รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจการค้าไทย ประจำเดือน มิถุนายน 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 30, 2004 15:26 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        1. การส่งออก
1.1 ภาวะการส่งออก
- มูลค่าส่งออกสูงเกิน 8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยในเดือนมิถุนายนมูลค่าส่งออกเท่ากับ 8,471.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 28.5 เและพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาร้อยละ 4.5 สำหรับการช่วงครึ่งแรกของปี 2547 มีมูลค่าเท่ากับ 46,275.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 21.5 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรร้อยละ 13 และสินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 24
- มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ (โดยเฉพาะข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง) ข้าวมีอัตราการขยายตัวสูงทั้งมูลค่า (ร้อยละ 148.9) และปริมาณ (ร้อยละ 126.9) ทั้งนี้ เนื่องมาจากตลาดแอฟริกากำลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนผลผลิต จึงมีความต้องการนำเข้าและสั่งซื้อข้าวนึ่งจากไทยมากขึ้น และการส่งออกข้าวในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2547 มูลค่าขยายตัวร้อยละ 62.5 และปริมาณขยายตัวร้อยละ 43.8 ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในเดือนนี้ มูลค่าส่งออกขยายตัว 184.4 และปริมาณการส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 329.3 และการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรก ขยายตัวทั้งปริมาณ (ร้อยละ 46) และมูลค่า (ร้อยละ 57.8) ซึ่งตลาดหลักได้แก่ จีนและสหภาพยุโรป ขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ ตลาดที่สำคัญที่มีความต้องการสูง ได้แก่ เกาหลีใต้ โดยรัฐบาลได้ประกาศขยายโควตาการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา สำหรับยางพารา ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัว (ร้อยละ 32.5) แต่ปริมาณการส่งออกลดลง (ร้อยละ 4.9)
- การส่งออกสินค้าหมวดอาหารทรงตัว (มูลค่าการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2547 ลดลงร้อยละ 1.3) โดยสินค้ากุ้งแช่แข็งและแปรรูป และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งแปรรูป มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 6.1 และ ร้อยละ 55.3 ตามลำดับ ( ลดลงร้อยละ 8.2 และร้อยละ 46.3 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2547) โดยในส่วนของกุ้งแช่แข็งและแปรรูป การส่งออกมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯได้ประกาศอัตราภาษีทุ่มตลาดเบื้องต้นที่แน่นอนสำหรับสินค้ากุ้งของไทย (อัตราร้อยละ 5.56-10.25) ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ถูกสหรัฐฯฟ้อง สำหรับไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในประเทศ สหภาพยุโรปจึงประกาศยืดเวลาการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยจนถึงสิ้นปี 2547
- สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีร้อยละ 31.1 (มูลค่าการส่งออกช่วง 6 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 24)โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 55.9) ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 81.4) เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก (ร้อยละ 55.4) และวัสดุก่อสร้าง (ร้อยละ 53.1) ส่วนสินค้าอัญมณีเครื่องประดับ และของเล่น ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกลดลงมาตลอดตั้งแต่ต้นปี แต่ในเดือนนี้การส่งออกขยายตัวได้ดี ร้อยละ 30.2 และร้อยละ 18 ตามลำดับ
1.2 ตลาดส่งออก/เป้าหมาย
- ตลาดหลักยังขยายตัวได้ดีร้อยละ 25.5 (ขยายตัวร้อยละ 20.2 ช่วง 6 เดือนแรกของปี) จากเป้าหมายร้อยละ 11 โดยรวมแล้วขยายตัวมากกว่าเป้าหมายทุกตลาด
- ตลาดรองขยายตัวร้อยละ 21.2 สูงกว่าเป้าหมาย ร้อยละ 17.4 (แต่ในช่วง 6 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 15.5) ตลาดใหม่ขยายตัวได้ดี คือ เกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 43.1 (เป้าหมายร้อยละ 15) แคนาดาร้อยละ 29.7 (เป้าหมายร้อยละ 15) และฮ่องกงร้อยละ 25.3 (เป้าหมายร้อยละ 10) ส่วนตลาดใหม่ที่ส่งออกลดลงได้แก่ ไต้หวันลดลงร้อยละ 6.3 (เป้าหมายร้อยละ 20)
- ตลาดใหม่ขยายตัว (ร้อยละ 29.2 และร้อยละ 28.9 สำหรับในช่วง 6 เดือนแรก) สูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย (ร้อยละ 25.7) โดยตลาดที่มีการขยายตัวสูง (เป้าหมายร้อยละ 15) ได้แก่ แอฟริกา (ร้อยละ 113.4) ลาตินอเมริกา (ร้อยละ 55.4) และตะวันออกกลาง (ร้อยละ 48.8) ส่วนตลาดใหม่อื่นๆ เช่น จีน เอเชียใต้ ยุโรปตะวันออก และอินโดจีน ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะที่ตลาดอินเดียส่งออกลดลงร้อยละ 20.2 (เป้าหมายร้อยละ 55)
2. การนำเข้าและดุลการค้า
การนำเข้าในเดือนมิถุนายนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีมูลค่า 8,232.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 41.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และขยายตัวร้อยละ 3.2 จากเดือนที่แล้ว ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าประมาณ 239 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ทั้งนี้ เป็นการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในทุกหมวดตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก
- การนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2547 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 ส่งผลให้เกินดุลการค้าประมาณ 632.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตราสูงทุกหมวด ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ร้อยละ 31.8) สินค้าเชื้อเพลิง (ร้อยละ 50.2) สินค้าทุน (ร้อยละ 27.6) สินค้ายานพาหนะฯ (ร้อยละ 25.6) และสินค้าอุปโภคบริโภค(ร้อยละ 22.1)
3. ดัชนีเศรษฐกิจ
ค่าดัชนีวัฏจักรธุรกิจในเดือนมิถุนายน 2547 แสดงทิศทางภาวะเศรษฐกิจยังคงขยายตัว เห็นได้จากค่าดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะสั้น ซึ่งคาดการณ์ล่วงหน้า 3-5 เดือน มีค่า 128 มีอัตราขยายตัวร้อยละ 4.2 และสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2546 ร้อยละ 6.8
ค่าดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ ในไตรมาสที่ 3/2547 (กรกฎาคม-กันยายน) มีค่า 54.2 และในปี 2547 ดัชนีคาดการณ์ฯ มีค่า 83.4 ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 จึงบ่งชี้ว่านักธุรกิจยังมีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น เห็นได้จากค่าดัชนีชี้นำวัฏจักรเงินเฟ้อ ซึ่งชี้นำล่วงหน้า 7 - 9 เดือน มีค่า 94.7 เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2.9 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้านำเข้าและราคาน้ำมันในตลาดโลก
อนึ่ง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2547 มีค่า 108.2 สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 4.9 สินค้าที่ราคาสูง เช่น ข้าวหอมมะลิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ฯลฯ รวมถึงการปรับราคาสูงขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารรถ และยารักษาโรค เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ