ผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและแผนรองรับของภาครัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 13, 2004 16:11 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        ผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและแผนรองรับของภาครัฐบาล(เอกสารชี้แจงเรื่องนมผมขาดมันเนย)
1. ในช่วง 20 ปีข้างหน้า มั่นใจได้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบจากการทำFTA ไทย-ออสเตรเลีย และจะไม่มีการนำเข้าน้ำนมดิบหรือนมผงขาดมันเนยจากประเทศออสเตรเลียมากเกินกว่าที่ประเทศไทยต้องการนำเข้า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาไทยเองก็ผลิตน้ำนมดิบไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงต้องมีการนำเข้านมผงขาดมันเนยประมาณ 70,000 ตันต่อปี เพื่อนำมาละลายกับน้ำให้เป็นนมพร้อมดื่มในสัดส่วนนมผงขาดมันเนย 1 ส่วน ต่อน้ำ 10 ส่วน ให้ได้นมพร้อมดื่มประมาณ 700,000 ตันต่อปี
2. ภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งถือปฎิบัติมา 10 ปีแล้ว ประเทศไทยมีข้อผูกพันที่จะต้องเปิดโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยอย่างต่ำ 55,000 ตันต่อปี โดยมีภาษีในโควตาไม่เกินร้อยละ 20 แต่ในทางปฏิบัติมีการนำเข้าจริงประมาณ 70,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นการนำเข้าเกินโควตาอยู่ประมาณ 15,000 ตันต่อปี โดยเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำ เพียงร้อยละ 5
3. ภายใต้ FTA ไทย - ออสเตรเลีย ไทยเปิดโควตานมผงขาดมันเนยให้แก่ออสเตรเลียเป็นการเฉพาะจำนวน 2,200 ตันในปี 2548 ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ 15,000 ตันต่อปีที่ไทยต้องนำเข้าอยู่แล้ว เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ มิใช่ส่วนที่ต้องนำเข้าเกินกว่าความต้องการปกติแต่อย่างใด และแม้ว่าจำนวนโควตาจะเพิ่มขึ้นไปเป็นลำดับจนถึง 3,500 ตันในปี 2563 และคงปริมาณนี้ไปจนถึงปี 2567 แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ปริมาณความต้องการที่ไทยต้องนำเข้าโดยปกติอยู่แล้ว อนึ่ง นมผงขาดมันเนยมีอัตราภาษีในโควตาไม่เกิน 20% ในปี 2548 โดยจะลดลงปีละ 1% เท่าๆกัน ต่อปี จนเหลือ 0% ในปี ที่ 20 (ปี 2568 ) แต่ในทางปฏิบัติประเทศไทยก็เรียกเก็บภาษีนมผงในส่วนนี้ในระดับต่ำ คือ ประมาณ 5% อยู่แล้ว จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด
4. เกษตรกรไทยมีเวลา 20 ปี ในการที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมโคนมไทยเพื่อลดต้นทุน การผลิต และรัฐบาลไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามผลการเจรจา ซึ่ง แต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.)โดยมีนายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นประธาน และขณะนี้คณะทำงานดังกล่าวก็กำลังศึกษาการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโคนมอย่างขะมักเขม้นอยู่แล้ว นอกจากนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้หายุทธศาสตร์และมาตรการแก้ไขดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่เช่นกัน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ