รัฐบาลมีความโปร่งใสในการทำ FTA และกระทำด้วยความรอบคอบ โดยมีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นขั้นตอน ทั้งก่อนเจรจา ระหว่างเจรจา และหลังการเจรจา ดังนี้
1. ก่อนการเจรจา
* กระทรวงพาณิชย์ได้มีการศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้น ถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA กับประเทศต่างๆ รวม 12 ฉบับ โดยศึกษาในภาพรวมว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์จากการทำ FTA ผลจากการศึกษาปรากฎว่า ในภาพรวมการเปิดเสรี FTA จะทำให้สวัสดิการสังคมของไทยดีขึ้น การค้าและการลงทุนขยายตัว ทำให้สามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อการผลิต และการจ้างงานในประเทศ อย่างไรก็ตามก็มีผลกระทบบ้างในบางสาขา ซึ่งได้มีการเสนอแนะให้เจรจาโดยขอระยะเวลาในการปรับตัว และเตรียมมาตรการรองรับ ในกรณีที่ไทยได้ประโยชน์มากกว่าก็จะเสนอให้มีการจัดทำ FTA กับประเทศนั้น
* หลังจากนั้นจะมีการศึกษาเป็นรายประเทศ โดยเจาะลึกว่าหากไทยทำ FTA ด้วย จะมีผลต่อการขยายตัวในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนอย่างไร กลุ่มสินค้าใดที่ไทยได้ประโยชน์ และกลุ่มสินค้าใดที่ไทยจะได้รับผลกระทบ
* ในบางกรณี ก็มีการตั้งคณะทำงานศึกษาร่วมกันกับประเทศนั้นๆ เช่น กรณีออสเตรเลีย อินเดีย เป็นต้น เมื่อศึกษาร่วมกันแล้วเห็นว่าการทำ FTA ทั้งคู่ได้ประโยชน์ ก็จะดำเนินการเปิดการเจรจาต่อไป
2. ระหว่างการเจรจา
* จะมีการจัดจ้างนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ศึกษาถึงผลดี ผลเสีย เป็นรายสินค้าควบคู่กันไป พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะและมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
* กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการเจรจา FTA ได้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาหอการค้าฯ และ สภาอุตสาหกรรมฯ นอกจากนี้ยังได้จัดประชุมหารือกับผู้ผลิต ผู้ส่งออกสินค้าทั้งเกษตร และอุตสาหกรรม เกือบ 30 สาขา เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค ความพร้อมในการเปิดตลาดสินค้าของไทย และการขอลดภาษีจากประเทศคู่เจรจา ตลอดจนข้อเสนอแนะต่อการปรับตัว เพื่อใช้ประกอบท่าทีในการเจรจา FTA กับประเทศนั้นๆให้ได้ประโยชน์สูงสุด
* ได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงและให้ข้อมูลสถานะการเจรจาในการประชุมของสภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ ที่จัดขึ้นเป็นประจำและอย่างต่อเนื่อง
* นอกจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วไปโดยตรง โดยจัดทำเป็นแบบสอบถามความเห็นเกี่ยวกับ FTA ซึ่งได้ประกาศผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมทั้งใน Internet ซึ่งประชาชนและผู้ประกอบการสามารถให้ข้อคิดเห็นผ่านทาง website ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (www.dtn.moc.go.th) หรือผ่านเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ และผ่านพาณิชย์จังหวัด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547 นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้จัดตั้ง Call Center เพื่อรับฟังความเห็นและ ข้อเสนอแนะ (โทร. 0 2507-7444 และ 0 2507-7555)
* กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการชี้แจงข้อมูลและความคืบหน้าในเรื่องการทำ FTA ของไทยกับ ประเทศคู่เจรจา ต่อคณะกรรมาธิการต่างๆ ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เป็นระยะๆ กว่า40 ครั้ง รวมทั้งได้จัดส่งเอกสารรายงานผลการศึกษาเรื่อง FTA และความคืบหน้าในการเจรจา FTA ของไทยกับประเทศต่างๆได้เผยแพร่ความคืบหน้าในการเจรจา FTA รวมทั้งผลการเจรจา FTA ไทย - ออสเตรเลีย ซึ่งประกอบด้วยความตกลง TAFTA รายการสินค้าที่มีการลดภาษีทั้งของออสเตรเลียและไทย กฎแหล่งกำเนิดสินค้า การเปิดเสรีบริการของออสเตรเลีย ฯลฯ ในเว็บไซต์ที่ www.dtn.moc.go.th และ www.thaifta.com เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจได้รับทราบข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ได้จัดสัมมนาทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยครอบคลุมทุกภาค เพื่อเผยแพร่ผลการเจรจา FTA ตลอดจนสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้ผลิต ผู้ส่งออก เกษตรกร และสาธารณชน ให้เข้ามาใช้ประโยชน์ และโอกาสจากการที่รัฐบาลไปเปิดตลาดไว้ให้ ในขณะที่บางกลุ่มอาจต้องเตรียมปรับตัวรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
3. การเตรียมความพร้อมรองรับการเจรจา
* รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามผลการเจรจา มีนายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นประธานคณะทำงานฯ ทำหน้าที่ติดตาม ประเมินผลการเจรจา และเสนอแนะมาตรการปรับตัวรองรับหากสินค้านั้นไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งได้มีการระดมนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆร่วมศึกษาวิจัยและให้ความเห็นแล้วหลายครั้ง และในวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 จะได้มีการจัดสัมมนา FTA ไทย-ออสเตรเลีย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สิ่งทอ ยานยนต์ โคนม โคเนื้อ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาเชิงจุลภาค หลังจากนี้จะมีการสัมมนา FTA ไทย-สหรัฐฯ ไทย-นิวซีแลนด์ และไทย-ญี่ปุ่น ต่อไป
* กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเคลื่อนที่เร็ว (Special Task Forces:STF) 4 คณะ โดยแต่ละคณะจะรับผิดชอบดูแลเมืองต่างๆ ดังนี้
- คณะที่ 1: เซียงไฮ้ เทียนจิน เจ้อเจียง เจียงซู ซานตง
- คณะที่ 2: กวางตุ้ง ฉงชิ่ง เฉินดู กว่างซี ยูนนาน กุ้ยโจว
- คณะที่ 3: ปักกิ่ง ต้าเหลียง จี้หลิน เหอเป่ย เฮอหลงเจียง
- คณะที่ 4:ฟูโจว หูหนาน หูเป่ย เจียงซี ไหหลำ
ทั้งนี้ คณะดังกล่าวจะทำหน้าที่เร่งเจาะตลาด กระจายสินค้า และแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคทางการค้า ตลอดจนส่งเสริมให้นักธุรกิจเข้าไปขายสินค้าในเมือง/มณฑลต่าง ๆ ของจีนมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งทีม STF เพื่อวางกลยุทธ์การขยายตลาดเชิงรุกเพื่อขยายมูลค่าการส่งออกไปตลาดใหม่อีกด้วย ได้แก่ อินเดีย อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง รัสเซีย และแอฟริกา
กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานคณะกรรมการบริหารนโยบาย นำเข้าได้มีการกำหนดมาตรการ เงื่อนไข ขั้นตอน ในการนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อลดการนำเข้าสินค้าที่จะแข่งขันในไทยและเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน นอกจากนี้ยังได้มีการวางระบบ Monitor สถิติการนำเข้า ส่งออกสินค้า เพื่อติดตามผลกระทบที่อาจมีต่อสินค้าในประเทศ และหากสินค้าใดมีการนำเข้าในปริมาณสูงผิดปกติ และมีผลกระทบเสียหายต่ออุตสาหกรรมนั้น ประเทศไทยก็สามารถใช้มาตรการปกป้อง (Safeguards) ได้
มีการสร้างนักธุรกิจ Intertrader ให้มีโอกาสทำธุรกิจส่งออกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสนับสนุนของภาครัฐ มีการจัดการด้านการเงินที่ดี และสามารถสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้นำเข้าในต่างประเทศทั่วโลก เพื่อสนับสนุนและรองรับการเปิดตลาด FTA ในประเทศคู่เจรจา โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักธุรกิจเป็น 5,000 ราย ในปี พ.ศ. 2549
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-