ฉบับที่ ๓๕
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันศุกร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๓๐ นาฬิกา
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายต่อในงบประมาณของกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า
- เหตุใดจึงมีงบประมาณด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นมาก และวัสดุพิเศษที่ใช้สำหรับการ
สืบสวนนั้น เหตุใดจึงไม่จัดซื้อเท่าที่จำเป็น
- สำนักงานกิจการยุติธรรม เหตุใดงบประมาณในปี ๒๕๔๗ ได้รับจัดสรรเพียง
๖๔ ล้านบาท แต่ในปี ๒๕๔๘ ได้รับจัดสรรถึง ๒๕๓ ล้านบาท ทำไมจึงไม่ประหยัด และที่อ้างว่าบุคลากรเพิ่มขึ้นนั้น เพราะเอามาทำยุติธรรมโพลล์ใช่หรือไม่
- เงินอุดหนุนทั่วไปโครงการวิจัย วิจัยอะไร ขอรายละเอียดด้วย
- เงินที่ใช้ในการประชุมองค์การสหประชาชาติ (UN)นั้น ในปีที่แล้วใช้อะไรบ้าง
ขอรายละเอียดด้วย
- ค่าจ้างที่ปรึกษาในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ๕.๔ ล้านบาท ของสำนักงาน
กิจการยุติธรรม และค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ๔ ล้านบาท ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีความจำเป็น จริงหรือไม่
นางผุสดี ตามไท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ขออภิปรายในมาตรา ๑๘ กระทรวงยุติธรรม ดังนี้
๑. สำนักงานปลัดกระทรวง ด้วยเหตุใดจึงปรับงบประมาณเพิ่มขึ้น ๑๘ ล้านบาท
๒. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เหตุใดรัฐบาลจึงได้ตั้งงบประมาณน้อยกว่าปีก่อน
และยังถูกคณะกรรมาธิการตัดงบอีก ทั้ง ๆ ที่เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิและเสรีภาพทั้งของประชาชนเอง และของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การฆ่าตัดตอน ๒,๕๐๐ ศพ การบุกยึดมัสยิดกรือเซะ เป็นต้น
๓. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก เป็นตัวอย่างที่ดี
แต่เหตุใดจึงได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่ซึ่งใช้ความรักเข้าไปดูแลบำบัด ควรจะนำเงินที่ปรับเพิ่มให้กับสำนักปลัดมาเพิ่มให้กับบ้านกาญจนาภิเษกน่าจะเหมาะสมกว่า
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ คนที่สอง ได้ตอบชี้แจงในประเด็นดังนี้
๑. การตั้งข้อสังเกตในเรื่องของงบประมาณเงินเดือน เหตุที่ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก
รัฐบาลมีการปรับฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๓ ทำให้รัฐจะต้องจ่ายเงินให้แก่ข้าราชการเพิ่มขึ้น
๒. ข้อสังเกตเรื่องยุติธรรมโพลล์ ที่สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้ตั้งเวทียังต่างจังหวัด
เพื่อจะได้รับทราบความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา
๓. เรื่องพ่อแม่ที่ห่วงลูกที่ติดยาเสพติดจะทำอย่างไร เพื่อให้ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัด
ซึ่งการจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดมี ๓ วิธีด้วยกัน คือ
- บำบัดฟื้นฟูด้วยความสมัครใจ เช่น โรงพยาบาลของรัฐ และสถาบัน
ธัญญรักษ์ ซึ่งมีผู้เข้ารับการบำบัด ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน
- การบังคับบำบัดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติด
แต่เดิมผู้เสพยาจะต้องถูกฟ้องดำเนินคดี แต่กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสพคือผู้ป่วย ซึ่งกรมคุมประพฤติจะเป็นผู้ดูแลในเรื่องดังกล่าว โดยเมื่อได้รับการบำบัดสำเร็จแล้ว ถือว่าผู้เข้ารับบำบัดพ้นผิดทางกฎหมาย
- กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาทุกจังหวัด นอกจากนี้
ยังมีสำนักงานอัยการสูงสุด และสภาทนายความรับให้คำปรึกษาด้วย
๔. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งจะมีศูนย์กาญจนาภิเษกเป็นส่วนหนึ่ง
คุณหญิงจันทนีย์ สันตบุตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ให้การสนับสนุนในเรื่องค่าจ้างที่จ่ายให้แก่บุคลากรของศูนย์ เพราะกรมพินิจฯ จ่ายได้เพียงแค่อัตราค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น
๕. กรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีงบประมาณค่าสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น เนื่องจากสำนัก
งบประมาณให้ตั้งค่าใช้จ่ายจากค่าใช้จ่ายจริงในปีที่ผ่านมา ส่วนการจะลดงบประมาณเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล
๖. การประชุม UN นั้น เป็นการประชุมว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและ
กระบวนการยุติธรรมนานาชาติ ครั้งที่ ๑๑ ซึ่งที่ผ่านมาจะต้องมีการเตรียมการไปดูงานการประชุม และทำการประชาสัมพันธ์การประชุมในปี ๒๕๔๘ ดังนั้นจึงต้องมีค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ล่วงหน้าก่อนที่จะจัดประชุมจริง
หลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ได้ลงมติ เห็นชอบด้วยคะแนน ๒๗๗ เสียง
ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณามาตรา ๑๙ ซึ่งเป็นงบประมาณของกระทรวงแรงงาน โดยมีสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ดังนี้
นางผุสดี ตามไท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ขอแปรญัตติแก้ไขในส่วนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีการปรับลดเพียงเล็กน้อย โดย เห็นว่าควรจะปรับลดงบประมาณลงมากกว่านี้ เนื่องจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ไม่สามารถคุ้มครองแรงงานได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งจะเห็นได้จากที่มีการร้องเรียนมายังสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยตลอด ยกตัวอย่างเช่น กรณีการเลิกจ้างแรงงานหญิง ตั้งครรภ์ของบริษัทหนึ่งที่จังหวัดปทุมธานี โดยอ้างเหตุผลว่า บริษัทขาดทุน จึงจำเป็นต้องลดกำลัง การผลิต โดยการลดการจ้างงาน ซึ่งผู้เสียหายทั้งหมด ๑๑ คน ไม่ได้รับเงินชดเชยทั้ง ๆ ที่ทำงานมา ไม่น้อยกว่า ๗ ปี ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมควรจะมีการปรับลดเนื่องจากไม่ได้ดูแลผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนอย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น กรณีหญิงมีครรภ์มาตรงตามที่แพทย์นัด ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ เนื่องจากไม่ได้มารักษาอาการป่วย
นายประกอบ รัตนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ตั้งไว้ ๑,๓๓๓ ล้านบาท ปรับลดงบประมาณลง ๒๓๐ ล้านบาท ไม่ทราบว่ากรรมาธิการได้สอบถาม เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของกรมด้วยหรือไม่ เช่น โครงการจัดภูมิทัศน์ ซึ่งเมื่อมีการสอบสวนการทุจริตพบว่า มีการทุจริตจริง แต่ไม่สามารถเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ จึงอยากจะขอเอกสารที่ได้ดำเนินการ ไปแล้ว และขอทราบความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าว
นายวิทยา บุรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการ ตอบข้อซักถามดังต่อไปนี้
๑. กรณีที่บริษัทเลิกจ้างหญิงมีครรภ์นั้น ทางกรรมาธิการฯ ยังไม่มีข้อมูล แต่จะดำเนินการประสานงานให้
๒. กรณีหมอนัดตรวจ แต่ประกันสังคมไม่จ่าย จะรับไปดำเนินการ
๓. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมาธิการเน้นไปสนใจการฝึกฝนแรงงานสำหรับ
เครื่องจักรที่ได้รับผ่อนผันภาษี จะรับไปดำเนินการ ส่วนเรื่องการทุจริตของโครงการจัดภูมิทัศน์นั้นอยู่ในระหว่างการสอบสวน
หลังจากที่สมาชิกได้อภิปราย และกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ได้ลงมติ เห็นชอบด้วยคะแนน ๒๖๘ เสียง