ฉบับที่ ๒
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๐.๓๐ - ๑๑.๓๐ นาฬิกา
จากนั้น ได้มีการพิจารณาเรียงตามลำดับมาตรา โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
นายปรีชา สุวรรณทัต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแปรญัตติ
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ จำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท (หนึ่งล้านสองแสนล้านบาท) นายปรีชา
ได้ขอแปรญัตติจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นงบประมาณรายจ่ายชดใช้ ซึ่งเป็นเงินคงคลังที่แยกออกจากงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีและไม่ให้ถือเป็นงบประมาณประจำปี แต่ให้ถือว่าเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังและให้ถือเป็นรายจ่ายในปีนั้น ๆ ไป
และต้องนำมารวมกับงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท (หนึ่งล้านสองแสนล้านบาท)
ซึ่งจะทำให้จำนวนงบประมาณประจำปีนั้นเพิ่มขึ้นและกลายเป็นงบประมาณขาดดุลไม่ใช่งบประมาณสมดุลตามที่รัฐบาลได้กล่าวไว้
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปราย
แปรญัตติในมาตรา ๓ โดยขอให้ปรับลดลงร้อยละ ๕ และได้ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้จ่ายงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจของ
รัฐบาลในระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีอำนาจในการซื้อและบริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดหนี้สินภาค
ครัวเรือนและหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นายชินวรณ์ มีความเห็นว่า การจัดงบประมาณนี้ควรเป็นแบบบูรณาการ
และควรมีการจัดทำเอกสารรายจ่ายงบประมาณประจำปีเป็นรายจังหวัด เพื่อให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ และเห็นว่าการจัดทำ
งบประมาณรายจ่ายนี้ไม่ได้เป็นไปตามหลัก งบประมาณการคลัง
นายสุวโรช พะลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแปรญัตติในมาตรา ๓
โดยขอให้ปรับลดลงร้อยละ ๕ และได้ตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของเงิน รายได้ต่าง ๆ ที่จะนำมาเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๔๘ นั้น
ได้มาจากการจัดเก็บภาษี จากเกษตรกรและผู้มีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ยังได้ขอให้คณะกรรมาธิการ
วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ
บนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย