3) จำแนกกลุ่มตามความเชี่ยวชาญของสถาบันอุดมศึกษา จัดกลุ่มหรือเครือข่ายของสถาบันอุดมศึกษา ทั้งเครือข่ายแนวดิ่งที่ประกอบด้วยกลุ่มสถาบันที่มีระดับการพัฒนาและบทบาทที่ต่างกัน และเครือข่ายแนวระนาบที่จะประสานการดำเนินภารกิจระหว่างสถาบันหรือกลุ่มสถาบัน รวมทั้งจำแนกประเภทสถาบันอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศตามบทบาทและภารกิจที่ควรเป็นจุดเน้นของแต่ละสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย มหาวิทยาลัยที่เน้นการสอนระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาอาชีพและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยเปิดที่ขยายโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยที่เน้น การสอนความรู้ที่เกี่ยวกับศาสนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งในทางจริยธรรมให้กับประเทศ เป็นต้น โดยให้มีการพัฒนาสถาบันที่มีศักยภาพความพร้อมจำนวนหนึ่ง เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในมาตรฐานระดับโลก (World Class University)
4) ปรับเปลี่ยนวิธีการได้มาของผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษา พัฒนากระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้ผู้บริหารที่ดี และมี ความเป็นผู้นำ แทนวิธีการเลือกตั้ง และปรับบทบาทสภาสถาบันให้เป็น คณะกรรมการนโยบายที่มีอำนาจควบคุมผู้บริหารแบบวิสาหกิจภาคเอกชนโดยควรจะมีคณะทำงานชุดเล็ก ๆ ที่ทำงานเกือบเต็มเวลาเพื่อรับผิดชอบและกำกับดูแลการดำเนินงานของฝ่ายบริหารสถาบัน
5) ลดสัดส่วนการสนับสนุนอุดมศึกษาจากภาครัฐ โดยระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ศิษย์เก่า บริษัทขนาดใหญ่ และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งภายในสถาบันอุดมศึกษา และร่วมมือกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายระหว่างสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน และกับภาคธุรกิจเอกชน ตลอดจนองค์กรต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยรัฐจะต้องไม่ให้การอุดหนุนแก่โครงการพิเศษทั้งในและนอกพื้นที่บริการของสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดโครงการพิเศษนอกพื้นที่บริการของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพของการศึกษาโดยรวมค่อนข้างมาก
4.6.2 ปฏิรูปการเงินอุดมศึกษา
1) ลดการลงทุนประเภทสิ่งก่อสร้าง โดยพยายามใช้สิ่งก่อสร้างที่มีอยู่ให้คุ้มค่า เน้นการขอใช้หรือเช่าสถานที่จากสถาบันอื่น หรือองค์กรอื่นที่มีพื้นที่ว่างและอยู่บริเวณใกล้เคียง
2) ให้มีกองทุนสมทบรายได้ที่สถานศึกษาหารายได้เองจากงานวิจัยและบริจาค สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งการรับบริจาคจากศิษย์เก่า มูลนิธิ บริษัทและหารายได้จากการวิจัยและการให้บริการด้านความรู้ นอกเหนือไปจากรายได้จากค่าเล่าเรียนของนักศึกษาปกติ
4.6.3 ปฏิรูปการเรียนการสอนและการวิจัย
1) ส่งเสริมการวิจัยให้เพิ่มมากขึ้น มีกลไก/ระบบที่สามารถดึงดูดผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีความสนใจการวิจัย ให้เข้ามาเป็นบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาและให้คงอยู่ในระบบ โดยสามารถก้าวหน้าในสายงาน และมีกลไกในการช่วยส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในระบบการเรียน ขณะที่การสอนควรมีการส่งเสริมให้ผู้เรียนต้องทำวิจัยในเรื่องที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาด้วย
2) จัดทำหลักสูตรปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาในเชิงบูรณาการ ปฏิรูปหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาให้เป็นแบบบูรณาการที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เป็นจริง และปฏิรูปการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์และรู้จักการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ สร้างสรรค์นวัตกรรม และใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนสามารถสร้างงาน ปรับตัวในโลกของงาน พึ่งพาตนเองได้ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ควรมีหลักสูตรการฝึกอบรมหรือให้การฝึกงานเป็นหนึ่งในหลักสูตรในการศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการทำงาน
3) กำหนดเกณฑ์มาตรฐานเพื่อเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพและความสำเร็จของทุกหลักสูตร ทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ รวมทั้งมาตรฐานภารกิจอื่น และกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice)
4.6.4 ปฏิรูประบบพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรอุดมศึกษา
1) เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ เร่งรัดให้มีระบบการพัฒนาผู้บริหาร บุคลากรสายวิชาการ และบุคลากรสนับสนุนงานวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา โดยส่งเสริมการวิจัย การศึกษาต่อ การพัฒนาฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง และมีระบบติดตาม ประเมินผลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาของบุคคลเหล่านั้นตลอดชีวิต
2) พัฒนาบัณฑิตศึกษาให้สามารถสร้างอาจารย์รุ่นใหม่ พัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาให้มีคุณภาพ เพื่อให้เป็นกลไกในการสร้างอาจารย์ใหม่เข้าสู่ระบบ และมีระบบที่จูงใจคนเก่ง คนดี มีความสามารถและมีความสนใจให้เข้ามาเป็นอาจารย์โดยมีระบบคัดเลือกที่เป็นธรรม
3) ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและการเชื่อมโยงระหว่างสถาบัน สนับสนุนการสร้างระบบเครือข่ายอาจารย์และบุคลากรระหว่างสาขา สถาบัน ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนทั้งในการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการดำเนินภารกิจต่างๆ
4) ปรับปรุงระบบผลตอบแทนตามผลงาน พัฒนาระบบการให้ผลตอบแทนตามตำแหน่งให้มีความหลากหลาย ตามภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา ทั้งด้านการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และมีกลไกสนับสนุน ส่งเสริม ยกย่อง ผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรที่ทุ่มเท อุทิศตนในด้านที่บุคลากรเหล่านั้นมีความเป็นเลิศ การให้เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการควรให้แบบมี เงื่อนไขสำหรับผู้ที่ยังทำงานวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่ ไม่ควรให้แบบเป็นการสมนาคุณไปตลอดชีวิตการทำงาน
5) กำหนดมาตรฐานสำหรับภาระงานประเภทต่าง ๆ ของอาจารย์ และหลักเกณฑ์การเทียบโอนระหว่างภาระงานประเภทต่าง ๆ รวมทั้งเกณฑ์ในการเทียบคุณสมบัติอาจารย์พิเศษ เพื่อที่จะได้จ้างอาจารย์ที่เกษียณอายุแล้วและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนมาเป็นอาจารย์พิเศษได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
4.6.5 สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเอกชนในการบริหารและจัดการอุดมศึกษา
1) สนับสนุนธุรกิจเอกชนลงทุนในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยสนับสนุนให้ ภาคธุรกิจเอกชน เช่น บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม ให้ร่วมลงทุนในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดและสังคม โดยรัฐกำหนดสัดส่วนและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนระหว่างสถานศึกษาของรัฐและเอกชน
2) สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยอนุญาตให้องค์การปกครองงส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมตามเกณฑ์ที่กำหนดจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามความต้องการของท้องถิ่นชุมชนโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานการศึกษาของชาติ
3) สนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและเอกชน สนับสนุนโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กับหน่วยงานทั้งภาคธุรกิจเอกชน องค์กรที่เน้นการสร้างความรู้โดยไม่หวังผลกำไร องค์กรศาสนา ชุมชน และท้องถิ่น ในการดำเนินภารกิจของสถาบัน รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคอื่นๆ ในการบริหารจัดการ กำกับติดตาม และประเมินผล การดำเนินงานของสถาบัน อุดมศึกษาของรัฐ ส่งเสริมให้ภาคอื่น ๆ บริจาคเงินและทรัพย์สินอื่นเพื่อการศึกษา โดยรัฐมีมาตรการ ลดหย่อนภาษีและมาตรการยกย่องเกียรติคุณเพื่อสนับสนุนและเป็นแรงจูงใจ
4.7 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา
4.7.1 ปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษา
1) เน้นความเสมอภาค ประสิทธิภาพและประสิทธิผล การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาต้องยึดหลักความเสมอภาคและเป็นธรรม หลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล หลักการกระจายอำนาจ และหลักเสรีภาพในการเลือกของผู้เรียน เช่น ควรให้งบการศึกษาขั้นพื้นฐานในสัดส่วนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ อุดมศึกษา จัดสรรให้โรงเรียนในเขตยากจนและผู้เรียนด้อยโอกาสสูงขึ้น
2) จัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาผ่านหลายช่องทาง นอกเหนือจากสถานศึกษาของรัฐ โดยสามารถผ่านทางสถาบันอื่น เช่น สถาบันทางศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนองค์กรประชาสังคม เพื่อส่งเสริมให้องค์กรเหล่านั้นจัดการศึกษาโดยตรงหรือส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาที่ หลากหลายตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย
4.7.2 ปฏิรูป การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา
1) เพิ่มช่องทางและมาตรการในการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น จากภาษีทรัพย์สิน / ภาษีมรดก การให้สัมปทานวิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ การใช้มาตรการลดหย่อน/ยกเว้นภาษีสำหรับการบริจาคเงินเพื่อการศึกษา การระดมทรัพยากรจากสถาบันทางศาสนา ตลอดจนสถาบันทางสังคมอื่น ๆ
2) สนับสนุนให้เอกชนและองค์กรศาสนาจัดการศึกษาเพิ่มมากขึ้น รัฐควรเปลี่ยนนโยบายจากการจัดการศึกษาเองที่มีสัดส่วนสูงเกือบร้อยละ 90 เป็นการสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาเป็นสัดส่วนสูงขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ขึ้นไปถึงอุดมศึกษา
3) สถานศึกษาของรัฐควรปรับค่าเล่าเรียนตามหลักประโยชน์ที่ได้รับและความสามารถในการจ่าย โดยเฉพาะการศึกษาตั้งแต่ระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับขึ้นไป และควรเรียกในอัตราที่เก็บ แตกต่างกันไปตามระดับ/ประเภทของบริการการศึกษา พื้นที่และกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนให้เป็นไปตามหลักการประโยชน์ที่ได้รับและหลักความสามารถในการจ่ายของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้รัฐมีงบประมาณมากพอที่จะจัดการศึกษาได้อย่างทั่วถึง
4.7.3 ปฏิรูป การบริหารและการใช้ทรัพยากร
1) ใช้อาคารสถานที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการจัดสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย สวยงาม และร่มรื่น โดยให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ด้วยการใช้ระบบการจัดการการใช้อาคาร สถานที่ บุคลากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมดูแลรักษาสมบัติ ส่วนรวม รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือและประสานการใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถระหว่างสถาบัน ส่วนในแต่ละสถาบันต้องให้นักเรียน นักศึกษา ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการปรับปรุงภูมิทัศน์ของสถาบันด้วย
2) จัดสรรทรัพยากรเป็นพิเศษในกลุ่มขาดแคลน โรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่ห่างไกล และพื้นที่ซึ่งมีการคมนาคมไม่สะดวก
โดยสรุป ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างย่อที่มีความเร่งด่วนจะต้องดำเนินการทันทีพร้อมกันห้าประการดังต่อไปนี้
ประการแรก สร้างครูและผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถสอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปการศึกษาเพื่อเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา
ประการที่สอง ปรับแก้หลักสูตรการศึกษาให้มีความคล่องตัวและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หลักสูตรที่สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมและหลักสูตรการศึกษาที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับภาษาไทย โดยเฉพาะ การใช้ภาษาไทยในจังหวัดชายแดนทุกภาคของประเทศ เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถ พูด เขียน อ่านภาษาไทยได้
ประการที่สาม ลดสัดส่วนของงบประมาณสำหรับอุดมศึกษาในภาพรวมที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ (Function) ทั้งสี่ประการตามปกติ คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัยและพัฒนา การบริการสังคม และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยสนับสนุนให้อุดมศึกษามีรายได้เพิ่มจากการผลิตบัณฑิต การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการบริการสังคมที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐและท้องถิ่นที่สถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่ เพื่อช่วยให้อุดมศึกษาสนองนโยบายพัฒนาประเทศและสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น อีกทั้งเป็น การช่วยให้สามารถนำเอางบประมาณที่ประหยัดได้บางส่วน จากที่เคยใช้เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของ อุดมศึกษามาเพิ่มการจัดการศึกษาปฐมวัย การจัดการศึกษาโดยสถาบันศาสนา การจัดการศึกษานอกระบบและ การศึกษาตามอัธยาศัย ให้มีคุณภาพและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจงให้มากยิ่งขึ้นเป็นการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาที่มีจำกัดให้ได้ประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด
ประการที่สี่ เน้นการจัดการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนมีรายได้พร้อมกับการเรียน (Earning While Learning) โดยเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Learning by Doing) ให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับคุณวุฒิวิชาชีพในทุกแขนงอาชีพ รวมทั้งในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดการให้ความสำคัญแก่การศึกษาในระบบจนเกินความเป็นจริง
ประการที่ห้า เน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ธุรกิจ เอกชน องค์กรศาสนา หน่วยงานอาสาสมัครเอกชน สถาบันการศึกษาเอกชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทางเลือกที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายโดยตรงอย่างทั่วถึง
นอกจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้ว การดำเนินงานด้านการศึกษาจะต้องไม่ละเลยในเรื่องของ สุ จิ ปุ ลิ และการจัดการศึกษาที่สมดุลในสี่ส่วนล้วนพอเหมาะในเรื่อง พุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา และต้องไม่ลืมว่าการปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับระบบใหญ่ของสังคมคือ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่จะต้องมีการปฏิรูปสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เป็นแบบอย่างต่อระบบการศึกษา สังคมภายนอกต้องช่วยเป็นผู้หล่อหลอมเด็กให้เป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์ด้วย จะปล่อยให้ระบบการศึกษาดำเนินการโดยลำพังไม่ได้ และรัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างจริงใจและจริงจัง ประการที่สำคัญที่รัฐต้องดำเนินการคือรัฐต้องมีความกล้าหาญทางการเมืองในการเสาะแสวงหา ผู้บริหารทางการศึกษาที่แท้จริงที่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องให้ได้
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9