สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๕

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:22 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๕
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๓.๓๐ - ๑๔.๓๐ นาฬิกา
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นที่สงวนความเห็นไว้ในมาตรา ๔ โดยขอปรับลดงบกลางของ ปี ๒๕๔๘ ในรายการที่ ๑๐ โดยมีเหตุผลสนับสนุน ๓ ประเด็น ดังนี้
๑. การไม่มีเอกสารของสำนักงบประมาณประกอบเป็นการจัดงบแบบไร้ทิศทาง
ไร้ยุทธศาสตร์ จากการพิจารณาการใช้งบกลางของปี ๒๕๔๖ มีการนำเงินไปใช้ในโครงการต่าง ๆ มากมาย เช่น การพัฒนาเส้นทางไทย - กัมพูชา โครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค การประชุมเอเปค โครงการไทยพรีวิเลจ การ์ด ส่วนในปี ๒๕๔๗ มีการนำงบประมาณไปใช้แบบตามใจ จัดสรรงบประมาณให้กับคนใกล้ชิด เช่น การจัดมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใช้งบประมาณถึง ๕๑๘ ล้านบาท และโครงการเชียงใหม่ ซาฟารีไนท์ ที่ใช้งบประมาณสูงถึง ๓๑๔ ล้านบาท ส่วนโครงการจัดหา เครื่องบินลำเลียงขนาดกลางแบบแอร์บัส ๑,๑๐๐ ล้านบาท ไม่เห็นว่าจะเป็นการใช้งบประมาณเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศตรงไหน สุดท้ายกลายเป็นเครื่องบินส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และบางโครงการไม่สมควรที่จะดึงเงินงบประมาณจากงบกลางนี้ไปใช้ เช่น การจัดซื้อปืนใหญ่ขนาดเบาให้กระทรวงกลาโหม โดยตั้งงบประมาณผูกพันไปจนถึงปี ๒๕๔๙ จำนวน ๒,๔๐๐ กว่าล้านบาท หรือการขอไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) จำนวน ๑๘๕ ล้านบาท
๒. เอางบกลางตั้งเป็นหัวเชื้อแล้วผูกพันงบประมาณต่อไปอีก ๓-๔ ปีข้างหน้า สภาฯ
ไม่ได้ตรวจสอบว่าในอนาคตจะมีผลกระทบอย่างไร เช่น นำไปจัดซื้อดาวเทียม ทีออส ระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัทเอกชนของฝรั่งเศส (SAS) โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เร่งจัดหาดาวเทียม ซึ่งเรียกโครงการนี้ว่า Remote Sensing โดยแลกกับการส่งออกสินค้าเกษตร
เช่น ไก่ต้มสุก กุ้งแช่แข็ง ฯลฯ ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มบริษัทใหญ่เท่านั้น โดยงบกลางตั้งโดยไม่ผ่านสภาและคณะกรรมาธิการในปี ๒๕๔๗ จำนวน ๑,๔๒๑ ล้านบาท และผูกพันไปอีก ๔ ปี รวมแล้ว ๖,๐๘๘ ล้านบาท
๓. งบประมาณที่ตั้งไว้เป็นการหวังผลทางการเมืองและมีความเหมาะสมหรือไม่
ซึ่งจากการไปตรวจราชการตามจังหวัดต่าง ๆ ของนายกรัฐมนตรี และได้อนุมัติงบประมาณให้แต่ละจังหวัดมีกระบวนการกลั่นกรองอย่างไร เท่าที่ทราบ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมา ๑ ชุด จึงอยากทราบว่า
- กรรมการเป็นใคร มาจากไหน จึงสามารถพิจารณางบประมาณได้
- เป็นการโกหกชาวบ้านหรือไม่ และมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการ ชุดนี้ไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์
นายสาทิตย์จึงสรุปว่า การจัดงบประมาณนี้ไร้ยุทธศาสตร์ ไร้ทิศทาง และขาดการบูรณาการ จึงขอปรับลดงบประมาณลงทั้งหมด
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีพรรคชาติไทย ในฐานะกรรมาธิการที่ขอสงวนความเห็น ได้อภิปรายในมาตรา ๔ งบกลาง จำนวนเงิน ๒๐๐,๑๘๙ ล้านบาท ซึ่งขอปรับลดลงร้อยละ ๑๐ และได้อภิปรายเฉพาะในรายการที่ ๑๐ เรื่อง ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ จำนวนเงิน ๒๓,๔๐๐ ล้านบาท โดยได้อภิปรายว่า
ส่วนดีของการตั้งงบกลาง คือ
๑. สามารถทำให้ประเทศตั้งงบประมาณแบบสมดุลได้
๒. เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจราชการยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงสามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งทำให้ทุกจังหวัดได้รับประโยชน์จากงบประมาณนี้
ส่วนที่ไม่ดีคือ
จากการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน ๓ คณะ ได้แก่
๑. คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจัดสรรงบประมาณฝึกอบรม สัมมนา
ประชาสัมพันธ์ และค่าจ้างที่ปรึกษาของส่วนราชการต่าง ๆ
๒. คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อ จัดจ้าง
คอมพิวเตอร์ของส่วนราชการต่าง ๆ
๓. คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น และสิ่งก่อสร้างของส่วนราชการต่าง ๆ
ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการทั้ง ๓ คณะ ไม่สามารถพิจารณาปรับลดงบกลางในส่วนของ ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างศักยภาพฯ ได้ เนื่องจากไม่มีโครงการรองรับ โอกาสที่สภาฯ จะได้ตรวจสอบโครงการต่าง ๆ จึงไม่มี
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเกี่ยวกับงบกลางจำนวน ๒๐๐,๑๘๙ ล้านบาท ดังนั้น
๑. ค่าใช้จ่ายในการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐในปีนี้ ๔๕,๒๕๕ ล้านบาท
มีเหตุผลหรือไม่
๒. ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
ไม่มีรายละเอียด จึงอยากให้กรรมาธิการเสนอรายละเอียดต่อสภาฯ เพื่อให้ทราบ
๓. เงินอุดหนุนให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในปี ๒๕๔๘ ไม่มี
๔. ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ขณะนี้มีหนี้ทั้งหมดกี่ล้าน และต้องตั้งงบประมาณเพื่อใช้หนี้ธนาคารออมสิน จำนวนเท่าไร และอีกกี่ปี จึงจะใช้หนี้หมด
๕. ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ๑๘,๐๐๐
ล้านบาท ซึ่งเมื่อเฉลี่ยดูแล้วจะเห็นเป็น ๒ มาตรฐาน คือ ประชาชนที่ใช้บัตรทอง ๓๐ บาท เฉลี่ย ๑,๕๐๐ บาท ต่อคน ต่อปี ขณะที่ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ เฉลี่ย ๓,๕๐๐-๔,๐๐๐ บาท ต่อคน ต่อปี ซึ่งแตกต่างกันถึง ๒ เท่า
๖. ค่าใช้จ่ายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๔,๐๐๐ ล้านบาท เมื่อมี
เหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ รัฐใช้เงินเข้าไปแก้ปัญหา เป็นการสมควรหรือไม่ เพราะผู้ก่อการร้ายอาจใช้เป็นเงื่อนไขในการของบประมาณเพื่อต่อรองกับประชาชน
นายตรีพล เจาะจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า การใช้งบกลางของรัฐบาลโดยการที่นายกรัฐมนตรีไปตรวจราชการยังจังหวัดต่าง ๆ และได้อนุมัติงบประมาณให้จังหวัดนั้นไม่เหมาะสม เพราะแต่ละจังหวัดต่างก็มียุทธศาสตร์ของ ตัวเองอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังได้ตั้งคำถามว่า มีการตรวจสอบกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล ในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้หรือไม่
๑. การใช้งบกลางไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงหรือไม่
๒. การจัดสรรงบกลางไม่ยุติธรรม ในแต่ละจังหวัดได้มากน้อยไม่เท่ากัน รัฐบาลมี
วิธีการจัดสรรงบประมาณอย่างไร
๓. งบกลางบางอย่างทำไมไม่นำไปใช้ในโครงการที่เร่งด่วน แต่กลับนำไปใช้ใน
โครงการที่ไม่เร่งด่วนจริง เช่น การปรับปรุงถนน และสร้างถนน
๔. อำนาจฝ่ายบริหารก้าวก่ายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ เพราะมีการตั้งงบประมาณ
ผูกพันเอาไว้ทั้งที่ยังไม่ได้ขออนุมัติจากสภา
๕. การใช้งบกลางในโครงการต่าง ๆ มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
นายตรีพล จึงสรุปว่าการจัดสรรงบประมาณแบบนี้ไม่เป็นรูปแบบ จึงเห็นสมควรตัด งบกลางทั้งหมด จนกว่าคณะกรรมาธิการฯ จะได้ชี้แจงในรายละเอียด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ