สาร ส.ส. ฉบับที่ ๘๖ วันที่ ๓๐ สิงหาคม - ๕ กันยายน ๒๕๔๗ (ต่อ)

ข่าวการเมือง Monday August 30, 2004 09:50 —รัฐสภา

=  การประชุมร่วมกันของรัฐสภา
สรุปการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
วันพุธที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๑ ( สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๐๙.๔๕ นาฬิกา โดยมีนายสุชน ชาลีเครือ รองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เมื่อครบองค์ประชุมแล้ว ประธานได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ ดังนี้
๑. เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม (ไม่มี)
๒. รับรองรายงานการประชุม
ที่ประชุมให้การรับรองรายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญ ทั่วไป) วันพุธที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗
๓. เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว (ไม่มี)
จากนั้นเป็นการพิจารณาเรื่องด่วน เรื่อง บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เรื่อง การประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ ๑๓ (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ)
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในนามของรัฐบาล ได้ชี้แจงเหตุผลในการขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ ๑๓ ระหว่างวันที่ ๒-๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๗ ซึ่งรัฐบาลต้องลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและ พืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งจำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินการประชุม เนื่องจาก พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการทำงานพิเศษ พ.ศ. ๒๕๐๔ มีผลการบังคับใช้ไปไม่ถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการประชุมครั้งนี้ รวมทั้ง CITES เองมิใช่องค์กรภายใต้สหประชาชาติ และภายหลังการประชุมรัฐบาลจะต้องลงนามในบันทึกการความเข้าใจฉบับนี้ด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ จึงจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา หลังจากที่รัฐมนตรีได้เสนอหลักการและเหตุผลแล้ว สมาชิก ฯ ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง รวมทั้งตั้งข้อสังเกตในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้คือ ควรมีเวลาให้รัฐสภาพิจารณามากกว่านี้มิใช่มีการอภิปรายเพียงคนละ ๕-๑๐ นาทีเท่านั้น และรัฐบาลควรศึกษาพิจารณารายละเอียดในบันทึกความเข้าใจเป็นพิเศษในเรื่องต่าง ๆ เช่น ประเภทสัตว์ป่าหรือพืชป่าที่ต้องอยู่ในอนุสัญญา ผลกระทบต่อการค้าและอาชีพเกษตรกรด้วย โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศและหากมีการพิจารณาในลักษณะนี้อีกขอให้ นายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้ชี้แจงต่อรัฐสภาด้วยตนเองจะดีกว่าเพราะเกี่ยวข้องกับพันธะสัญญาที่มี ผลกระทบต่อประเทศชาติอย่างมาก จากนั้นรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณและให้ความมั่นใจต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลจะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับอย่างเต็มที่จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน ๒๙๖ เสียง
ปิดการประชุม ๑๒.๓๐ นาฬิกา
= การประชุมสภาผู้แทนราษฎร
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
วันพุธที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๔๕ นาฬิกา โดยมีนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้หารือในเรื่องต่าง ๆ แล้ว เมื่อครบองค์ประชุม ประธานได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระดังนี้
๑. กระทู้ถาม (ไม่มี)
๒. เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
๑.๑ ที่ประชุมรับทราบเรื่องวุฒิสภา ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันจันทร์
ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ ได้ลงมติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ พ.ศ. ๒๕๔๗
๑.๒ ที่ประชุมรับทราบ เรื่อง สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๑๘ (๓) จำนวน ๒ คน ตามลำดับ คือ ๑. นายจินดา วงศ์สวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง พรรคไทยรักไทย ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๗ ๒. นายชัยวัฒน์ กุลศักดิ์วิมล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครพนม พรรคมหาชน ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ จนถึงขณะนี้ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหลือจำนวน ๔๕๗ คน
๓. รับรองรายงานประชุม (ไม่มี)
ต่อจากนั้นที่ประชุมได้เห็นชอบให้เลื่อนระเบียบวาระต่าง ๆ ขึ้นมาพิจารณาตามที่สมาชิกเสนอดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดยเริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงลำดับมาตราจนจบร่าง โดยสมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายเกี่ยวข้องกับหลักการในการจัดทำบัญชีเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ผิดหลักการบริหารงานบุคคลที่ต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครูเพื่อให้สอดคล้องกับ การปฏิรูปการศึกษาแต่การกำหนดตำแหน่งครูเชี่ยวชาญพิเศษรับเงินเดือนระดับ ๑๐-๑๑ ในขณะที่สายผู้บริหารสถานศึกษาและสายการบริหารการศึกษามีระดับที่ต่ำกว่า ส่งผลให้การได้รับเงินค่าตอบแทนต่าง ๆ ไม่เสมอภาคกัน ในอนาคตครูที่อยู่ในสายบริหารสถานศึกษาและการบริหารการศึกษาจะสับเปลี่ยนมาเป็นครูผู้สอนมากขึ้น เพราะได้รับค่าตอบแทนมากกว่า นอกจากนี้ขอให้คำนึงถึงเรื่องของความเจริญ ก้าวหน้าของครูควรมีการแก้ไขให้ครูที่เริ่มจากระดับ ๓ ไปถึงระดับ ๑๑ เพราะในมหาวิทยาลัยมีการกำหนดเช่นนี้มานานแล้ว ในเรื่องของการประเมินเพื่อเข้าสู่ระบบใหม่ของครูที่มีระดับ ๘ ในสายการบริหารการศึกษาจะทำอย่างไรหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว เนื่องจากไม่มีการระบุเกี่ยวกับครูในส่วนนี้ไว้ จากนั้นคณะกรรมาธิการฯ ได้ตอบชี้แจงว่า การกำหนดวิทยฐานะของครูนั้นเป็นการยกฐานะให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน ระบบบัญชีเงินเดือนจึงไม่ได้ผูกติดอยู่กับระดับของครูหรือซี จึงเห็นเงินเดือนมีลักษณะเป็นแท่ง ๆ และไม่ได้ผูกพันว่าครูระดับ ๕-๖ จะได้แท่งใดแท่งหนึ่ง โดยปรับกับ คศ.๑, ๒ และ ๓ ไปได้เรื่อย ๆ ไปจนถึง คศ. ๕ จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตามที่คณะ กรรมาธิการเสนอในวาระที่ ๓ เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป
๒. ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่...) พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดย เริ่มต้นด้วย ชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง เมื่อที่ประชุมพิจารณาเสร็จแล้ว ประธานการประชุมได้ขอให้ที่ประชุมพิจารณาทั้งร่าง เพื่อเป็นการสรุปอีกครั้งหนึ่งตามข้อบังคับการประชุม ข้อ ๑๑๖ จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๓๑๖ เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง ไม่มี เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ
ต่อมา ที่ประชุมเห็นชอบให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม โดยเลื่อนระเบียบวาระ ต่าง ๆ ขึ้นมาพิจารณาก่อนตามลำดับดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยสมาชิกได้อภิปรายถึงการใช้ถ้อยคำในเรื่องกรรมการสภาสถาบันในส่วนของ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้แทนสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยไม่ควรใช้คำซ้ำซ้อนกันมาก ในเรื่องการตัดถ้อยคำบางส่วนทำให้สภาสถาบันไม่มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งรองศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์นั้นควรที่จะให้สภาสถาบันมีอำนาจแต่งตั้งตามร่างเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายอื่นและเป็นไปตามหลักของการกระจายอำนาจ จากนั้นกรรมาธิการได้ผลัดเปลี่ยนกันชี้แจงว่าการใช้ถ้อยคำในเรื่องผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้แทนสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยนั้นเห็นว่าชัดเจนเหมาะสมแล้ว สำหรับในเรื่องที่ให้สภาสถาบันมีอำนาจในการแต่งตั้งรองศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์นั้น เห็นด้วยตามที่สมาชิกเสนอ
หลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายกันพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๘๖ เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง ๑ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการที่เห็นควรมีการปรับเปลี่ยนให้สถาบันการพลศึกษา วิทยาลัยพลศึกษา ๑๗ แห่ง ซึ่งเป็นวิทยาเขต และโรงเรียนกีฬา ๑๐ แห่ง ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าคณะ เป็นนิติบุคคลทั้งหมด เพื่อแต่ละนิติบุคคลสามารถดำเนินกิจการได้โดยอิสระ พัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการโดยคำนึงถึงความเสมอภาคทางการศึกษา และความรู้ความสามารถของผู้เข้ารับการศึกษาเป็นสำคัญและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภา สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง สถานศึกษานั้น ๆ เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการต่อไป
๒. ร่างพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้แก้ไขเพิ่มเติมหลักการของร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งการแก้ไขหลักการของพระราชบัญญัตินั้นเป็นการไม่สมควร นอกจากนี้ในเรื่องการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับดูแล การประกอบกิจการ โรงรับจำนำนั้นไม่เหมาะสม ซึ่งกรรมาธิการได้ผลัดเปลี่ยนกันชี้แจงว่าการแก้ไขหลักการของร่าง พระราชบัญญัตินั้นสามารถกระทำได้ ทั้งนี้เคยมีร่างพระราชบัญญัติซึ่งเคยแก้ไขหลักการแล้ว ได้รับความเห็นชอบจากสภามาแล้ว ในเรื่องของคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงรับจำนำเนื่องได้มีการปฏิรูประบบราชการ ทำให้บางตำแหน่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนชื่อตำแหน่งและมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ใหม่ จึงต้องแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน หลังจากที่ประชุมได้พิจารณา รายงานของคณะกรรมาธิการร่วมกันเสร็จแล้ว ได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติร่าง พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ด้วยคะแนนเสียง ไม่เห็นด้วย ๒๖๔ เสียง เห็นด้วย ๒๒ เสียง งดออกเสียง ๑ เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง ๒ เสียง จึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกยับยั้งไว้ตามมาตรา ๑๗๕ (๓) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
๓. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...)
พ.ศ. ….(บัตรและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว โดยสมาชิกได้อภิปรายเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการร่วมกันที่แก้ไขร่างพระราชบัญญัติ เรื่องความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๙๐ เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียงไม่มี ไม่ลงคะแนนเสียงไม่มี ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๓ ต่อไป
๔. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกัน โดย
สมาชิกได้อภิปรายว่า เรื่องการลงโทษผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณนั้น ไม่มีการกำหนดเรื่องการออกคำสั่งลงโทษไว้ ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ชี้แจงว่า การออกคำสั่งลงโทษได้มีการกำหนดไว้แล้ว โดยให้สภา วิชาชีพเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบ และให้คณะกรรมการจรรยาบรรณเป็นผู้ออกคำสั่งลงโทษ จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๙๗ เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียงไม่มี ไม่ลงคะแนนเสียงไม่มี ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๓ ต่อไป
๕. พิจารณากรณีที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติการเฉลี่ย
ความเสียหายทั่วไปจากภยันตรายในการเดินเรือ พ.ศ. …. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕ โดยสมาชิกได้อภิปรายเห็นด้วยกับการที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม กรณีที่ทรัพย์สิน เกิดความเสียหาย ถ้าทรัพย์สินที่รอดพ้นจากภยันตรายนั้นเป็นสัมภาระของใช้ส่วนตัวของผู้โดยสารหรือของเรือ ตลอดจนไปรษณีย์ภัณฑ์จะไม่นำมาเฉลี่ยความเสียหายที่เกิดขึ้น และประเด็นที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมกรณีที่ต้องชดใช้นั้น ถ้าเป็นความเสียหายที่เกิดจากมลภาวะ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยก็จะไม่นำไปเฉลี่ยกับทรัพย์สินที่รอดพ้นจากภยันตราย เมื่อสมาชิกได้อภิปรายพอสมควรแล้วที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๘๒ เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียงไม่มี ไม่ลงคะแนนเสียงไม่มี จึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้รับความเห็นชอบจาก รัฐสภาแล้ว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๑๗๕
๖. พิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพ
บำบัด พ.ศ. …. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕ โดยสมาชิกได้อภิปรายเห็นด้วยกับการที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขถ้อยคำเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อสมาชิกได้อภิปรายพอสมควรแล้วที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๙๓ เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียงไม่มี ไม่ลงคะแนนเสียงไม่มี จึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕
๗. พิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิค
การแพทย์ พ.ศ. …. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕ โดยสมาชิกได้อภิปราย เห็นด้วยกับการที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขถ้อยคำเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อสมาชิกได้อภิปรายพอสมควรแล้วที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของ วุฒิสภาด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๙๑ เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียงไม่มี ไม่ลงคะแนนเสียง ไม่มี จึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕
๘. พิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติการประกอบโรค
ศิลปะ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕ โดยสมาชิกได้อภิปรายเห็นด้วยกับการที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขถ้อยคำ เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อสมาชิกได้อภิปรายพอสมควรแล้วที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของ วุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๓๐๐ เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียงไม่มี ไม่ลงคะแนนเสียง ไม่มี จึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕
ปิดประชุมเวลา ๑๘.๑๐ นาฬิกา
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๗
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๖ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๐.๑๕ นาฬิกา โดยนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานในการประชุม เมื่อครบองค์ประชุมประธาน การประชุมได้ดำเนินการพิจารณาตามระเบียบวาระ คือ ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี และระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม ดังนี้
- รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๔๕ ของสำนักงานป้องกันและ
ปราบปรามการฟอกเงิน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ชื่นชมผลการดำเนินงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ว่า มีประโยชน์ในการปรับวงจรการกระทำกฎหมายและผู้มีอิทธิพล อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน อาทิ จำนวนบุคลากรที่มีน้อย การตีความกฎหมาย และจากการที่ ปปง. ไม่ได้เป็นองค์กรอิสระ จึงเกรงว่าอาจมีการเลือกปฏิบัติในการตรวจสอบทรัพย์สินการฟอกเงินได้ จึงขอเสนอแนะให้ ปปช. เป็นองค์กรอิสระ และควรมีฝ่ายต่างประเทศเพื่อติดตามการลงทุนในต่างประเทศของนักธุรกิจที่กระทำการทุจริตจากประเทศไทย นอกจากนี้ยังขอให้ ปปง. ดำเนินการติดตามตรวจสอบคดีฉ้อโกงและทุจริตต่าง ๆ ให้โปร่งใสด้วย
จากนั้น พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ได้ตอบชี้แจงว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นหน่วยงานที่อยู่ ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งปฏิบัติงานภายใต้กฎหมายป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน โดยในมาตรา ๒๔ กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ฟอกเงิน และแม้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ในทางปฏิบัติก็ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่แทน และมีหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ รวมจำนวน ๑๖ คน อีกทั้งยังประกอบไปด้วยผู้ทรง คุณวุฒิ ซึ่งผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสภาฯ อีก ๙ คน จึงชี้ให้เห็นว่า หากมีการรับเรื่อง มาจากรัฐบาลก็จะต้องผ่านกระบวนการของคณะกรรมการ ในขณะเดียวกันก็ได้ปฏิบัติงานภายใต้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๒ ซึ่งได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการธุรกรรม อีก ๑ ชุด เพื่อควบคุมกำกับดูแลการทำงานของ ปปง. โดยมีเลขาธิการ ปปง. เป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ได้เป็นราชการอีก ๔ คน ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ของ ปปง. คนใดจะดำเนินการยึดทรัพย์หรือตรวจสอบบุคคลใดจะต้องได้รับความเห็นชอบโดยมติของคณะกรรมการธุรกรรมเสียก่อน
โดยสำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ดังนี้
- เน้นการประชาสัมพันธ์และประสานงานขอความร่วมมือกับประชาชนทั่วประเทศในการแจ้งเบาะแสของผู้กระทำผิดในที่ต่าง ๆ เพื่อจะได้ทำงานได้อย่างมี
ประสิทธิภาพภายใต้ข้อจำกัดด้านกำลังพล
- เน้นกลยุทธ์การป้องกันก่อนกระทำการปราบปราม
- นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งในปัจจุบันสำนักงาน ปปง.
เป็นที่ยอมรับว่ามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย
- มีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร โดยเน้นการพัฒนาความรู้ความสามารถ
ให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ และในขณะนี้ได้ขอปรับโครงสร้าง โดยเพิ่ม
กองการต่างประเทศ เพื่อจะได้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ยังได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการดำเนินการก่อนการยึดทรัพย์บุคคลใด ๆ ที่กระทำผิดว่า มีลำดับขั้นตอนอย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งสำนักงาน ปปง. ได้ปฏิบัติงาน โดยยึดหลักของกฎหมายและ มีกรอบการปฏิบัติงานที่ชัดเจน และถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นหน่วยงานอิสระแต่ก็สามารถทำงานภายใต้กลไกในรูปแบบของคณะกรรมการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สำนักงาน ปปง. ของไทยยังเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาว่า มีการปราบปรามในเรื่องของอาชญากรรมทางการเงินที่อยู่ในระดับแนวหน้า และยังเห็นว่ากฎหมายฟอกเงินของไทยเป็นกฎหมายที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งเลขาธิการสำนักงาน ปปง. ก็ยังได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรบรรยายในประเทศต่าง ๆ ด้วย สำหรับการดำเนินการในคดีต่าง ๆ นั้น หากได้รับเรื่องเป็นกรณีของการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินแล้ว ทางสำนักงาน ปปง. ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามแนวทาง การทำงานของ ปปง. ในอนาคตนั้นจะทำงานประสานร่วมกันกับเอกชนและประชาชน โดยจะได้นำ ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะที่มีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงาน ปปง. ได้ร่วมชี้แจงถึงการดำเนินงานของ ปปง. ซึ่งเป็นไปในรูปของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และคณะกรรมการธุรกรรมจึงมีความเป็นอิสระในการทำงาน โดยได้ดำเนินการมาด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้
ต่อจากนั้นได้มีการพิจารณากระทู้ต่าง ๆ คือ
กระทู้ถามสด จำนวน ๓ เรื่อง
๑. กระทู้ถามสดของนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐออสเตรีย ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวัฒนา เมืองสุข) ได้ตอบกระทู้ว่า เรื่องการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพียงแต่เป็นผู้ประสานงาน เพราะในเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของหน่วยงานต้นสังกัด คือ กรุงเทพมหานคร ที่เป็นผู้มีหน้าที่จัดซื้ออุปกรณ์โครงการบริหารเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานของสำนักงานป้องกันสาธารณภัยอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการดับเพลิงจากประเทศออสเตรีย และรัฐบาลได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้กรุงเทพมหานครก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณได้ แต่กระบวนการ จัดซื้อจัดจ้างกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการ กระทรวงพาณิชย์เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องกฎระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินเกินกว่า ๕ ร้อยล้านบาท โดยให้กระทำในลักษณะของค่าต่างตอบแทน เพื่อเป็นนโยบายในการผลักดันสินค้าการเกษตรหรือสินค้าต่าง ๆ ที่ทำขึ้นในประเทศและมีปัญหา ดังนั้นในเรื่องของการซื้อสินค้าที่มีมูลค่า ๖ พันกว่าล้านบาท จะมีการประกวดราคา มีการประมูลราคาหรือไม่นั้น ในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี
ส่วนเรื่องข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวนาปีและเป็นข้าวไวแสง ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ เก็บเกี่ยว แต่โรงสีท้องถิ่นได้มีการเก็งกำไรกันเพื่อซื้อขายในเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นจึงไม่มีการซื้อขายกันในขณะนี้ จนทำให้ราคาข้าวหอมมะลิสูงขึ้นเป็นไปไม่ได้ แต่ราคาข้าวหอมมะลิจะเริ่มสูงขึ้นจากบัดนี้เป็นต้นไป และรัฐบาลได้เตรียมมาตรการเกี่ยวกับราคาข้าวหอมมะลิไว้ โดยการประกาศแทรกแซงราคาไว้ล่วงหน้าในราคา ๗-๘ พันบาท ไว้เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการยกเลิกระเบียบการค้าต่างตอบแทนนั้น รัฐบาลไม่ได้เข้าไปดำเนินการในเรื่องของการยกเลิกกฎระเบียบดังกล่าว แต่เข้าไปดำเนินการยกเลิกกฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวกับตัวเงินเท่านั้น จึงได้ขยายวงเงินจากเดิม ๕๐ ล้าน เป็น ๓๐๐ ล้าน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากการค้าต่างตอบแทนมีต้นทุนการดำเนินการผลิตที่สูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา
๒. กระทู้ถามสดของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การเปลี่ยนแปลงนโยบายพืช จี เอ็ม โอ ถามนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายติดราชการสำคัญ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามนี้ไปตอบในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๓
๓. กระทู้ถามสดของนายสุรชาติ ชำนาญศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง โครงการถ่ายโอนทางหลวงชนบทให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี) ได้ตอบกระทู้ว่า กรมทางหลวงชนบทได้ดูแลงานมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นยุคของการปฏิรูประบบราชการ และในขณะนี้ได้มีการถ่ายโอนให้กับองค์การบริหาร ส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ซึ่งก่อนที่จะมีการถ่ายโอนนั้นได้มีการจัดสรรงบประมาณไว้ให้ด้วย แต่ถ้าองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐบาลจะรับไปดำเนินงานให้ก่อน หลังจากนั้นจะถ่ายโอนให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ดูแลตามเดิมต่อไป รวมทั้งมีงบอุดหนุนเฉพาะกิจให้ ถ้าไม่เพียงพอต่อการบริหารสำหรับองค์กรท้องถิ่นนั้น ๆ และถ้าองค์กรท้องถิ่นดำเนินการได้ไม่ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้สามารถแก้ไขกฎหมายได้
กระทู้ถามทั่วไป จำนวน ๓ เรื่อง
๑. กระทู้ถามของนายวิชาญ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ขอให้พิจารณาแบ่งเขตพื้นที่สนามบินแห่งชาติสุวรรณภูมิเป็นเขตปกครองพิเศษ ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา) ได้ตอบกระทู้ว่า รัฐบาลมีนโนบายให้สนามบินเป็นเขตปกครองพิเศษ และขณะนี้ได้มีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์เมืองใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับการที่จะเป็นสนามบินนานาชาติในอนาคตต่อไป
๒. กระทู้ถามของนายอำนวย คลังผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง มาตรการช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ได้ตอบกระทู้ว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการดูแลมาโดยตลอด และเปิดโอกาสให้คนจนได้ลงทะเบียน และนำปัญหาต่าง ๆ มาดูแล รวมทั้งได้มีการแก้ไขปัญหาเป็นระยะ ๆ มาโดยตลอด ส่วนเรื่องปัญหาที่ดินที่จะให้กับประชาชนผู้มีฐานะ ยากจน และมีกำลังในการทำมาหากิน ในเรื่องดังกล่าวนี้รัฐบาลได้มีการปรึกษาหารืออยู่ว่า จะทำ อย่างไร ที่จะนำที่ดินของรัฐมาให้แก่ราษฎรใช้เป็นที่ทำกินได้ เพราะถ้านำไปให้ใช้เป็นที่ทำกินเพื่อให้มีรายได้แล้ว จะต้องมีการรักษาสภาพแวดล้อมให้เหมือนดังเดิมด้วย
สำหรับเรื่องหนี้นอกระบบนั้น รัฐบาลได้มีการดูแลโดยเรียกผู้ให้กู้และผู้กู้มาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยละมุนละม่อม รวมทั้งรัฐบาลได้หาแหล่งเงินกู้ให้กับผู้ยากไร้ โดยตั้งกองทุน หมู่บ้าน ธนาคารชุมชน ซึ่งธนาคารออมสินเป็นผู้ดูแลในเรื่องของธนาคารชุมชน และให้กู้ยืมโดยไม่มีเงินประกัน ส่วนด้านบริหารสาธารณสุข ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดหาโครงการ ๓๐ บาท รักษาทุกโรค อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกระทรวงทรัพยากรและความมั่นคงของมนุษย์ได้ดูแลในเรื่องของการเสริมทักษะ ฝึกอาชีพให้กับคนพิการและชาวไทยภูเขา คนชรา และเด็กด้วย
๓. กระทู้ถามของนายนิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การสร้างวัดและขึ้นทะเบียนวัด ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ได้ตอบกระทู้ว่า สำนักสงฆ์ในอดีต ที่ผ่านมาได้สร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในที่ดินที่ไม่มีสิทธิเป็นที่ของรัฐ ปัจจุบันรัฐบาลได้พยายามหา แนวทางต่าง ๆ ในการดูแล เพื่อให้สำนักสงฆ์ต่าง ๆ สามารถตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
ปิดประชุมเวลา ๑๕.๒๕ นาฬิกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ