สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๓๖

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:54 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๓๖
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันศุกร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๔.๓๐ - ๑๕.๓๐ นาฬิกา
จากนั้น ได้มีการพิจารณามาตรา ๒๐ กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีสมาชิกได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายขอปรับลดลงร้อยละ ๗ จากงบประมาณที่ได้ตั้งไว้ ๒,๕๒๕,๕๘๔,๓๐๐ บาท (สองพันห้าร้อยยี่สิบห้าล้านห้าแสนแปดหมื่นสี่พันสามร้อยบาท) เพราะกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญมากที่เกี่ยวกับชาติ แต่กรรมาธิการได้มีการปรับลดงบประมาณของกระทรวงวัฒนธรรมลงในส่วนของกรมศิลปากร แผนงานการงานการศึกษาขั้นพื้นฐานของกรมศิลปากรคือ วิทยาลัยนาฏศิลป์ ทั่วประเทศ ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเรื่องการเผยแพร่ความเป็นไทย มีโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก สำหรับในส่วนของค่าก่อสร้างและสิ่งก่อสร้าง ซึ่งมี ๒ กิจกรรม คือ อาคารดนตรีไทย ๘ ชั้น พื้นที่ประมาณ ๑๓,๐๐๐ ตารางเมตร ๑ หลัง ซึ่งได้ตั้งงบประมาณไว้ ๕๔,๓๕๘,๖๐๐ บาท (ห้าสิบสี่ล้านสามแสนห้าหมื่นแปดพันหกร้อยบาท) กรรมาธิการได้ปรับลดลงจาก ๒๖,๓๕๘,๖๐๐ บาท (ยี่สิบหกล้านสามแสนห้าหมื่นแปดพันหกร้อยบาท) และในส่วนอาคารหอสมุดสารสนเทศและปฏิบัติวิชาชีพพร้อมลิฟท์ ๑ หลัง ได้ตั้งงบประมาณไว้ ๖๔ ล้าน ปรับลดลง ๔๐ ล้าน ขอเรียนถามกรรมาธิการว่า
๑. ได้มีการสอบถามรายละเอียดของอาคารทั้ง ๒ หลัง หลังจากได้มีการปรับลดแล้วมี
ปัญหา เรื่องการก่อสร้างหรือไม่ เพราะปรับลดลงเกินร้อยละ ๕๐
๒. อาคารทั้ง ๒ หลังนี้จะตั้งในวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่ไหน ตัดงบลงแล้วสามารถยืนยันได้หรือไม่ว่าสามารถก่อสร้างได้
จากนั้น นายวิทยา บุรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงว่า การปรับลดงบประมาณของกรมศิลปากรลงนั้น กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ปรับลด
ต่อจากนั้น นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายขอปรับลดงบประมาณลง เพราะไม่แน่ใจในทิศทางยุทธศาสตร์ กระทรวง วัฒนธรรม เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรม เคยชี้แจงกรรมาธิการว่ามีเรื่องดี ๆ ที่จะทำแต่ไม่มีทรัพยากรและไม่ได้รับการสนับสนุน จึงขอเรียนถามว่า กระทรวงวัฒนธรรมมียุทธศาสตร์หรือไม่อย่างไร และจากการ ทำการสำรวจจากเอแบคโพลได้สำรวจพฤติกรรมของเยาวชน ๑๔,๗๘๓ ตัวอย่าง ใน ๒๙ จังหวัดทั่วประเทศพบว่าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป เพราะการใช้เวลาอยู่กับบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง จากร้อยละ ๙๖.๒ เหลือเพียงร้อยละ ๘๔.๗ กิจกรรมเพื่อสังคมสาธารณประโยชน์ จากร้อยละ ๘๖.๒ เหลือร้อยละ ๗๖.๙ การเข้าวัด ทำบุญตักบาตรจากร้อยละ ๘๕ เหลือร้อยละ ๗๙ โดยเฉพาะการที่เยาวชนรักการอ่านหนังสือในห้องสมุดจากร้อยละ ๕๔ เหลือร้อยละ ๔๕ แต่เยาวชนเหล่านี้ดูหนังสือ อินเตอร์เนต ภาพยนตร์อนาจารจากร้อยละ ๒๕ เพิ่มเป็นร้อยละ ๓๘ ในเรื่องดังกล่าวนี้คณะกรรมาธิการได้มีความวิตกในเรื่องนี้หรือไม่ กระทรวง วัฒนธรรมได้ทำงานแบบบูรณาการกับกระทรวงศึกษาธิการว่า จะมีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้ อย่างไร และได้มีการสำรวจตนเองหรือไม่ว่าสังคมต้องการเป็นสังคมอย่างไรและจะดำเนินการไปทิศทางใด ดังนั้น จากการตัดลดงบประมาณของกระทรวงนี้ลง เพราะเห็นว่าล้มเหลวและต้องการให้กระทรวง วัฒนธรรมร่วมบูรณาการกับทุก ๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักพระพุทธศาสนาและขอให้กรรมาธิการทำในสิ่งที่ควรทำและต่อต้านในสิ่งที่ควรต่อต้าน
นายพินิจ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคไทยรักไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ ได้ตอบชี้แจงว่า ในเรื่องค่านิยมนั้นจะต้องมีการรณรงค์และเสริมสร้างพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอดีตได้มีการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองและ ศีลธรรม แต่ปัจจุบันไม่มีจึงได้ส่งเรื่องให้กระทรวงศึกษาธิการไปพิจารณาในเรื่องนี้ร่วมกัน และคณะ กรรมาธิการจะทำบันทึกเสนอกระทรวงศึกษาธิการต่อไป
- การอบรมจริยธรรมนักเรียนเพื่อจริยธรรมคุณธรรมงบประมาณในปี ๒๕๔๘ นี้ได้ตั้งงบประมาณไว้ ๗ ล้านบาท
- อุดหนุนพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีก ๑๐ ล้านบาท
- เผยแพร่หลักธรรมในรูปละครเวที และธรรมทัศนาจรเป็นสถาบันครอบครัว
- เผยแพร่หลักธรรมในองค์กรพระพุทธศาสนา ๗ องค์กรเผยแพร่ประมาณ ๗๕๐ แห่ง
ในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้หลังจากได้จัดสรรงบประมาณให้แล้วจะมีการประเมินผลและประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการด้วย
นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตอบการชี้แจงว่าไม่ติดใจอะไร
ต่อมาเป็นการพิจารณาในมาตรา ๒๑ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่มีการ
แก้ไข
จากนั้นได้มีการพิจารณามาตรา ๒๒ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีสมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ พันโทหญิงฐิติยา รังสิตพล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชี รายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ปรับลดงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการลงร้อยละ ๑๐ เป็นเงินประมาณ ๒๐,๓๘๘ ล้านบาท เพราะบริหารแรงงานไม่สัมฤทธิ์ผลตามนโยบายของการปฏิรูประบบราชการทำให้ ขาดแคลนบุคลากรและเครื่องมือสนับสนุนทางการศึกษามีการเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย และมีการทุจริตในการจัดซื้อคอมพิวเตอร์จึงขอตัดลดงบประมาณลง
นายวิชัย ตันศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่างบประมาณของการศึกษาในปีนี้ตั้งไว้สูงมากถึง ๒๐๓,๘๘๔,๐๙๙,๕๐๐ บาท (สองแสน สามพันแปดร้อยแปดสิบสี่ล้านเก้าหมื่นเก้าพันห้าร้อยบาท) คิดเป็นร้อยละ ๑๗ ของงบประมาณทั้งหมด ทั่วประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูสัดส่วนของบประมาณดังกล่าวว่า สอดคล้องกับอุดมการณ์และหลักการ หรือไม่ โดยเฉพาะหลักการของการปฏิรูปการศึกษาจึงได้ขอปรับลดในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงไว้ ๑,๐๐๐ ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานขอปรับลด ๕๐ ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาขอปรับลด ๑๐ ล้านบาท สาเหตุที่แปรญัตติ เพราะต้องการให้แสดงความคิดเห็นและเพิ่มเติม เช่น โครงการโรงเรียนในฝันที่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จจึงอยากจะขอเปลี่ยนให้ทุกโรงเรียนในประเทศเป็นโรงเรียนในฝันของชุมชนเป็นโรงเรียนที่เกิดจากชุมชนและสนองต่อความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังได้อภิปรายถึงกองทุนพัฒนาครู ที่ปรากฏงบประมาณอยู่เฉพาะในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษานั่นหมายความว่าในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไม่มีงบพัฒนาครูอยู่เลยทั้ง ๆ ที่การพัฒนาครูในทั้ง ๒ ระดับนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และยังได้อภิปรายถึงปัญหาหนี้สินของครูที่ยังไม่มีงบประมาณเพื่อการนี้ ปัญหาที่จะต้องเร่งขยายการศึกษาขั้นอุดมศึกษา โดยการเพิ่มสัดส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนและการให้เงินสนับสนุนโดยตรงแก่นักศึกษาเพื่อให้สามารถเลือกได้ว่าจะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชนหรือมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาโดยเฉพาะในเรื่อง ICT เทคโนโลยีทางการศึกษา และภาษาอังกฤษ ปัญหาเรื่องวัฒนธรรม และการศึกษา ต่อเนื่อง
นายประกอบ รัตนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน ๒๐๓,๘๘๔,๐๙๙,๕๐๐ บาท (สองแสนสามพันแปดร้อยแปดสิบสี่ล้านเก้าหมื่นเก้าพันห้าร้อยบาท) นับว่าสูงมาก จึงมีความกังวลว่าคุณภาพทางการศึกษากับงบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทนั้น กระทรวงศึกษาธิการสามารถทำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องไปดำเนินการบริหารจัดการให้ เกิดผลตามนั้น นอกจากนี้ยังได้อภิปรายถึงปัญหาต่าง ๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาอาทิ เช่น ปัญหาเรื่องความไม่พร้อม การขาดแคลนอัตรากำลังครูทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา ตลอดจนระดับอุดมศึกษา ปัญหาความแตกต่างระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนชนบท ในเรื่องความพร้อมด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านอุปกรณ์ การเรียน สถานที่และบุคลากรครู เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ