การค้าสินค้าเกษตรอาเซียน-จีนขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังลดภาษีนำเข้าภายใต้กรอบ FTA

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 2, 2004 16:38 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        นางอภิรดี ตันตราภรณ์  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง รายงานผลการค้าสินค้าเกษตรระหว่างจีน-อาเซียนภายหลังการลดภาษีนำเข้าสินค้า ภายใต้ Early Harvest Program ในกรอบของการเจรจาอาเซียน-จีน โดยจีนได้นำเข้าสินค้าผักผลไม้จากอาเซียนในครึ่งแรกของปี 2547 เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7 คิดเป็นมูลค่า 330 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออกมายังอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.9 คิดเป็นมูลค่า 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเริ่มโครงการ Early Harvest Program ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นมา โดยมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรของทั้งสองฝ่ายในจำนวนกว่า 600 รายการ ระหว่างร้อยละ 2-15 และจะยกเลิกภาษีของสินค้าดังกล่าวทั้งหมดในปี 2549 ซึ่งจากการลดภาษีนำเข้าระหว่างกัน ทำให้ผักผลไม้นำเข้าของทั้งสองฝ่ายมีราคาถูกลง นอกจากนี้  ยังสามารถลดการลักลอบการนำเข้าผลไม้อย่างผิดกฎหมายตามชายแดนในทางหนึ่งด้วย
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า จีนและอาเซียนตั้งเป้าหมายให้การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ให้สำเร็จในปีพ.ศ. 2553 ซึ่งจะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมี GDP รวม 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จีนได้แสดงความเห็นว่า สำหรับสินค้าเกษตรแล้ว จีนและอาเซียนเป็นคู่ค้าที่เกื้อกูลกัน เนื่องจากผลไม้ที่ผลิตได้ในประเทศอาเซียนแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม จีนและอาเซียนอาจจะเป็นคู่แข่งกันสำหรับสินค้าในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อศักยภาพในการผลิตที่ต่างกัน
ในส่วนของข้อมูลการค้าผักและผลไม้ระหว่างไทย-จีน ซึ่งได้เริ่มต้นลดภาษี Early Harvest Program ภายใต้กรอบอาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 พบว่า อัตราการขยายตัวทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเปรียบเทียบจากตัวเลขระหว่างเดือนตุลาคม 2546-มิถุนายน 2547 กับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (ตุลาคม 2545-มิถุนายน 2546) เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.67 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับจีน มูลค่า 4,458.55 ล้านบาท
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ