รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศ ประจำเดือน ก.ย.47

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2004 14:44 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน 2547
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน 2547 และระยะ 9 เดือนแรกของปี 2547 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 326 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2547
ในปี 2541 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกันยายน 2547 เท่ากับ 110.1 สำหรับเดือนสิงหาคม 2547 เท่ากับ 109.7
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2547 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนสิงหาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 0.4
2.2 เดือนกันยายน 2546 สูงขึ้นร้อยละ 3.6
2.3 เดือนมกราคม - กันยายน 2547 เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2546 สูงขึ้นร้อยละ 2.6
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2547 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดไม่รวมอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 0.5 เป็นสำคัญ สำหรับสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
3.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามมีสินค้าบางชนิดมีราคาเปลี่ยนแปลง ดังนี้
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ไก่สด มีการควบคุมปริมาณการผลิตประกอบกับสภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคเหนือ พื้นที่เลี้ยงไก่บางส่วนได้รับความเสียหาย ปริมาณผลผลิตลดลง
- ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลากะพง กุ้งกุลาดำ ปูม้า ปลาทูนึ่ง และปลาอินทรีย์เค็ม
- ผักสด ได้แก่ แตงกวา ผักกาดขาวลุ้ย ผักคะน้า ผักบุ้งจีน ถั่วฝักยาว มะเขือเจ้าพระยาและมะนาว ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- ข้าวหอมมะลิ ภาวะตลาดซบเซา การซื้อขายชลอตัว
- เนื้อสุกร ความต้องการบริโภคลดลง ขณะที่ปริมาณผลผลิตยังมีอย่างต่อเนื่อง จากสภาพอากาศที่เย็นลง ส่งผลให้สุกรเติบโตดี
- ผลไม้สด ได้แก่ ส้มเขียวหวาน เป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้กล้วยน้ำว้า และทุเรียนราคาลดลงเช่นกัน
- เครื่องปรุงอาหาร ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำปลา ซีอิ๊ว และซอสมะเขือเทศ
3.2 สินค้าหมวดอื่นๆ ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.5
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันเบนซิน ถึงแม้ราคาเดือนนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
แต่ราคาเฉลี่ยทั้งเดือนของเดือนนี้สูงขึ้นกว่าราคาเฉลี่ยของเดือนก่อนหน้า
- ค่าของใช้ส่วนบุคคล ได้แก่ ยาสีฟัน สบู่ถูตัว และแชมพูสระผม
- ค่าตรวจรักษาและค่ายา ได้แก่ ยาแก้ปวดและลดไข้ ยาแก้ท้องเสีย และค่าตรวจโรคโรงพยาบาลและคลีนิคเอกชน
4. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศระยะ 9 เดือนแรกของปี 2547
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศระยะ 9 เดือนแรกของปี 2547 เท่ากับ 108.7 เทียบกับดัชนีราคาเฉลี่ยช่วงเดียวกันของปี 2546 ซึ่งเท่ากับ 105.9 สูงขึ้นร้อยละ 2.6
4.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 4.8 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้าหอมมะลิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ปลาและสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ และเครื่องปรุงอาหาร
4.2 สินค้าหมวดอื่นๆ ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.4 จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าตรวจรักษาและค่ายา ค่าการบันเทิง และการศึกษา
สำหรับสินค้าและบริการที่ราคาลดลง ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าประกันภัยรถยนต์ (พ.ร.บ.) เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และสุรา
5. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศปี 2547 ( คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ235 รายการ) คือดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และสินค้ากลุ่มพลังงานจำนวน 91 รายการ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 25 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน 2547 เท่ากับ 104.9 เมื่อเทียบกับ
5.1 เดือนสิงหาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 0.1
5.2 เดือนกันยายน 2546 สูงขึ้นร้อยละ 0.6
5.3 เดือนมกราคม - กันยายน 2547 เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2546 สูงขึ้นร้อยละ 0.3
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ