ฉบับที่ ๑๒
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๒๐.๓๐ - ๒๑.๓๐ นาฬิกา
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรค ชาติไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้ชี้แจงถึง กรณีการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และยานพาหนะนั้น คณะกรรมาธิการได้ตระหนัก ถึงความจำเป็นและความเหมาะสมของการจัดสรรงบประมาณ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา ในด้านต่าง ๆ จำนวน ๓ คณะ และคณะทำงานอีก ๑ คณะ ทำให้งบประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ ลดลงเป็นจำนวนมาก
นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้อภิปรายชี้แจงในส่วนของงบอุดหนุนของรองนายกรัฐมนตรีทั้ง ๗ คน จำนวน ๗๐ ล้านบาท ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จัดสรรขึ้นเพื่อให้รองนายกรัฐมนตรีได้ใช้สำหรับการตรวจราชการในส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ และได้ชี้แจงถึงความจำเป็นของการจัดซื้อรถตู้จำนวน ๕ คัน ของสำนักงบประมาณ เนื่องจากมีภารกิจที่ต้องเดินทางไปร่วมประชุมหารือกับจังหวัดต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ได้พิจารณาจัดซื้อตามราคามาตรฐานทุกประการ
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมในกรณีงบอุดหนุนของรองนายกรัฐมนตรีจำนวน ๗๐ ล้านบาทว่า เป็นงบประมาณ ที่มีความจำเป็น สำหรับการรับผิดชอบดูแลพื้นที่ ในจังหวัดต่าง ๆ และมีการเบิกจ่าย ตามความเป็นจริงและ ถูกต้องตามระเบียบราชการ
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงในกรณีงบอุดหนุนจำนวน ๗๐ ล้านบาทว่า เป็นการใช้จ่ายตามจริง และที่จัดไว้ในงบอุดหนุน เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีทั้ง ๗ คน ไม่ได้สังกัดกระทรวงใด ๆ จึงต้องอนุมัติงบอุดหนุนเพื่อความสะดวกในการดำเนินงานของรองนายกรัฐมนตรี และทำให้เกิดการทำงานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สำหรับค่าใช้จ่ายเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการในกรณีการจัดสัมมนานั้น ตามปกติไม่สามารถเบิกจ่ายได้ แต่หากเป็นภารกิจที่รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายแล้วก็สามารถเบิกจ่ายได้
เมื่อสมาชิกฯ ได้อภิปรายพอสมควรแล้วที่ประชุมได้ลงมติในมาตรา ๕ เห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน ๒๘๓ เสียง
ต่อมา ที่ประชุมได้พิจารณามาตรา ๖ งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมที่ตั้งไว้จำนวนกว่า ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายอย่างกว้างขวางดังนี้
นางสาวรังสิมา รอดรัศมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในส่วนของงบประมาณด้านการพยาบาลของทั้ง ๓ เหล่าทัพที่มีค่าตอบแทนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ในขณะที่มีภาระในการทำงานมากขึ้น จากมาตรการร้อยละ ๕ ดังนั้นจึงขอปรับลดงบประมาณในส่วนอื่น ๆ ของกระทรวงกลาโหมลงร้อยละ ๑๖ เพื่อนำมาเพิ่มงบประมาณให้กับผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแปรญัตติโดยขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมลง ๖,๐๐๐ กว่าล้านบาท เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณไม่เป็นไปตามรูปแบบที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังจัดงบประมาณซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เช่น แผนงานแก้ไขปัญหายาเสพติด ในขณะที่แผนงานวิจัยทางการทหารมีงบประมาณลดลง และงบประมาณในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนั้นก็น้อยมาก ทำให้ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง