จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยหันมาให้ความสนใจกับเอทานอล (Ethanol) หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการนำพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด มาผ่านกระบวนการย่อยสลาย หมัก และกลั่น จนกลายเป็นแอลกอฮอล์ โดยสนับสนุนให้นำเอทานอลมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีมูลค่าสูงถึงสามแสนล้านบาทในแต่ละปี
การผลิตเอทานอลของไทยในปัจจุบันยังมีปริมาณไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการมีอยู่เพียง 2 ราย มีกำลังการผลิตราว 40 ล้านลิตรต่อปี (ผู้ประกอบการอีก 5 รายที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเอทานอลอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน) เอทานอลที่ผลิตได้สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ปิโตรเคมี ยางสังเคราะห์ และเครื่องสำอาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนให้นำเอทานอลมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ อาทิ น้ำมันแก๊ซโซฮอล์ น้ำมันดีโซฮอล์ และสาร ETBE (Ethyl Tertiary Butyl Ether) ซึ่งเป็นสารเติมแต่งในน้ำมันเบนซินและเพิ่มค่าออกเทนแก่เครื่องยนต์ เพื่อใช้ทดแทนสาร MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) ส่งผลให้ผลผลิตเอทานอลเกือบทั้งหมดถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง
แม้ว่าอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลของไทยจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่คาดว่ามีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญ ดังนี้
- การสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาล อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี แก่ผู้ประกอบการเอกชนที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลทั่วประเทศ การยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเอทานอลที่ใช้ในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง การยกเว้นค่าธรรมเนียมเรียกเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ การประกาศยกเลิกการใช้สาร MTBE ในการผลิตน้ำมันเบนซินภายในปี 2549
- ผู้ผลิตน้ำมันแก๊ซโซฮอล์รายใหญ่ของประเทศมีความต้องการเอทานอลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าผู้ผลิตน้ำมันแก๊ซโซฮอล์รายใหญ่ 2 รายในปัจจุบัน คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จะมีความต้องการเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 65,000-70,000 ลิตรต่อวันในปี 2547 เป็น 130,000 ลิตรต่อวันในปี 2548 และ 300,000 ลิตรต่อวันในปี 2549 เพื่อรองรับความต้องการน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น
- ความต้องการใช้พลังงานทดแทนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบางประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ดังนี้
- ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปริมาณการผลิตยังมีไม่มากในปัจจุบัน
- ราคาและปริมาณของผลิตผลทางการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลมีความผันผวนตามฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ
-อุตสาหกรรมสนับสนุนยังไม่แข็งแกร่ง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ผลิตน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ในประเทศเพียง 2 ราย และตลาดที่รองรับผลิตภัณฑ์แก๊ซโซฮอล์ยังค่อนข้างจำกัด เพราะราคาน้ำมันแก๊ซโซฮอล์และราคาน้ำมันเบนซินแตกต่างกันไม่มากนัก ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อมั่นต่อคุณภาพของน้ำมันแก๊ซโซฮอล์
- เทคโนโลยีการผลิตเอทานอลของไทยยังล้าหลัง เทียบกับบราซิลและสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการวิจัยและพัฒนาการผลิตเอทานอลอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกเอทานอลรายใหญ่ที่สุดของโลกและมีประสิทธิภาพการผลิตสูง โดยคาดว่าในปี 2547 บราซิลจะผลิตเอทานอลได้มากถึง 14,280 ล้านลิตร ส่งออก 1,600 ล้านลิตร เนื่องจากรัฐบาลบราซิลส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงอย่างจริงจัง โดยสนับสนุนการพัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงได้โดยตรง หรือใช้กับน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ที่มีเอทานอลผสมอยู่ในสัดส่วนสูงได้
เพื่อให้อุตสาหกรรมผลิตเอทานอลของไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลควรเร่งสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตเอทานอลอย่างจริงจัง รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันแก๊ซโซฮอล์และน้ำมันดีโซฮอล์ด้วยการเร่งออกมาตรการจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันของเอกชนเข้ามาทำการผลิต ตลอดจนเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนถึงศักยภาพของเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อให้การผลิตเอทานอลมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่งรองรับ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลในอนาคต
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สิงหาคม 2547--
-พห-
การผลิตเอทานอลของไทยในปัจจุบันยังมีปริมาณไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการมีอยู่เพียง 2 ราย มีกำลังการผลิตราว 40 ล้านลิตรต่อปี (ผู้ประกอบการอีก 5 รายที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเอทานอลอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน) เอทานอลที่ผลิตได้สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ปิโตรเคมี ยางสังเคราะห์ และเครื่องสำอาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนให้นำเอทานอลมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ อาทิ น้ำมันแก๊ซโซฮอล์ น้ำมันดีโซฮอล์ และสาร ETBE (Ethyl Tertiary Butyl Ether) ซึ่งเป็นสารเติมแต่งในน้ำมันเบนซินและเพิ่มค่าออกเทนแก่เครื่องยนต์ เพื่อใช้ทดแทนสาร MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) ส่งผลให้ผลผลิตเอทานอลเกือบทั้งหมดถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง
แม้ว่าอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลของไทยจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่คาดว่ามีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญ ดังนี้
- การสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาล อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี แก่ผู้ประกอบการเอกชนที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลทั่วประเทศ การยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเอทานอลที่ใช้ในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง การยกเว้นค่าธรรมเนียมเรียกเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ การประกาศยกเลิกการใช้สาร MTBE ในการผลิตน้ำมันเบนซินภายในปี 2549
- ผู้ผลิตน้ำมันแก๊ซโซฮอล์รายใหญ่ของประเทศมีความต้องการเอทานอลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าผู้ผลิตน้ำมันแก๊ซโซฮอล์รายใหญ่ 2 รายในปัจจุบัน คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จะมีความต้องการเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 65,000-70,000 ลิตรต่อวันในปี 2547 เป็น 130,000 ลิตรต่อวันในปี 2548 และ 300,000 ลิตรต่อวันในปี 2549 เพื่อรองรับความต้องการน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น
- ความต้องการใช้พลังงานทดแทนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบางประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ดังนี้
- ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปริมาณการผลิตยังมีไม่มากในปัจจุบัน
- ราคาและปริมาณของผลิตผลทางการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลมีความผันผวนตามฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ
-อุตสาหกรรมสนับสนุนยังไม่แข็งแกร่ง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ผลิตน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ในประเทศเพียง 2 ราย และตลาดที่รองรับผลิตภัณฑ์แก๊ซโซฮอล์ยังค่อนข้างจำกัด เพราะราคาน้ำมันแก๊ซโซฮอล์และราคาน้ำมันเบนซินแตกต่างกันไม่มากนัก ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อมั่นต่อคุณภาพของน้ำมันแก๊ซโซฮอล์
- เทคโนโลยีการผลิตเอทานอลของไทยยังล้าหลัง เทียบกับบราซิลและสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการวิจัยและพัฒนาการผลิตเอทานอลอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกเอทานอลรายใหญ่ที่สุดของโลกและมีประสิทธิภาพการผลิตสูง โดยคาดว่าในปี 2547 บราซิลจะผลิตเอทานอลได้มากถึง 14,280 ล้านลิตร ส่งออก 1,600 ล้านลิตร เนื่องจากรัฐบาลบราซิลส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงอย่างจริงจัง โดยสนับสนุนการพัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงได้โดยตรง หรือใช้กับน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ที่มีเอทานอลผสมอยู่ในสัดส่วนสูงได้
เพื่อให้อุตสาหกรรมผลิตเอทานอลของไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลควรเร่งสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตเอทานอลอย่างจริงจัง รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันแก๊ซโซฮอล์และน้ำมันดีโซฮอล์ด้วยการเร่งออกมาตรการจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันของเอกชนเข้ามาทำการผลิต ตลอดจนเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนถึงศักยภาพของเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อให้การผลิตเอทานอลมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่งรองรับ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลในอนาคต
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สิงหาคม 2547--
-พห-