สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๗ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เวลา ๐๙.๓๕ นาฬิกา เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาครบองค์ประชุม นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมเรื่องรับทราบ ซึ่งไม่ปรากฏในระเบียบวาระการประชุม คือ เรื่องการขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายภิญโญ นิโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ พรรคชาติไทย ได้มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๗ ดังนั้นสมาชิกภาพของนายภิญโญ นิโรจน์ จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๑๘ (๓) จึงทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมด ๔๕๖ คน
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่สมาชิกฯ ได้เสนอขอเลื่อนระเบียบวาระเรื่องด่วน ขึ้นมาพิจารณาก่อน ดังนี้
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ ๑๓ ในประเทศไทย พ.ศ. …. (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ)
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
หลักการ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ ๑๓ ในประเทศไทย
ติดตามสรุปการประชุมงบประมาณฯ ได้ที่ http://www.parliament.go.th:81/member/inform/view-ins.php
เหตุผล
โดยที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิด สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖ และโดยที่จะมีการประชุมภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ ๑๓ ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นเพื่อให้การประชุมดังกล่าวของสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์บรรลุ ตามความมุ่งประสงค์ สมควรให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เรื่องการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ ๑๓ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ต่อมาได้มีสมาชิกตั้งข้อสังเกตในเรื่องที่เกี่ยวกับเอกสิทธิ์และการใช้คำศัพท์ คือ (CITES) ในร่างมาตรา ๔ ในวงเล็บที่เป็นภาษาอังกฤษ ขอให้แปรญัตติในขั้นกรรมาธิการวิสามัญ โดยระบุรายละเอียดให้ชัดเจนด้วย เมื่อสมาชิกได้อภิปรายพอสมควรแล้วได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ ด้วยคะแนนเห็นชอบ ๒๗๐ เสียง กำหนดให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน ๓๕ คน
ต่อมานายปกิต พัฒนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรค ไทยรักไทย ได้ขอเสนอให้มีการแปรญัตติภายใน ๒ วัน เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้บังคับ เนื่องจากจะมีการประชุมอนุสัญญาในวันที่ ๒-๑๔ ตุลาคมนี้ และมีเพียง ๕ มาตรา เท่านั้น ซึ่งใน ๕ มาตรานี้ มีเพียงมาตรา ๔ และ ๕ เท่านั้นที่สำคัญ
จากนั้นนายนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรค ประชาธิปัตย์ ขอเสนอตั้งซ่อมกรรมาธิการการพาณิชย์ คือ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร และนายอลงกรณ์ พลบุตร แทนนายไพบูลย์ พิมพ์พิสิฐถาวร และนายเรวัต สิรินุกูล
ต่อจากนั้นได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยนายวราเทพ รัตนากร รองประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณารายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้ชี้แจงผลการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังนี้คือ
จากการที่สภาผู้แทนราษฎรในการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ได้มีมติรับหลักการแห่งร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่ ๑ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๘ แล้วนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาพระราชบัญญัติดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และได้สรุปรายละเอียดไว้ดังนี้ คือ จากการร่วมกันพิจารณารายละเอียดของ
ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของภาครัฐ ทั้งที่ได้รับงบประมาณและไม่ได้รับงบประมาณ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๒๘๑ หน่วยงาน และได้มีการปรับลดงบประมาณลงจำนวน ๑๗,๗๐๔,๗๓๓,๓๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นเจ็ดพันเจ็ดร้อยสี่ล้านเจ็ดแสนสามหมื่นสามพันสามร้อยบาท) การปรับลดนี้ได้พิจารณาจาก
๑. ข้อเท็จจริงผลการดำเนินงาน ผลการใช้จ่ายงบประมาณที่ผ่านมา ตลอดจนความ
จำเป็นและความเหมาะสมของวงเงินงบประมาณกับประมาณงาน รวมทั้งความพร้อมในการดำเนินงานและกรณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลการดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ และคาดว่าจะไม่สามารถใช้จ่ายได้ทันปี ๒๕๔๘ หรือกรณีทราบผลการจัดซื้อจัดจ้างแล้วต่ำกว่าราคาที่ตั้งวงเงินงบประมาณไว้
๒. รายการรายจ่ายต่าง ๆ ที่สามารถประหยัดได้ เช่น ราคาคุรุภัณฑ์ให้เป็นตามเกณฑ์มาตรฐาน หรือราคาที่เคยจัดซื้อ
๓. รายจ่ายที่มีความซับซ้อน หรือเป็นรายการที่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และวิธีการในการดำเนินงาน เช่น ค่าใช้จ่ายในการอบรมและสัมมนา การประชาสัมพันธ์และการจ้างที่ปรึกษา
สำหรับการพิจารณาและการเพิ่มเปลี่ยนแปลงงบประมาณ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณานำเสนอรายการเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของภาครัฐ กองทุนและเงินทุนหมุนเวียนต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๖,๘๘๖,๓๖๓,๗๐๐บาท (สี่หมื่นหกพันแปดร้อยแปดสิบหกล้านสามแสนหกหมื่นสามพันเจ็ดร้อยบาท) คณะกรรมาธิการวิสามัญได้ร่วมพิจารณาเปลี่ยนแปลงงบประมาณในส่วนของงานโครงการต่าง ๆ โดยปรับลดลงจำนวน ๑๗,๗๐๔,๗๓๓,๓๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นเจ็ดพันเจ็ดร้อยสี่ล้านเจ็ดแสนสามหมื่นสามพันสามร้อยบาท) และเพิ่มให้ในสาระสำคัญ ๒ ประการ คือ
๑. เป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน
๑๑,๕๘๑,๘๒๘,๗๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยแปดสิบเอ็ดล้านแปดแสนสองหมื่นแปดพันเจ็ดร้อยบาท) เท่ากับจำนวนที่ปรับลดได้ เพื่อคงสัดส่วนเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสัดส่วนร้อยละ ๒๓.๕ ของรายได้สุทธิของรัฐบาล
๒. เพิ่มให้กับหน่วยงานอื่น ๆ จำนวน ๖,๑๒๒,๙๐๔,๖๐๐ บาท (หกพันหนึ่งร้อยยี่สิบสองล้าน
เก้าแสนสี่พันหกร้อย) เป็นการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ จำนวน ๒๒,๘๐๐,๐๐๐ บาท (ยี่สิบสองล้านแปดแสนบาท) จากกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมจากจังหวัดไปตั้งที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม
ดังนั้นการพิจารณาเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าวได้มีการพิจารณา ดำเนินการให้อยู่ในกรอบที่จะทำให้วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ทั้งสิ้น ยังคงมีจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสองแสนล้านบาท) ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติรับหลักการในวาระที่ ๑ ไปแล้ว
จากนั้น ได้มีการพิจารณาเรียงตามลำดับมาตรา โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
นายปรีชา สุวรรณทัต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ จำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท (หนึ่งล้านสองแสนล้านบาท) นายปรีชาได้ขอแปรญัตติจากงบประมาณ รายจ่ายประจำปีเป็นงบประมาณรายจ่ายชดใช้ ซึ่งเป็นเงินคงคลังที่แยกออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและไม่ให้ถือเป็นงบประมาณประจำปี แต่ให้ถือว่าเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังและให้ถือเป็นรายจ่ายในปีนั้น ๆ ไป และต้องนำมารวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท (หนึ่งล้านสองแสนล้านบาท) ซึ่งจะทำให้จำนวนงบประมาณประจำปีนั้นเพิ่มขึ้นและกลายเป็นงบประมาณขาดดุลไม่ใช่งบประมาณสมดุลตามที่รัฐบาลได้กล่าวไว้
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแปรญัตติในมาตรา ๓ โดยขอให้ปรับลดลงร้อยละ ๕ และได้ตั้ง ข้อสังเกตถึงการใช้จ่ายงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีอำนาจในการซื้อและบริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดหนี้สินภาคครัวเรือนและหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นายชินวรณ์ มีความเห็นว่า การจัดงบประมาณนี้ควรเป็นแบบบูรณาการ และควรมีการจัดทำเอกสารรายจ่ายงบประมาณประจำปีเป็นรายจังหวัด เพื่อให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ และเห็นว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายนี้ไม่ได้เป็นไปตามหลัก งบประมาณการคลัง
นายสุวโรช พะลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแปรญัตติในมาตรา ๓ โดยขอให้ปรับลดลงร้อยละ ๕ และได้ตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของ เงิน รายได้ต่าง ๆ ที่จะนำมาเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๔๘ นั้น ได้มาจากการจัดเก็บภาษี จากเกษตรกรและผู้มีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ยังได้ขอให้คณะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ บนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย
นาวาตรี สุธรรม ระหงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเหตุผลการขอแปรญัตติลดงบประมาณ ในมาตรา ๓ ลง ร้อยละ ๕ เพราะมีความกังวลต่อการจัดเก็บรายได้ให้กับแผ่นดินที่หวังว่าจะนำเงินมาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ๖ แห่ง ขายให้เป็นบริษัทมหาชน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้า นครหลวง บริษัท ทศท.คอร์เปอร์เรชั่น การสื่อสารแห่งประเทศไทย และการประปานครหลวง ถือว่า เป็นการตั้งงบประมาณที่ขาดหลักนิติธรรมต่อประชาชนทั่วประเทศ ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลสามารถบริหารจัดการงบประมาณดีกว่ารัฐบาลชุดอื่น ๆ นอกจากนี้ยังสอบถามนายวราเทพ รัตนากร
ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า ได้เคยสอบถามไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่า มีความคิดเห็นอย่างไร สำหรับการแยกงบประมาณชดใช้เงินคงคลังออกจากงบประมาณรายจ่ายปกตินั้น อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๑ ได้
ต่อมานายปกิต พัฒนกุล ในฐานะกรรมาธิการฯ ได้ตอบชี้แจงว่า
๑. การตั้งงบประมาณชดใช้เงินคงคลังนั้น เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธี
งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒
๒. การที่มิได้ระบุรายละเอียดโครงการงบประมาณระดับจังหวัด เนื่องจากข้อจำกัด
ของเวลาสำหรับการพิจารณาในสภาฯ
จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสียงข้างมาก ให้คงมาตรา ๓ ไว้ตามร่างฯ เดิม ด้วยคะแนน ๒๖๖ เสียง
นายสุวโรช พะลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายถึงการที่รัฐบาลสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรด้วยการเรียกเก็บภาษีนั้น ถือว่าเป็นการออกมาตรการที่ไม่ถูกต้อง และเรียกร้องให้สำรวจดูว่าเกษตรกรแต่ละคนมีรายได้จริงหรือไม่ เพราะมี บางรายได้รับจดหมายเรียกเก็บภาษีทั้งที่ไม่มีรายได้
นายวราเทพ รัตนากร รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้ตอบชี้แจงว่า
๑. การเก็บภาษีจากเกษตรกรนั้นเกิดจากการปรับปรุงระบบการบริหารงบรายได้ของ
สรรพากรที่ผู้ประกอบการด้านการเกษตรกรที่มีรายได้ตามเกณฑ์จะต้องจ่ายให้รัฐตามหลักกฎหมาย นิติบุคคล
๒. สำหรับข้อมูลและเอกสารประกอบการพิจารณางบประมาณรายจ่ายจังหวัดนั้นได้
จัดพิมพ์แจกจ่ายแก่กรรมาธิการตั้งแต่วันแรกของการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเหมือนเช่นทุกปี และการปรับลดมิใช่การปรับเปลี่ยนเพื่อโยกลงจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเป็นการเจาะจงแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังปรับงบเพื่อการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความยุติธรรม
นายวินัย เสนเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายมาตรา ๔ ส่วนของงบกลาง จำนวน ๒๐๐,๑๘๙,๙๘๓,๘๐๐ บาท (สองแสนหนึ่งร้อยแปดสิบเก้าล้านเก้าแสนแปดหมื่นสามพันแปดร้อยบาท) โดยขอปรับลดลงร้อยละ ๑๐ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน และขอถามผ่านไปยังรัฐบาลว่า
๑. ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจร้อยละ ๗ ที่รัฐบาลเคยแถลงไว้ก่อนหน้านี้ยังคงอยู่ในระดับเดิมหรือไม่
๒. รัฐบาลเคยสำรวจดัชนีภาระหนี้สินภาคครัวเรือนหรือไม่ ในขณะนี้รายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ ๕.๒ เท่านั้น
๓.งบส่วนกลาง ๕,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับใช้กับเหตุฉุกเฉิน ได้จัดทำแผนงานการใช้ งบไว้บ้างหรือไม่ อย่างไร
๔. การตั้งงบโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น ๑,๐๐๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๔๗ นำไปใช้อะไรบ้างผลลัพธ์เป็นอย่างไร
๕. การแปลงสวนยางเป็นทุน ๔๕ ล้านบาท ดำเนินการไปมากน้อยเพียงใด ประชาชนได้รับประโยชน์จำนวนกี่ราย
๖. การว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาการตัดถนนสู่ภาคใต้ ๔๕ ล้านบาท ดำเนินการอยู่ใน
ขั้นตอนใด
๗. โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียน จำนวน ๑,๗๖๕ ล้านบาท ไม่มีแผนงานโครงการรองรับ ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมในต่างประเทศได้ จนทำให้ต้องเสียทรัพยากรบุคคลไป
๘. โครงการไทยแลนด์ พริวิลเลจ การ์ด และโครงการส่งเสริมศักยภาพแรงงานไทยไปต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังมีการเรียกเก็บค่าหัวคิวอยู่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นโครงการที่ไม่มีแบบแผนและนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งการจัดงบประมาณนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร
สำหรับค่าใช้จ่ายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี ๒๕๔๗ งบกลางตั้งไว้ ๘,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จและในปี ๒๕๔๘ รัฐบาลยังตั้งเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นการคิดแก้ไขปัญหาแบบนายทุน และนักธุรกิจ โดยการตั้งงบประมาณดังกล่าวเป็นการสร้างภาระผูกพันให้กับประชาชนในอนาคตทำลายระเบียบการเงินการงบประมาณ
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้อภิปรายประเด็นที่สงวนความเห็นไว้ในมาตรา ๔ งบกลาง โดยได้แสดงความเห็นถึงการจัดตั้งงบกลางในรัฐบาลที่ผ่านมาว่า ไม่เคยตั้งงบกลางไว้จำนวนมากมายอย่างนี้ และการนำไปใช้จะต้องเป็นกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วนและจำเป็น โดยการใช้งบจะอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยการรับทราบของคณะรัฐมนตรี แต่ในปัจจุบันการตั้งงบกลางเปลี่ยนแปลงไปมากใน ๔ ปีที่ผ่านมามีการตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี และปี ๒๕๔๘ กว่าร้อยละ ๘๐ ของงบกลาง เป็นงบลงทุนที่ไม่มีเอกสารรายละเอียดโครงการและแผนงานประกอบที่ชัดเจน โดยกรรมาธิการก็ได้แต่เป็นห่วงเรื่องวินัย การเงิน การงบประมาณที่อาจจะเสียไป
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้อภิปรายในประเด็นที่สงวนความเห็นไว้ในมาตรา ๔ งบกลาง คือ การไม่รักษาวินัยการเงิน การคลัง การงบประมาณของรัฐบาล มีการโยกงบประมาณจากหมวดหนึ่งไปยังอีกหมวดหนึ่ง โดยไม่มีรายละเอียดประกอบเขียนไว้แต่เพียงว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งไม่สามารถจะพิจารณาอะไรได้เป็นการ
ซุกเงินงบประมาณไปใช้อย่างไม่โปร่งใส เช่น กรณีจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากนายกรัฐมนตรีในปี ๒๕๔๗ ถึง ๗๙๘ ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างถนนในหมู่บ้านเพียงครั้งเดียว โดยอยากชี้ให้เห็นว่าวิธีการอย่างนี้ใช้ไม่ได้
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นที่สงวนความเห็นไว้ในมาตรา ๔ โดยขอปรับลดงบกลางของ ปี ๒๕๔๘ ในรายการที่ ๑๐ โดยมีเหตุผลสนับสนุน ๓ ประเด็น ดังนี้
๑. การไม่มีเอกสารของสำนักงบประมาณประกอบเป็นการจัดงบแบบไร้ทิศทาง
ไร้ยุทธศาสตร์ จากการพิจารณาการใช้งบกลางของปี ๒๕๔๖ มีการนำเงินไปใช้ในโครงการต่าง ๆ มากมาย เช่น การพัฒนาเส้นทางไทย - กัมพูชา โครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค การประชุมเอเปค โครงการไทยพรีวิเลจ การ์ด ส่วนในปี ๒๕๔๗ มีการนำงบประมาณไปใช้แบบตามใจ จัดสรรงบประมาณให้กับคนใกล้ชิด เช่น การจัดมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใช้งบประมาณถึง ๕๑๘ ล้านบาท และโครงการเชียงใหม่ ซาฟารีไนท์ ที่ใช้งบประมาณสูงถึง ๓๑๔ ล้านบาท ส่วนโครงการจัดหา เครื่องบินลำเลียงขนาดกลางแบบแอร์บัส ๑,๑๐๐ ล้านบาท ไม่เห็นว่าจะเป็นการใช้งบประมาณเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศตรงไหน สุดท้ายกลายเป็นเครื่องบินส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และบางโครงการไม่สมควรที่จะดึงเงินงบประมาณจากงบกลางนี้ไปใช้ เช่น การจัดซื้อปืนใหญ่ขนาดเบาให้กระทรวงกลาโหม โดยตั้งงบประมาณผูกพันไปจนถึงปี ๒๕๔๙ จำนวน ๒,๔๐๐ กว่าล้านบาท หรือการขอไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) จำนวน ๑๘๕ ล้านบาท
๒. เอางบกลางตั้งเป็นหัวเชื้อแล้วผูกพันงบประมาณต่อไปอีก ๓-๔ ปีข้างหน้า สภาฯ
ไม่ได้ตรวจสอบว่าในอนาคตจะมีผลกระทบอย่างไร เช่น นำไปจัดซื้อดาวเทียม ทีออส ระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัทเอกชนของฝรั่งเศส (SAS) โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เร่งจัดหาดาวเทียม ซึ่งเรียกโครงการนี้ว่า Remote Sensing โดยแลกกับการส่งออกสินค้าเกษตร
เช่น ไก่ต้มสุก กุ้งแช่แข็ง ฯลฯ ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มบริษัทใหญ่เท่านั้น โดยงบกลางตั้งโดยไม่ผ่านสภาและคณะกรรมาธิการในปี ๒๕๔๗ จำนวน ๑,๔๒๑ ล้านบาท และผูกพันไปอีก ๔ ปี รวมแล้ว ๖,๐๘๘ ล้านบาท
๓. งบประมาณที่ตั้งไว้เป็นการหวังผลทางการเมืองและมีความเหมาะสมหรือไม่
ซึ่งจากการไปตรวจราชการตามจังหวัดต่าง ๆ ของนายกรัฐมนตรี และได้อนุมัติงบประมาณให้แต่ละจังหวัดมีกระบวนการกลั่นกรองอย่างไร เท่าที่ทราบ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมา ๑ ชุด จึงอยากทราบว่า
- กรรมการเป็นใคร มาจากไหน จึงสามารถพิจารณางบประมาณได้
- เป็นการโกหกชาวบ้านหรือไม่ และมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการ ชุดนี้ไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์
นายสาทิตย์จึงสรุปว่า การจัดงบประมาณนี้ไร้ยุทธศาสตร์ ไร้ทิศทาง และขาดการ บูรณาการ จึงขอปรับลดงบประมาณลงทั้งหมด
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีพรรคชาติไทย ในฐานะกรรมาธิการที่ขอสงวนความเห็น ได้อภิปรายในมาตรา ๔ งบกลาง จำนวนเงิน ๒๐๐,๑๘๙ ล้านบาท ซึ่งขอปรับลดลงร้อยละ ๑๐ และได้อภิปรายเฉพาะในรายการที่ ๑๐ เรื่อง ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ จำนวนเงิน ๒๓,๔๐๐ ล้านบาท โดยได้อภิปรายว่า
ส่วนดีของการตั้งงบกลาง คือ
๑. สามารถทำให้ประเทศตั้งงบประมาณแบบสมดุลได้
๒. เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจราชการยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงสามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งทำให้ทุกจังหวัดได้รับประโยชน์จากงบประมาณนี้
ส่วนที่ไม่ดีคือ
จากการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน ๓ คณะ ได้แก่
๑. คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจัดสรรงบประมาณฝึกอบรม สัมมนา
ประชาสัมพันธ์ และค่าจ้างที่ปรึกษาของส่วนราชการต่าง ๆ
๒. คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อ จัดจ้าง
คอมพิวเตอร์ของส่วนราชการต่าง ๆ
๓. คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น และสิ่งก่อสร้างของส่วนราชการต่าง ๆ
ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการทั้ง ๓ คณะ ไม่สามารถพิจารณาปรับลดงบกลางในส่วนของ ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างศักยภาพฯ ได้ เนื่องจากไม่มีโครงการรองรับ โอกาสที่สภาฯ จะได้ตรวจสอบโครงการต่าง ๆ จึงไม่มี
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเกี่ยวกับงบกลางจำนวน ๒๐๐,๑๘๙ ล้านบาท ดังนั้น
๑. ค่าใช้จ่ายในการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐในปีนี้ ๔๕,๒๕๕ ล้านบาท
มีเหตุผลหรือไม่
๒. ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
ไม่มีรายละเอียด จึงอยากให้กรรมาธิการเสนอรายละเอียดต่อสภาฯ เพื่อให้ทราบ
๓. เงินอุดหนุนให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในปี ๒๕๔๘ ไม่มี
๔. ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ขณะนี้มีหนี้ทั้งหมดกี่ล้าน และต้องตั้งงบประมาณเพื่อใช้หนี้ธนาคารออมสิน จำนวนเท่าไร และอีกกี่ปี จึงจะใช้หนี้หมด
๕. ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ๑๘,๐๐๐
ล้านบาท ซึ่งเมื่อเฉลี่ยดูแล้วจะเห็นเป็น ๒ มาตรฐาน คือ ประชาชนที่ใช้บัตรทอง ๓๐ บาท เฉลี่ย ๑,๕๐๐ บาท ต่อคน ต่อปี ขณะที่ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ เฉลี่ย ๓,๕๐๐-๔,๐๐๐ บาท ต่อคน ต่อปี ซึ่งแตกต่างกันถึง ๒ เท่า
๖. ค่าใช้จ่ายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๔,๐๐๐ ล้านบาท เมื่อมี
เหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ รัฐใช้เงินเข้าไปแก้ปัญหา เป็นการสมควรหรือไม่ เพราะผู้ก่อการร้ายอาจใช้เป็นเงื่อนไขในการของบประมาณเพื่อต่อรองกับประชาชน
นายตรีพล เจาะจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า การใช้งบกลางของรัฐบาลโดยการที่นายกรัฐมนตรีไปตรวจราชการยังจังหวัดต่าง ๆ และได้อนุมัติงบประมาณให้จังหวัดนั้นไม่เหมาะสม เพราะแต่ละจังหวัดต่างก็มียุทธศาสตร์ของ ตัวเองอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังได้ตั้งคำถามว่า มีการตรวจสอบกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล ในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้หรือไม่
๑. การใช้งบกลางไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงหรือไม่
๒. การจัดสรรงบกลางไม่ยุติธรรม ในแต่ละจังหวัดได้มากน้อยไม่เท่ากัน รัฐบาลมี
วิธีการจัดสรรงบประมาณอย่างไร
๓. งบกลางบางอย่างทำไมไม่นำไปใช้ในโครงการที่เร่งด่วน แต่กลับนำไปใช้ใน
โครงการที่ไม่เร่งด่วนจริง เช่น การปรับปรุงถนน และสร้างถนน
๔. อำนาจฝ่ายบริหารก้าวก่ายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ เพราะมีการตั้งงบประมาณ
ผูกพันเอาไว้ทั้งที่ยังไม่ได้ขออนุมัติจากสภา
๕. การใช้งบกลางในโครงการต่าง ๆ มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
นายตรีพล จึงสรุปว่าการจัดสรรงบประมาณแบบนี้ไม่เป็นรูปแบบ จึงเห็นสมควรตัด งบกลางทั้งหมด จนกว่าคณะกรรมาธิการฯ จะได้ชี้แจงในรายละเอียด
ต่อจากนั้น นายวิฑูรย์ นามบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ได้ตั้งไว้สูงแต่ขณะเดียวกันก็สวนทางกับนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่กำลังดำเนินการอยู่ เพราะมีมติคณะ รัฐมนตรีที่ให้ข้าราชการพลเรือนออกจากราชการโดยการประเมินผลงานและไม่ตัดสิทธิ์ในการจ่ายบำเหน็จบำนาญ ซึ่งมตินี้ได้ไปสอดคล้องกับมาตรการที่รัฐบาลสั่งการไปยังกระทรวงต่าง ๆ คือ
มาตรการพัฒนาและบริหารกำลังคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพราชการ ดังนั้นจึงต้องการทราบว่า กรรมาธิการได้สอบถามเจ้าหน้าที่ราชการที่มาชี้แจงในกรรมาธิการเพียงใด และงบประมาณที่ตั้งไว้สอดคล้องกัน หรือไม่ เพราะขณะนี้ข้าราชการกำลังถูกเร่งรัด ทำให้ขวัญและกำลังใจของข้าราชการหวั่นวิตกและ กังวลใจ เนื่องจากการดำเนินการและที่มาของข้าราชการแตกต่างจากพนักงานของบริษัท เพราะพนักงานของบริษัทต่าง ๆ จะมีกฎระเบียบอย่างไรขึ้นอยู่กับเจ้าของบริษัทเป็นผู้พิจารณา และการดำเนินการของบริษัทมุ่งหวังผลกำไร แต่สำหรับข้าราชการนั้นการประเมินผลต่าง ๆ จะมีผลกระทบต่อตัวข้าราชการโดยตรงเพราะในสังคมไทยผู้ที่ทำงานราชการต้องการความมั่นคงในชีวิต แต่ขณะนี้ไม่มีความมั่นใจในชีวิตว่าจะอยู่ในระบบราชการได้อย่างไร จึงขอให้
๑. ยกเลิกมาตรการดังกล่าวนี้
๒. เงินสำรองจ่าย กรณีฉุกเฉินและจำเป็นมีอยู่ในวงเงิน ๑๑,๖๐๐ ล้านบาท ควรนำเงินส่วนนี้ มาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม และควรแก้ไขมาตรการการช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าชดเชยเกษตรกรที่ถูกภัยน้ำท่วมควรจัดสรรด้วยความเป็นธรรม
๓.ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างเสถียรภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่มีหน่วยงาน โครงการและมาตรการรองรับ ดังนั้นการดำเนินการในเรื่องการเสริมสร้างเสถียรภาพ การแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ควรให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนในด้านต่าง ๆ จึงขอสงวนสิทธิ์ ปรับลดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐
จากนั้น นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า ในช่วงที่รัฐบาลแถลงนโยบายงบประมาณในวาระที่ ๑ ได้ประกาศว่าการใช้งบประมาณจะเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และมียุทธศาสตร์ในการบริหารการจัดการเป็นระบบ โดยจัดงบประมาณไว้ ๑๙,๐๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งในงบประมาณดังกล่าวนี้จะอยู่ในทุกกรมกอง แต่ขณะนี้เรื่องที่ได้ประกาศไว้กับเรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติไปตรวจสอบไม่ตรงกันคือ
๑. งบประมาณที่รัฐบาลได้ตั้งไว้สำหรับเรื่อง การอำนวยความสะดวกทางบริหารนั้น
ในความเป็นจริงเป็นงบประมาณที่อำนวยความสะดวกทางการเมืองมากกว่าการบริหาร
๒. จากการตรวจสอบเรื่องการวางแผนบูรณาการพบว่า การบูรณาการไม่เกิดขึ้น
เพราะไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า
๓. งบกลางคือ งบที่หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เพราะถ้าเป็นงบปกติคณะกรรมาธิการจะสามารถตรวจสอบได้ แต่งบกลางเป็นงบฉุกเฉิน และสามารถทุจริตได้
๔. งบประมาณส่วนงานต่าง ๆ ควรให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถตรวจสอบและปิดช่องการทุจริตได้