สาร ส.ส. ฉบับที่ ๘๖ วันที่ ๓๐ สิงหาคม - ๕ กันยายน ๒๕๔๗

ข่าวการเมือง Monday August 30, 2004 09:49 —รัฐสภา

=   วุฒิสภารับสมัครตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่าง
วันอังคารที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง โครงการนำร่องการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันทอดซ้ำ" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน กล่าวรายงาน ณ ห้องสารนิเทศ อาคารรัฐสภา ๑
= พิธีมอบรางวัลการประกวดเรียงความเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องสารนิเทศ อาคาร รัฐสภา ๑ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดเรียงความเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา ๖ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในหัวข้อ "๗๒ พรรษามหาราชินี พระแม่แบบวิถีประชาธิปไตย" ซึ่งจัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนักเรียน ที่ส่งเรียงความเข้าประกวดทั้งสิ้น ๓๖๙ เรื่อง และเรียงความที่ได้รับรางวัลมีจำนวน ๒๓ เรื่อง ซึ่งรางวัลชนะเลิศนั้นไม่มีเรียงความใดถึงเกณฑ์ที่ได้รับรางวัล สำหรับรางวัลรองชนะเลิศได้รับโล่รางวัลประธานรัฐสภา เกียรติบัตร และเงินรางวัล ๗,๐๐๐ บาท มีผู้ได้รับรางวัล จำนวน ๒ คน ได้แก่
นายซอลีฮีน นิลังโหลด โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา
นางสาวนัฐรี ธนะวรรณ์ โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม กรุงเทพมหานคร
ส่วนรางวัลชมเชยได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล ๆ ละ ๓,๐๐๐ บาท มีผู้ได้รับรางวัล จำนวน ๒๑ คน
จากนั้น นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ได้ให้โอวาทแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลว่า นับเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่มีอายุเพียงสิบกว่าปีที่จะถ่ายทอดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้านประชาธิปไตยให้แก่ผู้อ่านได้รับรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ ขอชื่นชมในความสามารถ และหวังว่าข้อความที่ปรากฏในเรียงความจะไม่เป็นเพียงตัวหนังสือเท่านั้น แต่ขอให้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาท โดยยึดหลักวิถีประชาธิปไตยในการดำรงชีวิตเฉกเช่นพระแม่ รวมทั้งขอให้นักเรียนทุกคนพยายามพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนแสดงออกถึงความสามารถและทักษะของตนเองอย่างสร้างสรรค์ เพื่อจะได้นำความรู้ความสามารถมาใช้พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
= รับมอบช่อดอกไม้
วันพุธที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับมอบช่อดอกไม้จากตัวแทนสมาพันธ์ครูแห่งประเทศไทย จำนวน ๔๐๐ คน ณ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา ๑
= ให้การรับรองคณะเยาวชนประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ให้การรับรองคณะเยาวชนจากทุกภูมิภาค จำนวน ๑๖๐ คน ที่เข้าร่วมโครงการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจัดโดยกรมประชาสัมพันธ์ โดยคัดเลือกจากกิจกรรมค่ายเยาวชนประชาธิปไตย จาก ๓๐ จังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง สิทธิหน้าที่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ส่งเสริมให้เยาวชนมีประสบการณ์ทางการเมือง รวมทั้งเพื่อจะได้เป็นเครือข่ายในการ ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่พลเมือง และเพื่อให้เยาวชนได้รับประสบการณ์ตรงทางการเมือง ณ ห้องสารนิเทศ อาคารรัฐสภา ๑
= ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของไทย-จีน
วันจันทร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องรับรอง ๑ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๑ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ให้การรับรองนายหลี่ เฉ่าโจ้ว รองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของวุฒิสภา
ทั้งสองได้สนทนาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวว่า จีนเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก แม้ปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกจะสูงขึ้นมาก แต่คาดว่าจีนคงแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้อย่างแน่นอนและประเทศไทยได้รับรองสถานภาพของจีนว่า เป็นตลาดเศรษฐกิจที่สมบูรณ์อย่างมาก และประเทศไทยยังต้องการให้นักลงทุนของจีนมาลงทุนในประเทศไทยในหลาย ๆ สาขาอาชีพ และได้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประธานรัฐสภาได้ฝากคารวะไปยังประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ
สาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย
จากนั้น นายหลี่ เฉ่าโจ้ว รองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและการค้ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด สำหรับประเทศจีนน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีน เทคโนโลยีในการประหยัดพลังงานของจีนมีศักยภาพมาก ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงมีนโยบายที่ต้องประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานให้มากขึ้น
= โครงการตามพระราชดำริ
การส่งเสริมและฟื้นฟูหัตถกรรมพื้นบ้านเพื่อการส่งเสริมรายได้แก่ราษฎรแม่บ้าน หุบกระพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เริ่มต้นภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสรรที่ดินหุบกระพงและจัดระบบการเพาะปลูกจนเป็นผลสำเร็จแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงแนะนำให้กลุ่มแม่บ้านฯ เข้ารับการอบรมการประดิษฐ์เครื่องใช้จากป่านศรนารายณ์ ซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นในพื้นดินปนทราย หลังจากนั้นชาวบ้านสามารถประดิษฐ์กระเป๋า หมวก เข็มขัด รองเท้า และอื่น ๆ ที่ทำจากป่านศรนารายณ์เป็นสินค้าออกจำหน่ายได้ จนเป็น ที่นิยมกันโดยทั่วไป งานศิลปะประดิษฐ์ดังกล่าว นอกจากจะเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้สินค้าที่เป็นหัตถกรรมฝีมือคนไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรง พระเมตตาพระราชทานพระราชวินิจฉัย อันกอปรด้วยพระประสบการณ์ จึงก่อเกิดเป็นโครงการหลากหลายที่ล้วนอำนวยประโยชน์แก่การดำรงชีพของคนไทยในทุกภาคของประเทศ
จากจุดเริ่มต้นงานด้านการสร้างอาชีพเสริมแก่ราษฎรในโครงการฝึกอบรมประดิษฐ์สิ่งของป่านศรนารายณ์ ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๑๔-๒๕๑๕ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักว่า งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูความสามารถของชาวบ้านในท้องถิ่น ด้วยการจัดครูไปฝึกอบรมและพระราชทานวัสดุอุปกรณ์ ที่ใช้ในการผลิต ดังนั้น งานทอผ้าฝ้ายที่อำเภอเขาเต่า การผลิตดอกไม้ประดิษฐ์ที่นิคมอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หัตถกรรมจักสานย่านลิเภา และการสานเสื่อกระจูดในภาคใต้ รวมทั้งการทอผ้าไหม ผ้าฝ้ายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สวยงามและเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง จนถึงปัจจุบัน จึงล้วนแล้วแต่มาจากพระปรีชาญาณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรง พระมหากรุณาปฏิบัติพระราชภารกิจตามพระราชดำริที่ว่า "คนไทยแต่ละภาคต่างก็มีฝีมือและความสามารถพร้อมจะพัฒนาชาติให้รุ่งเรือง" การส่งเสริมงานศิลปาชีพจึงได้บังเกิดในทั่วทุกภาคของผืนแผ่นดินไทย ในเวลาต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงริเริ่มให้มีการฟื้นฟูและพัฒนางานหัตถกรรมพื้นบ้านทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเริ่มแรกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หาครูหรือ ผู้เชี่ยวชาญงานด้านต่าง ๆ เช่น การทำเครื่องเงิน เครื่องทอง การทอผ้า การจักสาน จากนั้นโปรดให้สร้างโรงฝึกเรียนภายในเขตพระราชฐาน โดยพระราชทานอุปกรณ์ วัสดุ การชักชวนราษฎรที่ยากจน ให้มาฝึกอาชีพ กับพระราชทานกำลังใจและคำแนะนำหลายประการ ด้วยพระอุตสาหะวิริยะที่จะทรงช่วยเหลือแบ่งเบาภาระความทุกข์ยากของราษฎรให้จงได้ จนในที่สุดมีผู้สนใจมากขึ้นตามลำดับ ระยะแรกสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้ข้าราชบริพารในพระองค์รับผิดชอบโครงการ เรียกกันว่า "โครงการศิลปาชีพพิเศษ" และดำเนินการจัดตั้งกลุ่มศิลปาชีพด้านต่าง ๆ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และด้วยเงินที่มีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อทรงใช้จ่ายในโครงการนี้ ต่อมาเมื่อ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้ง "มูลนิธิ ส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ขึ้น โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงคิดชื่ออันเป็นมงคลนี้ถวาย
= วุฒิสภารับสมัครตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่าง
ศาลรัฐธรรมนูญ คือ องค์กรเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยข้อขัดแย้งที่เกิดจากข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีองค์ประกอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวม ๑๕ คน ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการอื่น ๆ อีก ๑๔ คน ซึ่งมาจากบุคคลดังนี้คือ
๑. ผู้พิพากษาในศาลฎีกา
๒. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
๓. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์
๔. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์
ในขณะนี้วุฒิสภาจะต้องทำหน้าที่ในการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ ๓ เนื่องจาก ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ที่หมดวาระลง โดยรับสมัครผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ มาตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นมา และจะปิดรับสมัครในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ จากนั้นจะต้องดำเนินการสรรหาให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน โดยคณะกรรมการสรรหาต้องเสนอรายชื่อให้วุฒิสภาพิจารณาคัดเลือกอีกครั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์นี้เปิดกว้างไม่เฉพาะผู้จบปริญญาสาขารัฐศาสตร์เท่านั้น ผู้มีประสบการณ์ด้านรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การบริหารงาน ครูอาจารย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๐ อธิบดีหรือเทียบเท่า สามารถสมัครได้ เพราะรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าต้องจบปริญญาด้านรัฐศาสตร์เท่านั้น ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้รับสมัคร โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้น ๑๑ คน ดังนี้
๑. นายวิมุต บัวจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร
๒. นายบุญปลูก ชายเกตุ ข้าราชการบำนาญ ก.พ.
๓. นายสุจิต บุญบงการ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
๔. นายธวัช เสถียรนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน
๕. นายนพดล เฮงเจริญ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ
๖. พล.ต.ท.มงคล กมลบุตร อดีตหัวหน้าฝ่ายอำนวยการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
๗. ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ อดีตเลขาธิการ กกต.
๘. นายใจเด็ด พรไชยา รองอัยการสูงสุด
๙. นายจรูญ อินทจาร ผู้พิพากษาศาลฎีกา
๑๐. พล.ต.ท.ภิรมย์ บุญรอดพานิช สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
๑๑. นายชัยพร รัตนนาคะ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
และจากนี้ไปคณะกรรมการสรรหาจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนการนำเข้าสู่การพิจารณาของ วุฒิสภาต่อไป
= ขยายเวลาเช่าบูชาวัตถุมงคลเฉลิมพระเกียรติฯ
คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ขยายเวลาในการเช่าบูชาวัตถุมงคลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ โดยผู้สนใจสามารถสั่งจองบูชาได้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป ณ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา ๑ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๕.๐๐ นาฬิกา และให้บริการแก่สมาชิกรัฐสภา เช่าบูชาได้ ณ บริเวณชั้น ๒ หน้าห้องประชุมสภาฯ นอกจากนี้สามารถสั่งจองบูชาได้ที่สำนักงาน โครงการจัดสร้างวัตถุมงคลเฉลิมพระเกียรติ ถนนราชดำเนิน ตรงข้ามกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗ สำหรับท่านที่สั่งจองไว้ ที่ไปรษณีย์และธนาคารต่าง ๆ สามารถติดต่อขอรับและบูชาวัตถุมงคลชนิดต่าง ๆ ได้ตั้งแต่วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๗ เป็นต้นไป หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ ๐ ๒๖๒๒ ๒๔๐๐ - ๕
โดยวัตถุมงคลเฉลิมพระเกียรติฯ ได้ผ่านขั้นตอนพิธีการพุทธาภิเษกมวลสารและชนวนโลหะถูกต้องตามแบบโบราณ ๗ เสาร์ ๗ อังคาร รวม ๑๔ ครั้ง และครั้งที่ ๑๕ เป็นพิธีเททอง ได้รับ พระกรุณาจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเททองเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ และได้ผ่านพิธีการที่ยิ่งใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย คือ พิธีมหาพุทธาภิเษกเรียบร้อยแล้ว โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ และมีพระคณาจารย์ ผู้ทรงวิทยาคม มาร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิตเป็นจำนวนมาก จึงนับได้ว่าวัตถุมงคลชุดนี้มีความพิเศษที่น่ามีไว้สักการะบูชาเป็นอย่างยิ่ง
= ส.ว. เลือกคณะกรรมการ กทช.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ บัญญัติให้เกิดองค์กรอิสระและหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรที่สร้างความโปร่งใส หรือก่อให้เกิดความยุติธรรม คณะกรรมการกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ต้องทำภารกิจหน้าที่สำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ให้มีความยุติธรรม และเสมอภาคกัน
คณะกรรมการสรรหา กทช. มีการสรรหาเพื่อให้ได้คณะบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อจะได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่เสียใหม่ ซึ่งอดีตที่ผ่านมามักจะมีการกล่าวว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน เหตุใดมีบุคคลบางกลุ่มเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ สร้างความร่ำรวย ให้กับพวกพ้องมาโดยตลอด ภายหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้มีความพยายามจะสรรหาให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ มาโดยลำดับ แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จจนกระทั่งวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๗
มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการ กทช. จาก ๑๔ คน ให้เหลือ ๗ คน ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องได้คะแนนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ ส.ว. ที่มีอยู่ คือ ๑๐๐ เสียง ขึ้นไป ผลการคัดเลือก มีผู้ได้รับเลือกดังนี้
๑. พลเอกชูชาติ พรมประสิทธิ์
๒. นายอาทร จันทวิมล
๓. นายสุธรรม อยู่ในธรรม
๔. นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์
๕. นายประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ
๖. นายสุชาติ สุชาติเวชภูมิ
๗. นายเหรียญชัย เรียววิไลสุข
หลังจากนี้ไปคณะกรรมการชุดนี้จะต้องเข้าทำหน้าที่อันสำคัญ อาทิ กำหนดนโยบายและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนากิจการโทรคมนาคมและแผนความถี่วิทยุ ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ กำหนดลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคม พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ เพื่อกิจการโทรคมนาคม พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข ค่าตอบแทน หรือค่าธรรมเนียมการอนุญาต รวมทั้งการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม กำหนดมาตรฐานและลักษณะพึงประสงค์ทางด้านเทคนิคในกิจการโทรคมนาคม ฯลฯ
และเมื่อพ้น ๓๐ วัน นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง กทช. จะมีการโอนบรรดาอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดี กรมไปรษณีย์โทรเลข หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นใด เกี่ยวกับการบริหารคลื่นความถี่ การจัดสรรคลื่นความถี่ การอนุญาต และการกำกับดูแลไปเป็นของ กทช. และการตั้งสำนักงานเลขาธิการ กทช. ต่อไป
= เชิญส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรางวัล "พานแว่นฟ้า" ครั้งที่ ๓
รัฐสภาร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ขอเชิญนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป และประชาชนที่สนใจ ร่วมส่งผลงานวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นการเมือง และบทกวีการเมือง เข้าประกวดชิงรางวัล "พานแว่นฟ้า" ประจำปี ๒๕๔๗ โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับโล่เกียรติยศและเกียรติบัตรจากประธานรัฐสภา พร้อมเงินรางวัล จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท
สนใจส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๔๗ หรือสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานเผยแพร่ประชาธิปไตยฯ สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โทร. ๐ ๒๓๕๗ ๓๑๐๐ ต่อ ๓๑๐๔-๖

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ