การประชุมเพื่อกำหนดแผนงานในอนาคตของ WTO ที่เจนีวากำลังเข้มข้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 19, 2004 13:36 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        ความสำคัญของแผนการเจรจารอบโดฮา(July Package)
สาเหตุที่สมาชิก WTO ต้องการกำหนดกรอบแผนการเจรจารอบโดฮา(Framework Agreements)ให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2547 ก่อนพักการประชุมในช่วงฤดูร้อนเดือนสิงหาคม (Summer break)เพราะสมาชิกตระหนักกันดีว่าการเจรจาระบบพหุภาคียังมีความสำคัญอยู่มากในการค้าระดับโลก แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มหันไปเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี(FTAs)มากขึ้นอีกด้วย เพราะปัญหาการค้าหลายอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ โดยผ่านการทำความตกลงFTAs เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการเจรจาพหุภาคีตัวอย่างเช่น การบังคับให้ประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐฯหรือสหภาพยุโรป ยกเลิกการอุดหนุนส่งออก ลดการอุดหนุนภายใน และเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพื่อที่ว่าราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกจะได้สูงขึ้น หรือการบังคับให้ญี่ปุ่น และเกาหลีเปิดตลาดข้าว หรือการบังคับให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต้องปรับแก้ไขกฎหมาย หรือการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) ของตนให้มีความชัดเจน และเป็นธรรมต่อประเทศผู้ส่งออก เช่น ไทย มากขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญในหลายประเทศ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2547 การเลือกตั้งรัฐสภา และปรับเปลี่ยนฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปในช่วงเดือนมิถุนายน และตุลาคมตามลำดับ เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อสมาชิก WTO เห็นพ้องร่วมกันถึงความจำเป็นในการกำหนดกรอบแผนการเจรจารอบโดฮาโดยการจัดทำ July Text เพื่อกำหนดทิศทาง และแผนการเจรจาในอนาคตของสมาชิก WTO ประธานคณะมนตรีทั่วไปจึงได้เชิญประชุมหัวหน้าคณะผู้แทนสมาชิก WTO ในเดือนมิถุนายน 2547 เพื่อขอทราบความเห็นในการทำ July Text โดยประธานฯ เสนอว่า เอกสาร July Text จะประกอบด้วย 9 ส่วนที่สำคัญ คือ(1) ยืนยันมติโดฮา และยืนยันความตั้งใจของสมาชิกที่จะเจรจาให้การเจรจารอบโดฮาบรรลุสำเร็จตามเป้าหมาย (2) เกษตร ซึ่งจะมีรายละเอียดของกรอบการเจรจา(framework for negotiations)ปรากฏใน annex A (3) ฝ้าย ซึงจะมีแนวทางที่จะช่วยเหลือประเทศผู้ผลิตฝ้ายที่ยากจน และได้รับความเดือดร้อนอย่างมากจากการอุดหนุนการผลิต และอุดหนุนส่งออกประเทศพัฒนาแล้ว(4)การเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม หรือ NAMA ซึ่งจะมีรายละเอียดของกรอบการเจรจาปรากฏในannex B (5) เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา(development issues)พร้อมรายละเอียดของเรื่องที่จะต้องเจรจาแก้ไขปัญหาในอนาคต ปรากฏใน annex C(6) การเจรจาเรื่องอื่นๆ เช่น การเปิดเสรีการค้าบริการ การปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO (DSB) ทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) และ การค้าและสิ่งแวดล้อมเป็นต้นซึ่งจะมีรายละเอียดขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการหารือระหว่างสมาชิกที่ผ่านมา(7)เรื่องใหม่ๆ ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรี WTO ที่สิงคโปร์ เมื่อปี 2539 มีมติให้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องเหล่านี้กันใน WTO หรือที่เรียกกันว่า Singapore issues ได้แก่ เรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุนนโยบายการแข่งขัน และความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ ก็จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการตัดสินใจเริ่มการเจรจาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า ปรากฎใน annex D รวมทั้งจะมีถ้อยคำที่จะกล่าวถึงอนาคตของ Singapore issues อีก 3 เรื่องที่เหลือ(8) แผนการทำงานในอนาคตของสมาชิก รวมทั้งแผนการจัดประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 6 ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2548 ที่ฮ่องกง ตลอดจนการต่ออายุความเข้าใจของสมาชิกในเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(e-commerce)และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และ(9) ยืนยันว่าสมาชิกจะร่วมกันทำงานเพื่อให้ผลการเจรจาที่จะออกมามีความสมดุล และเป็นไปตามมติรัฐมนตรีที่โดฮา
ทั้งนี้ ประธานคณะมนตรีทั่วได้ย้ำว่า July package ไม่ใช่การจัดทำปฏิญญารัฐมนตรี(Ministerial Declaration) และไม่ใช่การทำเอกสาร (text)เพื่อสรุปผลการเจรจา จึงหยิบยกเฉพาะเรื่องที่สำคัญเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดของทุกเรื่อง ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ไทย ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ปากีสถาน อินเดีย มาเลเซีย และนอร์เว เป็นต้น สนับสนุนโครงร่าง 9 ประเด็น ที่ประธานฯ เสนอ เพราะตระหนักถึงข้อจำกัดด้านเวลา จึงต้องการให้ text เน้นเฉพาะเรื่องสำคัญ แต่มีบางประเทศ เช่น อินเดีย ต้องการดึงเรื่องบริการให้เด่นขึ้นเท่ากับเรื่องเกษตร NAMA และ Singapore Issues ประเทศกลุ่มประเทศอิรักอัฟริกาต้องการเพิ่มเติมประเด็นอื่นๆ ที่ตนเห็นว่าสำคัญไว้ใน July package ด้วย อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญอยู่ที่การตกลงสาระของเรื่องต่างๆ ใน July package ที่จะให้ได้ความสมดุล ภายในระยะเวลาที่มีอยู่จำกัดมากกว่า
ร่างJuly Text ฉบับแรก
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ประธานคณะมนตรีทั่วไป และผู้อำนวยการใหญ่ WTO จึงได้เวียน July Text ฉบับแรก โดยออกในลักษณะเป็นร่างข้อตัดสินใจของคณะมนตรีทั่วไป เพื่อที่จะให้ที่ประชุมคณะมนตรีทั่วไปซึ่งจะมีการประชุมในช่วงวันที่ 27-30 กรกฎาคม 2547 ที่นครเจนีวา เป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้ โดยปกติการทำงานของ WTO หากช่วงใดที่ไม่มีการประชุมประดับรัฐมนตรี(ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปี) การตัดสินใจที่สำคัญจะดำเนินการโดยที่ประชุมคณะมนตรีทั่วไป ซึ่งผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมมักจะเป็นระดับเอกอัครราชทูตของสมาชิก WTO ที่ประจำอยู่ ณ นครเจนีวา อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้มีระดับรัฐมนตรีเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมมากกว่า 30 ประเทศ และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอีกจำนวนมาก
ร่าง July Text ฉบับแรกนี้ ครอบคลุมสาระสำคัญ 9 ประเด็นตามที่ประธานคณะมนตรีทั่วไปได้เคยหารือกับสมาชิกในเดือนมิถุนายน 2547 โดยมีสาระสำคัญ เช่น
เกษตร ร่างของประธานกลุ่มเจรจาเกษตร(นายทิม โกรเซอร์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์) มีใจความสำคัญได้แก่
1. ด้านการอุดหนุนการผลิตในประเทศ ให้มีการลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้ามากลงอย่างมีประสิทธิผลแต่เปิดช่องให้ขยายการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้าไม่มากได้
2. ด้านการอุดหนุนส่งออก ให้มีกำหนดวันยกเลิกการอุดหนุนส่งออก ซึ่งรวมไปถึงการอุดหนุนส่งออกอื่นๆ เช่น สินเชื่อการส่งออกเกิน 180 วัน และการอุดหนุนส่งออกโดยรัฐวิสาหกิจด้วย
3. ด้านการเปิดตลาด ให้ลดภาษีตามระดับอัตราอากรขาเข้า สินค้าทีมีอัตราอากรขาเข้าสูงกว่าต้องลดภาษีลงมากกว่า แต่สินค้าอ่อนไหวทางการเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ได้รับการปกป้องด้วยระบบโควตาภาษี ได้รับการลดหย่อนให้เปิดตลาดด้วยการขยายโควตาควบคู่ไปกับการลดภาษีได้ แทนการลดภาษีลงอย่างมาก
กลุ่มเคร์นส์(กลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรขนาดกลาง) และกลุ่ม 20 (กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการเปิดเสรีการเกษตร)ซึ่งไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย พอใจในร่างด้านการอุดหนุนภายในที่เปิดช่องให้สหรัฐฯ และสหภาพฯต้องยกเลิกการอุดหนุนส่งออก แต่ไม่พอใจที่ร่างด้านการอุดหนุน ภายในที่เปิดช่องให้สหรัฐฯ นำการอุดหนุนตาม Farm Bill ใหม่ ที่ขณะนี้ถือว่าผิดกฎWTO มาใส่ไว้เป็น new blue box หรือการอุดหนุนภายในที่อนุโลมให้ทำต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้การอุดหนุนภายในสหรัฐฯไม่ได้ลดลงจริง นอกจากนี้ ร่างฯ ยังเปิดช่องให้สหภาพฯ และประเทศพัฒนาแล้ว(กลุ่มG10) เช่น สวิตเซอร์แลนด์ นอรเวย์ ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น สามารถนำสินค้าเกษตรเกือบ 1500 รายการ ไปจัดเป็นสินค้าอ่อนไหว (sensitive product) นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่เรียกว่ากลุ่ม G 33 เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน เป็นต้น ที่ต้องการเลือกสินค้าที่ต้องการกีดกันการนำเข้าเป็นพิเศษ (specific product: SP)และไม่ต้องการเปิดตลาดอีกด้วย
ข้อขัดแย้งสำคัญขณะนี้ จึงได้แก่(1) กลุ่ม G 10 และสหภาพยุโรป ที่ต้องการสินค้าอ่อนไหวจำนวนมาก และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา(G33) ที่ต้องการสินค้า SP ซึ่งขัดแย้งกับไทย กลุ่มเคร์นส์ และสหรัฐฯ ที่ต้องการจำกัดจำนวนสินค้าอ่อนไหว และสินค้า SP เพื่อให้มีการเปิดตลาดที่แท้จริง (2) ไทย กลุ่มเคร์นส์ สหภาพยุโรป และกลุ่ม G20 ต้องการให้มีบรรทัดฐาน และกฎระเบียบในเรื่อง Blue box เพื่อจะได้สามารถติดตาม และกำหนดกฎเกณฑ์กับการอุดหนุนภายในของสหรัฐฯ ให้ลดลงอย่างจริงจัง ในขณะที่สหรัฐฯ ไม่ต้องการกำหนดกฎเกณฑ์ หรือข้อจำกัดเพิ่มเติมกับ new blue box เพราะจดลดโอกาสที่ตนจะให้การอุดหนุนแบบ new blue box แก่เกษตร ประธานกลุ่มเจรจาฯ ได้หารือกับสมาชิกกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่ม FIPs(Five Interested Parties) ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ สหภาพ ยุโรป บราซิล ออสเตรเลีย และอินเดียที่ส่งรัฐมนตรีการค้ามาเข้าร่วมประชุมแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง July Text ฉบับที่สอง
NAMA หรือการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม ประธานกลุ่มเจรจาฯ (เอกอัครราชทูตไอซ์แลนด์) ได้ใช้ Derbez text ซึ่งเป็น text ที่สมาชิกยังมีปัญหา และเจรจาค้างกันอยู่ที่แคนคูน มาใส่ไว้เป็นกรอบการเจรจา(framework agreement) ในอนาคต โดยได้ทำหนังสือแจ้งประธานคณะมนตรีทั่วไปว่า เนื่องจากสมาชิกยังมีความเห็นต่างกันอยู่หลายเรื่อง ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้คือ การใช้ Derbez Text (Annex B) จากการประชุมแคนคูนเป็นพื้นฐานในการเจรจาต่อไป โดยประเด็นที่ประธานฯ เห็นว่า สมาชิกส่วนใหญ่น่าจะรับได้ คือการใช้สูตรแบบ line-by-line basis แต่เรื่องยังมีปัญหา และอาจต้องหารือกันเพิ่มเติม เช่น เรื่องการใช้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาการลดภาษีศุลกากรรายสาขาเป็นต้น
ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี และไต้หวัน เป็นต้น เป็นกลุ่มที่ผลักดันให้รับ Annex B เป็น framework โดยไม่มีการแก้ไข ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มอัฟริกา กับ Annex B เป็น framework ไม่ได้ และต้องการแก้ไข Annex B ในที่สุด กลุ่มที่ผลักดันจึงเสนอให้ประธานฯ จัดทำใบปะหน้า(cover note)เพื่อระบุข้อกังวลของสมาชิกโดยไม่ต้องแก้ไข Annex B แต่เมื่อมีการสอบถามสถานะของใบปะหน้าว่า จะทำให้สามารถแก้ไข Annex B ในภายหลังได้หรือไม่ ก็ยังคลุมเครือ และเป็นที่เข้าใจว่า อาจจะแก้ไข Annex B ไม่ได้อีก การจัดทำใบปะหน้าจึงไม่มีประโยชน์ และไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศกำลังพัฒนา ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการเจรจากันว่า จะร่างใบปะหน้าอย่างไร ให้มีผลใกล้เคียงกับ Annex B ทั้งนี้ ไทย และมาเลเซีย อยู่ในกลุ่มที่พยายามจะช่วยให้การเจรจาคืบหน้าไปได้ โดยการปรับปรุงใบปะหน้าให้เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย
เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา(Development issues)ประธานฯ ได้ยกร่างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยวรรคที่ 2 ของร่างฯ ได้พยายามสนองตอบต่อความต้องการและข้อกังวลของประเทศกำลังพัฒนาบางกลุ่ม เช่นประเทศที่พึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ ประเทศที่พึ่งพาสิทธิประโยชน์ทางภาษีประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหาร และประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก เป็นต้น โดยร่างมีความหายแบ่งประเทศกำลังพัฒนาออกเป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นประเด็นปัญาหที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างมากระหว่างประเทศกำลังพัฒนา เพราะมีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมทั้งไทยไม่ต้องการเห็นการแบ่งแยกประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากจะมีผลอ่างมากต่อการให้สิทธิพิเศษของประเทศพัฒนาแล้วแก่ประเทศกำลังพัฒนาในอนาคต
ในการเจรจาที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา และเอเชียบางประเทศ เช่น ไทย มาเลเซีย ปากีสถาน ชิลี คอสตาริกา และโคลัมเบีย เป็นต้น ได้ต่อสู้ และคัดค้านแนวคิดการแบ่งแยกประเทศกำลังพัฒนา โดยเห็นว่า การยกร่างฯ ของประธานฯ ยังไม่ใช่การหาทางออกเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนอย่างแท้จริงรวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาเกษตร และอุตสาหกรรม เพราะใช้ถ้อยคำซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ ในขณะที่เคนยา ไนจีเรีย และประเทศที่อ้างตัวว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก และอ่อนแอ(weak and vulnerable countries)สนับสนุนร่างฯ ของประธานฯที่ให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษกับประเทศที่มีปัญหา
ล่าสุดไทยได้ร่วมกับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ โคลัมเบีย ชิลี และคอสตาริกา จ้ดทำร่างฉบับใหม่ ที่มีความประนีประนอมมากขึ้น และต่อมาได้หารือร่วมกับกลุ่มประเทศอัฟริกา แคริเบียน และแปซิฟิค เพื่อหาทางยุติข้อขัดแย้งระหว่างประเทศกำลังพัฒนาโดยเร็วที่สุด และไม่ต้องการให้ประเทศพัฒนาแล้วเห็นความแตกแยกของประเทศกำลังพัฒนามากไปกว่านี้ เพราะจะมีผลต่อการเจรจาในภาพรวม ซึ่งในที่สุดก็ได้รับการประนีประนอม และไม่ขัดข้อจากประเทศสมาชิก โดยรวม เนื่องจากร่างฉบับใหม่มีถ้อยคำเน้นหลักการสำคัญของ WTO ทั้งในส่วนการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ(MFN principle) และหลักการปฏิบัติที่เป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา(S&D)
การอำนวยความสะดวกทางการค้า ร่างของประธานฯ มีเนื้อหาต่างไปจากร่าง Derbez Text ที่แคนคูน ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดหารือกลุ่มย่อยของประธานคณะมนตรีทั่วไป และรองผู้อำนวยการใหญ่WTO (Mr.Yerxa) ซึ่งไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมการหารือดังกล่าวด้วย โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า เรื่องนี้มีความสำคัญแต่ก็ยังมีปัญหาว่าควรรวมประเด็นใดไว้ในกรอบการเจรจาบ้าง ซึ่งประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุดส่วนใหญ่เรียกร้องว่า การเจรจาจะต้องคำนึงถึงเรื่องความพร้อมของแต่ละประเทศ ซึ่งมีระดับการพัฒนาต่างกัน ร่วมทั้งจะต้องมีเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และเสริมสร้างศักยภาพแก่ประเทศกำลังพัฒนาให้พร้อมรับการเจรจาด้วย ซึ่งประธานฯ ก็ได้พยายามสนองตอบต่อข้อกังวลนี้ โดยการยกร่างฯ ที่เปิดช่องให้สมาชิกมีข้อผูกพันต่างกันไปได้ขึ้นกับความพร้อม และความสามารถของสมาชิกแต่ละประเทศ ตลอดจนเน้นในหลักการเรื่องการปฏิบัติที่เป็นพิเศษ(S&D) และการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สมาชกมีความเห็นต่อการยกร่างฯของประธานฯ(Annex D)ต่างกัน คือ นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น สนับสนุนร่างฯ ของประธาน ในขณะที่มาเลเซีย อียิปต์ อินเดีย เคนยา เป็นต้น เห็นว่าร่างของประธานฯยังขาดความสมดุล และจำเป็นต้องปรับปรุงโดยได้เสนอเอกสารใหม่ ในขณะที่บางประเทศ เช่น ไทย ชิลี พยายามประนีประนอมโดยเห็นว่า ร่าง Annex D ได้ครอบคลุมข้อกังวลของประเทศกำลังพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ดี หากประธานฯ ปรับร่างใหม่โดยแก้ไขเพียงเล็กน้อย ทุกฝ่ายก็น่าจะยอมรับได้
สำหรับเรื่อง Singapore Issues อีก 3 เรื่อง ได้แก่การลงุทน นโยบายการแข่งขัน และความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ เป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆ ได้มีการปรับเปลี่ยนท่าทีกันมากนับตั้งแต่การประชุมที่แคนคูน ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความแตกแยกของสมาชิกในเรื่องนี้ ประธานฯ ได้พยายามยกร่างฯ ที่จะกำหนดอนาคตของเรื่องเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง โดยเสนอภาษาให้ส้น และกระชับ ระบุว่าจะไม่มีการกำหนดแผนงานเพื่อเจรจา 3 เรื่องนี้ในกรอบของรอบโดฮา โดยหวังว่าจะช่วยให้สมาชิกตกลงเรื่องนี้กันได้ อย่างไรก็ตาม มาเลเซียซึ่งเป็นประธานของ core group ที่คัดค้านเรื่อง Singapore Issues ไม่สามารถมีความยืดหยุ่นได้ เนื่องจากรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย(นางราฟีด้า)ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีการค้าสมาชิก WTO ยืนยันให้ตัดทั้ง 3 เรื่องออกจากแผนงานของ WTO เลยซึ่งหากรัฐมนตรีมาเลเซียไม่ปรับท่าที มาเลเซียก็อาจะเป็นประเทศเดียวที่อาจจำเป็นต้องขัดขวางการตกลง July Text ได้
ฝ่าย ประธานฯ ได้ยกร่าง โดยให้แก้ปัญหาเรื่องนี้ในการเจรจาเกษตร ซึ่งกลุ่มประเทศอัฟริกาตะวันตกได้แก่ มาลี เบนิน ชาด และบูกินนาฟาโซ ซึ่งเป็นผู้เสนอ มีท่าทีประนอมมากขึ้น โดยแจ้งว่า อาจยอมรับร่างนี้ได้ หากในที่สุดแล้วจะมีการแก้ไขปัญหาเรื่องฝ้ายจริงจัง และเป็นรูปธรรม
บริการ ประธานฯ ได้ยกร่าง(Annex C) ซึ่งผ่านการยอมรับอย่างไม่เป็นทางการจากที่ประชุมกลุ่มเจรจาเรื่องบริการแล้วว่า จะกำหนดทิศทางในการเจรจาเรื่องบริการในอนาคตอย่างไร เช่น จะต้องมีการกำหนดวันที่เพื่อให้สมาชิกยื่นข้อเสนอเปิดบริการที่ปรับปรุงแล้ว(revised offer)เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปัญหาขณะนี้คือมีสมาชิกบางประเทศ เช่น อินเดีย และฮ่องกง ต้องการให้ปรับร่างใหม่โดยไม่ให้บริการรวมอยู่ภายใต้เรื่องอื่นๆ แต่ให้แยกเรื่องบริการออกมาให้เด่นชัด เหมือนเรื่องเกษตร และการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น แต่เนื่องจากประเด็นข้อขัดแย้งเรื่องอื่นมีความสำคัญ และร้อนแรงกว่า ขณะนี้จึงยังไม่ได้มีการหยิบยกปัญหานี้มาหารือกันมากนัก โดยคาดว่าหากสมาชิกสามารถประนีประนอม และหาข้อสรุปในปัญหาเรื่องอื่นกันได้ ก็น่าจะผ่อนปรนกับปัญหาเรื่องนี้ได้เช่นกัน
ความเคลื่อนไหวล่าสุด
ประธานฯ ได้จัดให้มีการหารือกลุ่มย่อยในเรื่องต่างๆ อย่างเข้มข้น และขอให้สมาชิกทุกประเทศ เตรียมพร้อมสามารถเข้าร่วมหารือได้ทุกเวลาทั้งกลางวัน และกลางคืน โดยประธานฯ แจ้งว่าจะพยายามออกร่าง July Text ฉบับที่สอง ให้ได้ภายในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้สมาชิกมีเวลาพิจารณาร่างฯ กันอีกครั้ง ก่อนการประชุมคณะมนตรีทั่วไป ซึ่งจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 30 กรกฎาคม 2547
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-ชพ/พห-

แท็ก การค้าเสรี   FTA   WTO  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ