สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๓๔

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:52 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๓๔
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันศุกร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๔.๓๐ - ๑๕.๓๐ นาฬิกา
จากนั้น นายไพโรจน์ สุวรรณฉวี ได้ชี้แจงในกรณีที่มีสมาชิกอภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณลงไปในพื้นที่ของคณะกรรมาธิการมากผิดปกติว่า ไม่มีการกระทำดังกล่าวแน่นอน
ต่อข้อเสนอเกี่ยวกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้ให้อธิบดีไปดำเนินการต่อไป และคำถามในกรณีการตั้ง Home Solar Cell ตัวเลขเบื้องต้นมาจากการสำรวจจริง แต่ตัวเลข ที่จะดำเนินการติดตั้ง Home Solar Cell นั้นมีประมาณ ๕๔๐,๐๐๐ ครัวเรือน ซึ่งการตั้ง Home Solar Cell ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้ มีความเท่าเทียมกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในส่วนของการดำเนินเฟสแรก ได้ตั้งงบประมาณและดำเนินการไปแล้วร้อยละ ๕ และเฟสที่สองจะดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งต้องดูผลการดำเนินงานในเฟสแรกด้วย จึงต้องมีการตัดงบประมาณลง เพราะไม่สามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้
สำหรับคำถามในส่วนงบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น ขอชี้แจงว่า ไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด
ส่วนในเรื่องคำถามเกี่ยวกับการตั้งผู้ว่า CEO ที่ไม่มีการตรวจสอบการทำงานนั้นไม่เป็นความจริง และในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในงบประมาณของกรุงเทพมหานครที่มีการตั้ง งบประมาณหลาย ๆ เรื่อง เช่น การของบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรจะต้องผ่านการกลั่นกรองจาก คจร. ก่อนโดยที่กรรมาธิการก็จะดูความเป็นไปได้ของโครงการด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด และในปีนี้กรรมาธิการก็มีการปรับลดงบประมาณของกรุงเทพมหานครไปมาก แต่งบประมาณที่ใช้ในการศึกษาของเด็กปฐมวัยที่ กทม. ได้ขอเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว กรรมาธิการไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด
จากนั้นนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงประเด็นที่นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ ที่ได้ขอเอกสารแล้วได้รับเอกสารล่าช้านั้นเป็นเพราะเกิดปัญหาในเรื่องสถานที่ ๆ จะรับเอกสาร
ต่อจากนั้นประธานได้ให้สมาชิกลงมติ โดยสมาชิกเห็นชอบ ๒๗๔ เสียง
ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณมาตรา ๑๘ งบประมาณของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางดังนี้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ขอปรับลดงบประมาณในส่วนที่ได้สงวนคำแปรญัตติไว้จำนวน ๗๔๑,๕๔๐,๐๙๖ บาท (เจ็ดร้อยสี่สิบเอ็ดล้านห้าแสนสี่หมื่นเก้าสิบหกบาท) ไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ในเหตุผลที่ว่า กระทรวงยุติธรรมดำเนินงานไม่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ที่ได้กำหนดไว้ ในปี ๒๕๔๗ - ๒๕๔๘ มีการกำหนดตัวชี้วัดไว้ว่า ประชาชนร้อยละ ๘๐ ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในระบบยุติธรรม แต่จากที่มีการจัดทำ "ยุติธรรมโพลล์" ก็ได้ข้อสรุปว่า ประชาชนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ และไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กระทรวงยุติธรรมได้กำหนด ตัวชี้วัดไว้จาก งบประมาณของกระทรวงยุติธรรมที่ตั้งไว้ในปี ๒๕๔๘ พบว่า เพิ่มมากขึ้นจากปี ๒๕๔๗ ทุกรายการ และในทุกหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม และได้อภิปรายเรียงตามหน่วยงานดังนี้
๑. สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม มีการตั้งงบดำเนินงานและงบลงทุนเพิ่มขึ้น
ทุกรายการถึงร้อยละ ๑๕
๒. กรมคุมประพฤติ ขอให้เน้นการทำงานแบบบำบัดทุกข์บำรุงสุข และคำนึงถึงความ
รู้สึกของพ่อ-แม่ ในกรณีการนำเด็กและเยาวชนที่ติดยาเสพติดไปฟื้นฟูสมรรถภาพ ขอให้เปลี่ยน หลักเกณฑ์ โดยไม่ต้องให้พ่อ-แม่ ไปแจ้งความจับลูกก่อนที่จะนำลูกไปฟื้นฟู ซึ่งงานนี้เห็นว่าไปซ้ำซ้อนกับงานของกระทรวงกลาโหมและของ ปปส.ด้วย
๓. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
- ขณะนี้มีปัญหา คือ ประชาชนไม่รู้กฎหมาย และไม่รู้จะไปปรึกษาใครจึง
เห็นสมควรให้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อให้คำแนะนำปรึกษาข้อกฎหมายกับประชาชน การที่เสนอให้ตัดงบประมาณเนื่องจากกรมนี้ทำงานไม่เข้าเป้า ไม่สามารถให้การคุ้มครอง สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ได้ตามวัตถุประสงค์
- การจ่ายเงินทดแทนให้กับผู้เสียหายในคดีอาญาล่าช้า ไม่เป็นไปตาม
นโยบายของกระทรวงยุติธรรมที่ว่า "เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๔๕ วัน"
๔. กรมบังคับคดี มีหน้าที่ยึดทรัพย์และขายทรัพย์ที่ยึดไว้ ซึ่งการขายทรัพย์ควร
คำนึงถึงพื้นฐานของความยุติธรรมด้วย เพราะมีเรื่องร้องเรียนจากลูกหนี้ที่โดนเร่งขายทรัพย์ที่ถูกยึดมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม และขณะนี้ได้มีการของบประมาณในส่วนของงบเงินเดือน
และค่าจ้างชั่วคราวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๕ ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับข้าราชการหน่วยงานอื่น เพราะกรมบังคับคดีมีเงินรางวัลจากการทำยอดจำหน่ายทรัพย์สินที่ยึดไว้อยู่แล้วเป็นจำนวนมากพอสมควร ดังนั้นงบเงินเดือนจึงไม่น่าที่จะขอเพิ่ม
๕. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ควรจะมีการดำเนินงานในด้านจิตวิทยา
กับเด็กที่อยู่ในความคุ้มครองมากกว่าการจะของบประมาณไปเพิ่มผู้คุมเด็ก และในส่วนของค่าใช้จ่ายในการนิเทศก์ จำนวน ๑.๖ ล้านบาท และการผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ ๖.๙ ล้านบาท อยากทราบว่า กรมพินิจจะนำไปทำการประชาสัมพันธ์อะไรบ้าง ขอให้กรรมาธิการช่วยไปตรวจสอบ
๖. กรมราชทัณฑ์ มีการตั้งงบประมาณด้านสาธารณูปโภค งบเพื่อการประชาสัมพันธ์
การจ้างที่ปรึกษาติดตามประเมินผลตามยุทธศาสตร์กรมราชทัณฑ์ ตลอดจนการจ้างที่ปรึกษาเพื่อ ก่อสร้างเรือนจำเอกชน เห็นว่าไม่เหมาะสม ขอให้กรรมาธิการตรวจสอบรายละเอียดด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ