สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๓๑

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:49 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๓๑
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันศุกร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๑.๓๐ - ๑๒.๓๐ นาฬิกา
จากนั้นนายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก โดยเฉพาะ
๑. กรมโยธาและผังเมือง ซึ่งเดิมเป็นกรมโยธาธิการ หลังจากมีการปรับปรุงกระทรวง
ทบวง กรม ทำให้เกิดความสับสนในบทบาท ภาระหน้าที่ และพันธกิจของกรมโยธามาก จึงขอเรียนถามกรรมาธิการว่า โครงการก่อสร้างป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำและริมทะเลทั่วประเทศ ที่ใช้ระยะเวลาการดำเนินงาน ๒๗ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓-๒๕๖๐ โดยใช้งบประมาณ ๒ หมื่นกว่าล้านบาท นั้น ในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างไร เพราะดูจากการทำงานพบว่าไม่ได้ทำตามที่ได้สำรวจออกแบบไว้ เพราะอะไร และสามารถ ป้องกันตลิ่งพังได้หรือไม่
๒. กรมพัฒนาที่ดิน ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการดำเนินการตามแผนงานรักษาความ
มั่นคงภายในประเทศอย่างไร และทำไมจึงได้ใช้ข้อความดังกล่าวนี้เพื่ออะไร ส่วนแผนงานส่งเสริมการผลิตการเกษตรในอดีตจะอยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมผลการผลิตของเกษตรกรในปัจจุบันไปอยู่ในกรมพัฒนาที่ดินได้อย่างไรและทำหน้าที่อะไร
๓. กรมการปกครอง ในส่วนที่เกี่ยวกับงานจัดทำทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน
ของกรมการปกครอง มีปัญหาทั่วประเทศ โดยเฉพาะความทันสมัยทางเทคโนโลยีในยุคโลกาภิวัฒน์ ได้เข้าไปสู่ชุมชน และประชาชนไม่สามารถทำบัตรได้เนื่องจากเครื่องเสีย ดังนั้นในการของบประมาณ ไปใช้สามารถสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนได้มากน้อยเพียงใด การแก้ไขปัญหาในการให้บริการแก่ประชาชนมีมาตรการบ้างหรือไม่ อย่างไร
๔. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการถ่ายโอนงบประมาณค่อนข้างมาก
โดยเป็นไปตามแผน ขั้นตอน การกระจายอำนาจ เพราะต้องการให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มีการบริหารการจัดการด้วยตนเองได้ แต่ที่สำคัญกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นขาดบุคลากรในการทำงานมาก และเป็นปัญหาเรื่องการประสานงานในการทำงานระหว่างกรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในเรื่องดังกล่าวนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร และควรมีการปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพด้วย
๕. การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในช่วงหน้าฝนของแต่ละปีจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น
กับประชาชนมาก โดยเฉพาะเวลาฝนตกหนักถามว่า ข้อมูลและสถิติจากหน่วยงานภาครัฐมีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด เพราะจะเห็นว่าบางจังหวัดที่ไม่เคยประสบอุทกภัยเลย ต้องมาประสบอุทกภัยดังกล่าว ในเรื่องนี้เกิดจากธรรมชาติใช่หรือไม่ และตัวเลขข้อมูลสถิติดังกล่าวนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำข้อมูลมาจากที่ใด มีแผนในการเตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังอย่างไร เวลาเกิดปัญหาขึ้นจะมี หน่วยเคลื่อนที่เร็วหรือไม่ รวมทั้งมาตรการในการจัดสรรงบประมาณเพื่อไปช่วยเหลือในเบื้องต้น หรือมีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง มีหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลืออย่างไร
จากนั้นนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทยในวงเงิน ๑๓๙,๐๐๐ ล้านบาท ลดลง ร้อยละ ๑๐ เพราะเป็นกระทรวงที่สำคัญมากในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนและเป็นกระทรวงหลักที่จะนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน ซึ่งเหตุผลในการขอปรับลดงบประมาณลงเพราะรัฐบาลมีนโยบายในการดำเนินการโครงการจังหวัดทดลองแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนา ปัจจุบันนำไปสู่การจัดตั้งผู้ว่าแบบบูรณาการ และมีการมอบหมายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ๓ ด้าน คือ มีการมอบหมายงานเพิ่มเติมในการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ มอบอำนาจและการปฏิบัติราชการอื่นในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การดำเนินการเพื่อให้เกิดความรวดเร็วต่อการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของจังหวัด ในเรื่อง ดังกล่าวนี้ทำให้ประชาชนเห็นว่า มีการกำหนดความคิดเชิงการบริหารธุรกิจในยุคใหม่ คือ ระบบ CEO และทำให้ประชาชนเข้าใจว่าระบบ CEO เป็นระบบคล้าย ๆ รัฐบาล เป็นรัฐบาลท้องถิ่นที่รัฐบาลกลางมอบอำนาจเพื่อให้เข้าไปดูแลในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน รวมทั้งเข้าใจว่า จากการที่จังหวัดทดลอง ได้ดำเนินการในการที่จะจัดตั้งเป็นผู้ว่า CEO ไปแล้วและสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ จึงขอถามว่างบประมาณของปี ๒๕๔๗ ที่ได้อนุมัติไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว ๓ พันล้านบาทเศษ นั้น กรรมาธิการได้สอบถามหรือไม่ว่า งบประมาณดังกล่าวได้ดำเนินการไปอย่างไร และสามารถสนองตอบได้หรือไม่อย่างไร
๑. สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
๒. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการ
๓. บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน
๔. ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของจังหวัด
งบประมาณดังกล่าวในขณะนี้ยังไม่เกิดความเป็นธรรมและไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดผลได้ และเป็น ผู้ว่า CEO ที่ล้มเหลว
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรค ประชาธิปัตย์ อภิปรายปรับลดงบประมาณกระทรวงมหาดไทยลง ๑๗,๓๗๗,๒๒๓,๔๖๓ บาท (หนึ่งหมื่นเจ็ดพันสามร้อยเจ็ดสิบเจ็ดล้านสองแสนสองหมื่นสามพันสี่ร้อยหกสิบสามบาท) โดยได้อภิปรายในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยกับกรมการปกครอง โดยให้เหตุผลว่า ทั้ง ๒ หน่วยงาน ไม่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนได้ และไม่สามารถแสดงหลักเกณฑ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมในการโยกย้ายข้าราชการได้ ซึ่งในปีนี้ปัญหาความขัดแย้งในการโยกย้ายมีความรุนแรงมาก อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยได้ทำลายหลักธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดินโดยสิ้นเชิง มีข้าราชการบางส่วนไม่ได้ทำงานเพื่อประชาชน แต่ทำงานเพื่อสนองตอบความต้องการของรัฐบาล ซึ่งขัดกับหลักการเป็นข้าราชการที่ดี จึงจำเป็นต้องขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงมหาดไทยลง เพราะการบริหารจัดการงานในระบบธรรมาภิบาลของกระทรวงมหาดไทยล้มเหลวไม่มีประสิทธิภาพ เช่น กรณีการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เพราะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง และกรณีของนายอำเภอสะเดา ที่คณะรัฐมนตรีต้องมีมติในเรื่องนี้ว่า ต่อไปผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ต้องให้เกียรติอดีตรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรค ประชาธิปัตย์ อภิปรายปรับลดงบประมาณกระทรวงมหาดไทยลงร้อยละ ๑๐ โดยได้อภิปรายถึง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่า คณะกรรมาธิการได้ทำการตรวจสอบการดำเนินงาน และทำการประเมินถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของผลงาน รวมทั้งความโปร่งใสด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะโครงการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสนับสุนให้แก่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นงบผูกพัน งบประมาณปี ๒๕๔๖ - ๒๕๔๙ ในวงเงิน ๒,๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งมีทั้งหมด ๑๔ รายการ และรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติการประกวดราคา ในโครงการนี้เรียบร้อยแล้ว แต่โครงการนี้มีความไม่โปร่งใส ขัดหลักธรรมาธิบาล และส่อว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่น อีกทั้งใน ๑๔ รายการดังกล่าวยังมีความผิดปกติอย่างน้อย ๔ เรื่อง คือ มีการล็อคสเปก ขั้นตอนการประกวดราคาไม่โปร่งใส ราคากลางแพงเกินไป และผิดมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วย การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ๒๕๔๒ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ๒๕๓๕ การขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี และที่สำคัญผิดหลักการงบประมาณ อยากทราบว่าคณะกรรมาธิการได้มีการตรวจสอบและมีการชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้หรือไม่ อย่างไร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ