สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพฤหัสบดีที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๗
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๗ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เวลา ๐๙.๔๕ นาฬิกา เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาครบองค์ประชุม นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม จากนั้นที่ประชุมได้มีการพิจารณาในมาตรา ๘ โดยสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางดังนี้
นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์
อภิปรายแปรญัตติขอปรับลดในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศลง ๖๕ ล้านบาท โดยให้ถึงเหตุผลที่ขอปรับลดบนหลักเกณฑ์ที่ว่าผลงานของกระทรวงการต่างประเทศสามารถทำได้ตามที่มีการคาดหมายไว้หรือเปล่าและ สำนักงบประมาณมีแต่ดัชนีชี้วัดในเชิงปริมาณ แต่ไม่มีดัชนีชี้วัดในเชิงคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีความเห็นว่าการดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศนั้นถือว่าสอบผ่าน แต่ความสามารถในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศในเชิงเศรษฐกิจยังล้มเหลวไม่ว่าจะเป็นการเจราจาเขตการค้าเสรีหรือการทำข้อตกลง เขตการค้าเสรี ซึ่งมีผลให้คนจนโดยเฉพาะเกษตรกรสูญเสียประโยชน์ ส่วนคนที่ได้ประโยชน์จะเป็นคนกลุ่มเดียวคือ คนรวย พ่อค้านายทุนต่าง ๆ อีกทั้งยังได้อภิปรายถึงอุปสรรคของกระทรวงการต่างประเทศที่มีปัญหาในเรื่อง ค่าจ้าง ลูกจ้างในต่างประเทศ ซึ่งอัตราเงินเดือนไม่เป็นที่จูงใจบุคลากรที่มีคุณภาพ และยังได้อภิปรายถึงนโยบาย ๔ ตา ซึ่งเป็นข้อบกพร่องของกระทรวงการต่างประเทศที่ปล่อยให้ผู้นำ ๒ ประเทศคุยกันโดยไม่มีเอกอัครราชทูตอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการเจรจาแบบนักธุรกิจ สุดท้ายได้อภิปรายถึงการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยในต่างแดน ที่ไทยได้ให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ลาว พม่า เขมร แต่วันนี้ประเทศไทยยังไม่ได้รับการ ตอบแทนอะไรเลย
นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์
อภิปรายแปรญัตติปรับลดงบประมาณ มาตรา ๘ กระทรวงการต่างประเทศ โดยให้เหตุผลที่ปรับลดเพราะคณะกรรมาธิการไม่แสดงรายละเอียดในแต่ละโครงการว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างไร และการปรับลดนั้นได้ปรับลดในส่วนที่ตรงตามความต้องการหรือไม่ นอกจากนี้ยังได้อภิปรายอีกว่าสถานกงสุลไทยในต่างประเทศนั้นถือได้ว่าเป็นหน้าตาของไทยในต่างประเทศ บางครั้งต้องทำหน้าที่ต้อนรับหรือให้บริการแก่
คณะต่าง ๆ ที่มาจากประเทศไทย แต่ว่าเราได้ให้ความสำคัญกับสถานกงสุลเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด
งบประมาณที่ให้ไปเพียงพอหรือไม่ จึงอยากตั้งข้อสังเกตไว้ และได้อภิปรายว่ามีงบประมาณรายจ่ายอื่น ๆ ของ
กระทรวงต่างประเทศตั้งไว้สูง เช่น งบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศชั่วคราว งบค่าใช้จ่ายในการเจรจาธุรกิจเป็นต้น
จากนั้น นายปกิต พัฒนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรค
ไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงว่าจากการปรับลดงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศที่ได้ ตั้งไว้ ๕,๖๐๐ กว่าล้านบาทเศษ และขอปรับลดลง ๖๕ ล้านบาท ในขณะเดียวกันได้มีขอปรับลดอีก ๘๔๘ ล้านบาทเศษ ในเรื่องการปรับลดดังกล่าวนี้ คณะกรรมาธิการได้มีการพิจารณาจากวิสัยทัศน์ พันธกิจที่ฝ่ายบริหารกระทรวงการต่างประเทศได้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการ รวมทั้งได้วิเคราะห์เหตุผลการปฏิบัติงานของกระทรวงการต่างประเทศแล้วเห็นว่าสามารถปรับลดลงให้เพียง ๕,๓๗๔,๐๐๐ บาท และไม่สามารถปรับลดลงได้อีกแล้ว
จากนั้น นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย ในฐานะกรรมาธิการได้ชี้แจงว่าค่าเสียหายที่ได้รับจากประเทศกัมพูชานั้น และรัฐบาลกัมพูชาต้องดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายให้กับรัฐบาลไทย จำนวน ๑๗ ราย ขณะนี้สามารถเจรจาตกลงกับรัฐบาลกัมพูชาและได้รับค่าเสียหายแล้ว ๗ ราย คิดเป็นเงินงบประมาณ ๑๗,๘๐๕,๖๓๓ ดอลล่าร์สหรัฐ (สิบเจ็ดล้านแปดแสนห้าพันหกร้อย
สามสิบสามดอลล่าร์)
ต่อจากนั้น นางผุสดี ตามไท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในเรื่องของโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกว่า ได้มีการพิจารณากันหรือไม่เพราะยังไม่มีความคืบหน้าเลย ซึ่งในความเป็นจริงโครงการดังกล่าวนี้ น่าจะเป็นโครงการที่ทำให้ประชาชนสามารถส่งสินค้าการเกษตรตลอดจนทำให้ประชาชนคนไทยมีงานทำด้วย แต่ปรากฏว่าได้สร้างความลำบากให้กับคนไทยที่จะไปทำงานยังต่างประเทศเป็นอย่างมาก
จากนั้น นายวิทยา บุรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงว่ากรรมาธิการได้มีการพิจารณาในทุก ๆ ด้าน ปัจจุบันการทำหน้าที่เอกอัครราชทูตใน แต่ละประเทศได้เปลี่ยนแปลงไป บางสถานที่มีกงสุล บางสถานที่มีเอกอัครราชทูต และในแต่ละสถานที่นั้น มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงแรงงานและแรงงานไทยในต่างประเทศ กรรมาธิการได้มีการสอบถามในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยแล้ว
เมื่อสมาชิกฯ ได้อภิปรายพอสมควรแล้วที่ประชุมได้ลงมติในมาตรา ๘ เห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน ๒๔๐ เสียง
ต่อมาเป็นการพิจารณาในมาตรา ๙ ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง
นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายถึงงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในส่วนของ งบประมาณอื่น ๆ เรื่องค่าใช้จ่ายในการเจรจาธุรกิจและการประชุมนานาชาติ จำนวน ๓๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณโดยไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการพัฒนาทางด้านกีฬาภายในประเทศยังต้องได้รับการปรับปรุงและแก้ไขอีกมาก รัฐบาลจึงควรศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคแนวทางในการพัฒนากีฬาของชาติให้มีความพร้อมเสียก่อน จึงจะไปพัฒนาในระดับนานาชาติ
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติในมาตรา ๙ ซึ่งมีการขอปรับลดลงร้อยละ ๕ โดยกล่าวถึงความไม่สอดคล้องกันของยุทธศาสตร์แผนกีฬาชาติ ในการนำเอาการท่องเที่ยวและกีฬามาไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังขอให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โดยให้สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการกับศูนย์การกีฬาและนันทนาการมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อให้เกิดเอกภาพในการทำงานและเป็นการปรับแผนยุทธศาสตร์ให้มีประสิทธภาพมากยิ่งขึ้น
นายสุวรรณ กู้สุจริต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติ โดยขอปรับลดลงร้อยละ ๑๐ เพื่อนำไปเพิ่มปริมาณโรงเรียนกีฬาให้มากขึ้น เนื่องจากโรงเรียนกีฬาส่วนใหญ่ในประเทศเป็นโรงเรียนแบบประหยัด ซึ่งไม่มีความสะดวกในการเรียนและมีเพียง ๑๐ แห่งทั่วประเทศเท่านั้น ทั้งยังได้งบประมาณเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการกีฬาให้แก่เยาวชนไทย
นอกจากนี้ยังขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยและกีฬาโอลิมปิคให้มากขึ้น เพื่อการเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นเลิศในด้านกีฬาของไทย
นายวิชัย ตันศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติโดยขอปรับลดลง ๑๐ ล้านบาท ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เนื่องจากยังไม่มีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ยังไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณในการพัฒนาศักยภาพการทำงาน เช่น ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และภาษา ซึ่งเป็นสื่อกลางที่ใช้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมของไทย
นางลาวัณย์ ตันติกุลพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมุกดาหาร พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้ชี้แจงถึงการจัดสรรงบประมาณด้านการเจรจาธุรกิจและการประชุมนานาชาติว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเจรจาและประชุมนานาชาติของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของทั้ง ๓ หน่วยงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ และสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งในปี ๒๕๔๗ ได้จัดสรรงบประมาณเหล่านี้ไว้ ในส่วนการท่องเที่ยว ซึ่งกระจายอยู่ตามโครงการต่าง ๆ ไม่ได้แยกรายการไว้ชัดเจน แต่ในปี ๒๕๔๘ ได้จัดสรรงบประมาณส่วนนี้รวมกัน และตั้งชื่อใหม่อย่างเป็นกลางเช่นเดียวกับกระทรวงอื่น ๆ และได้ ชี้แจงเพิ่มเติมถึงการใช้งบประมาณในการพัฒนาการกีฬาและนันทนาการว่า มีการใช้งบประมาณในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การส่งเสริมกิจกรรมด้านกีฬาและนันทนาการให้กับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และเยาวชน รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส การปรับปรุงสนามกีฬาและศูนย์บริการด้านกีฬาต่าง ๆ และจัดสรรงบประมาณให้กับนักเรียน เยาวชนที่มีความสามารถทางด้านกีฬาในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในโรงเรียนกีฬา ๑๐ แห่ง นอกจากนี้ยังใช้พัฒนาบุคลากรทางด้านพลศึกษา สุขศึกษาและวิทยาศาสตร์การกีฬา ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังครอบคลุมถึงการพัฒนาสนามกีฬา นักเรียนผู้มีความชำนาญพิเศษ และบุคลากรด้านการกีฬาให้เป็นไปตามแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ
นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงถึงงบประมาณในปี ๒๕๔๘ ที่ได้น้อยกว่าในปี ๒๕๔๗ แต่แท้จริงแล้วได้เพิ่มจากปี ๒๕๔๗ ประมาณร้อยละ ๘ เนื่องจากมีการโอนงบประมาณการจัดตั้งการประชุมและนิทรรศการขององค์กรมหาชนของปี ๒๕๔๗ เข้ามาไว้ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลาด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นั้น เป็นโครงการที่สำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในลุ่มน้ำทะเลสาปด้านการอนุรักษ์แบบบูรณาการ จึงได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อใช้ในการดำเนินการดังกล่าวให้สัมฤทธิ์ผล
นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติ โดยขอปรับลดลง ๔๐๐ ล้านบาท เนื่องจากการทำงานของรัฐบาลยังไม่มีคุณภาพและไม่คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชน นอกจากนี้ยังบริหารงานล้มเหลวในโครงการอิลิท การ์ด ซึ่งต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังดำเนินงานโดยขาดการตรวจสอบในกระบวนการต่าง ๆ อีกด้วย
นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต พรรค
ประชาธิปัตย์ อภิปรายตัดงบประมาณของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาลงร้อยละ ๑๐ เพื่อขอให้นำงบส่วนนี้ไปดำเนินการจัดสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต และที่รัฐบาลเข้าใจว่ามีความขัดแย้งเรื่องพื้นที่การจัดสร้างนั้นได้ข้อยุติแล้ว โดยชาวภูเก็ตเห็นชอบกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ต้องการสร้าง ณ ตำบลสะพานหิน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้จะตั้งเป็นงบของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรืองบกลางก็ได้
นายลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ อภิปรายปรับลดงบลงร้อยละ ๑๕ โดยขอให้จัดงบปรับปรุงและพัฒนาดังนี้
๑. ขอให้มีการพัฒนาสนามกีฬาเฉลิมนคร อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาจะได้หรือไม่
๒. แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวดำเนินการเป็นอย่างไร
๒.๑ โครงการบัตรอิลิท การ์ด มีผู้ซื้อบัตรมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับการดำเนินการหรือไม่
๒.๒ มีการวางระบบรักษาสวัสดิภาพความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวหรือไม่
๒.๓ มีแผนการเพิ่มจำนวนมัคคุเทศก์โดยเฉพาะสาขาภาษา ขาดแคลนบ้างหรือไม่
๓. การแก้ปัญหานักท่องเที่ยวลดจำนวนลงเพราะสถานการณ์ภาคใต้ควรดำเนินการ
สร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น
๔. ขอให้เร่งเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวให้มากขึ้นโดยเร็วเพราะส่งผลต่อรายได้ของ
ประชาชน
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายงบประมาณเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่า มีการดำเนินการเป็นอย่างไรและก้าวหน้าไปเพียงใด โดยเฉพาะ
๑. โครงการอิลิท การ์ด คุ้มการลงทุนหรือไม่
๒. การจัดตั้งบริษัท Home stay คุ้มต้นทุนการดำเนินการหรือไม่
๓. ขอให้รัฐบาลจัดทำแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชัดเจน
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในส่วนของการบริหารงานบุคคลด้านการกีฬามีการวางแผนงานที่ระดับอำเภอ จังหวัดและระดับชาติอย่างไร และขอให้โอนแผนกิจกรรมกีฬาไปไว้สำนักปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการงบประมาณได้หรือไม่
นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย
ในฐานะกรรมาธิการตอบชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
๑. คณะกรรมาธิการฯ ได้สอบถามผู้บริหารโครงการอิลิท การ์ด และได้มีการปรับย้าย
ผู้บริหารโครงการแล้ว
๒. การของบประมาณจัดสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต และพัฒนาสนามกีฬาหาดเฉลิมนคร อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ของรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่
๓.การที่ขอให้มีการโอนแผนกิจกรรมกีฬาไปอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักปลัดกระทรวง
ท่องเที่ยวและกีฬานั้น
นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายปรับลดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐ เนื่องจากเห็นว่าโครงการการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มุ่งเน้นการก่อสร้างมากกว่าการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ และขอให้เร่งสร้างศูนย์สวัสดิการผู้สูงอายุในทุกจังหวัดเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกระทรวงด้วย
นางผุสดี ตามไท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายขอให้เพิ่มงบประมาณให้กับสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เนื่องจากสตรีมีบทบาทสำคัญต่อสังคมในฐานะแม่ ภรรยา และผู้ดูแลทุกคนในครอบครัว ซึ่งรัฐบาลตั้งงบประมาณให้น้อยเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับภารกิจหน้าที่
นายวิชัย ตันศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายปรับลดงบประมาณร้อยละ ๑๐ โดยขอให้เพิ่มงบประมาณในโครงการสนับสนุนองค์กรเอกชน เพื่อสาธารณะและเพิ่มเงินอุดหนุนกิจกรรมเฉพาะให้มากขึ้นจะได้หรือไม่
นายวิฑูรย์ นามบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในประเด็น
๑. เนื่องจากเป็นกระทรวงที่ตั้งขึ้นใหม่ ประชาชนยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ในการติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้มากเท่าที่ควร เช่น ประชาชนจากต่างจังหวัดที่เข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความลำบากทั้งด้านที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพ จึงขอให้คำนึงถึงประชาชนในกลุ่มนี้ด้วย
๒. การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ ยังกระจายไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่
๓. การช่วยเหลือฟื้นฟูอาชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยในปีที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนบ้าง
แต่ก็ไม่ทั่วถึง ในปีนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น จึงอยากขอให้จัดงบประมาณไปช่วยให้ทั่วถึงและขอให้ช่วยเหลือเฉพาะพื้นที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ
ซึ่ง นายวิทยา บุรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรค
ไทยรักไทย ได้ตอบชี้แจงว่า ในกรณีการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงดังกล่าวว่า ปัญหาสังคมเป็นเรื่องที่เปราะบาง แต่อย่างไรก็ตามได้สอบถามไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว และได้รับ คำตอบชี้แจงเป็นที่น่าพอใจ โดยขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ประสานไปยังหน่วยงานรับผิดชอบได้เลย และจะเพิ่มข้อสังเกตนี้ในกรรมาธิการให้ด้วย
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งสมควรได้รับการดูแลจากรัฐบาลให้ มากกว่านี้ โดยอยากให้นำข้อสังเกตเหล่านี้มาพูดกันในที่ประชุม และเมื่อพิจารณาจากเนื้องานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้วพบว่า งบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับกรมเพียงกรมเดียวของกระทรวงอื่น ๆ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นที่สงวนคำแปรญัตติไว้ในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากยอดงบประมาณทั้งหมด ๔,๗๐๗,๐๖๔,๐๐๐ บาท (สี่พันเจ็ดร้อยเจ็ดล้านหกหมื่นสี่พันบาท) ขอปรับลดลงจำนวน ๔๙๔ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ ๑๐
โดยได้อภิปรายให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนของการใช้เงินในงบอุดหนุนทั่วไปของ ๒ หน่วยงาน คือ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ สำหรับงบประมาณในส่วนของเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์กรเอกชนและสาธารณประโยชน์ ยังไม่ทราบรายละเอียดของภารกิจ และเป้าหมายของการดำเนินการว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้เงินอุดหนุนทั่วไปสำหรับผู้ประสบปัญหาสังคมกรณีฉุกเฉิน รวมถึงประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ที่ประสบปัญหาจะสามารถขอความช่วยเหลือได้หรือไม่อย่างไร
ต่อจากนั้นได้อภิปรายถึงงบประมาณของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่ปีนี้ได้รับงบประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท เมื่อปีที่แล้วได้รับ ๑๘๐ ล้านบาท โดยปี ๒๕๔๗ ได้รับเงินงบประมาณในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อใช้ส่งเสริมศักยภาพองค์กรชุมชน ๑๐,๐๐๐ องค์กร และในปีนี้ก็ยังได้รับเงินอุดหนุนเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นค่าใช้จ่ายกิจกรรมบูรณาการโดยไม่มีการกำหนดองค์กรที่จะเข้าไปดูแลมีกี่แห่งจะเกิดภารกิจซ้ำซ้อนและสอดคล้องต่อเนื่องกันอย่างไรกับปี ๒๕๔๗
ในส่วนของโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ซึ่งได้มีหลักเกณฑ์นิยามคำ "ชุมชน" ไว้ว่า
๑. ต้องมีการรวมกลุ่มกันตั้งแต่ ๒๐๐ ครัวเรือน
๒. สมาชิก ๒๐๐ ครัวเรือน เท่ากับ ๑ ชุมชน
๓. ต้องไปจดทะเบียนที่เขตและเขตจะส่งเรื่องให้ กทม. และ กทม. ก็จะประกาศเป็น
ชุมชน ซึ่งในขณะนี้ กทม. มีชุมชนอยู่ถึง ๑,๔๐๐ กว่าชุมชน จึงอยากทราบว่างบอุดหนุนทั่วไปที่ใช้ดูแลชุมชนจะได้รับการดูแลเช่นเดียวกับชุมชนในต่างจังหวัดหรือไม่
จากนั้นได้อภิปรายถึงเหตุผลในการตัดงบประมาณของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ เนื่องจากในปัจจุบันเกิดปัญหาเด็กถูกยิงตาย เด็กยกพวกตีกัน การใช้แรงงานเด็ก การซื้อ-ขายเด็ก สิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการฯ ไม่ใช่โยนให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงกระทรวงเดียว ควรมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว
ในปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และ ผู้สูงอายุ เข้าไปดูแลด้านสวัสดิภาพของกลุ่มเป้าหมายยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะคนพิการประเภทพิเศษ (ออทิสติก) ที่ยังขาดแคลนโรงเรียน เพราะไม่ได้รับการเหลียวแลและการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพียงพอเท่าที่ควร จึงกลายเป็นเรื่องของประชาชนที่จะต้องช่วยกันบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงเรียนให้กับเด็กพิเศษกลุ่มนี้
จากนั้น นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ พรรคไทยรักไทย ได้ชี้แจงว่า ในปัจจุบันกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ซึ่งกรรมาธิการเห็นถึงความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณให้ โดยในส่วนของหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปที่ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทุกจังหวัด เพื่อเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วนที่สุดและจะส่งเรื่องต่อให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือต่อไป
ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนนั้นได้จัดตั้งเพื่อสนับสนุนองค์กรชุมชนให้พัฒนารายได้ อาชีพ ที่อยู่อาศัย โดยมีการดำเนินงาน ๒ แผนงาน คือ
๑. ให้พัฒนาศักยภาพของชุมชน ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือแล้ว ๖,๐๐๐ องค์กร
๒. แผนงานบ้านมั่นคง ซึ่งขณะนี้มีประชาชนมาขอรับความช่วยเหลือ ๒๘๕,๐๐๐ หน่วย
แต่สามารถทำได้เพียง ๑,๕๐๐ หน่วย
ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอให้กรรมาธิการมอบเอกสารรายละเอียดของการให้ความช่วยเหลือประชาชนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ด้วย
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายในมาตรา ๑๐ พอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับ
กรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน ๒๗๗ เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณามาตรา ๑๑ ซึ่งเป็นงบประมาณของกระทรวงเกษตรและ
สหกรณ์ โดยสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขว้าง ดังนี้
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรค
ประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการได้ขอแปรญัตติตัดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐ โดยอภิปรายถึงกรมวิชาการเกษตร ในเรื่องการจำแนกงบประมาณตามโครงสร้างแผนงาน มีข้อสังเกตที่อยากจะถามกรรมาธิการว่า โครงสร้างแผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน มีแผนงานที่เกี่ยวข้องกับแผนงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี ๒๕๔๗ ตั้งไว้ ๑๓.๒ ล้าน แต่ในปี ๒๕๔๘ ไม่มี จึงอยากจะสอบถามว่า รัฐบาลหรือกรรมาธิการได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากประเทศไทย
เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากประเทศหนึ่ง เหตุใดจึงไม่มีการตั้งงบประมาณในปี ๒๕๔๘ และสำหรับแผนงานวิจัย การใช้งบประมาณของกรมวิชาการเกษตรที่ได้รับงบประมาณ ๒,๘๔๒,๔๓๖,๘๐๐ บาท (สองพันแปดร้อยสี่สิบสองล้านสี่แสนสามหมื่นหกพันแปดร้อยบาท) ในปัจจุบันนี้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิชาการ งานวิจัย เป็นพื้นฐานในการพัฒนาการเกษตรของไทย เช่น งานวิจัยเรื่องของการตกแต่งพันธุกรรมหรือที่เรียกว่า GMO ซึ่งงานวิจัยนั้นได้ดำเนินการด้านพันธุศาสตร์อย่างไร การวิจัยดังกล่าวเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรวมถึงผู้บริโภค ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนงบประมาณในการวิจัยดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นการส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจเรื่องการส่งออกและการเกษตร นอกจากนี้ควรจะมีนโยบายในการป้องกันการตกแต่งพันธุกรรมด้านการเกษตรด้วยการตรวจสอบว่าปลอดภัยจากการตกแต่ง พันธุกรรมก่อนการบริโภค หรือก่อนที่จะส่งออกสินค้าทางด้านการเกษตรนั้น
นายวิฑูรย์ นามบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในส่วนของกรมชลประทาน ซึ่งงบประมาณที่ได้รับการ จัดสรรจำนวน ๒๘,๐๖๖,๒๒๓,๑๐๐ บาท (สองหมื่นแปดสิบหกสิบหกล้านสองแสนสองหมื่นสามพันหนึ่งร้อยบาท) ซึ่งเป็นงบประมาณที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยแผนงานของกรม ชลประทานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดคือ แผนงานการส่งเสริมการผลิตการเกษตร เช่น งานจัดการน้ำชลประทาน และขอตั้งข้อสังเกตว่า กรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่ผลักดันเรื่องของการเกษตร การดำเนินการที่ผ่านมาเป็นการจัดทำแหล่งน้ำทั่วไปประเทศไทย โดยเอาเรื่องการจัดการน้ำรวมถึงเรื่องการจัดการน้ำของกระทรวงอื่น ๆ มารวมในกรมชลประทานด้วย ตลอดระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมามีการตั้งงบประมาณไว้สูง โดยเอางานของปีงบประมาณก่อนมาสานต่อ เช่น โครงการโขง ชี มูล เป็นการก่อสร้างฝายน้ำล้นหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขื่อนขนาดเล็ก โดยใช้งบประมาณเป็นพันล้าน ซึ่งกรมชลประทานมีหลายโครงการที่ทำการก่อสร้างไม่เป็นระบบ ใช้เวลาระยะเวลาในการก่อสร้างนาน อีกทั้งบางโครงการแล้วเสร็จ แต่ยังไม่มีการเปิดใช้งาน มีโครงการหนึ่งซึ่งขอตั้งข้อสังเกตคือ โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ไม่สามารถกระจายแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอด ๓ ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแม้แต่สถานีเดียว
นางสาวรังสิมา รอดรัศมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ขอกล่าวถึงในเรื่องของกรมชลประทานและกรมพัฒนาที่ดิน โดยให้ข้อสังเกตว่า จังหวัดสมุทรสงคราม มีคลองมากถึง ๓๕๖ คลอง แต่ไม่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณ สำหรับพัฒนาแหล่งน้ำเลย ซึ่งจากจำนวน ๗๖ จังหวัด ได้รับอนุมัติงบประมาณพัฒนาเพียง ๖๘ จังหวัด เหตุใดจังหวัดสมุทรสงคราม จึง
ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ อีกเรื่องหนึ่งคือถนนที่ชำรุดเสียหาย เนื่องจากการขนวัสดุของผู้รับเหมาเหตุใด
กรมชลประทานจึงต้องเป็นผู้จ่ายเงินค่าซ่อมแซมเอง ผู้รับเหมาไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าซ่อมแซม