ผลการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 23, 2005 13:32 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on Economic Integration) ครั้งที่ 8 เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์  ได้สรุปสาระสำคัญของการประชุมที่จะเกิดประโยชน์ในการค้าของไทยไว้ว่า ที่ประชุมได้   ทบทวนบทบาทของคณะทำงาน HLTF ภายหลังจากที่ได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน และเสนอต่อผู้นำอาเซียนลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 นั้น ที่ประชุมจึงได้พิจารณาทบทวนบทบาทการดำเนินงานของคณะทำงานฯ โดยเห็นควรให้มีบทบาทในการกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การดำเนินงานของอาเซียน  รวมทั้งตัดสินใจในประเด็นสำคัญระดับนโยบาย ซึ่งสอดคล้องกับมติของรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ต้องการให้คณะทำงานฯ มี     บทบาทในการติดตามการดำเนินงานและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของ   อาเซียน ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Bali Concord II) การดำเนินงานตามแผนงานโรดแม็ป 11 สาขา ส่วนใหญ่มีความคืบหน้า โดยประเด็นสำคัญ คือ “การจัดทำหลักเกณฑ์จำแนกมาตรการที่มิใช่ภาษี”  กลุ่มประเทศอาเซียนได้จัดทำร่างหลักเกณฑ์ภายในแล้ว เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนงาน ยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้า แต่เนื่องจากบางประเทศยังไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้การดำเนินการไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา ที่ประชุมจึงขอให้ประเทศสมาชิกเร่งหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว ซึ่งหากไม่สามารถตกลงกันได้ อาจเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28-30 กันยายน 2548 ณ ประเทศลาวพิจารณาให้แนวนโยบายต่อไป 
ในส่วนนี้ ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ คือ การเร่งส่งเสริมความร่วมมือภายในอาเซียนให้ลึกซึ้งและกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การพัฒนามาตรฐานของสินค้า การขจัดมาตรการที่เป็นอุปสรรทางการค้าและการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร เพื่อผลักดัน การรวมกลุ่มภายในให้คืบหน้า และสร้างความพร้อมให้กับอาเซียนในการเจรจากับประเทศคู่เจรจาต่างๆ นอกจากนี้ยังมีประเด็น “การส่งเสริมการลงทุนในอาเซียน” ปัจจุบันสัดส่วน FDI ในอาเซียนลดลงมากเมื่อเทียบกับการลงทุนที่ไปสู่จีนและอินเดีย อาเซียนจำเป็นต้องเร่งกระตุ้นและสนับสนุนการลงทุนภายในภูมิภาค รวมถึงการลงทุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม ไปยังประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน 4 ประเทศ (CLMV) ซึ่งจะต้องมีมาตรการสิ่งจูงใจที่น่าสนใจ โดยที่ประชุมมอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนจัดทำแผนงานที่ ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ส่วนประเด็น “การเปิดเสรีภาคบริการของอาเซียน” มุ่งให้ความสำคัญกับภาคบริการมากขึ้น เพื่อเอื้อประโยชน์ระหว่างกันและเตรียมความพร้อมก่อนที่จะไปเจรจากับประเทศคู่เจรจานอกอาเซียน โดยมีเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จทุกสาขาภายในปี 2558 และในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิศวกรรมและสาขาการศึกษา มีแนวโน้มการดำเนินงานที่คืบหน้าจึงต้องมีมาตรฐานในด้านบุคลากร เพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายบุคลากรได้อย่างเสรี ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการประสานงานด้านการค้าบริการของอาเซียนประสานการดำเนินงานร่วมกับคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้าน “ความสัมพันธ์ของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา” อยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศคู่เจรจาที่สำคัญหลายประเทศ อาทิ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จึงจำเป็นที่อาเซียนจะต้องกำหนดทิศทางการดำเนินงานภายในที่ชัดเจนและเร่งปรับกระบวนการดำเนินงานภายในให้เหมาะสม มีหลายประเทศแสดงความสนใจให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นและอาจจะเสนอจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันด้วย ที่ประชุมจึงเห็นว่า อาเซียนควรพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกประเทศคู่เจรจาที่อาเซียนจะจัดทำเขตการค้าเสรีด้วย เพื่อให้สามารถจัดการกับ FTA ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ