สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๒๑

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:39 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๒๑
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพฤหัสบดีที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๔.๓๐ - ๑๕.๓๐ นาฬิกา
ต่อจากนั้นนายสุวโรช พะลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขอแปรญัตติปรับลด งบประมาณลงทั้งสิ้นโดยประมาณ ๑๑,๕๓๐,๑๗๑,๓๗๘ บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยสามสิบล้านหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นหนึ่งพันสามร้อยเจ็ดสิบแปดบาท) ใน ๑๒ หน่วยงาน โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
๑. กรมปศุสัตว์และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ค่าใช้จ่าย
การศึกษาวิจัยในการทำการค้าเสรีภ (FTA) เบื้องต้นตั้งงบประมาณไว้ ๔ ล้านบาท และกรรมาธิการ ได้ตัดลดงบลง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาท) โดยเฉพาะการจัดทำ FTA ซึ่งการจัดทำ FTA ดังกล่าว ได้มีการสอบถามจากเจ้าหน้าที่การเกษตรแล้ว ได้รับคำตอบว่าไม่มีความประสงค์ที่จะนำ โคเนื้อและโคนมเข้าไปร่วมในการทำบันทึกข้อตกลง FTA ระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลีย เนื่องจาก ต้นทุนในการผลิตสูงมาก ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงควรให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมโดยแจ้งให้รัฐบาลทราบว่า ถ้ามีการลงนามในเรื่องดังกล่าวจะมีผลกระทบอะไรบ้าง และถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้น รัฐบาลมีมาตรการอะไรบ้างที่จะปรับโครงสร้างและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อ เรื่องดังกล่าวนี้จึงเป็นปัญหาในการลงนามพันธสัญญา FTA โดยนำเกษตรกรไปผูกไว้กับต่างประเทศในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีความเข้มแข็งพอ รวมทั้งขณะนี้ คณะกรรมาธิการได้มี
- การจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการทำ FTA หรือไม่ อย่างไร และถ้ามีการศึกษาจะมีวิธีการอย่างไร
- ถ้าเกิดปัญหาขึ้นกรรมาธิการจะมีการซักถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะแก้ปัญหาได้ทันหรือไม่ อย่างไร
๒. กรมวิชาการเกษตร ขณะนี้ปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำให้เกษตรกร
ชาวสวนปาล์มมีรายได้บ้างพอสมควร แม้ว่าต้นทุนและปัจจัยต่าง ๆ มีราคาสูงมาก สำหรับต้นกล้าปาล์มนั้นขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ทำหนังสือรับรองคุณภาพ เพื่อเป็นหลักประกันในการจัดซื้อพันธุ์กล้าปาล์มแล้ว แต่รัฐบาลก็ได้ประกาศไม่อนุญาตให้นำพันธุ์กล้าปาล์มเข้ามาในประเทศ และถ้าได้พันธุ์กล้าปาล์มที่ไม่มีคุณภาพแล้ว ผลผลิตออกมาจะไม่คุ้มทุนในแต่ละรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์ม ในเรื่องดังกล่าวนี้กรรมาธิการ
- ให้ความสำคัญกับพืชเศรษฐกิจชนิดนี้มากน้อยเพียงใด
- มาตรการที่จะให้เกษตกรที่สนใจขยายพื้นที่ปลูกพันธุ์กล้าปาล์มทดแทนพันธุ์กล้า
ปาล์มที่มีอยู่แล้วหรือขยายพื้นที่ใหม่คุ้มค่าแก่การลงทุนมากน้อยเพียงใด
๓. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ปริมาณงาน
ต่าง ๆ แต่ในการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นนั้น โดยมีผู้ว่า CEO เป็นผู้รายงานปัญหา แก้ไขปัญหา และรู้ปัญหาต่าง ๆ ในจังหวัด และรายงานไปยังนายกรัฐมนตรี แต่ฐานข้อมูลที่ผ่านมา ผิดไปจากเดิมและแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ในเรื่องดังกล่าวนี้คณะกรรมาธิการ
- ให้ความสำคัญในการหาฐานข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรหรือไม่
- การประเมินผลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรแห่งชาติในปีงบประมาณ ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และจะมีวิธีการประเมินอย่างไร
- ในปี ๒๕๔๘ นี้ มีอะไรเป็นฐานข้อมูลในการจัดสรรงบประมาณ
จากนั้นนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในส่วนของการปรับลดงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร้อยละ ๑๐ เพราะยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี เห็นว่า กรรมาธิการไม่ได้ปรับปรุงงบประมาณให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มี ๓ ประการ คือ
๑. ยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน อันได้แก่ การสร้างความเป็นเลิศให้แก่
สินค้าและบริการทั้งในประเทศและตลาดโลก
๒. ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ คือ การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจ
ฐานล่าง โดยเฉพาะให้กลุ่มเกษตรกรให้มีคุณภาพและฐานะที่ดีขึ้น
๓. ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทุนทางสังคม การแก้ไขปัญหาความยากจน และยก
ระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะการให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน
จากยุทธศาสตร์ กรอบ และทิศทาง ทั้ง ๓ ข้อนี้ จะให้ความสำคัญแก่เกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มฐานล่างและเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากในประเทศไทย ร้อยละ ๖๐ ของเกษตรกร เป็นผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นการจะพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืน รัฐบาลจะต้องกำหนดงบประมาณเพื่อให้เกิดผล ในการปฏิบัติอย่างแท้จริง แต่ในภาพรวมของงบประมาณในทุกกรม จะเห็นว่าเป้าหมายอย่างแท้จริงของรัฐบาลจะไม่อยู่ที่เกษตรกร โครงการหลักที่จะทำให้เกษตรเข้มแข็งและยั่งยืนไม่มี แต่รัฐบาลกลับ มุ่งเน้นงบประมาณไปสู่การพัฒนาในส่วนอื่นมากกว่า โดยเฉพาะงบกลาง ดังนั้นจึงขอถามว่า
- รัฐบาลมีการช่วยเหลือต้นทุนในปัจจัยการผลิตของเกษตรมากน้อยเพียงใด
- การนำประเทศไทยไปสู่ความเข้มแข็ง จะเข้มแข็งอย่างไร เพราะกระทรวงเกษตร
และสหกรณ์ได้รับงบประมาณลดลง
- นโยบายหลักที่จะนำไปสู่การพัฒนาและฟื้นฟูตามยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืนของชีวิต ซึ่งโครงการหลักที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิถีชีวิตของเกษตกรไม่ได้รับการดูแล เอาใจใส่ เช่น งบประมาณในส่วนของกรมวิชาการเกษตรที่จะต้องดูแลในการจัดโซนนิ่ง และการวิจัยพัฒนาไม่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น
- กองทุนฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกรอยู่ที่ใด เพราะโครงการดังกล่าวนี้ผ่านเป็นกฎหมาย
เรียบร้อยแล้ว พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่
การฟื้นฟูวิถีชีวิตของเกษตรกรอย่างแท้จริง คือ ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการ
กำหนดการใช้งบประมาณและวิถีชีวิตในการปรับปรุง ในความเป็นจริง
ศักยภาพของท้องถิ่น โซนนิ่งในการแบ่งพื้นเศรษฐกิจหลักว่าสมควรปลูกพื้นที่ใด
และจำนวนเท่าใด ถ้ารัฐบาลไม่มีทิศทางในการกำหนดโครงสร้างการพัฒนา
กลุ่มเกษตรกร จะเป็นการพัฒนาที่สูญเปล่า เพราะความชัดเจนในเชิงนโยบาย
ไม่มี ถ้าต้องการฟื้นฟูวิถีชีวิตเกษตรกรต้องให้เกษตรกรเกิดกระบวนเรียนรู้และ
พัฒนาจากภูมิปัญญาของเกษตรกรเอง จึงเป็นการกำหนดกรอบได้อย่างถูกต้อง
กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
แต่งบประมาณลงทุนของกรมชลประทาน ร้อยละ ๖๐ เป็นงบผูกพัน ไม่ได้สร้างและต่องานใหม่ ส่วนที่ได้มีการลงทุนและดำเนินการมาแล้ว
กรมวิชาการเกษตร ได้จัดตั้งงบประมาณไว้ ๒,๘๔๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองพันแปดร้อย สี่สิบสองล้านบาท) ขอปรับลดลงร้อยละ ๑๐ เพราะ
- สอดคล้องกับภาพรวมของกระทรวงเกษตรฯ การตัดต่อพันธุกรรม (พืช GMO) กำลังเข้ามา กรรมาธิการมีความตระหนักหรือไม่ว่า จะต้องมีการพัฒนาพันธุ์พืชท้องถิ่นให้มีความสำคัญในการแข่งขันกับ GMO ในอนาคต หรือป้องกันไม่ให้พืช GMO มาปนกับพืชและผลไม้ของไทยอย่างไร
- ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรที่เข้าโครงการปลูกยางขยายพื้นที่ใหม่ ๑ ล้านไร่ ในภาคเหนือและอีสานว่า ไม่ได้รับพันธุ์กล้ายาง และผู้ที่ประมูลการเพาะพันธุ์กล้ายางไม่มีพื้นที่ ประสบการณ์ และคุณลักษณะของผู้ประมูลได้ และการเพาะพันธุ์กล้ายางไม่ตรงสเปกที่ได้กำหนดไว้ในเรื่องดังกล่าวนี้ ผู้ใดจะเป็นผู้รับผิดชอบกับความเสียหายดังกล่าว
นายพินิจ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการ ได้อภิปรายชี้แจง ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- เรื่องของพืช GMO นั้น ขณะนี้ตอนนี้นายกรัฐมนตรีได้ ให้ชะลอออกไปก่อนโดย ให้ไปทำการวิจัยวิเคราะห์ความเสี่ยงของอาหาร ทำการประเมินความปลอดภัยของพืชอาหารที่ได้มาจากจุลินทรีย์ และที่ได้ดัดแปลงพันธุกรรมต่าง ๆ
- เรื่องการไม่มีการสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้า ได้มีการถ่ายโอนไปตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แต่ไม่มี
การดำเนินการ จึงได้กลับมาที่กรมชลประทานอีกครั้ง ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าไว้ ๑๕๐ สถานี
แต่ทำได้เพียง ๒๐ สถานี ฉะนั้นจึงต้องนำเอาในส่วนของปี ๒๕๔๗ มาดำเนินการ
ในปี ๒๕๔๘
- เรื่องการป้องกันน้ำท่วมใน ๖ เมือง ได้แก่ พะเยา ร้อยเอ็ด อุดรธานี มหาสารคาม
แพร่ และสุโขทัยนั้น กรมชลประทานได้ดำเนินการโดยใช้เงินงบประมาณทั้งหมด
๘๙๗ ล้านบาทเศษ ซึ่งจะได้ดำเนินการในปีนี้
- เรื่องคันกั้นน้ำเค็มที่ก่อสร้างที่อัมพวา ซึ่งมีแผนจัดสร้างในปี ๒๕๔๘ บางส่วน ได้ดำเนินการแล้ว เช่น ที่บางน้ำเค็ม ส่วนที่แพรกหนามแดงซึ่งใช้งบ ๓.๙ ล้านบาท และที่สายอัมพวาใช้งบ ๙.๙ ล้านบาทนั้น ได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว
- เรื่องการตัดงบประมาณจำนวน ๑๙๐,๓๖๗,๔๐๐ บาท (หนึ่งร้อยเก้าสิบล้านสามแสนหกหมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยบาท)ในส่วนของการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรนั้น ความจริงแล้วไม่มีการตัดงบประมาณออก แต่อย่างใด
- ประเด็นที่ถามว่ากรรมาธิการได้มีการซักถามรายละเอียดในเรื่องฐานข้อมูลหรือไม่ และเรื่องความพร้อมในการดำเนินการ ในประเด็นนี้ทางกรรมาธิการได้ทำการ ซักถามอยู่เสมอ
- สำหรับโครงการขุดลอกคลอง เมื่อมีทัวร์นกขมิ้นลงไปนั้น ความจริงแล้วจังหวัด
ต่าง ๆ มีความต้องการให้นายกรัฐมนตรีลงไป ซึ่งโครงการต่าง ๆ เป็นโครงการที่มี อยู่แล้ว และได้นำมาเสนอ ไม่ใช่ว่านายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ทำ ซึ่งเป็นเรื่องของ
พื้นที่นำเสนอไม่ใช่มีใครสั่งลงไป
- เรื่องของกล้าปาล์มที่ถามว่าจะมีการอนุญาตหรือไม่อนุญาตนั้น ได้ให้กรมวิชาการ
เกษตรไปดำเนินการและดูแลในเรื่องนี้แล้ว และได้มีการซักถามว่ามีการห้าม
จริงหรือเปล่า ได้รับคำตอบว่าไม่มีการห้าม จึงให้กรมวิชาการเกษตรไปวิเคราะห์
ดูว่า ปาล์มพันธุ์ดีที่ประสงค์นำเข้ามามีประโยชน์อย่างไรบ้าง อีกทั้งยังให้มีการ
สนับสนุน เพราะว่าปาล์มเป็นพืชที่ให้ประโยชน์หลาย ๆ อย่าง
- เรื่องราคาผลไม้ตกต่ำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนปัจจุบันได้มี
การประชุมเรื่องราคาผลผลิต เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด เพื่อหาทางแก้ไข
นอกจากนี้ยังให้ความสนใจในเรื่องการแบ่งโซนนิ่ง โดยจะมีการหารือกันในเรื่องนี้
ต่อไป
- เรื่องเงินกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร เนื่องจากมีกองทุนหลายกองทุนเกิดขึ้น แต่ในปีนี้
คณะกรรมการไม่ได้เสนอเข้ามา จึงไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้แต่กรรมาธิการก็มี
ความสนใจ ในความเป็นจริงแล้ว กรรมาธิการจะพิจารณาในเรื่องของตัวเม็ดเงิน
ที่นำเสนอเข้ามาเท่านั้นไม่มีโอกาสที่จะไปพิจารณาถึงเม็ดเงินอื่น ๆ
นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะกรรมาธิการ ตอบข้อซักถามในประเด็นเรื่องของการสร้างถนนและอ่างเก็บน้ำว่า เป็นเรื่องที่ได้สั่งการในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายหลังจากที่พ้นตำแหน่งแล้วก็ไม่ได้ติดตามในเรื่องนี้อีก และในชั้นของกรรมาธิการก็ไม่ได้มีการซักถามในประเด็นนี้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นข้อห่วงใย ทางคณะกรรมาธิการก็จะแจ้งเรื่องนี้ให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปติดตามและให้เสนอรายงานให้ท่านสมาชิกทราบต่อไป อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่อง กล้ายาง จำนวน ๙๐ ล้านต้น เป็นประเด็นที่ทางคณะกรรมาธิการให้ความสำคัญมาก ได้มีการซักถามในรายละเอียด โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพ และได้รับคำชี้แจงจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตรว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการส่งมอบกล้ายาง ซึ่งมีคณะกรรมการในการตรวจรับ และมีขั้นตอนในการ ดำเนินการที่เข้มงวด อีกทั้งการส่งมอบกล้ายาง ในแต่ละงวดกล้ายางที่สามารถผ่านขบวนการของการตรวจรับมีค่อนข้างน้อยมาก จึงทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า จะได้ครบจำนวน ๙๐ ล้านต้น อาจจะล่าช้าไปกว่ากำหนดเดิม เพราะมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกษตรกรที่รับกล้ายางไปเพาะปลูกเกิดปัญหาขึ้นได้
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงใน มาตรา ๑๑ พอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน ๒๙๒ เสียง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ