สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๑๑

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:29 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๑๑
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๙.๓๐ - ๒๐.๓๐ นาฬิกา
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเกี่ยวกับหน่วยงานที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ๑๘ หน่วยงาน และขอเสนอปรับลดลง ร้อยละ ๒๐ ของงบประมาณที่ได้ตั้งไว้ทั้งหมด คือ ๙,๕๓๐,๔๐๐,๐๐๐ บาท (เก้าพันห้าร้อยสามสิบล้านสี่แสนบาท) ส่วนสำคัญที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี คือ
๑. กรมประชาสัมพันธ์ ในอดีตกรมประชาสัมพันธ์ได้มีการนำเสนอข่าวสารที่เชื่อถือได้ ถูกต้องตรงไปตรงมาสามารถอ้างอิงได้และเป็นมาตรฐานสากล แต่ปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์กลับมีการโฆษณาสิ่งอบายมุขเพื่อมอมเมาประชาชน โดยได้นำนโยบายหวยบนดินมามอมเมาประชาชนเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด สร้างความอ่อนแอให้เกิดขึ้นกับชุมชนโดยให้หวังว่าถ้าซื้อหวยแล้วถูกรางวัล แจ็คพอตจะได้เป็นเศรษฐีและเงินจากการซื้อหวยจะนำไปเป็นทุนการศึกษาช่วยเหลือผู้พิการ นักกีฬาพิการ ผู้ที่ได้รับเงินทุนการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะดีใจ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความอ่อนแอให้เกิดขึ้นกับสังคม สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและกรมประชาสัมพันธ์ร่วมมือกันสนองนโยบายรัฐบาลในการชี้ให้สังคมเห็นว่าการเล่นหวยการเล่นอบายมุขไม่ผิด แต่เป็นการทำบุญกุศลให้กับผู้ด้อยโอกาส จากการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวนี้พบว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ได้แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องการจัดงบประมาณฯ เป็นการพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อให้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลและคนไทยทั่วประเทศ ในการกำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และอนาคตของประเทศ เป็นกลไกในการพัฒนาประเทศที่เต็มไปด้วยอบายมุขต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นจึงขอปรับลดงบประมาณของกรมประชาสัมพันธ์ลง
๒. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขาดความเอาใจใส่และการพัฒนาในการแก้ปัญหาสังคม เนื่องจากปัจจุบันยังมีปัญหาอบายมุขต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาอาชญากรรมอยู่มาก
๓. คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ตั้งงบไว้ ๑๐๐,๙๑๒,๐๐๐บาท (หนึ่งร้อยล้านเก้าแสนหนึ่งหมื่นสองพันบาท) และคณะกรรมาธิการฯ ได้ปรับลดลงบางส่วนคงเหลือ ๘๔,๗๘๗,๐๐๐ บาท (แปดสิบสี่ล้านเจ็ดแสนแปดหมื่นเจ็ดพันบาท) ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวนี้ มีแผนงานในการ
คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แต่เหตุใดจึงไม่ดูแลในเรื่องอุปโภคบริโภคของประชาชน จากการตรวจสอบไปยังกระทรวงพาณิชย์ ได้รับคำตอบว่า กรมการค้าภายในไม่มีอำนาจและภารกิจในการเข้าไปควบคุมดูแลเรื่องราคาสินค้า แต่มีหน้าที่ในการดูแลความต้องการของตลาด กระบวนการผลิตต่อตลาดว่า เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่
๔. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นหน่วยงานที่เสนองบประมาณเพียง
๑,๐๐๐ ล้านบาท และไม่มีการนำเสนอผลงานรวมทั้งไม่มีขอเพิ่มงบประมาณเลย ทั้งที่เป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยทำให้เห็นว่าสำนักงานนี้ไม่มีประสิทธิภาพจึงขอปรับลดงบประมาณลง
ต่อจากนั้น นายวิชัย ตันศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า เห็นด้วยกับการปรับลดงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะ
๑. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ มีโครงสร้าง กฎระเบียบต่าง ๆ
การปรับลดจำนวนข้าราชการลงร้อยละ ๕ นั้น ควรมีกลยุทธ์และมาตรการในการบริหาร โดยปรับปรุงเงินเดือนข้าราชการ เพราะการลดจำนวนข้าราชการลงเป็นการบั่นทอนจิตใจ ขวัญ และกำลังใจ ของ ข้าราชการมาก
๒. การปรับโยกย้ายข้าราชการระดับสูง โดยการย้ายข้ามกระทรวง และไม่ตรงกับ
ความชำนาญการของข้าราชการ ทำให้เกิดการสูญเสียคุณธรรมของข้าราชการ เพราะข้าราชการไม่มีความผิด รวมทั้งมีความชำนาญการและเป็นข้าราชการมืออาชีพ
๓. ความสำคัญในการต่อเนื่องของระบบราชการ ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบผสมระหว่างการเมืองและข้าราชการ ดังนั้นการทำงานจึงต้องมีความต่อเนื่องระหว่างกัน
๔. การลดขนาดข้าราชการลง ซึ่งในส่วนนี้เห็นด้วย แต่ควรมีการแยกข้าราชการครู
ออกจากข้าราชการพลเรือน
๕. การหารายได้ของรัฐบาลมาใช้จ่ายในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไม่ควรเกินร้อยละ ๑๘ และควรเน้นคุณภาพของการศึกษา
๖. การปรับกระทรวงใหม่ เป็น ๒๐ กระทรวง นั้น มีการลงตัวมากน้อยเพียงใด
เกิดปัญหาในการประสานงานและมีประสิทธิภาพหรือไม่
ต่อจากนั้น นายสุวโรช พะลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า มาตรา ๕ ของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้ปรับลดงบประมาณลง ๙,๗๒๑,๕๐๐ บาท (เก้าล้านเจ็ดแสนสองหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยบาท) และมีการแปรญัตติเพิ่มเป็น ๙,๕๓๐,๔๒๔,๑๐๐ บาท (เก้าพันห้าร้อยสามสิบล้านสี่แสนสองหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยบาท) นั้น ไม่เห็นด้วยในส่วนที่คณะกรรมาธิการฯ ได้เพิ่มงบประมาณ จึงขอปรับลดงบประมาณในส่วนที่แปรเพิ่มลดลงทั้งหมด ๑,๑๙๑,๓๐๓,๐๑๓ บาท (หนึ่งพันหนึ่งร้อยเก้าสิบเอ็ดล้านสามแสนสามพันสิบสามล้านบาท) โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เกี่ยวกับแผนงานบริหารการพัฒนาในโครงการพัฒนาดัชนีชี้วัด การพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย คือ นโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเฉพาะเกษตรกร การปล่อยเงินกู้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อซื้อสินค้าที่ฟุ่มเฟือย ในเรื่องดังกล่าวนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องเข้าไปดูแล
จากนั้น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ตอบชี้แจงว่า
๑. มาตรการในการลดอัตรากำลังคนลงร้อยละ ๕ ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เสนอมานั้น ในส่วนของสำนักงาน กพร. เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ การทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปราชการ การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ระบบราชการ ในปี ๒๕๔๖ - ๒๕๕๐ มีระบบการบริหารที่มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ของส่วนราชการ โดยมีกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงยุติธรรมเป็นกระทรวงนำร่อง โดยทำคำรับรองกับนายกรัฐมนตรีว่า จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ใดขึ้น และจะต้องทำให้หน่วยงานเหล่านั้นเกิดผลสัมฤทธิ์ รวมถึงการให้คะแนนต่าง ๆ ด้วย
๒. ส่วนมาตรการที่ ๓ เรื่อง การปรับลดกำลังคนลงร้อยละ ๕ นั้น ก.พ.ร. ไม่ได้เป็น ผู้ดำเนินการ แต่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นผู้ดำเนินการ และได้รับการชี้แจงจาก ก.พ. ว่า วัตถุประสงค์ของการทำมาตรการที่ ๓ เป็นมาตรการที่ต้องการให้ข้าราชการตื่นตัวและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการประเมินว่า ข้าราชการใดอยู่ในระดับทำงานได้ดีมาก ปานกลาง และค่อนข้างไม่ดี โดยจะมีการพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายร้อยละ ๕ ว่ามีจำนวนเท่าใด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกหน่วยงานจะต้องมีคนร้อยละ ๕ สุดท้าย บางหน่วยงานที่ร้อยละ ๕ สุดท้าย มีประสิทธิภาพก็ยังคงสามารถทำงานได้ โดยไม่ต้องออกก็ได้ในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นการกระตุ้นให้ข้าราชการทำงานอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
๓. การประชุมคณะรัฐมนตรีต่างจังหวัดบางครั้งอาจใช้งบประมาณมาก แต่กรรมาธิการได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า โดยเฉลี่ยใช้งบประมาณครั้งละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาท) ดังนั้น ในหนึ่งปีจะใช้งบประมาณ ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สิบสองล้านบาท) ซึ่งวัตถุประสงค์ของการประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้เห็นความเป็นอยู่ของประชาชนในต่างจังหวัดและได้พบกับปัญหาที่แท้จริง
๔. งบประมาณของสำนักงานพัฒนาองค์ความรู้ที่ได้ตั้งไว้ ๑๒๐,๐๐๐,๐๐๐, บาท (หนึ่งร้อยยี่สิบล้านบาท) นั้น จากการตรวจสอบพบว่า หน่วยงานดังกล่าวนี้เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๗ จึงอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งในระยะแรกงบประมาณที่ตั้งไว้จึงเป็นงบดำเนินการและเตรียมขอใช้งบกลางของปี ๒๕๔๘ ในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ต่อไป
๕. ในส่วนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้นได้ดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหน้าที่ของหน่วยงานนั้นได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าการสร้างท่าเรือทั้งสองแห่งนั้นเป็นการดำเนินการตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ รวมทั้งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร
๖. การใช้จ่ายงบประมาณในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาคของรองนายกรัฐมนตรีที่ได้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนคนละ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สิบล้านบาท) นั้น มีหลักเกณฑ์ในการใช้จ่ายงบประมาณชัดเจนว่า เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการเดินทางไปตรวจราชการเพื่อกำกับติดตามงาน เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บข้อมูลของคณะผู้ปฏิบัติงานรองนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณให้รองนายกรัฐมนตรีผ่านสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติในการดำเนินการเบิกจ่ายการใช้งบประมาณดังกล่าว และเป็นงบที่มีลักษณะไม่ผูกพันข้ามปี ไม่เป็นการจัดหาคุรุภัณฑ์หรือสิ่งก่อสร้าง ไม่เป็นการอุดหนุนทั่วไปให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ต้องไม่เป็นการเพิ่มงบบุคลากรภาครัฐในการจ้างลูกจ้างชั่วคราว ดังนั้นการเบิกจ่ายงบประมาณจึงเป็นไปตามระเบียบทางราชการ การควบคุมการเบิกจ่าย สำนักงบประมาณจะติดตามผลการดำเนินงานและผลการใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ เพื่อการกำกับและติดตามปฏิบัติราชการ โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต้องจัดทำและรายงานผลการปฏิบัติราชการและการใช้จ่ายงบประมาณให้สำนักงบประมาณทราบด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ