สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๒๕

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:43 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๒๕
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพฤหัสบดีที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๘.๓๐ - ๑๙.๓๐ นาฬิกา
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้สงวนคำแปรญัตติไว้ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยได้ขอปรับลด งบประมาณลงร้อยละ ๑๐ โดยเห็นว่าทั้งสองกรมไม่เอาใจใส่ ไม่มีการปรับแผนงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก และการป้องกันในการเกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น แหล่งแก๊ส ซึ่งเป็นแหล่งที่ใช้ร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย แต่เดิมที่แหล่งก๊าซนี้มีการตั้ง คำถามว่า ใครจะเป็นเจ้าของแหล่งก๊าซธรรมชาตินั้น ซึ่งในที่สุดก็มีข้อยุติว่า จะนำก๊าซมาใช้ร่วมกันทั้ง ๒ ประเทศ ปัจจุบันน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูง รวมทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ปัญหาเกิดจากบริษัทไทย ที่ รับผิดชอบในการวางท่อก๊าซ โดยเป็นการวางท่อไปเชื่อมกันระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ซึ่งกรณี ดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหาในทะเลกับราษฎรไทย จำนวน ๔๐๐ ราย โดยที่กรมควบคุมมลพิษ ไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็ไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเช่นกัน กรณีต่อไปคือ ปัญหาโรงแยกก๊าซที่มีการวางท่อก๊าซใต้ดินนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในการวางท่อก๊าซยาว ๙๐๐ กิโลเมตร โดยใช้สารควบคุมเบนโทไนซ์ ซึ่งสารดังกล่าวมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ของพืช กรมควบคุมมลพิษไม่ได้เอาใจใส่และไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทราบถึงผลร้ายของสารพิษดังกล่าว
ปัญหาที่กล่าวมาข้างทั้งหมดนี้ นายนายวิรัตน์เห็นว่าควรจะมีการปรับลดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐
นายสุวโรช พะลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในมาตรา ๑๓ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายสุวโรชได้ขอปรับลดงบประมาณลงจำนวน ๒,๒๕๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองพันสองร้อยห้าสิบหกล้านบาท) จากงบที่ตั้งไว้ ๑๖,๗๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นหกพันเจ็ดร้อยสิบเอ็ดล้านบาท) โดยมีเหตุผลดังนี้
๑. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นกรมใหม่ที่รับผิดชอบธรรมชาติและ
ชายฝั่ง จากการที่นายกรัฐมนตรีได้ไปสัญจรในที่ต่าง ๆ เช่น ที่ภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติ แผนงานที่เกิดจากการไปสัญจรตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้รับรู้และรับทราบถึงปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งในบางครั้งนายกรัฐมนตรีได้ไปสัญญากับประชาชนในพื้นที่ว่า จะมีการสร้างโครงการต่าง ๆ มากมาย ซึ่งได้มีการอนุมัติงบประมาณแล้ว แต่โครงการต่าง ๆ ก็ยังคงไม่เริ่มดำเนินการ หรือในกรณีที่หน่วยงานระดับจังหวัดเสนอโครงการมาเป็นจำนวนมาก และนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติ แต่โครงการต่าง ๆ ยังไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้กรรมาธิการจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
๒. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ติดตามในเรื่องสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า
ซึ่งการดำเนินการศึกษาสภาพป่าที่มีอยู่จริงนั้น อยู่ในกำกับดูแลของกรมป่าไม้ ผลที่ได้รับจากการศึกษานั้นมีสภาพป่าจริงจำนวนเท่าไร แต่ในตัวเลขที่กรมป่าไม้มีกับความเป็นจริงนั้นแตกต่างกัน สภาพป่า ในปัจจุบันเป็นภูเขาหัวโล้น เนื่องจากมีการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า เป็นจำนวนมาก และกรรมาธิการ ได้ทำการตรวจสอบบ้างหรือไม่ว่า มีป่าที่ยังคงเป็นป่าจริง ๆ มีจำนวนเท่าไร และควรดำเนินการจับกุม ผู้ลักลอบตัดไม้ นอกจากนี้ได้มีการดำเนินการในการติดตามหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจับกุม ผู้ลักลอบตัดไม้หรือไม่ รวมทั้งผู้ประกอบการโรงเลื่อยจะต้องมีการป้องกันในเรื่องของการลักลอบตัดไม้ และตีแผ่ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น กรณี ภาคกลางฝนตกน้อย แต่น้ำท่วม ซึ่งเป็นผลมาจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เรื่องดังกล่าวทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการปรับลดงบประมาณลง
นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ และประธานคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้ตอบข้อซักถามดังนี้
ในปี ๒๕๔๗ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติมีหน่วยงานในสังกัด ๑๐ หน่วยงาน งบประมาณ ที่ได้รับจำนวน ๑๔,๘๘๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันแปดร้อยแปดสิบสามล้านบาท) และ ในปี ๒๕๔๘ ได้เพิ่มงบประมาณอีก ๑,๒๖๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเป็นกระทรวงใหม่ ดังนั้นการดำเนินงานจึงต้องมีอุปสรรคบ้าง เพราะหน่วยงานต่าง ๆ แยกมาจากหลาย ๆ กระทรวง สิ่งเหล่านี้ทำให้กระทรวงยัง ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ
สำหรับเรื่องการสร้างโรงกลั่นน้ำมันที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านเหลม จังหวัดเพชรบุรีนั้น แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สัญญากับชาวบ้านไว้ว่าจะไม่มีการอนุญาตให้ก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันดังกล่าว ส่วนเรื่องอื่น ๆ ขอตอบชี้แจงดังนี้
ในกรณีที่สมาชิกสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการควบคุมมลพิษ ซึ่งในปีนี้ถูกปรับลดงบประมาณลงใน ๒๓ ล้านบาท กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่ดูแลจริง แต่ทว่าอำนาจในการนำเข้าสารเคมีนั้นอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัญหานี้ไม่อยู่ในอำนาจกรรมาธิการ
สำหรับปัญหาท่อก๊าซนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของกรรมาธิการ แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร เพราะกรรมาธิการมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับด้านงบประมาณ ส่วนการที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เอาใจใส่นั้น ทางกรรมาธิการได้สอบถามแล้วพบว่า เนื่องจากมีอัตรากำลังน้อย ทำให้ไม่สามารถ ควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง การดำเนินการในเรื่องของสารเบนโทไนซ์ ทางกรรมาธิการไม่ได้มีการซักถาม และไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว กรรมาธิการมีหน้าที่ปรับลดงบประมาณเท่านั้น
สำหรับเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า คณะกรรมาธิการไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร
ส่วนเรื่องการควบคุมงบประมาณในเรื่องของบ่อบำบัดน้ำเสีย และที่ฝังกลบขยะ โดยได้ดำเนินการอนุมัติงบประมาณและทำการก่อสร้างไปแล้ว แต่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และมีการตั้งงบประมาณใหม่ในปี ๒๕๔๘ นั้น ที่จะก่อสร้างใหม่อีก ๒๙ แห่ง จะเป็นอย่างที่ผ่านมา หรือไม่ และจะจัดการอย่างไรที่จะไม่ให้เป็นปัญหากับรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณ ขอชี้แจงว่า การของบประมาณก่อสร้างใหม่ ๒๑ แห่งนั้น มีการจัดทำแผนตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอ ขอมา ซึ่งสำนักงบประมาณได้ตรวจสอบแล้ว และในเรื่องของบ่อบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ ๑๑๔ แห่งนั้น สามารถใช้ได้จริงเพียง ๑๖ แห่ง เท่านั้น ในขณะนี้รัฐมนตรีได้ศึกษาถึงปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ