ไทยได้เฮ WTOสั่งปรับแพ้ EUอุดหนุนน้ำตาลเกินข้อผูกพัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 14, 2004 14:56 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในกรณีที่ไทยได้ร่วมกับออสเตรเลียและบราซิลฟ้องร้องสหภาพยุโรปภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องสหภาพยุโรปให้การอุดหนุนส่งออกน้ำตาลเกินกว่าข้อผูกพันนั้น เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2547 คณะผู้พิจารณา (Panel) ได้ตัดสินขั้นสุดท้ายว่าสหภาพยุโรปได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง ดังนั้น สหภาพฯจะต้องปรับระบบการอุดหนุนให้เป็นไปตามข้อผูกพันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีประชากรในอุตสาหกรรมนี้กว่า 1.5 ล้านคนที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำ ไทยจึงได้ร่วมกับออสเตรเลียและบราซิลฟ้องร้องสหภาพยุโรปที่ให้การอุดหนุนส่งออกน้ำตาลในปริมาณที่สูงกว่าที่ได้รับอนุญาตภายใต้ WTO ใน 2 ประเด็นหลัก คือ 
1. สหภาพยุโรปให้การอุดหนุนโดยกำหนดราคารับซื้อน้ำตาลโควตา A และ B ในระดับที่สูงมาก จนเกษตรกรสามารถผลิตและส่งออกน้ำตาลส่วนที่เกินกว่าโควตาดังกล่าว (น้ำตาลโควตา C) ไปจำหน่ายยังตลาดโลกในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน (น้ำตาลโควตา A และ B จะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ขณะที่น้ำตาลโควตา C จะไม่ได้รับการอุดหนุนและห้ามจำหน่ายในประเทศ ต้องส่งออกเพียงอย่างเดียว)
2. สหภาพยุโรปนำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจำนวนหนึ่งภายใต้โครงการการให้สิทธิพิเศษทางการค้าประมาณกว่า 1.2-1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อนำมาแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายขาวและส่งออกไปตลาดโลกโดยได้รับการอุดหนุนส่งออก
เมื่อรวมการอุดหนุนส่งออกที่สหภาพยุโรปให้กับน้ำตาลโควตา C และน้ำตาลทรายขาวที่ผลิตจากน้ำตาลดิบที่นำเข้าจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับสิทธิพิเศษข้างต้น ก็จะทำให้สหภาพยุโรปมีปริมาณการอุดหนุนส่งออกรวมเป็นปริมาณ 4.77 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1,139 ล้านยูโร เกินกว่าเพดานที่ผูกพันไว้กับ WTO ภายใต้ความตกลงเกษตร ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1.274 ล้านตัน โดยคิดเป็นเงินอุดหนุนไม่เกิน 499.10 ล้านยูโร/ปี
สำหรับขั้นตอนต่อไป สหภาพยุโรปจะมีระยะเวลาประมาณ 2 เดือนในการขอยื่นอุทธรณ์ผลคำตัดสิน ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าสหภาพยุโรปจะทำเช่นนั้น ทั้งนี้ หากมีการอุทธรณ์ผลคำตัดสินก็จะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีอีกประมาณ 3 เดือน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ