ผลการจัดสัมมนา FTA กับโอกาสทางการค้าของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 26, 2004 14:09 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        นางอภิรดี  ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ   เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา กรมฯได้จัดสัมมนา เรื่อง “ FTA กับโอกาสทางการค้าของไทย ” เพื่อให้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้ส่งออก รวมทั้ง Intertrader ได้ทราบถึงโอกาสและลู่ทางการค้าระหว่างประเทศไทยกับออสเตรเลีย จีนและอินเดีย ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังประมาณ 300 คน โดยแบ่งการสัมมนาออกเป็น  2 ช่วง ดังนี้  
ช่วงแรก เป็นการอภิปรายเรื่อง “โอกาสและการปรับตัวเพื่อรองรับการจัดทำ FTA” โดยนายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายนินาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยการอภิปรายได้ให้ความหมายของ FTA ว่าเป็นการเปิดเสรีระหว่าง 2 ประเทศเป็นส่วนใหญ่ สามารถลดภาษีได้ง่าย ประเทศไทยต้องมีการบังคับเพื่อให้มีการทำ FTA เนื่องจากภาคเอกชนจะอ้างว่ายังไม่พร้อม อย่างไรก็ตามรัฐเชื่อว่าธุรกิจจะอยู่รอดได้นั้นต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ FTA ยังมีประโยชน์เมื่อมีตลาดมากก็จะทำให้มีการขยายกำลังการผลิต และผู้บริโภคจะซื้อสินค้าราคาถูกลง FTA อาจจะเบี่ยงเบนทางการค้าในลักษณะกีดกัน เช่น NTBs ภาคเอกชนจะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยควรลดต้นทุนและเพิ่มการผลิต รวมทั้งศึกษาเรื่องตลาดส่งออกของคู่ค้าแต่สิ่งที่ควรมีใน FTA คือมาตรฐาน ซึ่ง กระทรวงเกษตรได้ให้เอกชนจัดทำห้อง Lab จำนวน 30 แห่งเพื่อรองรับการกำหนดมาตรฐาน และควรสร้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงธุรกิจของไทยธุรกิจเกษตรในอนาคตควรจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการแข่งขัน”
ช่วงที่สอง เป็นการอภิปราย เรื่อง “FTA ลู่ทางการส่งออกไปออสเตรเลีย จีน อินเดีย” โดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญจากกรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับความตกลงเขตการค้าเสรีที่กำลังจะมีผลในทางปฎิบัติ คือ ไทย-อินเดีย และไทย-ออสเตรเลีย รวมทั้งเรื่องการขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิ์ในการลดภาษีภายใต้ FTA ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศพร้อมให้บริการตรวจสอบว่าสินค้าที่จะส่งออกไปอินเดียมีแหล่งกำเนิดในไทยหรือไม่ได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และจะออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าให้ได้ภายใน 1 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ สำหรับออสเตรเลียซึ่งความตกลงจะเริ่มมีผลทางปฏิบัติในวันที่ 1 มกราคม 2548 จะให้บริการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 โดยผู้ส่งออกสามารถขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าทาง Internet ได้ด้วย
ในส่วนของลู่ทางการส่งออกไปออสเตรเลีย จีน และอินเดีย ผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับกรมส่งเสริมการส่งออกเพื่อเปิดช่องทางการค้าใหม่ๆ ได้ในหลายรูปแบบ เช่น งานแสดงสินค้า Thailand Exhibition คณะผู้แทนการค้า Special Task Force นอกจากนั้น กรมส่งเสริมการส่งออกยังมีฐานข้อมูลการค้าของประเทศต่างๆไว้ให้บริการด้วย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ