สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๑๔

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:32 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๑๔
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๒๒.๓๐ - ๒๓.๓๐ นาฬิกา
นายตรีพล เจาะจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายมาตรา ๗ งบประมาณของกระทรวงการคลัง โดยขอปรับลดงบประมาณลง ๒๕% สาเหตุเนื่องมาจาก
๑. รัฐบาลไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้ ๘% ตามที่ได้แถลงไว้ เพราะ
ปัจจุบันเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตเพียงร้อยละ ๖ เท่านั้น อีกทั้งยังมีปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไม่เจริญเติบโต เช่น ไข้หวัดนก ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
๒. ขณะนี้ประชาชนเป็นหนี้กระจายไปทุกอาชีพและเป็นหนี้ซ้ำซาก เช่น
- เกษตรกร ร้อยละ ๙๕ เป็นหนี้ธนาคาร ธกส. อยู่แล้ว แต่รัฐบาลก็ยังนำเงิน
จากกองทุนหมู่บ้าน / ธนาคารเพื่อประชาชน ตลอดจนหนี้เอื้ออาทรต่างๆ มาให้ประชาชนกู้อีก ซึ่งก่อ ให้เกิดปัญหา ประชาชนต้องกู้เงินนอกระบบเพื่อมาใช้หนี้ในระบบหมุนเวียนซ้ำซาก
- ครู ร้อยละ ๙๐ เป็นหนี้โดยเฉลี่ย ๖-๗ แสนบาท/คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
- ข้าราชการทุกระดับเป็นหนี้ ยิ่งระดับสูงยิ่งเป็นหนี้มาก โดยเฉลี่ยแล้วข้าราชการทั่วไปมีหนี้สินประมาณ ๔-๕ แสนบาท/คน
- ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยมี NPL หรือมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ
๓-๔ หมื่นล้านบาท โดยมีนักธุรกิจไปขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย และได้รับการอนุมัติเงินแล้ว งวด ที่ ๑ และ ๒ พอจะไปขอรับงวดที่ ๓ กลับไม่ได้ เพราะธนาคารบอกว่าขณะนี้กำลังถูกตรวจสอบ NPL อยู่ ดังนั้น จึงขอถามถึงความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่ว่าเศรษฐกิจในระบบทักษิโนมิกส์ดีนั้น ดีเพียงแค่คนเฉพาะกลุ่มหรือไม่
- ๒ -
นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายขอปรับลดงบประมาณในมาตรา ๗ กระทรวงการคลังลง ๒๕๐ ล้านบาท โดยมีเหตุผล ดังนี้
การขาดวินัย ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อลดหนี้สาธารณะอยู่แล้ว แต่กลับจะไปซื้อบริษัทเอกชน เช่น บริษัทรถไฟฟ้า BTS และบริษัทรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งเป็นการสวนทางในนโยบาย เพราะการไปซื้อบริษัทเอกชนเหล่านั้นจะต้องมีหนี้สินติดมาด้วย โดยรัฐบาลจะต้องรับสภาพการเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นล้านบาท
การขาดหลักธรรมาภิบาล เช่น ในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีรายได้มหาศาล ถึง ๓ ส่วนด้วยกัน คือ
๑. รายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาลหลักที่จะต้องนำรายได้ในการจำหน่ายสลากส่งเข้า รัฐบาล ๖,๐๐๐ ล้านบาท/ปี
๒. รายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาลการกุศล ซึ่งมีระเบียบว่าจะต้องนำรายได้ส่งกระทรวงการคลังแต่ไม่ถือว่าเป็นรายได้แผ่นดิน ประมาณ ๔,๒๐๐ ล้านบาท/ปี
๓. รายได้จากหวยออนไลน์ ที่มีรายได้ปีละประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านบาท/ปี
โดยยังไม่มีการร่างระเบียบในการส่งเงินให้กระทรวงการคลัง เมื่อรวมรายได้ของการจำหน่ายสลากดังกล่าวแล้วมีรายได้ถึงปีละประมาณ ๑๕,๒๐๐ ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ แต่ส่งไปเป็นเงิน งบประมาณเพียง ๖,๐๐๐ ล้านบาท อยากถามว่าในส่วนที่เหลือ ๙,๒๐๐ ล้านบาท นั้น ไปอยู่ที่ไหน รัฐบาลควรชี้แจงให้เห็นถึงความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
การผลาญงบประมาณแผ่นดิน รัฐบาลเมื่อเก็บภาษีจากประชาชนคนยากจนแล้ว
ขอให้นำกลับมาสู่ประชาชนบ้าง ซึ่งกระทรวงการคลังควรจะต้องรักษาวินัยการเงินการคลังให้มากที่สุด ทุกคนยินดีเสียภาษี แต่กระทรวงการคลังก็ควรจะยึดหลักความคุ้มค่าของประชาชน และจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรเงินงบประมาณด้วย
อีกทั้งกรณีการให้เงินกู้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เหมาะสมหรือไม่ โดยในปี ๒๕๔๘ ได้มีการจัดสรรเงินให้กองทุนเพื่อเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศพม่า ที่รัฐบาลให้งบประมาณไปสร้างถนนถึง ๘๐๕ ล้านบาท และให้กู้ยืม เพื่อดำเนินการพัฒนาประเทศในอีก ๘ โครงการ โดยภาระผูกพันถึงปี ๒๕๕๑ ซึ่งรัฐบาลจะต้องจัดสรรเงินให้ประเทศเพื่อนบ้านถึง ๕๔,๖๙๘ ล้านบาท อยากทราบว่า รัฐบาลมีวิธีคิดอย่างไรหรือว่าเป็นเพียงวิธีการให้ต่างตอบแทน และในประเทศลาวรัฐบาลให้เงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำในอัตราร้อยละ ๑.๕ บาท/ปี โดยปลอดดอกเบี้ย ๑๐ ปี ระยะเวลา ถึง ๓๐ ปี ซึ่ง ในขณะเดียวกันคนไทยกู้เงินกองทุนหมู่บ้านเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๖ บาท/ปี จึงไม่สามารถให้เงิน งบประมาณแก่กระทรวงการคลังได้
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โดยได้อภิปรายขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงการคลังลงร้อยละ ๑๐ จากเหตุผล ดังนี้
๑. กรณีที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) ปล่อย
เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ๔,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นการปล่อยให้กู้ตามนโยบายของรัฐบาล โดยประเทศพม่า ได้นำเงินกู้นั้นไปให้สัมปทานกับบริษัทบากัน ไซเบอร์ เท็กซ์ ที่เป็นเครือญาติกับผู้นำของพม่า อีกทั้งมีการกำหนดให้บริษัทดังกล่าว จะต้องซื้อสินค้าจากประเทศไทยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรวัสดุ ก่อสร้าง หรือระบบบรอดแบรนด์ที่มีบริษัท ชินแซทเทิลไลต์ เป็นผู้จำหน่าย ถือว่าเป็นผลประโยชน์ ทับซ้อนหรือไม่
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โดยได้อภิปรายในประเด็น กรณีการตั้งงบประมาณชำระหนี้ของสำนักงานคณะกรรมการบริหาร หนี้สาธารณะที่ในปี ๒๕๔๘ ตั้งไว้ถึง ๑๒๘,๑๑๐,๕๐๕,๔๐๐ ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๗ ถึง ๘,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศว่าคนไทยเป็นไทแล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับมีการตั้งงบประมาณเพื่อใช้หนี้เพิ่มขึ้นทุกปี จึงอยากทราบว่าหนี้ที่แท้จริงของประเทศไทยในปัจจุบันมีอยู่เท่าไร
นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค ประชาธิปัตย์ โดยได้อภิปรายขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงการคลังลง ๑๐% จากเหตุผล
๑. การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าสามารถปรับลดได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๕ แต่ในความเป็นจริงกลับมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายสูงขึ้นทุกปี
๒. กระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการจัดหารายได้และรักษาระเบียบวินัย
การเงินการคลัง และถึงแม้ว่าปัจจุบันกระทรวงการคลังจะไม่ได้กำกับดูแลสำนักงบประมาณแล้วก็ตาม
แต่กลับปล่อยให้สำนักงบประมาณจัดทำงบประมาณที่ผิดระเบียบและกฎหมาย กระทรวงการคลัง ไม่ได้ทำหน้าที่เลย โดยตลอดระยะเวลา ๔ ปี
๓. การจัดเก็บภาษีไม่เป็นกับประชาชนและไม่ได้นำเงินไปใช้อย่างคุ้มค่าและถูกต้อง
มีการตั้งงบประมาณอย่างไม่โปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน
- การตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี
- การตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายของทุกหน่วยงาน ในกำกับดูแลของกระทรวง
การคลังไม่จะเป็นกรมธนารักษ์ กรมบัญชีกลาง กรมศุลากร กรมสรรพสามิต กรมสรรพกร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ล้วนแต่สวนทางกับนโยบายองรัฐบาลและตั้งไว้มากเกินความจำเป็นจึงปรับลดลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ