ฉบับที่ ๑๙
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพฤหัสบดีที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๒.๓๐ - ๑๓.๓๐ นาฬิกา
นายวิฑูรย์ นามบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในประเด็น
๑. เนื่องจากเป็นกระทรวงที่ตั้งขึ้นใหม่ ประชาชนยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ในการ
ติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้มากเท่าที่ควร เช่น ประชาชนจากต่างจังหวัดที่เข้ามาทำมาหากิน ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความลำบากทั้งด้านที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพ จึงขอให้คำนึงถึงประชาชน ในกลุ่มนี้ด้วย
๒. การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ ยังกระจายไม่ทั่วถึง
ทุกพื้นที่
๓. การช่วยเหลือฟื้นฟูอาชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยในปีที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนบ้าง
แต่ก็ไม่ทั่วถึง ในปีนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น จึงอยากขอให้จัดงบประมาณไปช่วยให้ทั่วถึงและขอให้ช่วยเหลือเฉพาะพื้นที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ
ซึ่งนายวิทยา บุรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคไทยรักไทย ได้ตอบชี้แจงว่า ในกรณีการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงดังกล่าวว่า ปัญหาสังคมเป็นเรื่องที่เปราะบาง แต่อย่างไรก็ตามได้สอบถามไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว และได้รับคำตอบชี้แจงเป็นที่น่าพอใจ โดยขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ประสานไปยังหน่วยงานรับผิดชอบได้เลย และจะเพิ่มข้อสังเกตนี้ในกรรมาธิการให้ด้วย
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งสมควรได้รับการดูแลจากรัฐบาลให้ มากกว่านี้ โดยอยากให้นำข้อสังเกตเหล่านี้มาพูดกันในที่ประชุม และเมื่อพิจารณาจากเนื้องานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้วพบว่า งบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับกรมเพียงกรมเดียวของกระทรวงอื่น ๆ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นที่สงวนคำแปรญัตติไว้ในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากยอดงบประมาณทั้งหมด ๔,๗๐๗,๐๖๔,๐๐๐ บาท (สี่พันเจ็ดร้อยเจ็ดล้านหกหมื่น สี่พันบาท) ขอปรับลดลงจำนวน ๔๙๔ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ ๑๐
โดยได้อภิปรายให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนของการใช้เงินในงบอุดหนุนทั่วไปของ ๒ หน่วยงาน คือ สำนักงานกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว และสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและ พิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ สำหรับงบประมาณในส่วนของเงินอุดหนุน ทั่วไปขององค์กรเอกชนและสาธารณประโยชน์ ยังไม่ทราบรายละเอียดของภารกิจ และเป้าหมายของการดำเนินการว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้เงินอุดหนุนทั่วไปสำหรับผู้ประสบปัญหาสังคมกรณีฉุกเฉิน รวมถึงประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ที่ประสบปัญหาจะสามารถขอความช่วยเหลือได้หรือไม่อย่างไร
ต่อจากนั้นได้อภิปรายถึงงบประมาณของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่ปีนี้ได้รับ งบประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท เมื่อปีที่แล้วได้รับ ๑๘๐ ล้านบาท โดยปี ๒๕๔๗ ได้รับเงินงบประมาณ ในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อใช้ส่งเสริมศักยภาพองค์กรชุมชน ๑๐,๐๐๐ องค์กร และในปีนี้ก็ยังได้รับเงินอุดหนุนเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นค่าใช้จ่ายกิจกรรมบูรณาการโดยไม่มีการกำหนดองค์กร ที่จะเข้าไปดูแลมีกี่แห่ง จะเกิดภารกิจซ้ำซ้อนและสอดคล้องต่อเนื่องกันอย่างไรกับปี ๒๕๔๗
ในส่วนของโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ซึ่งได้มีหลักเกณฑ์นิยามคำ "ชุมชน" ไว้ว่า
๑. ต้องมีการรวมกลุ่มกันตั้งแต่ ๒๐๐ ครัวเรือน
๒. สมาชิก ๒๐๐ ครัวเรือน เท่ากับ ๑ ชุมชน
๓. ต้องไปจดทะเบียนที่เขตและเขตจะส่งเรื่องให้ กทม. และ กทม. ก็จะประกาศเป็น
ชุมชน ซึ่งในขณะนี้ กทม. มีชุมชนอยู่ถึง ๑,๔๐๐ กว่าชุมชน จึงอยากทราบว่างบอุดหนุนทั่วไปที่ใช้ดูแลชุมชนจะได้รับการดูแลเช่นเดียวกับชุมชนในต่างจังหวัดหรือไม่
จากนั้นได้อภิปรายถึงเหตุผลในการตัดงบประมาณของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ เนื่องจากในปัจจุบันเกิดปัญหาเด็ก ถูกยิงตาย เด็กยกพวกตีกัน การใช้แรงงานเด็ก การซื้อ-ขายเด็ก สิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นหน้าที่ของ
สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการฯ ไม่ใช่โยนให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงกระทรวงเดียว ควรมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว
ในปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ เข้าไปดูแลด้านสวัสดิภาพของกลุ่มเป้าหมายยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะคนพิการประเภทพิเศษ (ออทิสติก) ที่ยังขาดแคลนโรงเรียน เพราะไม่ได้รับการเหลียวแลและการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพียงพอเท่าที่ควร จึงกลายเป็นเรื่องของประชาชนที่จะต้องช่วยกันบริจาคเงินเพื่อสร้าง โรงเรียนให้กับเด็กพิเศษกลุ่มนี้
จากนั้นนายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ พรรคไทยรักไทย ได้ชี้แจงว่า ในปัจจุบันกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีการ เปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ซึ่งกรรมาธิการเห็นถึงความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณให้ โดยในส่วนของหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปที่ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทุกจังหวัด เพื่อเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วนที่สุด และจะส่งเรื่องต่อให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือต่อไป
ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนนั้นได้จัดตั้งเพื่อสนับสนุนองค์กรชุมชนให้พัฒนา รายได้ อาชีพ ที่อยู่อาศัย โดยมีการดำเนินงาน ๒ แผนงาน คือ
๑. ให้พัฒนาศักยภาพของชุมชน ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือแล้ว ๖,๐๐๐
องค์กร
๒. แผนงานบ้านมั่นคง ซึ่งขณะนี้มีประชาชนมาขอรับความช่วยเหลือ ๒๘๕,๐๐๐ หน่วย
แต่สามารถทำได้เพียง ๑,๕๐๐ หน่วย
ทั้งนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอให้กรรมาธิการมอบเอกสารรายละเอียดของการให้ความช่วยเหลือประชาชนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ด้วย
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายในมาตรา ๑๐ พอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน ๒๗๗ เสียง