สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๑๐

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:28 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๑๐
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๘.๓๐ - ๑๙.๓๐ นาฬิกา
นายสุวรรณ กู้สุจริต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ขอเสนอปรับลดงบประมาณ
ของสำนักนายกรัฐมนตรีจำนวนร้อยละ ๑๐ โดยได้อภิปรายเกี่ยวกับงบประมาณของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดังนี้
สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งงบประมาณในปี ๒๕๔๘ จำนวน ๔๐๙,๒๔๑,๐๐๐ บาท (สี่ร้อย เก้าล้านสองแสนสี่หมื่นหนึ่งพันบาท)
ซึ่งสูงกว่าในปี ๒๕๔๗ จำนวน ๗๖ ล้านบาท จากวิสัยทัศน์ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติจะเห็นว่ามีการปฏิบัติงานด้านการข่าวอย่างดีเยี่ยม
สามารถแก้ปัญหาและแจ้งเตือนประชาชนในเหตุร้ายต่าง ๆ ได้ทันท่วงที แต่ในรอบปีที่ผ่านมาการปฏิบัติงานของสำนักข่าวกรองล้มเหลว
ทำให้สถานการณ์ทางภาคใต้รุนแรงขึ้น มีคนบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงอยากทราบว่า สำนักข่าวกรอง มีการส่งสัญญาณและ
แจ้งเตือนประชาชนได้ทันเวลาหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าการปฏิบัติงานข่าวของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในภาคใต้ล้มเหลว
จึงขอปรับลดงบประมาณในส่วนของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จำนวนร้อยละ ๑๐
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค
ประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการที่ขอสงวนความเห็น ได้อภิปรายในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
๑. จากการที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีผู้ติดตาม
ไปเป็นจำนวนมากเพื่อรักษาความปลอดภัย จึงมีการใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก เป็นการสมควรหรือไม่
๒. การเดินทางไปจับกุมและตรวจค้นบ้านที่ต้องสงสัยว่าค้ายาบ้าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อยากทราบว่า เรื่องนี้ได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ได้เอาเงินงบประมาณไปชดใช้หรือยัง และมีคนไปดูแล
ผู้เสียหายหรือไม่ รวมทั้งอยากให้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากตู้ ปณ. นายกรัฐมนตรี ว่าถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่จะ
ดำเนินการใด ๆ
๓. การจับแท็กซี่ หรือมาเฟีย ที่สถานีขนส่งหมอชิตแล้วผิดพลาด เพราะแท็กซี่มีใบอนุญาต
ที่ถูกต้อง จึงอยากทราบว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร
- ๒ -
๔. กรมประชาสัมพันธ์ กรณีการเปิดช่องโทรทัศน์ ๑๑/๑ และ ๑๑/๒ มีความจำเป็นอย่างไร
ประเทศชาติได้ประโยชน์หรือไม่ และได้ค่าสัมปทานเท่าไร เพราะถ้าได้ค่าสัมปทานคุ้มค่า งบประมาณของกรมประชาสัมพันธ์ก็สมควรตัดออกอีก
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค
ประชาธิปัตย์ ขออภิปรายในมาตรา ๕ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งงบประมาณ ไว้ ๙,๕๓๐,๔๒๔,๑๐๐ บาท
(เก้าพันห้าร้อยสามสิบล้านสี่แสนสองหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยบาท) ขอแปรญัตติปรับลดงบประมาณ
๒,๒๗๓,๐๑๑,๙๘๕ บาท (สองพันสองร้อยเจ็ดสิบสามล้านหนึ่งหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยแปดสิบห้าบาท) โดยจะขออภิปรายแต่ละสำนักงานดังนี้
๑. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน ๓๙๖,๖๙๕,๘๐๐ บาท (สามร้อยเก้าสิบ
หกล้านหกแสนเก้าหมื่นห้าพันแปดร้อยบาท) ปรับลด ๕๙,๕๐๔,๓๗๐ บาท ( ห้าสิบเก้าล้านห้าแสนสี่พันสามร้อย
เจ็ดสิบบาท) เนื่องจากการตั้งงบประมาณในหมวดเงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวมีการตั้งงบเพิ่มขึ้นถึง ๑๐๐
เปอร์เซ็นต์ ทำไมจึงมีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวในช่วงใกล้เลือกตั้ง และในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปมีการตั้งเงินเพิ่มขึ้น
จากปี ๒๕๔๗ จำนวน ๗ ล้านบาท เป็น ๘๖ ล้านบาท ซึ่งมีการตั้งหมวดรายจ่ายใหม่ได้แก่ เงินอุดหนุนการเพิ่มขีด
ความสามารถในการติดตามการปฏิบัติราชการของรองนายกรัฐมนตรี จำนวน ๗๐ ล้านบาท และเงินอุดหนุนการ
วิจัยการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน ๙ ล้านบาท การตั้งงบเหล่านี้เป็นการตั้งงบ
หาเสียงหรือไม่ และเป็นการจ่ายเงินให้กับใคร สำนักงบประมาณจะมีมาตรการติดตามการใช้จ่ายอย่างไร และ
เอาใบเสร็จมาจากไหน อย่างไรก็ตาม อยากให้ตัดเงินอุดหนุนทั่วไป เพราะตรวจสอบการใช้เงินยาก
๒. กรมประชาสัมพันธ์ มีงบประมาณที่ตั้งไว้ ๑,๐๒๔,๘๓๓,๑๐๐ บาท (หนึ่งพันยี่สิบสี่ล้าน
แปดแสนสามหมื่นสามพันหนึ่งร้อยบาท) ปรับลดลง ๒๕๖,๒๐๘, ๒๗๕ บาท (สองร้อยห้าสิบหกล้านสองแสน
แปดพันสองร้อยเจ็ดสิบห้าบาท) เพราะมีจุดรั่วไหลมาก
๓. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี งบประมาณที่ตั้งไว้ ๑,๖๗๙,๔๗๘,๖๐๐ บาท (หนึ่งพันหกร้อย
เจ็ดสิบเก้าล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นแปดพันหกร้อยบาท) ปรับลดลง ๒๕๑,๙๒๑,๗๙๐ บาท (สองร้อยห้าสิบเอ็ดล้าน
เก้าแสนสองหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยเก้าสิบบาท) ค่าใช้จ่ายเฮลิคอปเตอร์ สำหรับผู้บังคับบัญชาชั้นสูงจำนวน ๔๐
ล้านบาทนั้นเป็นการตั้งมา เพื่อซื้อใหม่หรือไม่ อยากทราบว่า คำว่าผู้บังคับบัญชาชั้นสูงต่างจากคำว่าบุคคลสำคัญอย่างไร
๔. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีการตั้งเงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับการวิจัย เพื่อใช้เป็น
ค่าใช้สอยวัสดุและสาธารณูปโภคจำนวน ๒,๑๐๐,๔๐๐ บาท (สองล้านหนึ่งแสนสี่ร้อยบาท) ซึ่งไม่เคยมีการตั้งไว้มาก่อน และการวิจัยนี้เป็นโครงการอะไร
๕. สำนักงบประมาณ ตั้งงบประมาณค่าคุรุภัณฑ์ คอมพิวเตอร์จำนวน ๕๗ ล้านบาท และ
คุรุภัณฑ์ ขนส่งพาหนะ ๕ ล้านบาท ๒ รายการนี้มีความจำเป็นหรือไม่
๖. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นตัวอย่างของหน่วยงานที่ใช้
งบประมาณฟุ่มเฟือยที่สุด โดยมีการตั้งงบเงินเดือน ค่าจ้างเพิ่มขึ้น ๑๕ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๒๑ ส่วนค่า
ตอบแทนใช้สอยและวัสดุ ในปี ๒๕๔๗ ตั้งงบจำนวน ๓๒ ล้านบาท แต่ปีนี้ตั้งไว้ ๗๖ ล้าน การตั้งงบใช้ในการ
ปรับปรุงห้องประชุม ๒ ห้อง จำนวน ๑๒ ล้านบาท จำเป็นหรือไม่
๗. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ทำไมมีงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปี
๒๕๔๗ ถึงร้อยละ ๑๐๐ และได้มีการประเมินผลการดำเนินงานของปี ๒๕๔๗ หรือไม่
๘. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ ตั้งงบประมาณปีก่อน ๑๙๒ ล้านบาท ในปีนี้
๒๔๕ ล้านบาท งบรายจ่ายเงินเดือนค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึง ๒๑.๖ ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการเสนอแนะและให้
คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
๙. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
- เงินงบประมาณปีละ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ผลการวิจัยมีอะไรบ้าง กรรมาธิการได้เคย
ขอดูผลงานวิจัยบ้างหรือไม่ และงานวิจัยสนับสนุนใครบ้าง
- งบการวิจัยปีละ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ได้ผลงานวิจัยปีละกี่เรื่อง อยู่ที่ไหน และ
ผลงานวิจัยนี้มีประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างไรบ้าง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ