สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๓๙

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:57 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๓๙ 
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันศุกร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๙.๓๐ - ๒๐.๓๐ นาฬิกา
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา ๒๖ ซึ่งเป็นงบประมาณของหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยได้ขอปรับลด
งบประมาณลง เนื่องจากไม่แน่ใจในผลสัมฤทธิ์ของงานที่ได้ทำไว้ ไม่ทราบว่ารัฐบาลจริงจังแค่ไหน ในองค์กรอิสระต่อไปนี้
๑. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามรายงานการสืบสวนที่ได้
เสนอรัฐบาลแล้ว รัฐบาลนำไปปฏิบัติกี่เรื่อง และไม่นำไปปฏิบัติกี่เรื่อง ซึ่งภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตกต่ำลงในสายตาของชาวต่างประเทศ เช่น
- กรณีบุกรื้อตลาดประเวศ
- กรณีการบุกจู่โจมที่มัสยิดกรือเซะ
- กรณีตำรวจบุกจับตายชาวบ้านที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- กรณีส่วยวินมอร์เตอร์ไซค์ที่ยังมีอยู่
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แสดงให้เห็นว่านโยบายปราบปรามอิทธิพลเถื่อนของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ
๒. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
อยากถามกรรมาธิการถึงงบประมาณแผนงานบริหารและพัฒนาของปี ๒๕๔๘ ที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นการยอมรับว่า มีการทุจริตคอรัปชั่นที่มีความรุนแรงมากขึ้นใช่หรือไม่ จึงต้องมีการเพิ่มงบประมาณ และ
สำนักงาน ปปช. มีเขี้ยวเล็บที่จะสามารถตรวจสอบคนทุจริตได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพแค่ไหนก่อนที่คนทุจริตเล่านั้นจะหนีไปก่อนถูก ปปช. ดำเนินคดียึดทรัพย์สิน เช่น
- คดีทุจริตคลองด่าน
- คดีค่าโง่ทางด่วน
- การทุจริตค่าก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ
- การทุจริตเรื่อง ปุ๋ย ลำไย
- การทุจริตการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ฉาว ๙๐๐ ล้านบาท ของกระทรวงสาธารณสุข
ปปช. จะมีมาตรการตรวจสอบการทุจริตอย่างไร เนื่องจากในปัจจุบันอัตรากำลังของ ปปช. มีไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบการทุจริตดังกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงนี้จะเป็นช่วงเร่งสะสมทุนทางการเมือง ทั้งระบบขนส่งดาวเทียม การปล่อยกู้ให้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ ระบบสาธารณูปโภคใหญ่ ๆ
๓. การทุจริตในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นแหล่งฟอกเงินขนาดใหญ่ อยากขอคำตอบจาก
กรรมาธิการว่า จะมีมาตรการตรวจสอบได้อย่างไร
นายวิทยา บุรณศิริ กรรมาธิการ ได้ตอบชี้แจง กรณีงบประมาณของสำนักงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๙๓ ล้านบาท ได้ปรับลดลงร้อยละ ๑ ตามข้อสังเกต ของคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน ๒๙๓ เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณามาตรา ๒๗ ซึ่งเป็นงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ โดยมีสมาชิกได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจในประเด็น งบประมาณของการประปาส่วนภูมิภาคที่มีการตั้งงบประมาณไว้มากมาย ซึ่งตามนโยบายของรัฐบาลมีแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อยากทราบว่า รวมทั้งการประปาส่วนภูมิภาคด้วยหรือไม่ เมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้ว รัฐบาลจะไม่สามารถนำเงินไปอุดหนุนต้นทุนให้กับรัฐวิสาหกิจได้ ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปนั้นจะต้องจัดหาเงินทุนเอง และดำเนินกิจการให้ได้ผลกำไรด้วย และก็จะต้องไปขึ้นราคาค่าน้ำ ค่าไฟ กับประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน
นายพินิจ จันทรสุรินทร์ กรรมาธิการ ได้ตอบชี้แจงในส่วนงบประมาณของ การประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งตามแผนที่วางไว้จะต้องแปรรูปในปี ๒๕๔๘ แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยในทางปฏิบัติคงไม่ทัน ต่อกรณีความเป็นห่วงว่า ประชาชนจะได้รับ
ความเดือดร้อนนั้น รัฐบาลได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหา เพื่อปรับสัดส่วนสภาพหุ้น โดยมีวิธีการ ขายหุ้น แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ
- ขายให้กับพนักงาน
- ขายให้กับรัฐบาล
- ขายให้กับประชาชน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในการจัดสรรงบประมาณของการเคหะแห่งชาติ ในปี ๒๕๔๘ ถึง ๔.๕ พันล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง ๓ พันกว่าล้านบาท โดยได้แสดงความเห็นว่า ปัจจุบัน การเคหะแห่งชาติถูกใช้เป็นเครื่องมือของการเมือง เงินงบประมาณในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วนั้น เป็นงบประมาณในส่วนของบ้านเอื้ออาทร ซึ่งหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติ คือ ดูแลผู้มีรายได้น้อยที่ ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ โดยรัฐบาลกำหนดให้การเคหะเป็นหน่วยงานที่สร้างที่อยู่อาศัยให้ แต่ก็มีปัญหา คือ จำนวนของผู้มีรายได้น้อยไม่เป็นสัดส่วนกับงบประมาณของการเคหะที่ได้รับ โดยที่ผ่านมาการเคหะไม่เคยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล แต่ในรัฐบาลนี้ได้ให้เงินอุดหนุน ซึ่งถือว่าถูกต้อง ถ้าไม่พูดถึงว่าให้อุดหนุนในโครงการอะไร แบบไหน และมีวิธีการอย่างไร จึงอยากจะฝากให้ทุกรัฐบาลให้เงินอุดหนุนการเคหะเพื่อไปลดต้นทุนในการเก็บค่าเช่ากับผู้มีรายได้น้อย
เมื่อที่ประชุมได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน ๓๐๔ เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา ๒๘ งบกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน โดยมีสมาชิกอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
นายวิชัย ตันศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็น งบกองทุนและเงินหมุนเวียนของกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนของกองทุนพัฒนาครูนั้นยังไม่มีงบประมาณ และอยากให้มีการตั้งงบประมาณสำหรับลงทุนนี้ในปี ๒๕๔๙ ด้วย
สำหรับกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา อยากให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณมากกว่านี้ เพื่อนักศึกษาระดับอุดมศึกษาจะได้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น และน่าจะมีกฎเกณฑ์การให้กู้ยืมหลาย ๆ ประการ เช่น การกู้ยืมเพื่อชำระเฉพาะค่าหน่วยกิจ หรือการกู้ยืมชำระค่าหน่วยกิตและค่าครองชีพ เป็นต้น
ทั้งนี้การได้ใช้คืนเงินกู้ยืมควรปรับเปลี่ยนวิธีการได้เงินคืน เช่น บางประเทศจัดเก็บภาษีสำหรับนักศึกษาที่มีงานทำแล้ว เป็นต้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายงบประมาณเกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติและ มีการจัดตั้งกองทุนประเดิม ๑.๘ พันล้านบาท มีปัญหาความไม่โปร่งใส ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินงาน ภายใต้กรอบของกฎหมาย ๔-๕ หมื่นองค์กร กำลังได้รับความเดือดร้อนมาก แต่รัฐบาลยังไม่มีการให้
ความช่วยเหลือ อยากทราบว่า กรรมาธิการได้มีการสอบถามและตรวจสอบถึงความคืบหน้าของ โครงการนี้หรือไม่
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นงบประมาณกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมจังหวัด ซึ่งกรรมาธิการขอแปรญัตติเพิ่มมากขึ้นนั้น กรรมาธิการได้สอบถามหรือไม่ว่า จะจัดสรรให้จังหวัดละเท่าไร
นายวิทยุ บุรณศิริ กรรมาธิการ ได้ตอบชี้แจงประเด็นงบประมาณการลงทุนส่งเสริมวัฒนธรรมจังหวัด เดิมได้จัดสรรให้จังหวัดละ ๑ ล้านบาท แต่ในปีนี้กรรมาธิการได้เปลี่ยนเป็น เงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อจะได้รับการจัดสรรงบประมาณมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการทางกฎหมาย
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นของงบประมาณกองทุนที่สังกัดกระทรวงการคลัง
- กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน
- กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
- กองทุนสำหรับช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งงบประมาณในการช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนี้ ในปี ๒๕๔๘ ได้ถูกตัดออกไป กรรมาธิการได้สอบถามหรือไม่ว่า หากมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้วจะไม่มีพนักงานได้รับผลกระทบ หรือว่ามีมาตรการรองรับไว้อย่างไร
- กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งยังมีนักเรียน นักศึกษา อีกมากมายที่ยังไม่ได้เงิน
กู้ยืมนี้ การเพิ่มงบประมาณอีก ๔๐๐ กว่าล้านบาท ไม่น่าจะเพียงพอ ถ้ารัฐบาลนำเงินงบประมาณ ในส่วนช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ๘๐๕ ล้านบาท มาเพิ่มในกองทุนนี้จะดีกว่า
นายชัย ชิดชอบ กรรมาธิการ ได้ตอบชี้แจง ประเด็นการจัดงบประมาณ เรื่อง เงินทุนหมุนเวียนเพื่อวัฒนธรรมของจังหวัด ที่แต่เดิมตั้งไว้ ๑๐ ล้านบาท นั้น ไม่พอต่อค่าใช้จ่าย ในแต่ละจังหวัด กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้ตั้งบประมาณเพิ่มขึ้น ๒๒ ล้านบาท และเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรรเงินให้ใหม่ เพื่อเป็นค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น โดยให้ แต่ละจังหวัดไปบริหารจัดการเอง
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน ๓๐๑ เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา ๒๙ ในเรื่องของรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง ซึ่งได้มีสมาชิกอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
นายปรีชา สุวรรณทัต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นขอแปรญัตติไว้
ในส่วนการตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังเป็นการตั้งไปเพื่อไถ่ถอนตั๋วเงินคลัง ซึ่งตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ กำหนดให้ตั้งรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง แยกไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก ในพระราชบัญัติงบประมาณรายจ่ายและให้ถือเป็นรายจ่ายของปีงบประมาณที่ได้จ่ายเงินคงคลังนั้น ทำให้การตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังไม่ต้องแสดงแหล่งที่มาของรายได้ ที่จะนำมาใช้ในรายการนี้ และเป็นวิธีการทางกฎหมาย เพื่อรายงานให้รัฐสภารับทราบถึงจำนวนเงินที่ได้จ่าย ไปก่อนที่มีกฎหมายอนุญาตเท่านั้น และเป็นการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับในปีงบประมาณที่ผ่านมา
เรื่องการตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังตามที่ได้ถือปฏิบัติตลอดมาของทุก ๆ รัฐบาล เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๑ ที่บัญญัติเป็นบทบังคับไว้ว่า ในกรณีนี้ต้องตั้งงบประมาณ รายจ่ายชดใช้ มิใช่ การตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง เพราะทั้งกฎหมายเงินคงคลังและกฎหมายวิธีการ งบประมาณ ไม่อาจที่จะบัญญัติขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติที่ขัดหรือแย้ง ไม่ว่าจะได้บัญญัติขึ้นก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ