ฉบับที่ ๙
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๗.๓๐ - ๑๘.๓๐ นาฬิกา
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในเรื่องการดำเนินการชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้มาจากธนาคารออมสินเพื่อใช้ในโครงการกองทุน หมู่บ้านๆ ละ ๑ ล้านบาท รวมทั้งได้อภิปรายเรื่องงบประมาณในส่วนของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าตอบแทนบุคคลากรภาครัฐด้วย เมื่อสมาชิกได้อภิปรายในมาตรา ๔ พอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับ กรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนนเสียง ๒๙๑ เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณา มาตรา ๕ ซึ่งเป็นงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรีโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายใน ๒ ประเด็น คือ
๑. กรมประชาสัมพันธ์ โดยได้สอบถามถึงกรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินการของ
ช่อง ๑๑ ที่ได้มีการออกอากาศกระจายคลื่นสัญญาณเป็นช่อง ๑๑/๑, ๑๑/๒ เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่และตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่แน่ใจในการดำเนินการ โดย ได้ตั้งกรรมการเข้าไปตรวจสอบถึงปัญหาดังกล่าว และในกรณีของการของบประมาณของกรมประชาสัมพันธ์ กรรมาธิการได้มีการซักถามถึงรายละเอียดการนำงบประมาณไปใช้หรือไม่
๒. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (กพร.) ได้เสนอให้ปรับลด
งบประมาณลงร้อยละ ๕ เนื่องจาก กพร. แยกมาจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อมาทำหน้าที่ปฏิรูประบบราชการ โดย กพร. ควรจะเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่ปฏิรูประบบ ราชการเสร็จแล้วก็ควรยุบเลิกไป และโดยเฉพาะการดำเนินงานของ กพร. ที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เกิดความสับสนในหน่วยงานราชการ ซึ่งถ้ามีทั้ง ก.พ. และ กพร. แล้วจะทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม มากขึ้น ซึ่งสวนทางกับนโยบายการบริหารจัดการ อีกทั้งการดำเนินมาตรการที่เป็นผลจากการดำเนินงาน
ของ กพร. ในมาตราที่ ๓ เรื่องการปรับลดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อขวัญ กำลังใจของข้าราชการทั่วประเทศ เกิดความแตกแยกในหน่วยงาน โดยในอดีตการลดอัตรากำลัง ภาครัฐเป็นการลดอัตรากำลังโดยธรรมชาติ และความสมัครใจ เช่น เมื่อมีการเกษียณอายุราชการ ๑๐๐ คน จะขอยุบอัตรา ๘๐ คน และจัดสรรเพื่อทดแทนเพียง ๒๐ คน ซึ่งสามารถลดได้ และโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยข้าราชการจะได้รับสิ่งที่เป็นแรงจูงใจ เช่น เงินเดือน พร้อมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ และการใช้มาตรการยุบอัตราลงร้อยละ ๘๐ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เป็นไปได้
ปัจจุบันการนำมาตรการที่ ๓ มาใช้ เป็นเรื่องที่ผิดไปจากแนวทางเดิม เป็นมาตรการ ที่มักง่าย รัฐบาลไม่ได้สร้างความชัดเจนให้กับผู้ที่ถูกประเมินในส่วนของร้อยละ ๕ ที่จะต้องเลือก ออกจากราชการหรือเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้อภิปรายในประเด็นที่สงวนความเห็นไว้ในส่วนงบประมาณที่เกี่ยวกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้ขอปรับลดงบประมาณบางหน่วยงานลงร้อยละ ๑๐ ดังนี้
๑. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เช่น กรณีการจัดคณะรัฐมนตรีสัญจรไปประชุม
ตามจังหวัดต่าง ๆ แต่ละครั้งมีการใช้งบประมาณจำนวนไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านบาท ต่อครั้ง เงินงบประมาณ ที่ใช้ไปนี้เป็นภาษีของประชาชนที่ถูกติดตามรีดภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล และได้อภิปรายเกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็นอัตราการเติบโตของ GDP ในปีนี้สูงถึงร้อยละ ๗ ที่เกิดจากการใช้จ่ายของภาคประชาชนมากกว่าผู้ประกอบการ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันลดต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ ๑ ต่อปี ทำให้ประชาชนที่มีเงินออม โดยอาศัยดอกเบี้ยมาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่เพียงพอ จึงต้องมีการนำเงินออมเหล่านั้นมาลงทุน และการลงทุนดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดความล้มเหลวได้ในอนาคต ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องทำหน้าที่ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับประชาชนได้รับทราบและควรเสนอข้อมูลที่เป็นจริง
๒. สำหรับ สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นั้น ไม่เห็นด้วยกับการตั้งผู้ว่า CEO และนักการทูต CEO เพราะการบริหารประเทศไม่ใช่การบริหารแบบบริษัทไม่ทราบว่า ก.พ. ได้มีการพิจารณาด้วยความรอบคอบหรือไม่ จึงขอปรับลดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐
จากนั้นได้แสดงความคิดเห็นถึงความไม่ชัดเจนของการเป็นข้าราชการ ก.ค. ใน ๓ กระทรวง คือ จากกระทรวงศึกษาธิการที่ได้โอนย้ายโรงเรียนนาฏศิลป์มาอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม และการนำกรมพลศึกษาไปสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย กพร. ไม่ได้สร้างความชัดเจนให้กับบทบาทของข้าราชการทั้ง ๓ กระทรวง
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นที่สงวนความเห็นไว้ โดยได้เสนอให้ปรับลดงบประมาณในส่วน ของสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีปัญหาในการบริหารงานในการกำหนดทิศทางของข้าราชการและการขาดความรอบคอบในการจัดตั้งหน่วยงานตามดำริของนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย เช่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ยังคงทำงานในรูปแบบเดิม และไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารงานแต่อย่างใด มีเพียงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ๑ ชุด เพื่อประสานกับส่วนภูมิภาคเพียงอย่างเดียว ตลอดจนแนวคิดที่จะ ปรับลดข้าราชการออกครึ่งหนึ่งแล้วตั้งตำแหน่งข้าราชการการเมืองเข้ามาแทนที่ข้าราชการประจำ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สวนทางกับแนวนโยบายของรัฐบาล และเป็นการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย โดยเป็นนโยบายที่สับสนและไร้ทิศทาง และกรณีการจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นองค์การมหาชน โดยไม่สามารถใช้อำนาจทางกฎหมายได้ จะซ้ำซ้อนกัน หรือไม่กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนและไร้ทิศทางของการจัดตั้งงบประมาณ