กระทรวงอุตฯออกมาตรการลดนำเข้าสินค้านอกหนุนเอกชนผลิตสินค้าทดแทนเพิ่มดีกรีอุตสาหกรรมไทยูม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2004 13:14 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

        กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งวางมาตรการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า เพื่อแก้ปัญหาไทยนำเข้าสินค้าทุน-สินค้าวัตถุดิบ-สินค้ากึ่งสำเร็จรูปในอัตราสูง ประกอบกับ ภาวะราคาน้ำมันปรับเพิ่ม กระทบต้นทุนการผลิตสินค้า เล็งวางมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น-ยาวอย่างเป็นระบบ กระตุ้นผู้ประกอบการใช้วัตถุดิบในประเทศให้คุ้มค่า พัฒนามาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐานสากล 
นางชุตาภรณ์ ลัมพสาระ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาลดผลกระทบภาวะการขาดดุลทางการค้า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมวางมาตรการบริหารจัดการรายการสินค้านำเข้าทั้งหมด พร้อมกับวางมาตรการในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมต้นน้ำเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะเชื่อมโยงต่อการลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์กลางน้ำและปลายน้ำอย่างครบวงจร ซึ่งนอกจากจะสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้แล้วยังจะเป็นการส่งเสริมให้ต้นทุนการผลิตรวมของอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไทยได้อย่างยั่งยืน
นางชุตาภรณ์กล่าวว่า สศอ.ได้ศึกษาโครงสร้างการนำเข้าสินค้าของไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2542-2546) พบว่า มีการนำเข้าสินค้าทุน สัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 46.62 ต่อปี และในปี 2547 พบว่า สินค้านำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้าและชิ้นส่วน และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ รองลงมาได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาเพื่อผลิตสินค้าบริโภค เช่น เคมีภัณฑ์ เยื่อกระดาษและไม้ เป็นต้น ส่วนที่นำเข้าเพื่อผลิตสินค้าทุน คือ เหล็กและเหล็กกล้า รวมถึงโลหะอื่นๆ
สำหรับข้อเสนอในเรื่องมาตรการเพื่อลดและทดแทนการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม ได้มีการหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ มาตรการระยะสั้น มุ่งส่งเสริมการใช้สินค้าที่สามารถผลิตได้ในประเทศ สำหรับชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลโลหะการ และเครื่องจักรกลเกษตร รวมทั้ง การเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สามารถเข้าร่วมประมูลงานต่างๆของภาครัฐทั้งส่วนราชการ วิสาหกิจ และองค์กรอิสระ
นอกจากนี้ให้นำมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี( Non-Tariff Barrier) มาควบคุมการนำเข้าสินค้าต่างๆ เช่น การใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมทั้ง การเร่งตรวจสอบสินค้าที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน การคุ้มครองผู้บริโภคในการให้ปิดฉลากภาษาไทย
ด้านมาตรการทางภาษีสำหรับสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้า เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ได้เสนอปรับลดอากร เพื่อลดต้นทุนและสนับสนุนให้เกิดการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญต่างๆ ในด้านการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งเห็นว่า ควรปรับกระบวนการไต่สวนสินค้าที่อยู่ในข่ายทุ่มตลาดให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
ส่วนมาตรการระยะปานกลางและยาว ได้วางมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยเสนอให้มีการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก การส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตแม่พิมพ์ เพื่อพัฒนาการผลิตเครื่องจักรต่างๆอันเป็นการลดการนำเข้าเครื่องจักร ตลอดจน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวจะช่วยลดการนำเข้าแผ่นวงจรพิมพ์ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการนำเข้าได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ควรสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำด้านปิโตรเคมีเช่นกัน โดยในระยะยาวต้องการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกวิศวกรรม หรือเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อทดแทนการนำเข้าต่อไปอย่างยั่งยืน รวมทั้ง มีการส่งเสริมใช้น้ำมันแก็สโซฮอล์ เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและสารเติมแต่ง
ทั้งนี้ สถิติการนำเข้าสินค้าในสี่เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย) ของปี 2547 มีมูลค่า 1,159,208.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.01 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ในกลุ่มเคมีภัณฑ์ มีมูลค่าการนำเข้า 98,368,.40 ล้านบาท โดยอัตราการขยายร้อยละ 12.76 เหล็กและเหล็กกล้า มูลค่านำเข้า 67,812.40 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 43.85 เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ มูลค่านำเข้า 40,475.00 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 41.05 เป็นต้น ส่วนสินค้าทุน ในกลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่านำเข้า 126,850.20 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 19.50 เครื่องจักรและส่วนประกอบ เป็นมูลค่านำเข้า 120,035.20 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 15.70 แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่านำเข้า 94,328.90 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 20.28 เป็นต้น
สำหรับ สินค้าอุปโภคบริโภค ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่านำเข้า 19,275.50 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 16.75 สบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง มูลค่านำเข้า 8,309.00 ล้านบาท อัตราการขยายตัว ร้อยละ 11.92 เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ มูลค่านำเข้า 7,258.30 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 11.99 เป็นต้น ขณะที่ สินค้าเชื้อเพลิง ในกลุ่มน้ำมันดิบ มีมูลค่านำเข้า 112,215.70 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 11.46 น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่านำเข้า 13,221.30 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 16.92 เป็นต้น โดยมีแหล่งนำเข้าสินค้าสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐ
นางชุตาภรณ์กล่าวเสริมว่า มาตรการที่กระทรวงได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ โครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการลดการนำเข้าได้มาก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ