สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๓๗

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:55 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๓๗
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันศุกร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๘.๓๐ - ๑๙.๓๐ นาฬิกา
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติ ขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการลงร้อยละ ๕ และได้เสนอแนะให้เพิ่มงบประมาณในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการสัมมนาและฝึกอบรม จาก ๕ ล้านบาท เป็น ๒๐ ล้านบาท นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับงานส่งเสริมและสนับสนุนการลูกเสือยุวกาชาดและ กิจการนักเรียน เพื่อสร้างผู้นำในกิจการลูกเสือ สร้างวินัยให้กับคนในสังคม
นางสาวรังสิมา รอดรัศมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติขอปรับลดลง ๒๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับครู ซึ่งส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็ก และมีการใช้มาตรการที่ ๓ กับ ครู ทั้งนี้รัฐบาลควรให้ขวัญและกำลังใจครู เนื่องจากปัจจุบันยังขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ โรงเรียนในจังหวัดสมุทรสงคราม ยังไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินงานในปี ๒๕๔๘
นายสฤต สันติเมทนีดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรค ไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงถึงงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ได้จัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ไว้แล้ว และได้ตั้งกองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนขึ้นมาในปีนี้ด้วย นอกจากนี้ยังจัดงบประมาณสนับสนุนให้แก่นักศึกษาโดยตรงในการเลือกเรียนในสาขาและมหาวิทยาลัยที่ต้องการ
นางลาวัณย์ ตันติกุลพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมุกดาหาร พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงถึงบริษัทที่เคยประมูลคอมพิวเตอร์กับกระทรวงศึกษาธิการแล้วมีปัญหาเกิดขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทดังกล่าวไม่ได้มีธุรกรรมใด ๆ กับกระทรวงอีก และได้
มีการจัดสรรงบประมาณในการเพิ่มบุคลากรครูในสถานศึกษาที่ยังขาดแคลน อีกทั้งยังเชิญข้าราชการครูที่เกษียณอายุก่อนเวลาให้กลับมาทำงานอีกเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังชี้แจงถึงคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา โดยแต่ละสถาบันจะมีมาตรฐานและหลักสูตรที่แตกต่างกัน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดการประกันคุณภาพการเรียนการสอนของแต่ละสถานศึกษาด้วย
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้อภิปรายพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน ๒๘๒ เสียง
ต่อมาเป็นการพิจารณามาตรา ๒๓ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้มีสมาชิกอภิปรายกัน อย่างกว้างขวางในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
พันโทหญิง ฐิติยา รังสิตพล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติขอปรับลดลงร้อยละ ๑๐ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขบริหารงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพและขาดความเสมอภาคทางการให้บริการแก่ประชาชน ทั้งนี้ ได้ให้ ข้อเสนอแนะในนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรคว่า ควรให้อิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาแก่ คนไข้และแพทย์ โดยสามารถเลือกสถานพยาบาลเองได้
นางนิภา พริ้งศุลกะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติขอปรับลดงบประมาณลง เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข มีการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ชัดเจน และไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในโครงการ ๓๐ บาท รักษาทุกโรค ซึ่งเป็นงบเหมาจ่าย อีกทั้งยังประสบปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน เนื่องจากค่าตอบแทนน้อยและยังถูกใช้มาตรการที่ ๓ อีกด้วย ทั้งนี้ได้เสนอแนะให้มีการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์และเพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสม ตลอดจนจัดงบลงทุนให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ สำหรับใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงก่อสร้างแทนของเดิมที่ชำรุด และจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่
นายปรีชา มุสิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติขอปรับลงร้อยละ ๑๒ โดยได้อภิปรายถึงงบลงทุนเพื่อการทดแทนที่ได้รับน้อยมาก ไม่เพียงพอในการซ่อมแซม ก่อสร้าง และจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนจะมีปัญหาในเรื่องดังกล่าวมาก รวมถึงปัญหาหนี้สิน ปัญหาการบริหารงานของฝ่ายบริหารโรงพยาบาล นอกจากนี้ผู้ป่วยยังได้รับการบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในเรื่องของยาที่ใช้รักษาโรค ทั้งนี้ นายปรีชาได้กล่าวถามกรรมาธิการถึงงบประมาณในปี ๒๕๔๘ นี้ ว่า จะสามารถทำให้การประกัน สุขภาพของประชาชนดีขึ้นหรือไม่ ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติขอปรับลดลง ๗,๐๐๐ กว่าล้านบาท เนื่องจากกระทรวง สาธารณสุขมีการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม โดยจัดสรรให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขไว้เป็นจำนวนมาก และยังไม่โปร่งใสในการจัดสรรและการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะ งบประมาณด้านการตลาดในต่างประเทศ ซึ่งไม่มีความจำเป็น และควรจะนำงบประมาณส่วนดังกล่าวไปเพิ่มให้กับกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยที่ได้รับงบประมาณไม่มาก ทั้งที่มีความจำเป็นต้องใช้ งบประมาณมากกว่า อีกทั้งการใช้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นป้ายโฆษณา การแจกเสื้อ แจกของชำร่วยและการประชาสัมพันธ์ในสื่ออื่น ๆ นั้น ก็ไม่ปรากฏ รายละเอียดว่าเป็นการใช้งบประมาณในส่วนใด นอกจากนี้นายพีระพันธุ์ยังได้กล่าวไม่ไว้วางใจผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดงบประมาณโดยได้ขอให้กรรมาธิการส่งรายละเอียดของเงินอุดหนุนทั่วไปและค่าใช้จ่ายทั้งหมดอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ