สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๓๘

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:56 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๓๘ 
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันศุกร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๘.๓๐ - ๑๙.๓๐ นาฬิกา
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา ๒๔ ซึ่งเป็นงบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายปรับลดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โครงการการควบคุมวัตถุมีพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะชุมชนรอบ ๆ โรงงานอุตสาหกรรม เช่น จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน อาทิ เป็นโรคทางเดินหายใจ น้ำในคูคลองไม่สามารถนำมาใช้เกษตรกรรมได้ เพราะเป็นน้ำเสีย สัตว์น้ำตายเป็นจำนวน มากนั้น ได้มีการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบว่ามีมาตรการในการจัดการกับสภาพแวดล้อม เสื่อมโทรมหรือไม่อย่างไร
หลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ได้ลงมติ เห็นชอบด้วยคะแนน ๒๙๒ เสียง
ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา ๒๕ ซึ่งเป็นงบประมาณของส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีสมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในประเด็นดังนี้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่วิสัยทัศน์ พันธกิจ มุ่งเน้นการป้องกันภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการแก้ไขปัญหายาเสพติด แต่งบประมาณร้อยละ ๘๐ ของ ทุกแผนงานกลับเป็นการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ การกำหนดเช่นนี้จะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ ของหน่วยงานได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังตั้งงบเพื่อการจัดซื้อยานพาหนะสำหรับใช้ในกิจการของตำรวจนั้นเป็นการจัดซื้อรถอะไร ถูกต้องตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ราคาถูกต้อง สมเหตุสมผลหรือไม่ ในส่วนของเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อการสอบสวนคดีอาญานั้นคืออะไร นำไปใช้อย่างไร ด้านงบรายจ่ายอื่น ๆ เพื่อการ
ควบคุมจราจร การจัดสร้างโรงรถนั้น มีเหตุผลความจำเป็นเพียงพอต่อการก่อสร้างแล้วใช่หรือไม่ และขอให้กรรมาธิการฯ ตรวจสอบกรณีการใช้หลักประกันการประมูลก่อสร้างในงบประมาณหมวดนี้ เพิ่มเติมด้วย เพราะมีประเด็นส่อเค้าการทุจริตจากการฮั้วการประมูล
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในมาตรการที่ ๓ เพื่อการเพิ่ม ประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการตั้งแต่ระดับ ๑-๘ นั้น มีความกังวลว่าในทางปฏิบัติผู้บังคับบัญชาจะประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไร ในทางตรงข้ามทำให้เกิดภาวะการแข่งขันเพื่อให้คะแนนการประเมินสูงจนเกิดความแตกแยกในหมู่ข้าราชการ รวมทั้งเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของ ข้าราชการเป็นอย่างมาก จึงไม่ควรนำมาตรการนี้มาใช้
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก ด้วยคะแนน ๒๙๘ เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา ๒๖ ซึ่งเป็นงบประมาณของหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยมีสมาชิกอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
๑. สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นั้น รัฐบาลได้ปฏิบัติงานตามรายงานของ
หน่วยงานนี้บ้างหรือไม่
๒. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
แผนงานการบริหารการพัฒนาการปราบปรามการทุจริต มีการเพิ่มงบแสดงว่ามีการทุจริตจริงใช่หรือไม่ และมีการติดตามคดีสำคัญ ๆ อย่างไรบ้าง เช่น ค่าโง่ทางด่วน การทุจริตคลองด่าน เป็นต้น
นายวิทยา บุรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการฯ ตอบชี้แจงสมาชิกในส่วนของสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า มีการปรับลดงบประมาณลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบริหารบุคลากร
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับกรรมาธิการ ๒๙๓ เสียง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ