โครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 27, 2004 14:47 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับโครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
1. ความเป็นมา
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ว่ามีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม อย่างเห็นได้ชัดในระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลกระทบในทางลบต่อต้นทุนทางสังคมในมุมกว้างที่มีต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมประเพณี อันมีผลจากการขาดการบริหารและการจัดการที่ดี ซึ่งมีสาเหตุมาจากโครงสร้างการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยขาดการบูรณาการและมีลักษณะเป็นการบริหารแบบต่างคนต่างทำ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และไม่มีกระบวนการการติดตามและประเมินผลอย่างจริงจัง ลักษณะการบริหารดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการที่จะบรรลุเป้าหมายความสำเร็จในอันที่จะนำพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพและมีความยั่งยืน
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการบริการและการท่องเที่ยวจึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยรังสิต ดำเนินการศึกษาวิจัย เรื่อง “โครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย” เพื่อให้ได้ข้อมูลและแนวทางที่สามารถให้คำตอบได้ว่า แต่ละองค์ประกอบในโครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ควรจะมีการปรับโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพและมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร จึงจะสามารถผลักดันและสนับสนุนให้การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และส่งผลกระทบในทางบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม อย่างแท้จริง
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการบริการและการท่องเที่ยว ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการดำเนินการศึกษา ดังนี้
2.1 การศึกษาจากรายงานวิจัย และ เอกสารรายงานต่างๆ อาทิ นโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างบูรณาการโดยผู้ว่าราชการจังหวัด CEO เป็นต้น
2.2 การดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริง และการระดมความเห็นจากภาคีการท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดรวม 4 ภาค แล้วนำข้อมูลต่างๆ มาประมวล วิเคราะห์ และจัดทำเป็นรายงานการศึกษาวิจัยเรื่องโครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
2.3 การจัดสัมมนาสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็น ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในเขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ณ กรุงเทพมหานคร (วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 ณ ห้องประชุม 1 สภาที่ปรึกษาฯ )
คณะทำงานการบริการและการท่องเที่ยว สภาที่ปรึกษาฯ ได้นำความรู้และความคิดเห็นที่ได้มาประมวลและสังเคราะห์ เพื่อจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เสนอต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยโดยรวม
จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ การระดมความคิดเห็นเวทีสาธารณะจากการประชุมสัมมนา ผู้แทนองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง สามารถสรุปได้ว่า โครงสร้างการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย มีประเด็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวของไทยโดยรวม 4 ประการ ดังนี้ คือ
3.1 การบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังมีการบูรณาการค่อนข้างน้อย ทั้งในระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและกับภาคเอกชน
3.2 การจัดทำแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน และชุมชนท้องถิ่น
3.3 ความรู้ความเข้าใจด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของบุคลากรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและที่อยู่ในโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยังมีไม่เพียงพอ
3.4 กฎหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารและการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะยังไม่มี ส่วนกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันควรปรับปรุงให้เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวให้มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้ตามกฎหมายด้วย
4. ความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องโครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยของสภาที่ปรึกษา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
จากการประมวลสภาพปัญหา และข้อสรุปจากการศึกษาวิจัยด้านโครงสร้างและการดำเนินงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นควรมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยจัดโครงสร้างการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ดังนี้
1. แนวทางในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เสนอให้จัดตั้ง “สถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ” ขึ้น โดยให้มีหน้าที่หลัก 4 ประการ คือ
1.1 จัดระบบการฝึกอบรมให้กับบุคลากรขององค์กรภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยสถาบันทำหน้าที่ประสานกับสถาบันฝึกอบรมที่มีหลักสูตรด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นเครือข่ายในการฝึกอบรม หรือสถาบันอาจดำเนินการเองในบางเรื่องซึ่งสถาบันฝึกอบรมต่างๆ ยังไม่มีความพร้อมด้านผู้เชี่ยวชาญ
1.2 การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากการศึกษาวิจัยเป็นฐานข้อมูลที่ดีสำหรับการฝึกอบรม การเผยแพร่ความรู้และการกำหนดหรือจัดทำแผน และยุทธศาสตร์บนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง
1.3 การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวให้แก่สังคม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ ถูกต้องร่วมกัน
1.4 เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสาร (Intelligence Unit) เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ทันกับสถานการณ์ และเอื้อประโยชน์ต่อการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนา (Strategic Development) และยุทธศาสตร์ด้านการตลาด (Strategic Marketing) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
2. แนวทางในการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สภาที่ปรึกษาฯ จึงได้เสนอให้มีมาตรการ 4 ประการ เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารการท่องเที่ยว กล่าวคือ
2.1 การกำหนดหลักการทั่วไปในการบริหารการท่องเที่ยว ซึ่งต้องพิจารณาทุกมิติ มิใช่มิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เช่น การแสวงหารายได้ แต่จะมีมิติอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เช่น มิติการมีส่วนร่วมของประชาชน มิติด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิติด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี เพื่อให้เกิดลักษณะการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
2.2 การกำหนดโครงสร้างองค์กรที่มีหน้าที่ในการจัดทำแผนให้มีความเหมาะสม โดยให้จัดตั้ง “คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งชาติ” เพื่อจัดทำแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว ในการแก้ปัญหาการท่องเที่ยวในภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนและยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ซึ่งเมื่อจะนำแผนระดับประเทศไปสู่การปฏิบัติโดยให้สอดคล้องกับพื้นที่ต่างๆ ในระดับอนุภาค จึงเสนอให้จัดตั้ง “คณะกรรมการการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัด” และ “คณะกรรมการการท่องเที่ยวจังหวัด” เพื่อให้เกิดการบริหารระดับพื้นที่ในลักษณะองค์รวม และเกิดความเชื่อมโยงระหว่างแผนระดับประเทศกับแผนระดับกลุ่มจังหวัดและแผนจังหวัดให้มีความสอดคล้องกัน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดต่างๆ จะมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงที่เกี่ยวข้อง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฯลฯ เป็นต้น ร่วมเป็นคณะกรรมการ
2.3 การกำหนดให้มีกระบวนการในการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยวที่เหมาะสม โดยมีหลักการสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ
2.3.1 การใช้ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ฯ
2.3.2 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้การจัดทำแผนดำเนินไปบนพื้นฐานของความหลากหลาย และสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตาม หมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2540
2.3.3 การจัดทำแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว จากการใช้ข้อมูลการศึกษาวิจัย และการรับฟังความเห็นของประชาชน คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งชาติ จะต้องนำข้อมูลมาจัดทำแผนในลักษณะบูรณาการโดยมีความเป็นกลางจึงเสนอให้แต่งตั้ง“คณะกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่ยกร่างแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ” ขึ้น โดยอยู่ภายใต้คณะกรรมการท่องเที่ยวแห่งชาติ
2.4 การกำหนดรายละเอียดที่ควรมีในแผนการบริหารการท่องเที่ยว เช่น
- หลักการสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยว
- แผนและยุทธศาสตร์การบริหารการท่องเที่ยวขององค์กรภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วน
- แผนและยุทธศาสตร์ การบูรณาการ การทำงานขององค์กรภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วน
- แผนงบประมาณขององค์กรภาครัฐ
- แผนการติดตามและประเมินผล
- ฯลฯ
3. แนวทางในการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
เพื่อเสริมสร้างการบูรณาการในการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเพื่อให้สามารถนำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลได้อย่างจริงจัง สภาที่ปรึกษาฯ จึงได้เสนอแนวทางดำเนินงานไว้ ดังนี้
3.1 การจัดโครงสร้างการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เหมาะสม ซึ่งเสนอไว้ 4 ประการ คือ
3.1.1 การจัดโครงสร้างการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่โดยเสนอให้ “คณะกรรมการท่องเที่ยวแห่งชาติ” ทำหน้าที่บริหารแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ติดตามและกำกับดูแลการทำงานขององค์กรภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีอำนาจในการสั่งการและเสนอให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งชาติ ขึ้น เพื่อเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ สำหรับในระดับอนุภาค ให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางการบริหารการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในกลุ่มจังหวัด และมีอำนาจในการสั่งการในกลุ่มจังหวัด และในระดับจังหวัดให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการการท่องเที่ยวจังหวัด โดยมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารการท่องเที่ยวในระดับจังหวัดและมีสำนักงานคณะกรรมการการท่องเที่ยวจังหวัด เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ
3.1.2 การจัดตั้งส่วนงานการท่องเที่ยวในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือสภาตำบล เพื่อให้ภาระงานด้านการท่องเที่ยวมีเจ้าภาพในการดำเนินงานและมีผู้รับผิดชอบโดยตรง เพราะองค์กรเหล่านี้มีอำนาจในการดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบได้อยู่แล้ว
3.1.3 การพัฒนาองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ซึ่งในปัจจุบันได้มีการจัดตั้งองค์กรนี้ขึ้นที่เกาะช้าง จังหวัดตราด เป็นแห่งแรก จึงควรให้มีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการประสานงานในโอกาสต่อไป และสามารถใช้องค์กรนี้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้โครงสร้างการบริหารรูปแบบใหม่ที่ได้เสนอไว้ข้างต้น
3.1.4 การพัฒนาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นของภาคเอกชน ควรเสริมสร้างประสิทธิภาพและความเป็นเอกภาพในการบริหารงานให้ครอบคลุมทุกจังหวัด จึงเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 ให้สามารถจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดได้ เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างการบริหารใหม่ที่ได้เสนอให้จัดตั้งขึ้น คือ คณะกรรมการการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัด และคณะกรรมการการท่องเที่ยวจังหวัด
3.2 ให้มีการจัดกลุ่มภารกิจ เพื่อเชื่อมโยงอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์เฉพาะขององค์กรภาครัฐทั้งในระบบหลัก (องค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรง) และระบบรอง (องค์กรที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม) ให้เข้ามาเกื้อหนุนต่อการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยว ดังนี้
3.2.1 กำหนดกลุ่มภารกิจที่เกี่ยวข้องออกเป็น 6 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มภารกิจด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
2) กลุ่มภารกิจด้านการอนุรักษ์และพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา องค์กรภาครัฐในระบบรองในกลุ่มการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กรมป่าไม้ กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น องค์กรภาครัฐในระบบรองในกลุ่มการอนุรักษ์และพัฒนาด้านโบราณสถาน เช่น กรมศิลปากร สำนักงานศาสนสมบัติ เป็นต้น จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ ภาคเอกชน และชุมชนในท้องถิ่น
3) กลุ่มภารกิจด้านการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา องค์กรภาครัฐในระบบรองในกลุ่มการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรม เช่น กรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น
4) กลุ่มภารกิจด้านธุรกิจท่องเที่ยว ได้แก่ ภาคเอกชน ชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปประกอบธุรกิจท่องเที่ยว เช่น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
5) กลุ่มภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ องค์กรภาครัฐในระบบรองที่เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวง เป็นต้น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6) กลุ่มภารกิจเฉพาะ เพื่อเปิดช่องทางให้มีการบูรณาการสำหรับการทำงานในกรณีพิเศษหรือภารกิจพิเศษ
3.2.2 การกำหนดระดับของภารกิจ โดยพิจารณาว่าเป็นภารกิจระดับชาติหรือระดับพื้นที่ เพื่อให้มีการใช้องค์กรและบุคลากรให้ตรงกับระดับภารกิจ
3.3 การติดตามและประเมินผล มีข้อเสนอให้จัดตั้ง “คณะกรรมการประเมินผลการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” เพื่อทำหน้าที่ประเมินผลการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของสถาบันและคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ได้เสนอให้จัดตั้งขึ้นตามโครงสร้างบริหารใหม่ ส่วนองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการชุดนี้ควรมีการศึกษาในรายละเอียดต่อไป
4. แนวทางด้านกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
4.1 การจัดทำร่าง “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารการท่องเที่ยวแห่งชาติ” โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
4.1.1 การจัดตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งชาติ
4.1.2 การจัดตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัด
4.1.3 การจัดตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการท่องเที่ยวจังหวัด
4.1.4 การกำหนดระบบบูรณาการการทำงาน โดยให้อำนาจบังคับบัญชา หรือให้อำนาจกำกับดูแลแก่คณะกรรมการทั้ง 3 คณะ
4.1.5 การกำหนดระบบการติดตามและประเมินผลและการจัดตั้ง “คณะกรรมการประเมินผลการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
4.2 การดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้เอื้อต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว
คณะผู้วิจัยเสนอให้มีการศึกษาวิจัยทางนิติศาสตร์เพื่อค้นหารายละเอียดทางกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและดำเนินการแก้ไขปรับปรุง โดยเสนอให้พิจารณา 3 ประการ คือ
4.2.1 การแก้ไขกฎหมายที่ให้อำนาจองค์กรภาครัฐในระบบรอง อาทิ กรมป่าไม้ กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวง และกรมศิลปากร ให้สอดรับกับการบริหารการท่องเที่ยว
4.2.2 การศึกษาวิจัยทางนิติศาสตร์ เพื่อสานต่องานวิจัยของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง กฎหมายในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยว
4.2.3 การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 ในรายละเอียดให้สามารถจัดตั้ง “สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัด” เพื่อเชื่อมโยงการบริหารและการประสานงานด้านการท่องเที่ยว ระหว่างองค์กรภาคเอกชนด้วยกัน ระหว่างองค์กรภาคเอกชนกับองค์กรภาครัฐ และกับโครงสร้างการบริหารรูปแบบใหม่ที่ได้เสนอให้จัดตั้งขึ้น
4.3 การสนับสนุนและการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้สอดรับกับแนวทางการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเสนอให้ดำเนินการ 3 ประการ คือ
4.3.1 สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ จัดตั้งส่วนงานที่มีภารกิจในการบริหารการส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้นตามความจำเป็น ซึ่งทำได้ตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4.3.2 การบังคับใช้กฎหมายขององค์กรภาครัฐในระบบรอง ควรคำนึงถึงวาระของชาติในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
4.3.3 การบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปีพุทธศักราช 2544 ในมาตรา 8 โดยการจัดตั้งสำนักงานขึ้นในภูมิภาคและในระดับจังหวัด เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างการบริหารใหม่ในระดับอนุภาคและระดับจังหวัด
5. ในช่วงระหว่างที่รอการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างการบริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามรูปแบบใหม่ ควรมีการดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างดังกล่าว ดังนี้
5.1 ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรับวิธีการทำงานและการประสานงานขององค์กรหลักที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และผู้อำนวยการศูนย์การท่องเที่ยว กีฬา และนันทนาการจังหวัด ให้มีการบูรณาการมากยิ่งขึ้น
5.2 การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาคตามที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เคยเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2547 ดังนี้
5.2.1 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวจังหวัดขึ้น โดยอาศัยการบริหารงานแบบบูรณาการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานรับผิดชอบอย่างเป็นระบบและแบบเบ็ดเสร็จ มีหน่วยงานทุกระดับที่เกี่ยวข้องในทุกมิติของการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เป็นกรรมการ โดยให้มีหน้าที่ควบคุมดูแล ติดตามและประสานความร่วมมือในการจัดทำแผนพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดในภาพรวม รวมทั้งการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ
5.2.2 การดำเนินงานของทุกหน่วยงานภายใต้อำนาจการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ เกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวต้องอยู่ภายใต้แผนและกรอบการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จัดทำโดยคณะกรรมการการท่องเที่ยวจังหวัด (ตามข้อ 5.2.1)
5.2.3 การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นอิสระ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการไม่สามารถสั่งการได้โดยตรงนั้น ขอให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้เพื่อให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวของส่วนท้องถิ่นสอดคล้องกับแผนและกรอบการพัฒนาดังกล่าวข้างต้นด้วย
ซึ่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าวรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้มีคำสั่งให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย รับไปจัดทำความเห็นเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปแล้ว
5.3 เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกขั้นตอน
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ