไต้หวันมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าของไทย ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบกับการส่งออกของไทยมากนัก ส่วนลำไยอบแห้ง ประเทศที่ส่งออก ได้แก่ ไทย จีน ไต้หวัน และเวียดนาม โดยคุณภาพลำไยอบแห้งของจีนและไต้หวันจะดีกว่าของไทย แต่ราคาสูง ขณะที่ผลผลิตของเวียดนามนั้น มีคุณภาพและราคาที่ต่ำกว่าของไทย
ปัญหา
ปัจจุบันการผลิตลำไยของไทยยังมีปัญหาสำคัญในเรื่องของมาตรฐานคุณภาพ เนื่องจากเกษตรกรยังขาดการดูแลและการบริหารจัดการที่ดี ส่งผลให้ผลผลิตส่วนใหญ่มีคุณภาพระดับปานกลาง โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ลำไยเกรดดีมีเพียงร้อยละ 30 และอีกร้อยละ 25 เป็นลำไยเกรดต๋ำ
การตลาด เกษตรกรมีความรู้ในเรื่องของตลาดกลางค่อนข้างน้อย ขาดข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยทำให้ไม่สามารถทราบราคาขายที่แน่นนอนได้ ประกอบกับราคาลำไยมีความแปรผันสูง ขาดระบบการตลาดที่ดีเนื่องจากเกษตรกรยังมีลักษณะที่ต่างคนต่างขาย ทำให้ขาดอำนาจการต่อรอง การจัดเกรดมาตรฐานลำไยที่ไม่แน่นอน ทำให้เกิดปัญหาในการกำหนดราคาซื้อขายที่ไม่เป็นธรรม
การส่งออก การส่งออกผลไม้ของไทยมีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น สาเหตุเนื่องมาจากประเทศผู้นำเข้ามีกฎระเบียบ และมาตรการสุขอนามัยที่เข้มงวดในการตรวจสอบโรคพืชและสารเคมีตกค้าง นอกจากนี้อัตราภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม มีอัตราค่อนข้างสูง ทำให้ผลไม้มีราคาสูง ในขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรการเข้มงวด ทั้งด้านสุขอนามัยและการตรวจสอบโรคพืชและสารตกค้าง ทำให้ผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายได้ง่าย โดยเฉพาะการค้าผ่านชายแดน
แนวทางการแก้ไข หน่วยงานของรัฐควรเพิ่มมาตรการกำกับดูแล และตรวจสอบคุณภาพและปริมาณผลผลิตให้ปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด พร้อมเร่งกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการผลิตสินค้าที่เพิ่มมูลค่า เช่น ผลไม้ปลอดสารพิษ เพื่อรองรับแนวโน้มและทิศทางความต้องการของตลาด
ปัจจุบันการเปิดเสรีกับจีน โดยการลดภาษีผลไม้ให้เหลือ 0% ทำให้การค้าผลไม้ของไทย- จีน ขยายตัวเพิ่มขึ้น การนำมาตรการตรวจสอบเข้มงวดมาใช้คงเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน ดังนั้นเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทยจึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพและสุขอนามัยตามข้อกำหนดที่ผู้บิรโภคต้องการ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

แท็ก ผลไม้  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ