สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๒๙

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:47 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๒๙
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันศุกร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๐๙.๓๐ - ๑๐.๓๐ นาฬิกา
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณามาตรา ๑๗ ซึ่งเป็นงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย โดยมีสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ดังนี้
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรค ประชาธิปัตย์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้อภิปรายปรับลดงบประมาณของกระทรวงมหาดไทยลง ร้อยละ ๑๐ โดยพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมานั้น ไม่เป็นไปตามพันธกิจและวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ และได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น การประมูลงานในโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายด้วย
ระบบทางด่วนข้อมูล ที่มีการตั้งงบประมาณผูกพัน ๗๐๐ ล้านบาท ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการตั้งงบประมาณดำเนินการแล้ว ๑๔๐ ล้านบาท และในปีนี้ของบประมาณอีก ๒๘๐ ล้านบาท จากการเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา พบว่าเกิดความไม่โปร่งใสในการประมูลงาน ที่มีผู้ผ่านการพิจารณาเพียง ๒ ราย และผู้ที่ประมูลได้เสนอราคาต่ำสุด คือ ๖๙๙,๒๔๕,๐๐๐ บาท (หกร้อยเก้าสิบเก้าล้านสองแสนสี่หมื่น ห้าพันบาท) เมื่อทางส่วนราชการเรียกผู้ประมูลมาต่อรองราคาก็ได้ลดลงแค่ ๔๕,๐๐๐ บาท เมื่อสอบถาม ไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ประมูลได้เสนอราคา ใกล้เคียงกับงบประมาณกลางที่ตั้งไว้มากเกินไป
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแปรญัตติปรับลดงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย ในส่วนของกรุงเทพมหานครลง ๒,๓๘๑,๐๐๖,๐๐๐ บาท (สองพันสามร้อยแปดสิบเอ็ดล้านหกพันบาท) ใน โครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลค่าโครงการ ๘ พันล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ประเทศออสเตรียจะให้ความ
ช่วยเหลือจัดหาเงินทุนและรับพันธะทางการค้า (Counter Trade) ร้อยละ ๑๐๐ ซึ่งเป็นความช่วยเหลือแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กระทรวงมหาดไทยได้เสนอโครงการดังกล่าวเข้าคณะรัฐมนตรี และก็ได้รับอนุมัติไปแล้ว แต่จะต้องไปขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ฯ ซึ่งรัฐบาลยังได้อนุมัติงบประมาณให้ดำเนิน โครงการนี้ร้อยละ ๖๐ และยังมีงบประมาณของกรุงเทพมหานครอีกร้อยละ ๔๐ ไม่ปรากฏถึงความ ช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรียแต่อย่างใด ที่บอกว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือแบบ G to G นั้น เมื่อมีการทำสัญญาจะซื้อวัสดุ อุปกรณ์ กลับกลายเป็นบริษัทของเอกชนที่ชื่อบริษัท สกายเออร์ มอร์กานส์ ที่รับจ้างประกอบรถยนต์ และในการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ของโครงการนี้ก็เป็นการกระทำที่ผิดมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้จัดซื้อวัสดุคุรุภัณฑ์ในประเทศที่จัดหาได้ แต่กลับไปจัดซื้อในต่างประเทศ ชี้ให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในโครงการดังกล่าว จึงขอปรับลดงบประมาณลง ๒ พันล้านบาท
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายการจัดตั้งบประมาณของกระทรวงมหาดไทย โดยได้เสนอให้ปรับลดลงร้อยละ ๑๐ ในเรื่องเกี่ยวกับการกระจายอำนาจที่กระทรวงมหาดไทยมีการดำเนินการที่ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๘ ในเรื่องการกระจายอำนาจใน ๒ ส่วน คือ ผู้ว่า CEO และหมู่บ้าน S, M, L
๑. หมู่บ้าน S, M, L การที่รัฐบาลประกาศนโยบายหมู่บ้าน S, M, L โดยให้เงินแก่
หมู่บ้านต่าง ๆ ตามขนาดของหมู่บ้านนั้นถือว่าจำนวนเงินดังกล่าวเป็นงบหาเสียง และเป็นการนำเงิน งบประมาณที่ได้มาจากการเก็บภาษีประชาชนไปใช้ตามอำเภอใจ ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งขัดต่อ รัฐธรรมนูญมาตรา ๗๘ และนโยบายการกระจายอำนาจอย่างชัดเจน
๒. ผู้ว่า CEO ถือว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๘ เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย
ข้าราชการ โดยบางคนไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่ แต่กระทรวงกลับมีคำสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ และบางคนที่เสนอขอย้ายตนเองออกจากพื้นที่กลับให้อยู่ที่เดิม ซึ่งถือว่ากระทรวงมหาดไทยทำงาน บกพร่อง จึงขอปรับลดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐
นายสุวโรช พะลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอปรับลดงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย ในส่วนของกรมที่ดินลง ๖๓๓ ล้านบาท โดยได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
๑. การดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการพยายามแก้ไขปัญหาความยากจนของ
ประชาชนให้หมดไปภายใน ๖ ปีนั้น ปรากฏว่าในปัจจุบันประชาชนกลับมีฐานะยากจนเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้หนี้สินก็เพิ่มขึ้นด้วย
๒. ปัญหาเรื่องประชาชนที่เข้าไปทำมาหากินในเขตป่าอนุรักษ์ป่าสงวนนั้น โดยปกติ
การเข้าไปทำมาหากินในป่าลักษณะนี้มีมาหลายชั่วอายุคนแล้ว และได้มีการเสียภาษีให้กับรัฐมา โดยตลอด แต่รัฐบาลกำลังจะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการออกฎหมายมาบังคับใช้ให้เป็นพื้นที่ป่าสงวน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน อยากให้รัฐบาลใช้หลักรัฐศาสตร์ที่จะต้องทำความเข้าใจ กับประชาชนในพื้นที่มากกว่าการใช้หลักนิติศาสตร์ด้วยการออกกฎหมายมาบังคับประชาชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ