สรุปภาวะการค้าระหว่างไทย-ออสเตรเลีย เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2004 11:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

        1. ออสเตรเลียเป็นตลาดนำเข้าสำคัญอันดับ 18 ของโลก สัดส่วนประมาณร้อยละ 1.62 ของ  มูลค่าการ นำเข้าของตลาดโลกในปี 2546 (ม.ค.-ก.ค.)
2. การนำเข้าของออสเตรเลียในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค 2547 มีมูลค่ารวม 56,934.438 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.56
3. แหล่งผลิตสำคัญที่ออสเตรเลียนำเข้าเดือน ม.ค.-ก.ค 2547 ได้แก่
- สหรัฐฯ ร้อยละ 14.84 มูลค่า 8,450.887 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.35
- ญี่ปุ่น ร้อยละ 12.07 มูลค่า 6,869.382 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.29
- จีน ร้อยละ 11.72 มูลค่า 6,673.162 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.00
ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่ 13 สัดส่วนร้อยละ 2.72 มูลค่า 1,551.102 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.78
4. เศรษฐกิจของออสเตรเลียปี 2546 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.8 ส่วนปี 2547 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6
5. ออสเตรเลียเสียเปรียบดุลการค้ากับทั่วโลกในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค) ปี 2547 มูลค่า 9,004.162 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.11 ออสเตรเลียเสียเปรียบดุลการค้าจากประเทศคู่ค้าหลักอันดับหนึ่งคือ สหรัฐฯ มูลค่า 4,558.635 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.75 และอันดับสองคือ เยอรมนี มูลค่า 2,773.725 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.31 แต่ได้เปรียบดุลการค้ากับอินเดีย ประเทศคู่ค้าอันดับ 4 เป็นมูลค่า 1,851.658 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 198.65 ส่วนกับไทยออสเตรเลียเสียเปรียบดุลการค้าไทยเป็นมูลค่า 410.853 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.43
6. ออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 11 ของไทยโดยมีสัดส่วนร้อยละ 2.52 ของมูลค่าการส่งออกในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค) 2547 หรือมูลค่า 1,373.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.87 คิดเป็นร้อยละ 42.00 ของเป้าหมายการส่งออกไปทวีปออสเตรเลียในปี 2547 (มูลค่า 3,270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 )
7. การค้าระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย เดือน ม.ค.-ก.ค 2547 มีมูลค่า 2,552.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการส่งออก 1373.42 ล้านเหรียญสหรัฐการนำเข้า 1179.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับออสเตรเลียเป็นมูลค่า 194.25 ล้านเหรียญสหรัฐ
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลีย 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทั้ง 5 รายการนี้มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 52.42 และมีอัตราขยายตัวทุกรายการในอัตราร้อยละ 26.86 95.73 19.36 13.76 และ 33.96 ตามลำดับ
สินค้าอาหาร เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญกลุ่มหนึ่งซึ่งมีศักยภาพการส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย โดยในปี 2546 ไทยส่งออกอาหารไปตลาดนี้เมื่อรวมข้าวด้วยจะมีมูลค่าประมาณ 250.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 19.84 และในช่วง ม.ค.-ก.ค. 2547 มีมูลค่า 147.21ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.45 สินค้าอาหารส่งออกไปออสเตรเลียที่สำคัญคือ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว กุ้ง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และสิ่งปรุงรสอาหารและปลาหมึกเป็นต้น
สินค้านำเข้าจากออสเตรเลียที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ สินแร่โลหะและเศษโลหะ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เส้นใยใช้ในการทอ เหล็กและเหล็กกล้า และน้ำมันดิบ ทั้ง 5 รายการนี้มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 70.66 ของมูลค่านำเข้าจากออสเตรเลียทั้งสิ้น และทั้ง5 รายการมีอัตราการขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.17 29.74 26.22 47.93 และ 697.66 ตามลำดับ
8. ข้อคิดเห็น
8.1 ไทยได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลียแล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 ณ กรุงแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลียซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป
- สาระสำคัญของความตกลง สรุปได้ ดังนี้
1) การลดภาษีสินค้า ออสเตรเลียลดภาษีเหลือ 0% ในวันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ประมาณ 83 % ของรายการสินค้า ส่วนที่เหลือจะทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายในปี 2010 และ 2015 ส่วนไทยเสนอลดภาษีเหลือ 0% ในวันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ประมาณ 49 % ของรายการสินค้า ส่วนที่เหลือจะทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายในปี 2010 ยกเว้นสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมบางรายการที่มีความอ่อนไหว ภาษีจะเหลือ 0% ภายใน 10, 15 และ 20 ปี โดยมีมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguards : SPS) สำหรับสินค้า บางรายการ
2) การค้าบริการและการลงทุน ให้ไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ และเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้า และได้ผ่อนคลายเงื่อนไขการให้บุคลากรไทยเข้าไปให้บริการ ส่วนไทยเปิดให้ออสเตรเลียถือหุ้นข้างมากได้ถึง 60% ในปี 2005 สำหรับกิจกรรมย่อยๆ บางประเภท
3) มาตรการสุขอนามัย จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยกำหนดแผนงานและกรอบระยะเวลาที่แน่นอน
4) กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ใช้หลัก 1. สินค้าที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (Wholly obtained) 2. การแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial Transformation) หรือ 3. กำหนดมูลค่าของวัตถุดิบ (Regional Value Content : RVC)
8.2 จากข้อตกลงดังกล่าวคาดว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสขยายการส่งออกไปออสเตรเลียมากขึ้น
- สินค้าเกษตร เช่น ข้าว กุ้งสด ผักผลไม้ ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง และอื่นๆ
- สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ รถยนต์ขนาดเล็ก รถปิ๊กอัพ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ พลาสติก สิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
- ด้านธุรกิจบริการและการลงทุน ตลาดการค้าบริการและการลงทุนในออสเตรเลียจะเปิดกว้างขึ้น โดยออสเตรเลียอนุญาตให้คนไทยเข้าไปลงทุนในสาขาธุรกิจต่างๆ 100 % เช่น ที่ปรึกษากฎหมาย ซ่อมรถยนต์ สถาบันสอนภาษาไทย สถาบันสอนทำอาหาร และการผลิตสินค้าทุกประเภท นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้บริหาร ผู้จัดการ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ติดตามเข้าไปทำงานได้คราวละ 4 ปี และต่ออายุได้ไม่เกิน 10 ปี
8.3 ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
- ออสเตรเลียมีกฎระเบียบด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดมากนับเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งจะเห็นได้จากไทยไม่สามารถส่งออกเนื้อสัตว์ไปจำหน่ายในออสเตรเลียได้ ส่วนผลไม้ก็ส่งออกไปได้เพียงบางชนิด จึงเกรงว่าเมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ ออสเตรเลียอาจจะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้กีดกันไทยได้ ในการนี้ไทยจึงได้ผลักดันให้มีการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้โดยจัดตั้งคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยร่วมกันขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงภายใน 2 ปี สินค้าที่ไทยให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา SPS ได้แก่ ผลไม้ (มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน สับปะรด มะม่วง) เนื้อไก่ กุ้ง และปลาสวยงาม
- ภาคการเกษตรซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนใหญ่ของประชากรไทย และเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ จะได้รับผลกระทบมากที่สุด อาทิ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้ม องุ่น ข้าวโพด หอมหัวใหญ่ และกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อซึ่งมีประมาณ 900,000 ราย ซึ่งกลุ่มนี้ไม่มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับออสเตรเลียได้ ดังนั้น ภาครัฐบาลควรมีมาตรการและแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรอย่างชัดเจน รวมทั้งการจัดหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญเข้ามาพัฒนาอาชีพและตลาดให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
8.4 ขณะนี้จีนกำลังเจรจาทำเอฟทีเอกับออสเตรเลียเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2549 ดังนั้น หากจีนซึ่งเป็นคู่แข่งสินค้าไทยทุกรายการสามารถบรรลุข้อตกลงกับออสเตรเลีย จะส่งผลให้ไทยเสียเปรียบได้ ดังนั้น ในช่วงที่จีนและออสเตรเลียอยู่ระหว่างเจรจา ผู้ประกอบการไทยควรเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อครองส่วนแบ่งในตลาดออสเตรเลียให้มากที่สุด
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ