สาร ส.ส. ฉบับที่ ๘๗ วันที่ ๖-๑๒ กันยายน ๒๕๔๗ (ต่อ)

ข่าวการเมือง Wednesday September 15, 2004 12:34 —รัฐสภา

                              สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันศุกร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณามาตรา ๑๗ ซึ่งเป็นงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย โดยมีสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ดังนี้
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้อภิปรายปรับลดงบประมาณของกระทรวงมหาดไทยลงร้อยละ ๑๐ โดยพิจารณาจาก ผลงานที่ผ่านมานั้น ไม่เป็นไปตามพันธกิจและวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ และได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น การประมูลงานในโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายด้วยระบบทางด่วน ข้อมูล ที่มีการตั้งงบประมาณผูกพัน ๗๐๐ ล้านบาท ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการตั้งงบประมาณดำเนินการแล้ว ๑๔๐ ล้านบาท และในปีนี้ของบประมาณอีก ๒๘๐ ล้านบาท จากการเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา พบว่าเกิดความไม่โปร่งใสในการประมูลงาน ที่มีผู้ผ่านการพิจารณาเพียง ๒ ราย และผู้ที่ประมูลได้เสนอราคา ต่ำสุด คือ ๖๙๙,๒๔๕,๐๐๐ บาท (หกร้อยเก้าสิบเก้าล้านสองแสนสี่หมื่นห้าพันบาท) เมื่อทางส่วนราชการเรียก ผู้ประมูลมาต่อรองราคาก็ได้ลดลงแค่ ๔๕,๐๐๐ บาท เมื่อสอบถามไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ประมูลได้เสนอราคาใกล้เคียงกับงบประมาณกลางที่ตั้งไว้มากเกินไป
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแปรญัตติปรับลดงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย ในส่วนของกรุงเทพมหานครลง ๒,๓๘๑,๐๐๖,๐๐๐ บาท (สองพันสามร้อยแปดสิบเอ็ดล้านหกพันบาท) ในโครงการพัฒนาระบบบริหารและ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลค่าโครงการ ๘ พันล้านบาท โดย โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ประเทศออสเตรียจะให้ความช่วยเหลือจัดหาเงินทุนและรับพันธะทางการค้า (Counter Trade) ร้อยละ ๑๐๐ ซึ่งเป็นความช่วยเหลือแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กระทรวงมหาดไทยได้เสนอ โครงการดังกล่าวเข้าคณะรัฐมนตรี และก็ได้รับอนุมัติไปแล้ว แต่จะต้องไปขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ฯ ซึ่งรัฐบาลยังได้อนุมัติงบประมาณให้ดำเนินโครงการนี้ร้อยละ ๖๐ และยังมีงบประมาณของกรุงเทพมหานครอีกร้อยละ ๔๐ ไม่ปรากฏถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรียแต่อย่างใด ที่บอกว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือแบบ G to G นั้น เมื่อมีการทำสัญญาจะซื้อวัสดุ อุปกรณ์ กลับกลายเป็นบริษัทของเอกชนที่ชื่อบริษัท สกายเออร์ มอร์กานส์ ที่รับจ้างประกอบรถยนต์ และในการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ของโครงการนี้ก็เป็นการกระทำที่ผิดมติของคณะรัฐมนตรี ที่ให้จัดซื้อวัสดุคุรุภัณฑ์ในประเทศที่จัดหาได้ แต่กลับไปจัดซื้อในต่างประเทศ ชี้ให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสใน โครงการดังกล่าว จึงขอปรับลดงบประมาณลง ๒ พันล้านบาท
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายการจัดตั้งงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย โดยได้เสนอให้ปรับลดลงร้อยละ ๑๐ ในเรื่องเกี่ยวกับการกระจายอำนาจที่กระทรวงมหาดไทยมีการดำเนินการที่ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๘ ในเรื่องการกระจายอำนาจใน ๒ ส่วน คือ ผู้ว่า CEO และหมู่บ้าน S, M, L
๑. หมู่บ้าน S, M, L การที่รัฐบาลประกาศนโยบายหมู่บ้าน S, M, L โดยให้เงินแก่หมู่บ้านต่าง ๆ ตามขนาดของหมู่บ้านนั้นถือว่าจำนวนเงินดังกล่าวเป็นงบหาเสียง และเป็นการนำเงิน งบประมาณที่ได้มาจากการเก็บภาษีประชาชนไปใช้ตามอำเภอใจ ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งขัดต่อ รัฐธรรมนูญมาตรา ๗๘ และนโยบายการกระจายอำนาจอย่างชัดเจน
๒. ผู้ว่า CEO ถือว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๘ เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ โดยบางคนไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่ แต่กระทรวงกลับมีคำสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่และบางคนที่เสนอขอย้ายตนเองออกจากพื้นที่กลับให้อยู่ที่เดิม ซึ่งถือว่ากระทรวงมหาดไทยทำงานบกพร่อง จึงขอปรับลดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐
นายสุวโรช พะลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอปรับลดงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย ในส่วนของกรมที่ดินลง ๖๓๓ ล้านบาท โดยได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
๑. การดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการพยายามแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนให้หมดไปภายใน ๖ ปีนั้น ปรากฏว่าในปัจจุบันประชาชนกลับมีฐานะยากจนเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้หนี้สินก็เพิ่มขึ้นด้วย
๒. ปัญหาเรื่องประชาชนที่เข้าไปทำมาหากินในเขตป่าอนุรักษ์ป่าสงวนนั้น โดยปกติการเข้าไปทำมาหากินในป่าลักษณะนี้มีมาหลายชั่วอายุคนแล้ว และได้มีการเสียภาษีให้กับรัฐมาโดยตลอด แต่รัฐบาลกำลังจะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการออกฎหมายมาบังคับใช้ให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน อยากให้รัฐบาลใช้หลักรัฐศาสตร์ที่จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่มากกว่าการใช้หลักนิติศาสตร์ด้วยการออกกฎหมายมาบังคับประชาชน
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคไทยรักไทย อภิปรายขอปรับลดงบประมาณในส่วนของ
๑. กรมโยธาธิการและผังเมืองขอปรับลดจำนวนร้อยละ ๑๕ ในส่วนของแผนงานพัฒนาเมือง เรื่องงานวางและจัดทำผังเมือง ซึ่งปัจจุบันการจัดวางผังเมืองเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจะเป็นผู้กำกับดูแล การจัดทำผังเมืองของกรุงเทพมหานครนั้นได้หมดอายุลงเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๗ แต่ยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองใหม่ เนื่องจากประสบปัญหาในเรื่องขั้นตอนการ จัดทำและประชาพิจารณ์ โดยผังเมืองใหม่มีผู้ร้องค้านถึง ๘,๐๐๐ ราย ขอถามกรรมาธิการว่า ได้มีการสอบถามรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวหรือไม่
๒. กรุงเทพมหานครได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
๑. แผนงานขนส่งทางบก เหตุใดจึงไม่มีโครงการก่อสร้างถนนสายบางชัน-พระยาสุเรนท์และถนนสายหทัยราษฎร์ ซึ่งมีความสำคัญเพราะเป็นถนนที่เชื่อมต่อกับสนามบินสุวรรณภูมิรวมอยู่แผนงานด้วย เรื่องการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด CCTV ตามแยกต่าง ๆ ที่ดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ เพราะยังไม่ได้ต่อเชื่อมไปยังสัญญาณจราจรที่อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวงไม่ทราบว่ากรรมาธิการได้ศึกษา รายละเอียดหรือไม่
๒. แผนงานส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวในเรื่องเงินอุดหนุนไม่มีความชัดเจน อีกทั้งผลที่ได้รับก็ไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือเรื่องสินค้า OTOP ที่ไม่มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน
นอกจากนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า แผนงานจัดการศึกษาปฐมวัย ซึ่งมีปัญหาในเรื่องการจัดการศึกษาศูนย์เด็กเล็ก ทั้งที่สังกัดกรุงเทพมหานครและของเอกชน ต่างก็ประสบกับปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมทั้งนมสำหรับนักเรียน ตลอดจนเงินเดือนครูอาสาที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันก็ไม่เพียงพอ
นางสาวรังสิมา รอดรัศมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงคราม พรรค ประชาธิปัตย์ ได้ขอปรับลดงบประมาณในมาตรา ๑๔ กระทรวงมหาดไทย ลงจำนวน ๒๕,๗๑๘, ๒๙๐,๗๒๕ บาท (สองหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยสิบแปดล้านสองแสนเก้าหมื่นเจ็ดร้อยยี่สิบห้าบาท) โดยได้อภิปรายว่า รายละเอียดการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับนั้นไม่มีรายละเอียดเพียงพอ และมีประเด็นอภิปรายอื่น ๆ ดังนี้
๑. หอประชุมอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งก่อสร้างมาแล้ว ๓๓ ปี เป็นอาคารไม้ ปัจจุบันนี้อยู่ในสภาพไม่สามารถใช้การได้ เหตุใดจึงยังไม่ได้รับงบประมาณในการซ่อมแซมหรือก่อสร้างใหม่
๒. เขื่อนหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง ในปี ๒๕๔๗ ได้รับงบประมาณ ๑๕ ล้านบาท แต่ถูก
กรรมาธิการตัดลงเหลือเพียง ๑๐ ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อน
๓. เหตุใดโครงการก่อสร้างถนนคลองโคน-คลองช่วงจึงถูกตัดงบประมาณจนทำให้ไม่
สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ว่าที่ร้อยตรีไพโรจน์ สุวรรณฉวี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา พรรคไทยรักไทย รองประธานคณะกรรมาธิการการวิสามัญ คนที่หก ได้ชี้แจงดังนี้
๑. โครงการHome Solar Cell ที่ตั้งงบประมาณไว้ ๘,๐๐๐ ล้านบาท แต่กรรมาธิการปรับลดลงเหลือ ๔,๐๐๐ ล้านบาท สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นผลจากน้ำมันมีราคาแพง และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ การปักเสา และเดินสายไฟฟ้าในบางพื้นที่ไม่สามารถกระทำได้ โดยรัฐบาลต้องดำเนินโครงการให้เสร็จสิ้นในปี ๒๕๔๘ ซึ่งการดำเนินการได้แบ่งเป็น ๒ ระยะคือ ระยะแรกปี ๒๕๔๗ จะติดตั้งให้กับประชาชน ๑๕๓,๐๐๐ ครัวเรือน ใช้งบประมาณ ๔,๐๐๐ ล้านบาท ระยะที่สอง ปี ๒๕๔๘ จะติดตั้งอีก ๑๓๐,๐๐๐ ครัวเรือน ใช้งบประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับในระยะแรก ๑๕๓,๐๐๐ ครัวเรือนได้ดำเนินอนุมัติแล้ว แต่การติดตั้งยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนในระยะที่สองคณะกรรมาธิการจะรอการประเมินผลในระยะแรกก่อนจึงอนุมัติให้ติดตั้งเพียง ๕๐,๐๐๐ ครัวเรือน
๒. ทางด่วนข้อมูลระยะที่ ๓ ราคากลางที่ตั้งไว้ ๗๑๕ ล้านบาท เป็นราคาที่สูงกว่าวงเงิน
งบประมาณ เพราะได้มีการกำหนดราคากลางก่อนอนุมัติวงเงินงบประมาณ ซึ่งได้มีการประมูลและเซ็นสัญญาในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ ซึ่งต่ำกว่าราคากลาง ๑๕ ล้าน ๘ แสนบาท คิดเป็นร้อยละ ๒.๒๑ โดยจะเป็นงบผูกพันตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ -๒๕๔๙ ดังนี้ ๒๕๔๗ จำนวน ๑๔๐ ล้านบาท ๒๕๔๘ จำนวน ๒๘๐ ล้านบาท และ ปี ๒๕๔๙ จำนวน ๒๘๐ ล้านบาท
๓. สำหรับเรื่องสำนักงานป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนนั้น กรรมาธิการยังไม่ได้พิจารณา เนื่องจากในปี ๒๕๔๘ ยังไม่มีงบประมาณ แต่จะมีงบประมาณในปี ๒๕๔๙ - ๒๕๕๓
๔. โครงการหมู่บ้าน S,M,L นั้น ขณะนี้เพิ่งจะริเริ่ม โดยโครงการดังกล่าวยังไม่ได้ตั้งงบใน
ปี ๒๕๔๘ และอยู่ในขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการพิจารณา ส่วนโครงการนำร่องจะนำงบประมาณอื่นมาใช้ เช่น อาจมีการขอจากงบกลาง ซึ่งหากมีข้อสงสัยให้สอบถามกับสำนักงบประมาณได้
๕. กรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น การจัดทำผังเมืองล่าช้าจะให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำรายละเอียดมาให้ เรื่องถนนสายบางชัน-พระยาสุเรนท์ และถนนสายหทัยราษฎร์ กรุงเทพมหานครแจ้งว่าการออกแบบยังไม่เรียบร้อยและจะบรรจุลงในงบประมาณปี ๒๕๔๙ สำหรับเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวปีก่อนได้รับงบประมาณไปทั้งสิ้น ๒,๐๐๐ ล้านบาท แต่จากการตรวจสอบกรุงเทพใช้เพียงร้อยละ ๖ ปีนี้ จึงถูกปรับลดลงเหลือ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนเรื่องสินค้า OTOP กรุงเทพจะใช้เงินจากงบประมาณของคณะกรรมการกระจายอำนาจ เรื่องของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกรุงเทพนั้นเป็นการใช้เงินอุดหนุนของตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ ได้รับ
ต่อข้อถามของสมาชิกถึงเรื่องการสร้างเขื่อนหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงครามนั้น ขอชี้แจงว่า
๑.ปีงบประมาณนี้นั้นไม่มีการกำหนดเรื่องเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเอาไว้และเรื่องนี้อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการกระจายอำนาจ จึงขอให้ติดต่อกับคณะกรรมการกระจายอำนาจโดยตรง
๒. เงินอุดหนุนยุทธศาสตร์ พัฒนาประเทศ ๓,๒๐๐ ล้าน สำหรับ ๓,๐๐๐ องค์กร มี ๓๖๓
โครงการปรับลดไป ๗๐๐ ล้านบาท ที่เหลืออีก ๒,๐๐๐ โครงการจะใช้เงินเหลือ
๓. การสร้างหอประชุมนั้นไม่สามารถจัดสรรงบประมาณระบุเจาะจงได้ เพราะผู้ที่จะจัดลำดับความสำคัญว่าโครงการใดมีความจำเป็นและสมควรที่จะได้รับการอนุมัติก่อนหรือหลังคือกระทรวงมหาดไทย
ดังนั้นขอให้ติดต่อกับอธิบดีกรมการปกครองโดยตรง
จากนั้น นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก โดยเฉพาะ
๑. กรมโยธาและผังเมือง ซึ่งเดิมเป็นกรมโยธาธิการ หลังจากมีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ทำให้เกิดความสับสนในบทบาท ภาระหน้าที่ และพันธกิจของกรมโยธามาก จึงขอเรียนถามกรรมาธิการว่า โครงการก่อสร้างป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำและริมทะเลทั่วประเทศที่ใช้ระยะเวลาการดำเนินงาน ๒๗ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓-๒๕๖๐ โดยใช้งบประมาณ ๒ หมื่นกว่าล้านบาท นั้น ในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างไร เพราะดูจากการทำงานพบว่าไม่ได้ทำตามที่ได้สำรวจออกแบบไว้ เพราะอะไร และสามารถ ป้องกันตลิ่งพังได้หรือไม่
๒. กรมพัฒนาที่ดิน ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการดำเนินการตามแผนงานรักษาความมั่นคงภายในประเทศอย่างไร และทำไมจึงได้ใช้ข้อความดังกล่าวนี้เพื่ออะไร ส่วนแผนงานส่งเสริมการผลิตการเกษตรในอดีตจะอยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมผลการผลิตของเกษตรกรในปัจจุบันไปอยู่ในกรมพัฒนาที่ดินได้อย่างไรและทำหน้าที่อะไร
๓. กรมการปกครอง ในส่วนที่เกี่ยวกับงานจัดทำทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนของกรม การปกครอง มีปัญหาทั่วประเทศ โดยเฉพาะความทันสมัยทางเทคโนโลยีในยุคโลกาภิวัฒน์ได้เข้าไปสู่ชุมชน และประชาชนไม่สามารถทำบัตรได้เนื่องจากเครื่องเสีย ดังนั้นในการของบประมาณ ไปใช้สามารถสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนได้มากน้อยเพียงใด การแก้ไขปัญหาในการให้บริการแก่ประชาชนมีมาตรการบ้างหรือไม่ อย่างไร
๔. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการถ่ายโอนงบประมาณค่อนข้างมาก โดยเป็นไปตามแผน ขั้นตอน การกระจายอำนาจ เพราะต้องการให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มีการบริหารการจัดการด้วยตนเองได้ แต่ที่สำคัญกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นขาดบุคลากรในการทำงานมาก และเป็นปัญหาเรื่องการประสานงานในการทำงานระหว่างกรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในเรื่องดังกล่าวนี้จะแก้ปัญหา อย่างไร และควรมีการปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพด้วย
๕. การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในช่วงหน้าฝนของแต่ละปีจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับ
ประชาชนมาก โดยเฉพาะเวลาฝนตกหนักถามว่า ข้อมูลและสถิติจากหน่วยงานภาครัฐมีความสมบูรณ์มากน้อย เพียงใด เพราะจะเห็นว่าบางจังหวัดที่ไม่เคยประสบอุทกภัยเลย ต้องมาประสบอุทกภัยดังกล่าว ในเรื่องนี้เกิดจากธรรมชาติใช่หรือไม่ และตัวเลขข้อมูลสถิติดังกล่าวนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำข้อมูลมาจากที่ใด มีแผน
ในการเตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังอย่างไร เวลาเกิดปัญหาขึ้นจะมี หน่วยเคลื่อนที่เร็วหรือไม่ รวมทั้งมาตรการในการจัดสรรงบประมาณเพื่อไปช่วยเหลือในเบื้องต้น หรือมีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง มีหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลืออย่างไร
จากนั้นนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทยในวงเงิน ๑๓๙,๐๐๐ ล้านบาท ลดลงร้อยละ ๑๐ เพราะเป็นกระทรวงที่สำคัญมากในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนและเป็นกระทรวงหลักที่จะนำนโยบายของ รัฐบาลไปสู่การแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน ซึ่งเหตุผลในการขอปรับลดงบประมาณลงเพราะรัฐบาลมีนโยบายในการดำเนินการโครงการจังหวัดทดลองแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนา ปัจจุบันนำไปสู่การจัดตั้งผู้ว่าแบบบูรณาการ
และมีการมอบหมายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ๓ ด้านคือ มีการมอบหมายงานเพิ่มเติมในการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ มอบอำนาจและการปฏิบัติราชการอื่นในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การดำเนินการเพื่อให้เกิดความรวดเร็วต่อการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของจังหวัด ในเรื่องดังกล่าวนี้ทำให้ประชาชนเห็นว่า มีการกำหนดความคิดเชิงการบริหารธุรกิจในยุคใหม่ คือ ระบบ CEO และทำให้ประชาชนเข้าใจว่าระบบ CEO เป็นระบบคล้าย ๆ รัฐบาล เป็นรัฐบาลท้องถิ่นที่รัฐบาลกลางมอบอำนาจเพื่อให้เข้าไปดูแลในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน รวมทั้งเข้าใจว่า จากการที่จังหวัดทดลอง ได้ดำเนินการในการที่จะจัดตั้งเป็นผู้ว่า CEO ไปแล้วและสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ จึงขอถามว่า งบประมาณของปี ๒๕๔๗ ที่ได้อนุมัติไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว ๓ พันล้านบาทเศษ นั้น กรรมาธิการได้สอบถามหรือไม่ว่า งบประมาณดังกล่าวได้ดำเนินการไปอย่างไร และสามารถสนองตอบได้หรือไม่อย่างไร
๑. สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
๒. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการ
๓. บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน
๔. ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของจังหวัด
งบประมาณดังกล่าวในขณะนี้ยังไม่เกิดความเป็นธรรมและไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดผลได้ และเป็นผู้ว่า CEO ที่ล้มเหลว
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรค ประชาธิปัตย์ อภิปรายปรับลดงบประมาณกระทรวงมหาดไทยลง ๑๗,๓๗๗,๒๒๓,๔๖๓ บาท (หนึ่งหมื่นเจ็ดพันสามร้อยเจ็ดสิบเจ็ดล้านสองแสนสองหมื่นสามพันสี่ร้อยหกสิบสามบาท) โดยได้อภิปรายในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยกับกรมการปกครอง โดยให้เหตุผลว่า ทั้ง ๒ หน่วยงานไม่สามารถสนองตอบความต้องการของ ประชาชนได้ และไม่สามารถแสดงหลักเกณฑ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมในการโยกย้ายข้าราชการได้ ซึ่งในปีนี้ปัญหาความขัดแย้งในการโยกย้ายมีความรุนแรงมาก อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยได้ทำลายหลักธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดินโดยสิ้นเชิง มีข้าราชการบางส่วนไม่ได้ทำงานเพื่อประชาชน แต่ทำงานเพื่อสนองตอบความต้องการของรัฐบาล ซึ่งขัดกับหลักการเป็นข้าราชการที่ดี จึงจำเป็นต้องขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงมหาดไทยลง เพราะการบริหารจัดการงานในระบบธรรมาภิบาลของกระทรวงมหาดไทยล้มเหลวไม่มีประสิทธิภาพ
เช่น กรณีการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เพราะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง และกรณีของนายอำเภอสะเดา ที่คณะรัฐมนตรีต้องมีมติในเรื่องนี้ว่า ต่อไปผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ต้องให้เกียรติอดีตรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายปรับลดงบประมาณกระทรวงมหาดไทยลงร้อยละ ๑๐ โดยได้อภิปรายถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่า คณะกรรมาธิการได้ทำการตรวจสอบการดำเนินงานและทำการประเมินถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลของผลงาน รวมทั้งความโปร่งใสด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะโครงการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
สนับสุนให้แก่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นงบผูกพัน งบประมาณปี ๒๕๔๖ - ๒๕๔๙ ในวงเงิน ๒,๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งมีทั้งหมด ๑๔ รายการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติการประกวดราคา ในโครงการนี้เรียบร้อยแล้ว แต่โครงการนี้มีความไม่โปร่งใส ขัดหลักธรรมาธิบาล และส่อว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่น อีกทั้งใน ๑๔ รายการ ดังกล่าวยังมีความผิดปกติอย่างน้อย ๔ เรื่อง คือ มีการล็อคสเปก ขั้นตอนการประกวดราคาไม่โปร่งใส ราคากลางแพงเกินไปและผิดมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วย การเสนอราคาต่อ หน่วยงานของรัฐ ๒๕๔๒ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ๒๕๓๕ การขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี และที่สำคัญผิดหลักการงบประมาณ อยากทราบว่าคณะกรรมาธิการได้มีการตรวจสอบและมีการชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้หรือไม่ อย่างไร
นายนิพนธ์ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติปรับลดลงร้อยละ ๑๐ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงาน และไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการก่อความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ถูกวิธีและไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้
นายวิฑูรย์ นามบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติขอปรับลดลง ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า ต้องการนำไปให้กับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การดำเนินงานเรื่องการกระจายอำนาจสัมฤทธิ์ผลตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบจ. และ อบต. ควรจะได้รับงบประมาณที่ถูกปรับลดออกจากกระทรวงมหาดไทยนี้
นอกจากนี้ นายวิฑูรย์ ยังได้กล่าวถามคณะกรรมาธิการงบประมาณใน ๓ หัวข้อคือ
- เงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นงบแปรญัตติเพิ่ม ๖๓๓ ล้านบาท มีหลักเกณฑ์อย่างไร
- เงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับสนับสนุนการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน ๓๙๕ แห่ง มีหลักเกณฑ์อย่างไร มีโครงการหรือยัง
- เงินอุดหนุนทั่วไปสำหรับสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
๒๐๐ แห่ง จำนวน ๒๔๖ ล้านบาท มีหลักเกณฑ์อย่างไร มีการกระจายหรือไม่
ในส่วนของกรมป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัยนั้นได้รับงบประมาณน้อยมาก เมื่อเกิดอุทกภัยรัฐบาลให้ความช่วยเหลือล่าช้า และกรมนี้ก็ไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน เพราะไม่มีงบประมาณ เมื่อเกิดน้ำท่วม ไร่นาเสียหาย ปกติจะได้รับค่าชดเชย ๒๔๓ บาทต่อไร่ ควรจะเพิ่มเป็น ๔๐๐ - ๕๐๐ บาทต่อไร่ ซึ่งกรมนี้ควรจะ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนันายกรัฐมนตรีในการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวนี้
นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติ โดยขอปรับลดในส่วนของเงินอุดหนุนทั่วไปและเงินอุดหนุนสนับสนุนการเร่งรัดขยายไฟฟ้าด้วยระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะขอปรับลดทั้งหมด ซึ่งการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวนี้ไปบางส่วนเมื่อปีแล้วและเป็นโครงการที่ถูกอภิปรายว่า เป็นโครงการ
เร่งรัด ไม่โปร่งใสและมีการล็อคสเปก จึงไม่เห็นด้วยกับการตั้งงบประมาณ ๘,๐๐๐ ล้านบาท เนื่องจากตัวเลขของจำนวนครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นั้นเป็นข้อมูลเมื่อ ๓ ปีที่แล้วและจำนวนตัวเลขจริงในปัจจุบันยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่ามีจำนวนครัวเรือนเท่าใดที่ยังขาดแคลนไฟฟ้าและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ
ทั้งนี้ นาวาตรีสุธรรม ได้สอบถามคณะกรรมาธิการงบประมาณว่า ประชาชนที่อยู่บนพื้นราบสามารถปักเสาไฟได้ แต่กลับขอติดตั้งระบบ Solar cell นั้นคุ้มหรือไม่ ซึ่งบริษัทที่ดำเนินการใน โครงการดังกล่าวเป็นเพียงบริษัทเดียวที่ได้งบประมาณนี้ และผู้บริหารมีความเกี่ยวข้องกับคณะรัฐบาลในปัจจุบันหรือไม่
นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติ โดยขอปรับลดลงร้อยละ ๑๐ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยขาด ประสิทธิภาพในการบริหารงานและได้กล่าวถึงการจัดทำผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดทำผังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผังประเทศหรือผังภาค แต่ในการดำเนินงานจัดทำนั้นประชาชนหรือคนในพื้นที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเท่าที่ควร ทั้งนี้การจัดทำผังเมืองที่ดีจำเป็นจะต้อง มีการวางกรอบให้ชัดเจน และต้องให้ประชาชนรับรู้และแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาเมืองเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค
ประชาธิปัตย์ อภิปรายขอให้ตัดลดงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน ๑,๕๐๐ ล้านบาท ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่กลับใช้ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีช่องว่างของกฎหมายทำให้ง่ายต่อการสุจริต ในขณะที่สมาชิกองค์กรส่วนท้องถิ่นไม่เข้าใจในระเบียบข้างต้น ทำให้เสี่ยงต่อการทำผิดระเบียบ นอกจากนี้สมาชิกองค์กรท้องถิ่นเสียงข้างมาก มักจะใช้อำนาจหรืออิทธิพลเพื่อทำให้พรรคพวกตนเองเป็นผู้ชนะการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง จากนั้นได้ฝากข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณในหลายเรื่อง คือ
๑. เหตุใดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงได้รับงบประมาณเพิ่มเติม
๒. การใช้งบประมาณ ๑๐ ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบราชการแบบบูรณาการนั้นมีรายละเอียดอย่างไร
๓. งบประมาณของกรุงเทพมหานครนั้นควรเน้นเรื่องประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสัดส่วน
ในนโยบายที่จำเป็นเร่งด่วน โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า
- การแก้ไขจราจรควรวางระบบให้เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงและกระจายรถออกด้านข้างของเส้นทางหลัก
- การจัดงบเพื่อการศึกษาของกรุงเทพฯ ได้จัดทำแผนงานไว้อย่างไร
- การอบรมวิชาชีพระยะสั้น เหตุใดไม่สร้างตลาดรองรับสินค้าที่เกิดจากการอบรมให้ประชาชนมีรายได้
- การจัดซื้อวิทยุสื่อสารให้กับตำรวจดับเพลิง เพื่อใช้กับการแก้ไขสถานการณ์เพลิงไหม้ให้ทันท่วงที

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ