ฉบับที่ ๖
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๔.๓๐ - ๑๕.๓๐ นาฬิกา
ต่อจากนั้น นายวิฑูรย์ นามบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ได้ตั้งไว้สูงแต่ขณะเดียวกันก็สวนทางกับนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่กำลังดำเนินการอยู่ เพราะมีมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ข้าราชการพลเรือนออกจากราชการโดยการประเมินผลงานและไม่ตัดสิทธิ์ในการจ่ายบำเหน็จบำนาญ ซึ่งมตินี้ได้ไปสอดคล้องกับมาตรการที่รัฐบาลสั่งการไปยังกระทรวงต่าง ๆ คือ มาตรการพัฒนาและบริหารกำลังคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ราชการดังนั้นจึงต้องการทราบว่า กรรมาธิการได้สอบถามเจ้าหน้าที่ราชการที่มาชี้แจงในกรรมาธิการเพียงใด และงบประมาณที่ตั้งไว้สอดคล้องกันหรือไม่ เพราะขณะนี้ข้าราชการกำลังถูกเร่งรัด ทำให้ขวัญและกำลังใจของ ข้าราชการหวั่นวิตกและกังวลใจ เนื่องจากการดำเนินการและที่มาของข้าราชการแตกต่างจากพนักงานของบริษัท เพราะพนักงานของบริษัทต่าง ๆ จะมีกฎระเบียบอย่างไรขึ้นอยู่กับเจ้าของบริษัทเป็นผู้พิจารณา และการดำเนินการของบริษัทมุ่งหวังผลกำไร แต่สำหรับข้าราชการนั้นการประเมินผลต่าง ๆ จะมีผลกระทบต่อตัวข้าราชการโดยตรงเพราะในสังคมไทยผู้ที่ทำงานราชการต้องการความมั่นคงในชีวิต แต่ขณะนี้ไม่มีความมั่นใจในชีวิตว่าจะอยู่ในระบบราชการได้อย่างไร จึงขอให้
๑. ยกเลิกมาตรการดังกล่าวนี้
๒. เงินสำรองจ่าย กรณีฉุกเฉินและจำเป็นมีอยู่ในวงเงิน ๑๑,๖๐๐ ล้านบาท ควรนำเงินส่วนนี้ มาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม และควรแก้ไขมาตรการการช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าชดเชยเกษตรกรที่ถูกภัยน้ำท่วมควรจัดสรรด้วยความเป็นธรรม
๓. ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างเสถียรภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่มีหน่วยงาน โครงการและมาตรการรองรับ ดังนั้นการดำเนินการในเรื่องการเสริมสร้างเสถียรภาพ การแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ควรให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนในด้านต่าง ๆ จึงขอสงวนสิทธิ์ ปรับลดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐
จากนั้น นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า ในช่วงที่รัฐบาลแถลงนโยบายงบประมาณในวาระที่ ๑ ได้ประกาศว่าการใช้งบประมาณจะเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และมียุทธศาสตร์ในการบริหารการจัดการเป็นระบบ โดยจัดงบประมาณไว้ ๑๙,๐๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งในงบประมาณดังกล่าวนี้จะอยู่ในทุกกรมกอง แต่ขณะนี้เรื่องที่ได้ประกาศไว้กับเรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติไปตรวจสอบไม่ตรงกันคือ
๑. งบประมาณที่รัฐบาลได้ตั้งไว้สำหรับเรื่อง การอำนวยความสะดวกทางบริหารนั้น ในความเป็นจริงเป็นงบประมาณที่อำนวยความสะดวกทางการเมืองมากกว่าการบริหาร
๒. จากการตรวจสอบเรื่องการวางแผนบูรณาการพบว่า การบูรณาการไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า
๓. งบกลางคือ งบที่หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เพราะถ้าเป็นงบปกติคณะกรรมาธิการจะสามารถ
ตรวจสอบได้ แต่งบกลางเป็นงบฉุกเฉิน และสามารถทุจริตได้
๔. งบประมาณส่วนงานต่าง ๆ ควรให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถตรวจสอบและปิดช่องการทุจริตได้
ต่อจากนั้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสงวนคำแปรญัตติในส่วนของงบกลาง มาตรา ๔ ที่ตั้งไว้ ๒๐๐,๑๘๙,๙๘๓,๘๐๐ บาท (สองแสนหนึ่งร้อยแปดสิบเก้าล้านเก้าแสนแปดหมื่นสามพันแปดร้อยบาท) โดยขอปรับลดในวงเงินของ ส่วนงานต่าง ๆ ๑๕ รายการ เป็นเงิน ๓๗,๔๘๙,๗๙๙,๒๖๐ บาท (สามหมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยแปดสิบเก้าล้านเจ็ดแสนเก้าหมื่นเก้าพันสองร้อยหกสิบบาท) ซึ่งมีบางรายการไม่ได้ปรับลดโดย ๑๕ รายการจะแบ่งเป็น ๓ หมวด คือ หมวดที่ ๑ ได้แก่ รายการที่ ๑-๖ ซึ่งถือว่าเป็นงบประจำทุกปีรายจ่ายประจำได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงบกลางมีการ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินไป ทุกวันนี้เศรษฐกิจยังไม่ดี เมื่อรัฐบาลใช้นโยบายปรับลดจำนวนข้าราชการลง ร้อยละ ๕ ทำให้เกิดปัญหาขึ้น โดยเฉพาะข้าราชการครู เกิดปัญหาครูไม่เพียงพอในการสอนในหลาย ๆ จังหวัด ทำให้โรงเรียนหลายแห่งต้องจ้างครูมาสอนเพิ่ม โดยไปเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากนักเรียนมาเป็นค่าจ้างครูมาสอน อีกเรื่องคือเรื่องการเก็บภาษีโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีการเก็บภาษีแม้กระทั่งแม่ค้าขายข้าวในโรงเรียน ซึ่งต้องขายในราคาถูก แต่เมื่อมีการเก็บภาษีทำให้แม่ค้าต้องขึ้นราคาอาหารที่ขายแก่นักเรียน นอกจากนี้ยังได้อภิปรายถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้งบประมาณที่ตั้งไว้ไม่สะท้อนความเป็นจริง รายได้ที่จัดเก็บจริงอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และยังได้อภิปรายรายการที่ ๖ เรื่อง ค่าใช้จ่ายการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐซึ่งเป็นค่าบรรเทาความเดือดร้อน เป็นแรงจูงใจในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของข้าราชการ วงเงินตั้งไว้ ๔๕,๒๕๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทนั้น (สี่หมื่นห้าพันสองร้อยห้าสิบห้าล้านบาท) ด้านหนึ่งรัฐบาลมีนโยบายปรับลดข้าราชการ อีกด้านหนึ่งก็ไปเพิ่มเงินค่าตอบแทน และเรื่องเงินรางวัลค่าตอบแทน มีหน่วยราชการบางแห่งทำงานเพื่อให้ได้เงินรางวัล ซึ่งแท้จริงแล้ว ข้าราชการต้องทำงานด้วยหน้าที่ไม่ใช่ทำเพื่อหวังเงินรางวัลตอบแทน ซึ่งถ้าใช้ระบบอย่างนี้ต่อไปต้องมีการตั้งงบประมาณด้านนี้เพิ่มขึ้นอีกในปีต่อ ๆ ไป เพราะจะมีหน่วยราชการที่ต้องการเงินรางวัลตอบแทนเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังได้อภิปรายอีกว่าในมาตรา ๔ งบกลาง รายการที่ ๑ -๖ นั้น รัฐบาลได้ตั้งไว้เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ไม่เคยแสดงรายละเอียดหรือแสดงวิธีคิดไว้ ดังนั้นจึงขอปรับลดงบประมาณใน
ส่วนนี้ลง อีกทั้งยังได้อภิปรายถึงเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นว่าในปี ๒๕๔๘ ตั้งไว้ ๑๑,๖๐๐,๐๐๘,๘๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันหกร้อยล้านแปดพันแปดร้อยบาท) โดยขอให้มีการปรับลดลง ๒,๓๙๐,๐๐๑,๗๖๐ บาท (สองพันสามร้อยเก้าสิบล้านหนึ่งพันเจ็ดร้อยหกสิบบาท) ซึ่งจะเท่ากับงบในปี ๒๕๔๗ คือ ๙,๐๐๐ กว่าล้านบาทและเงินที่ตั้งไว้เพื่อช่วยเหลืออุทกภัยในปีนี้ที่เพิ่มขึ้นแสดงว่ามีการคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๔๘ จะมีภัยต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น จึงอยากทราบว่าในกระทรวงต่างๆ มีการตั้งงบประมาณสำหรับเหตุการณ์เหล่านี้หรือเปล่า อีกทั้งยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อมีการตั้งงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือกรณีน้ำท่วมแล้วทำไมยังต้องมีการเรี่ยไรเงินบริจาคจากประชาชนอีก และในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรักษาความมั่นคงของประเทศกับเงินราชการลับในการรักษาความมั่นคงของประเทศได้ขอปรับลด เพราะรัฐบาลทำงานไม่บรรลุเป้าหมาย คือเมื่อมีงบประมาณ เพื่อใช้จ่ายด้านนี้แล้ว ทำไมยังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้อภิปรายถึงค่าใช้จ่าย เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและปรับทิศทางของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่มีสมรรถภาพสูง มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนานวัตกรรม เพื่อการแข่งขันของประเทศ เพื่อสนับสนุนภาค เอกชนไทย ในการพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศในตลาดโลก เพื่อสร้างความ เข้มแข็งของปัจจัยสนับสนุนการเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและยั่งยืน มุ่งเน้นการพัฒนาสร้างทรัพยากรมนุษย์ การเสริมสร้างศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีของประเทศ การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ จากวัตถุประสงค์ที่กล่าวมานั้นเป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่ได้มีการนำเงินจำนวน ๓๕๓.๒๐ ล้านบาท ไปจัดซื้อปืนใหญ่ขนาดเบา ซึ่งเป็นการทำลายชีวิตมนุษย์ไม่ได้เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะเห็นได้ว่างบประมาณที่ตั้งไว้ไม่ได้ใช้จ่ายตามเป้าหมายทีได้เขียนไว้ จึงจำเป็นต้องตัดลดงบประมาณลง