ฉบับที่ ๑
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๐๙.๓๐ - ๑๐.๓๐ นาฬิกา
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๗ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
เวลา ๐๙.๓๕ นาฬิกา เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาครบองค์ประชุม นายอุทัย พิมพ์ใจชน
ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมเรื่องรับทราบ ซึ่งไม่ปรากฏ
ในระเบียบวาระการประชุม คือ เรื่องการขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายภิญโญ นิโรจน์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ พรรคชาติไทย ได้มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ตั้งแต่วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๗ ดังนั้นสมาชิกภาพของนายภิญโญ นิโรจน์ จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มาตรา ๑๑๘ (๓) จึงทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมด ๔๕๖ คน
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่สมาชิกฯ ได้เสนอขอเลื่อนระเบียบวาระเรื่องด่วน ขึ้นมาพิจารณาก่อน ดังนี้
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ
ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ ๑๓ ในประเทศไทย พ.ศ. …. (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ)
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
หลักการ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ
ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ ๑๓ ในประเทศไทย
เหตุผล
โดยที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิด
สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖ และโดยที่จะมี
การประชุมภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ ๑๓ ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ถึงวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นเพื่อให้การประชุมดังกล่าว
ของสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์บรรลุ
ตามความมุ่งประสงค์ สมควรให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจ
ระหว่างรัฐบาลไทยและสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ
ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เรื่องการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้า
ระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ ๑๓ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗
ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ต่อมาได้มีสมาชิกตั้งข้อสังเกตในเรื่องที่เกี่ยวกับเอกสิทธิ์และการใช้คำศัพท์
คือ (CITES) ในร่างมาตรา ๔ ในวงเล็บที่เป็นภาษาอังกฤษ ขอให้แปรญัตติในขั้นกรรมาธิการวิสามัญ
โดยระบุรายละเอียดให้ชัดเจนด้วย เมื่อสมาชิกได้อภิปรายพอสมควรแล้วได้ลงมติในวาระที่ ๑
รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ ด้วยคะแนนเห็นชอบ ๒๗๐ เสียง กำหนดให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน ๓๕ คน
ต่อมานายประกิต พัฒนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรค
ไทยรักไทย ได้ขอเสนอให้มีการแปรญัตติภายใน ๒ วัน เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว
มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้บังคับ เนื่องจากจะมีการประชุมอนุสัญญาในวันที่ ๒-๑๔ ตุลาคมนี้
และมีเพียง ๕ มาตรา เท่านั้น ซึ่งใน ๕ มาตรานี้ มีเพียงมาตรา ๔ และ ๕ เท่านั้นที่สำคัญ
จากนั้นนายนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรค ประชาธิปัตย์
ขอเสนอตั้งซ่อมกรรมาธิการการพาณิชย์ คือ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร และนายอลงกรณ์ พลบุตร
แทนนายไพบูลย์ พิมพ์พิสิฐถาวร และนายเรวัต สิรินุกูล
ต่อจากนั้นได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยนายวราเทพ รัตนากร รองประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณา
รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้ชี้แจงผลการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังนี้คือ
จากการที่สภาผู้แทนราษฎรในการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ได้มีมติรับหลักการแห่งร่าง
พระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่ ๑ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๘ แล้วนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาพระราชบัญญัติ
ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และได้สรุปรายละเอียดไว้ดังนี้ คือ จากการร่วมกันพิจารณารายละเอียดของ
ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของภาครัฐ ทั้งที่ได้รับงบประมาณและไม่ได้รับงบประมาณ
รวมทั้งสิ้นจำนวน ๒๘๑ หน่วยงาน และได้มีการปรับลดงบประมาณลงจำนวน ๑๗,๗๐๔,๗๓๓,๓๐๐ บาท
(หนึ่งหมื่นเจ็ดพันเจ็ดร้อยสี่ล้านเจ็ดแสนสามหมื่นสามพันสามร้อยบาท) การปรับลดนี้ได้พิจารณาจาก
๑. ข้อเท็จจริงผลการดำเนินงาน ผลการใช้จ่ายงบประมาณที่ผ่านมา ตลอดจนความ
จำเป็นและความเหมาะสมของวงเงินงบประมาณกับประมาณงาน รวมทั้งความพร้อมในการดำเนินงานและกรณีอื่น ๆ
ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลการดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ และคาดว่าจะไม่สามารถใช้จ่ายได้ทันปี ๒๕๔๘
หรือกรณีทราบผลการจัดซื้อจัดจ้างแล้วต่ำกว่าราคาที่ตั้งวงเงินงบประมาณไว้
๒. รายการรายจ่ายต่าง ๆ ที่สามารถประหยัดได้ เช่น ราคาคุรุภัณฑ์ให้เป็นตามเกณฑ์มาตรฐาน
หรือราคาที่เคยจัดซื้อ
๓. รายจ่ายที่มีความซับซ้อน หรือเป็นรายการที่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และวิธีการในการดำเนินงาน
เช่น ค่าใช้จ่ายในการอบรมและสัมมนา การประชาสัมพันธ์และการจ้างที่ปรึกษา
สำหรับการพิจารณาและการเพิ่มเปลี่ยนแปลงงบประมาณ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณานำเสนอ
รายการเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของภาครัฐ กองทุนและ
เงินทุนหมุนเวียนต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๖,๘๘๖,๓๖๓,๗๐๐บาท
(สี่หมื่นหกพันแปดร้อยแปดสิบหกล้านสามแสนหกหมื่นสามพันเจ็ดร้อยบาท) คณะกรรมาธิการวิสามัญ
ได้ร่วมพิจารณาเปลี่ยนแปลงงบประมาณในส่วนของงานโครงการต่าง ๆ โดยปรับลดลงจำนวน ๑๗,๗๐๔,๗๓๓,๓๐๐ บาท
(หนึ่งหมื่นเจ็ดพันเจ็ดร้อยสี่ล้านเจ็ดแสนสามหมื่นสามพันสามร้อยบาท) และเพิ่มให้ในสาระสำคัญ ๒ ประการ คือ
๑. เป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน
๑๑,๕๘๑,๘๒๘,๗๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยแปดสิบเอ็ดล้านแปดแสนสองหมื่นแปดพันเจ็ดร้อยบาท)
เท่ากับจำนวนที่ปรับลดได้ เพื่อคงสัดส่วนเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสัดส่วนร้อยละ ๒๓.๕
ของรายได้สุทธิของรัฐบาล
๒. เพิ่มให้กับหน่วยงานอื่น ๆ จำนวน ๖,๑๒๒,๙๐๔,๖๐๐ บาท (หกพันหนึ่งร้อยยี่สิบสองล้าน
เก้าแสนสี่พันหกร้อย) เป็นการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ จำนวน ๒๒,๘๐๐,๐๐๐ บาท (ยี่สิบสองล้านแปดแสนบาท)
จากกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมจากจังหวัดไปตั้งที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
เป็นเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม
ดังนั้นการพิจารณาเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าวได้มีการพิจารณา
ดำเนินการให้อยู่ในกรอบที่จะทำให้วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ทั้งสิ้น
ยังคงมีจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสองแสนล้านบาท) ตามที่สภาผู้แทนราษฎร
ได้ลงมติรับหลักการในวาระที่ ๑ ไปแล้ว