เขตการค้าเสรีไทย-จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 13, 2004 16:13 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        เขตการค้าเสรีไทย-จีน(เอกสารชี้แจงผักผลไม้)
1. ประเทศไทยและจีนได้มีการลงนามในความตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสาระความสำคัญของความตกลงครอบคลุมเรื่องการลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ทุกรายการ ตามพิกัดศุลกากรตอนที่ 07-08 (116 รายการ ตามพิกัดศุลกากร 6 หลัก) ให้เหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป
2. หลังจากที่ไทยได้มีการเปิดเสรี FTA กับจีน โดยมีการปรับลดภาษีผักและผลไม้ลงเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ส่งผลให้การค้าผักและผลไม้ระหว่างไทย-จีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งสองทาง โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 - พฤษภาคม 2547 ไทยส่งออกผักและผลไม้ไปจีน มูลค่า 167.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.01 ในขณะที่มีการนำเข้าเพียง 83.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 175.68 ส่งผลให้ไทยเกินดุล 83.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
3. ผักและผลไม้ที่ไทยส่งออกไปจีน ที่สำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง ลำไยแห้ง ลำไยสด ทุเรียนสด และส้มโอ
4. สำหรับผักและผลไม้ที่ไทยนำเข้าจากจีนที่สำคัญ ได้แก่ แอปเปิ้ล แพร์และควินซ์ แคร์รอต เห็ด และมันฝรั่ง
5. การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของจีน กรณีที่มีการกล่าวหาว่า จีนมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้าผักและผลไม้นำเข้าในอัตรา 13% แต่ไม่ได้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผักและผลไม้ที่ปลูกในประเทศ นั้น
ขอเรียนชี้แจงว่า จีนเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทั้งกับสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และมีผลบังคับทั้งระดับรัฐบาลกลางและระดับมณฑล การดำเนินการของจีนดังกล่าวเป็นมาตรการภายในที่ไม่ขัดกับกฎเกณฑ์ของ WTO เนื่องจากจีนจัดเก็บจากสินค้าที่นำเข้าจากทุกประเทศโดยเท่าเทียมกัน และเท่าเทียมกับสินค้าที่ผลิตในประเทศด้วย (National Treatment)
6. การขอใบอนุญาตนำเข้า เดิมจีนได้กำหนดคุณสมบัติของบริษัท Trading firm ที่จะได้รับอนุญาตให้ส่งออก-นำเข้าสินค้าผักและผลไม้ไว้สูง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย
ในขณะนี้ จีนได้แก้ไขกฎหมายการค้าฉบับใหม่ ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออก/นำเข้าขนาดกลางและเล็กของจีน สามารถดำเนินธุรกิจส่งออก/นำเข้ากับต่างประเทศได้โดยตรงและสะดวกมากขึ้น โดยไม่ จำเป็นต้องผ่าน Trading firm ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป
7. ปัญหาด้านมาตรฐานสุขอนามัย จีนมีการตรวจสอบด้านสุขอนามัยด้วยความเข้มงวดมาก และการปฏิบัติมีความแตกต่างกันแต่ละมณฑล
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยและกระทรวงควบคุมและกักกันโรคของจีน ได้ทำ MRA ด้านความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เพื่อให้มีระบบการตรวจสอบที่เท่าเทียมกันลดขั้นตอนและระยะเวลาในการตรวจสอบ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ