การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมการจัดการป่าต้นน้ำและลุ่มน้ำของประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 23, 2004 14:56 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมการจัดการป่าต้นน้ำ
และลุ่มน้ำของประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
1. ความเป็นมาความสำคัญของปัญหา
การพัฒนาประเทศไทยด้วยนโยบายการบริหารแบบรวมศูนย์ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและ
ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความไม่สมดุลของการพัฒนา ชุมชนขาดความสามารถพึ่งตนเอง การใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสภาวะสิ่งแวดล้อมและ คุณภาพชีวิต เมื่อพิจารณาประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 320.7 ล้านไร่ ประชากรของประเทศส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก ที่ดินจึงมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเพราะนอกจากจะเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งที่รวมของวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ตลอดจนวิถีชีวิตของคนไทย เมื่อที่ดินที่เหมาะสมกับการเกษตรเริ่มหมดไปจากการพัฒนา เกษตรกรจึงมีการขยายพื้นที่ทำการเกษตรเข้าไปในเขตป่าสงวน เพื่อนำที่ดินมาใช้ในการเพาะปลูกมากขึ้นโดยไม่มีการอนุรักษ์และการปรับปรุงบำรุงดินและ ทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรมและมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในแหล่งต้นน้ำลำธาร และกระทบต่อศักยภาพทรัพยากรน้ำของประเทศที่มีแนวโน้มที่จะเป็นข้อจำกัดของการพัฒนาสินค้าเกษตรที่ใช้น้ำมาก เช่น ข้าว พืชสวน และผลไม้ ซึ่งประสิทธิภาพของการบริหารจัดการป่าต้นน้ำ ลุ่มน้ำจะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตรส่งออกของไทยให้ยั่งยืนและรักษาสมดุลของทรัพยากรสิ่งแวดล้อม
2. การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2.1 รวบรวมและศึกษาข้อมูล กฎหมาย กฎระเบียบ ในการจัดการลุ่มน้ำ ป่าต้นน้ำ การใช้ที่ดิน และการพัฒนาที่ยั่งยืน จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้
2.1.1 รายงานการศึกษาเรื่องนโยบายที่ดิน โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกรุงเทพฯ. พฤศจิกายน 2529.
2.1.2 รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ “โครงการศึกษาการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และ กฏหมายเพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด” โดย รศ.ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ และคณะ. พฤศจิกายน 2544.
2.1.3 เอกสารประกอบการฟังบรรยายและแลกเปลี่ยนความเห็นกับ Dr.Hernando de Soto เรื่อง “การใช้ประโยชน์สินทรัพย์ที่มีอยู่ในประเทศไทย” โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. พฤศจิกายน 2545.
2.1.4 แนวนโยบายการจัดการน้ำสำหรับประเทศไทย โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะกันยายน 2544.
2.1.5 รายงานสรุปการสัมมนาเรื่อง “แนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งการใช้ประโยชน์ ทรัพยากรที่ดินระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ” โดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กันยายน 2545.
2.1.6 รายงานสรุปการสัมมนาเรื่อง “สภาพการณ์และปัญหาการทำประมงและชายฝั่งทะเลตะวันออก” โดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กันยายน 2545.
2.1.7 เอกสารประกอบการสัมมนา “เรื่องโครงการศึกษาการจัดการลุ่มน้ำ ป่าต้นน้ำ การใช้ที่ดิน และการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิงหาคม 2546.
2.1.8 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9. 2545-2549
2.1.9 รายงานการใช้ที่ดินของประเทศต่างๆ ของ UNDP. 1996.
2.2 จัดการประชุมสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นกลุ่มใหญ่ โดยการเข้ากลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อระดมความคิดเห็น สะท้อนประเด็นปัญหาระหว่างผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน นักวิชาการ/นักวิจัย และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนี้
2.2.1 สัมมนา “สภาพการณ์และปัญหาการทำประมงชายฝั่งทะเลตะวันออก” วันที่ 31 สิงหาคม 2545 ถึง 1 กันยายน 2545 มหาวิทยาลัยบูรพา จ. ชลบุรี
2.2.2 สัมมนาเรื่อง “สิทธิการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินบนต้นน้ำ กรณีต้นน้ำน่าน”
วันที่ 5 — 9 กรกฎาคม 2546 อ.บัว จ.น่าน
2.2.3 สัมมนาเรื่อง “การจัดการลุ่มน้ำ ป่าต้นน้ำ การใช้ที่ดิน และการพัฒนาที่ยั่งยืน” วันที่ 26 สิงหาคม 2546 หอประชุมคุรุสภา กรุงเทพฯ
2.3 การจัดสัมมนากลุ่มย่อยเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและศึกษาสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่ดังนี้
2.3.1 ณ จังหวัดกาญจนบุรี วันที่ 10 กันยายน 2545
2.3.2 ณ จังหวัดภูเก็ต วันที่ 20 กันยายน 2546
2.3.3 ณ จังหวัดน่าน วันที่ 16 ตุลาคม 2546
3. กรอบการศึกษา
ในการศึกษาของคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน
ได้ยึดตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในมาตรา 46 มาตรา 56 มาเป็นแนวทาง
ใน 2 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 เรื่อง สิทธิของบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน(มาตรา 46)
ประเด็นที่ 2 เรื่อง สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลาย และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง (มาตรา 56)
4. ประเด็นปัญหาสำคัญ
4.1 ปัญหาด้านการจัดการป่าต้นน้ำ
การจัดการป่าต้นน้ำมีปัญหาที่สำคัญเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การแสวงหาผลประโยชน์ของนายทุนด้วยการตัดไม้ทำลายป่า การขยายพื้นที่เกษตรเข้าไปในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนสิทธิการถือครองของการทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งหากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังปล่อยให้ป่าต้นน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกบุกรุกจะทำให้ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอ เกิดการแย่งชิงการใช้น้ำ ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ประกอบกับรัฐยังขาดนโยบายในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเกี่ยวกับสิทธิการใช้ประโยชน์จากการแบ่งปันทรัพยากรที่ดินบนต้นน้ำอย่างชัดเจนและอย่างเท่าเทียมกัน
4.2 ปัญหาด้านการจัดการลุ่มน้ำ
การบริหารจัดการลุ่มน้ำที่ผ่านมาเน้นหนักในเรื่องการจัดหาน้ำสำหรับฤดูแล้ง แต่เนื่องจากการเพิ่มของประชากรและความเข้มข้นของกิจกรรมทางการเกษตรและเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความต้องการน้ำมีมากขึ้นเป็นลำดับก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำบ่อยครั้ง ประกอบกับรัฐก็ยังขาดทั้งกติกา และเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำทำให้เกิดการช่วงชิงทรัพยากรน้ำขึ้นเนื่องๆ ระหว่างพื้นที่เขตชนบทและเมืองที่ยากต่อการตัดสินใจในระบบปัจจุบันว่าใครควรได้น้ำและปริมาณมากเพียงใด รวมทั้งการจัดการกิจกรรมในลุ่มน้ำเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
5. ข้อเสนอแนะ
5.1 ข้อเสนอแนะหลักการร่วมเชิงนโยบาย
เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมตอบสนองต่อการปรับโครงสร้างการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่สมดุล เน้นการพัฒนาในเชิงคุณภาพ โดยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดและคุ้มค่า ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญต่อความเป็นธรรมในสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการได้รับประโยชน์และการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ดังนี้
5.1.1 กำหนดให้มีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและความสามารถท้องถิ่น ให้มีการใช้ประโยชน์ อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีสมดุล มีการควบคุมที่ดี เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและคุณภาพชีวิต ให้มีการจัดการเมืองและชุมชนน่าอยู่ และอนุรักษ์
สิ่งแวดล้อมของแหล่งศิลปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
5.1.2 ให้ประเทศไทยมีระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เน้นความรับผิดชอบ มีความโปร่งใส เกิดผลในทางปฏิบัติ มีการให้ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโดยให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมและรับผิดชอบการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.1.3 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การพัฒนาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ สร้างความเชื่อมโยงของการพัฒนาชนบทและผังเมืองให้สัมพันธ์อย่างเกื้อกูลและเกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความเข้มแข็งของชุมชน และประชาสังคม ควบคู่กับการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม เป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน มองการพัฒนาบนระบบนิเวศแบบองค์รวม
5.1.4 ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้คนในชนบทและเมือง ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเสมอภาค ในการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจชนบทและเมือง รวมทั้งการพัฒนาชนบทและเมืองให้น่าอยู่ตามศักยภาพและความพร้อมของชุมชน เพื่อเสริมสร้างวิถีชีวิตความ
เป็นอยู่ของประชาชนให้เกิดความสงบ สะดวก สะอาด มีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน และมีระเบียบวินัย
5.2 การจัดการป่าต้นน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
5.2.1 รัฐควรแก้ปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า โดยใช้ยุทธศาสตร์ “คนอยู่กับป่า” โดยให้ราษฎรถือครองที่ดินจำนวนที่พอเหมาะ และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพียงเพื่อทำกินเลี้ยงชีพเท่านั้น หรือเปิดโอกาสให้ราษฎรที่ไร้ที่ดินทำกิน และไม่มีงานทำ ได้เข้าไปปลูกป่าและดูแลรักษาป่า หรือในเขตพื้นที่ว่างเปล่า หรือพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในลักษณะการจ้างหรือการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างราษฎรกับรัฐ
5.2.2 รัฐควรรับรองสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สนับสนุนชุมชนร่วมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ตลอดจนจำกัดการทำการเกษตรบนพื้นที่สูง เช่น ไม่สนับสนุนการเกษตรเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ต้องการใช้น้ำปริมาณมากหรือการใช้ปุ๋ยเคมี และการใช้สารเคมีฆ่าวัชพืช เพราะจะส่งผลกระทบต่อการแห้งขอดของลำน้ำ การปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคและบริโภค
5.2.3 รัฐควรเร่งจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนที่ไร้ที่ทำกิน ในสถานที่และจำนวนที่เหมาะสมทั้งนี้จะต้องพิจารณากลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเป็นอันดับแรก โดยรัฐไม่ควรให้เอกสารสิทธิในลักษณะที่ผู้ถือครองซึ่งสามารถจะจำหน่ายหรือถ่ายโอนให้แก่ประชาชนที่ทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตพื้นที่อนุรักษ์ ป่าต้นน้ำ เช่น โฉนด นส. 3 หรือใบเหยียบย่ำ เป็นต้น แต่ควรให้เอกสารที่ใช้สิทธิครอบครองเพื่อทำกินเท่านั้น ซึ่งหากผู้ได้รับสิทธิไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือตายและไม่มีทายาทสืบทอด ก็ให้กลับคืนเป็นของรัฐ อนึ่งรัฐควรให้สิทธิครอบครองที่ดินอีกลักษณะหนึ่ง คือ สิทธิครอบครองเพื่อทำกินของชุมชน อาทิเช่น ภาคใต้ เรียกว่า ส่วนพ่อเฒ่า ภาคเหนือ เรียกว่า สิทธิหน้าหมู่ เป็นต้น เพื่อชุมชนจะได้ใช้ประโยชน์และดูแลรักษาที่ดินร่วมกัน
ในกรณีการประกาศที่ดินของรัฐได้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนซึ่งอาศัยทำกินในที่ดินนั้นมาก่อน รัฐต้องดำเนินการให้บุคคลเหล่านั้นได้สิทธิตามกฎหมายต่อไป
5.2.4 รัฐควรส่งเสริมให้ราษฎรใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น การผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ ทดแทนปุ๋ยเคมี จากเศษไม้ ซากอินทรีย์ และมูลสัตว์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตลดค่าใช้จ่ายการทำเกษตรกรรม อีกทั้งยังเป็นการรักษาสภาพพื้นดินและสิ่งแวดล้อม
5.2.5 รัฐควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการการควบคุม การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์จากป่า สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของป่า และร่วมพิทักษ์ปกป้องรักษาป่าเพื่อเป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
5.2.6 รัฐควรดำเนินการแก้ปัญหาข้อพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิที่ดินทำกิน การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า โดยใช้แนวทางสันติวิธีไม่เลือกปฏิบัติ เน้นการมีส่วนร่วมและการรับผิดชอบต่อสังคม ให้ทุกฝ่ายยึดถือและปฏิบัติตามหลักการที่ตกลงกันไว้ สุดท้ายทุกฝ่ายต้องเคารพและอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียม
5.3 การจัดการลุ่มน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
5.3.1 รัฐควรดำเนินการให้มียุทธศาสตร์การจัดการลุ่มน้ำ เพื่อสนองตอบความจำเป็นการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมรับผิดชอบการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำ เกิดความโปร่งใสในการจัดการ
5.3.2 จัดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำในกิจกรรมของชุมชนและเมืองให้ชัดเจน ดำเนินการเผยแพร่และรับฟังจนเกิดเป็นสัญญาประชาคม
5.3.3 การจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ ควรให้สิทธิการใช้น้ำแก่ประชาชนซึ่งจะมีความเป็นธรรมและสามารถปรับให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นตามสถานการณ์ที่เหมาะสม การบริหารทรัพยากรน้ำเพื่อลดความขัดแย้งในสังคมควรมีการจัดตั้งองค์กรในระดับลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ คณะกรรมการเขตจัดการน้ำ ซึ่งจะเป็นวิธีการกำหนดสิทธิการใช้น้ำ ซึ่งแนวทางการจัดสรรน้ำระหว่างลุ่มน้ำและภายในลุ่มน้ำ ให้มีการกำหนดสิทธิการใช้น้ำของกลุ่มผู้ใช้น้ำ และจัดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำ การจัดสรรภายในลุ่มน้ำ ระหว่างเขตให้เป็นไปตามสิทธิที่ได้กำหนดไว้ หากมีการโอนกันระหว่างลุ่มน้ำต้องให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเห็นชอบ
5.3.4 ควรมีการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการใช้น้ำในสภาพปัจจุบัน สำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำ ควรมีการแยกรายงานผลกระทบทางสังคมออกจากรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้ทุกหน่วยงานให้หลักการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในการชดเชยแก่ประชาชน และนำค่าชดเชยนี้มาคำนวณจุดคุ้มทุนของการสร้างเขื่อนและเปิดเผยข้อมูลนี้ต่อสาธารณชน โดยที่การรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับการสนับสนุนการวิจัยด้านระบบนิเวศ และการประเมินมูลค่าทรัพยากรมากกว่ากระทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
5.3.5 กำหนดมาตรการการลดการสูญเสียน้ำในกระบวนการใช้น้ำทั้งทางการเกษตร
การอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการจัดการน้ำให้มากที่สุด
5.3.6 รัฐควรส่งเสริมให้ใช้น้ำใต้ดินแบบผสมผสานกับน้ำท่าผิวดินให้สมดุลย์เหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยควรเร่งขุดลอกแหล่งน้ำตื้นเขิน เพื่อการแก้ปัญหาภัยแล้งและป้องกันอุทกภัย และช่วยราษฎรให้มีแหล่งน้ำทำประโยชน์หาเลี้ยงชีพ
5.3.7 องค์ประกอบทั้งหมด (ข้อ 1 — 6) จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพป่าไม้ในปัจจุบัน และ กลยุทธ์การอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำแบบองค์รวม
5.3.8 ควรศึกษาการจัดการน้ำระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยทั้งทางด้านกฎหมายและเครื่องมือการบริหารอุปสงค์ เพื่อให้สามารถเข้าสู่เวทีเจรจาระหว่างประเทศได้อย่างมั่นคง และมีศักดิ์ศรี
5.3.9 ควรจัดการระบบน้ำเสีย ระบบนิเวศ และการก่อสร้างชายฝั่ง ให้อยู่ในสภาพสมดุล ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง และการลดลงของทรัพยากรทะเล
5.3.10 ควรจัดการสิ่งแวดล้อม สารพิษ และระบบนิเวศชายฝั่ง ไม่ให้มีผลกระทบต่อมาตรฐานคุณภาพของทรัพยากรประมง และสุขภาพของชุมชนที่เกี่ยวข้อง
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ