ฉบับที่ ๒๐
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพฤหัสบดีที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๓.๓๐ - ๑๔.๓๐ นาฬิกา
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณามาตรา ๑๑ ซึ่งเป็นงบประมาณของกระทรวงเกษตรและ
สหกรณ์ โดยสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขว้าง ดังนี้
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการได้ขอแปรญัตติตัดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐ โดยอภิปรายถึงกรมวิชาการเกษตร ในเรื่องการจำแนกงบประมาณตามโครงสร้างแผนงาน มีข้อสังเกตที่อยากจะถามกรรมาธิการว่า โครงสร้างแผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน มีแผนงานที่เกี่ยวข้องกับแผนงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี ๒๕๔๗ ตั้งไว้ ๑๓.๒ ล้าน แต่ในปี ๒๕๔๘ ไม่มี จึงอยากจะสอบถามว่า รัฐบาลหรือกรรมาธิการได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากประเทศหนึ่ง เหตุใดจึงไม่มีการตั้งงบประมาณในปี ๒๕๔๘ และสำหรับแผนงานวิจัย การใช้งบประมาณของกรมวิชาการเกษตรที่ได้รับงบประมาณ ๒,๘๔๒,๔๓๖,๘๐๐ บาท (สองพันแปดร้อยสี่สิบสองล้านสี่แสนสามหมื่นหกพันแปดร้อยบาท) ในปัจจุบันนี้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิชาการ งานวิจัย เป็นพื้นฐานในการพัฒนาการเกษตร ของไทย เช่น งานวิจัยเรื่องของการตกแต่งพันธุกรรมหรือที่เรียกว่า GMO ซึ่งงานวิจัยนั้นได้ดำเนินการด้านพันธุศาสตร์อย่างไร การวิจัยดังกล่าวเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรวมถึงผู้บริโภค ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนงบประมาณในการวิจัยดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นการส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจเรื่องการส่งออกและการเกษตร นอกจากนี้ควรจะมีนโยบายในการป้องกันการตกแต่งพันธุกรรมด้านการเกษตร ด้วยการตรวจสอบว่าปลอดภัยจากการตกแต่งพันธุกรรมก่อนการบริโภค หรือก่อนที่จะส่งออกสินค้าทางด้านการเกษตรนั้น
นายวิฑูรย์ นามบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในส่วนของกรมชลประทาน ซึ่ง งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจำนวน ๒๘,๐๖๖,๒๒๓,๑๐๐ บาท (สองหมื่นแปดสิบหกสิบหกล้านสองแสนสองหมื่นสามพันหนึ่งร้อยบาท) ซึ่งเป็นงบประมาณที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยแผนงานของกรมชลประทานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด คือ แผนงานการส่งเสริมการผลิตการเกษตร เช่น งานจัดการน้ำชลประทาน และขอตั้งข้อสังเกตว่า กรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่ผลักดันเรื่องของการเกษตร การดำเนินการที่ผ่านมาเป็นการจัดทำแหล่งน้ำทั่วไปประเทศไทย โดยเอาเรื่องการจัดการน้ำรวมถึงเรื่องการจัดการน้ำของกระทรวงอื่น ๆ มารวมในกรมชลประทานด้วย ตลอดระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา มีการตั้งงบประมาณไว้สูง โดยเอางานของปีงบประมาณก่อนมาสานต่อ เช่น โครงการโขง ชี มูล เป็นการก่อสร้างฝายน้ำล้นหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขื่อนขนาดเล็ก โดยใช้งบประมาณเป็นพันล้าน ซึ่งกรมชลประทานมีหลายโครงการที่ทำการก่อสร้างไม่เป็นระบบ ใช้เวลาระยะเวลาในการก่อสร้างนาน อีกทั้งบางโครงการแล้วเสร็จ แต่ยังไม่มีการเปิดใช้งาน มีโครงการหนึ่งซึ่งขอตั้งข้อสังเกตคือ โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ไม่สามารถกระจายแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอด ๓ ปีที่ผ่านมายังไม่มีการตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแม้แต่สถานีเดียว
นางสาวรังสิมา รอดรัศมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ขอกล่าวถึงในเรื่องของกรมชลประทานและกรมพัฒนาที่ดิน โดยให้ข้อสังเกตว่า จังหวัดสมุทรสงคราม มีคลองมากถึง ๓๕๖ คลอง แต่ไม่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณ สำหรับพัฒนาแหล่งน้ำเลยซึ่งจากจำนวน ๗๖ จังหวัด ได้รับอนุมัติงบประมาณพัฒนาเพียง ๖๘ จังหวัด เหตุใดจังหวัดสมุทรสงครามจึงไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ อีกเรื่องหนึ่งคือถนนที่ชำรุดเสียหาย เนื่องจากการขนวัสดุของผู้รับเหมาเหตุใดกรมชลประทานจึงต้องเป็นผู้จ่ายเงินค่าซ่อมแซมเอง ผู้รับเหมาไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าซ่อมแซม
นางพิชญ์สินี มุ่งฝากกลาง กิตติรักษกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา พรรคไทยรักไทย ได้อภิปรายถึง โครงการน้ำแก้จน ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์แก่ประชาชน แต่การปฏิบัติโดยการวางท่อน้ำไปยังเกษตรกรนั้น ประชาชนยังไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง ควรมีการปรับแผน และใช้เงินงบประมาณน้อยลง อีกเรื่องหนึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติกองทุนวิสาหกิจชุมชน เช่น เรื่องของการทำโรงปุ๋ย เพื่อเกษตรกร และเรื่องของการเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ ในโครงการหม่อนเลี้ยงไหมที่ต้องการเห็นการบูรณาการโดยรวมของการจัดสรรงบประมาณลงไปในโครงการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายกล่าวถึงเรื่อง ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในกระทรวงเกษตรและ
สหกรณ์ ซึ่งเกิดจากความผิดพลาดของข้อมูล โดยได้ยกตัวอย่างโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการมานั้น มีการเตรียมความพร้อมหรือไม่ และมีหลายโครงการที่ค้างคาอยู่เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ เช่น กรณีการจ่ายเงินให้กับผู้ประสบอุทกภัย มีหลายโครงการที่ไม่มีการสำรวจก่อนล่วงหน้า ทำให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนดังนั้นจะต้องมีการปรับลดงบประมาณลง