สาร ส.ส. ฉบับที่ ๘๗ วันที่ ๖-๑๒ กันยายน ๒๕๔๗ (ต่อ)

ข่าวการเมือง Wednesday September 15, 2004 12:35 —รัฐสภา

นางพิชญ์สินี  มุ่งฝากกลาง   สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา  พรรค
ไทยรักไทย อภิปรายขอตัดลดงบประมาณลงร้อยละ ๕ ในส่วนของการดูแลทุกข์สุข การแก้ไขปัญหาการร้องเรียนของประชาชนที่ไร้ประสิทธิภาพการจัดทำข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของประชาชนในตำบลหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา ทำให้ประชาชนเสียสิทธิ์ในการเลือกตั้งระดับต่าง ๆ การถ่ายโอนงบประมาณให้กับองค์การส่วน ท้องถิ่นจำนวนมาก ทำให้เกิดการฮั้วกันระหว่างผู้ประมูลการก่อสร้าง ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่าการเก็บภาษีราษฎร
นายไพโรจน์ สุวรรณฉวี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา พรรค
ไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการ ได้อภิปรายตอบชี้แจง และจะมอบเอกสารรายละเอียดให้ภายหลังจากการชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
๑. ระบบงบประมาณ CEO จัดให้สอดคล้องกับกลุ่มยุทธศาสตร์ กลุ่มจังหวัด เฉลี่ย ๒๐-๒๕
ล้านบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร
๒. กรณีการย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงเป็นผู้ตรวจราชการนั้น เนื่องจากจะได้ช่วย
กระทรวงในการควบคุมดูแลหลายจังหวัดภาคใต้
๓. การจัดสรรงบเพื่อการซื้อรถยนต์ให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่นนั้น รัฐบาลตระหนักดีว่าจะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของราชการอย่างแน่นอน
๔. สถานการณ์ความไม่สงบของภาคใต้นั้น คาดว่าปีหน้าทุกอย่างคงดีขึ้น เพราะจะใช้นโยบาย
เศรษฐกิจนำความมั่นคง
๕. ปีนี้ได้ตั้งงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นในทุกโครงการอยู่แล้ว เพื่อให้การ
กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเกิดผลสำเร็จ
จากนั้น นายไพโรจน์ สุวรรณฉวี ชี้แจงในกรณีที่มีสมาชิกอภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณลงไปในพื้นที่ของคณะกรรมาธิการมากผิดปกติว่า ไม่มีการกระทำดังกล่าวแน่นอน
ต่อข้อเสนอเกี่ยวกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้ให้อธิบดีไปดำเนินการต่อไป และ คำถามในกรณีการตั้ง Home Solar Cell ตัวเลขเบื้องต้นมาจากการสำรวจจริง แต่ตัวเลขที่จะดำเนินการติดตั้ง Home Solar Cell นั้นมีประมาณ ๕๔๐,๐๐๐ ครัวเรือน ซึ่งการตั้ง Home Solar Cell ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้ มีความเท่าเทียมกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในส่วนของการดำเนินเฟสแรก ได้ตั้งงบประมาณและดำเนินการไปแล้วร้อยละ ๕ และเฟสที่สองจะดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งต้องดูผลการดำเนินงานในเฟสแรกด้วย จึงต้องมีการตัดงบประมาณลง เพราะไม่สามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้
สำหรับคำถามในส่วนงบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น ขอชี้แจงว่า ไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด
ส่วนในเรื่องคำถามเกี่ยวกับการตั้งผู้ว่า CEO ที่ไม่มีการตรวจสอบการทำงานนั้นไม่เป็นความจริง และในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในงบประมาณของกรุงเทพมหานครที่มีการตั้งงบประมาณหลาย ๆ เรื่อง เช่น การของบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรจะต้องผ่านการกลั่นกรองจาก คจร. ก่อนโดยที่กรรมาธิการ ก็จะดูความเป็นไปได้ของโครงการด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด และในปีนี้กรรมาธิการก็มีการปรับลดงบประมาณของกรุงเทพมหานครไปมาก แต่งบประมาณที่ใช้ในการศึกษาของเด็กปฐมวัยที่ กทม. ได้ขอเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว กรรมาธิการไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด
จากนั้นนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงประเด็นที่นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ ที่ได้ขอเอกสารแล้วได้รับเอกสารล่าช้านั้นเป็นเพราะเกิดปัญหาในเรื่องสถานที่ ๆ จะรับเอกสาร
ต่อจากนั้นประธานได้ให้สมาชิกลงมติ โดยสมาชิกเห็นชอบ ๒๗๔ เสียง
ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณมาตรา ๑๘ งบประมาณของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางดังนี้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค
ประชาธิปัตย์ ขอปรับลดงบประมาณในส่วนที่ได้สงวนคำแปรญัตติไว้จำนวน ๗๔๑,๕๔๐,๐๙๖ บาท (เจ็ดร้อยสี่สิบเอ็ดล้านห้าแสนสี่หมื่นเก้าสิบหกบาท) ไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ในเหตุผลที่ว่า กระทรวงยุติธรรมดำเนินงานไม่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ที่ได้กำหนดไว้ ในปี ๒๕๔๗ - ๒๕๔๘ มีการกำหนดตัวชี้วัดไว้ว่า ประชาชนร้อยละ ๘๐ ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในระบบยุติธรรม แต่จากที่มีการจัดทำ "ยุติธรรมโพลล์" ก็ได้ข้อสรุปว่า ประชาชนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจและไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กระทรวงยุติธรรมได้กำหนด ตัวชี้วัดไว้จากงบประมาณของกระทรวงยุติธรรมที่ตั้งไว้ในปี ๒๕๔๘ พบว่า เพิ่มมากขึ้นจากปี ๒๕๔๗ ทุกรายการและในทุกหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม และได้อภิปรายเรียงตามหน่วยงาน ดังนี้
๑. สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม มีการตั้งงบดำเนินงานและงบลงทุนเพิ่มขึ้นทุกรายการถึงร้อยละ ๑๕
๒. กรมคุมประพฤติ ขอให้เน้นการทำงานแบบบำบัดทุกข์บำรุงสุข และคำนึงถึงความรู้สึกของพ่อ-แม่ ในกรณีการนำเด็กและเยาวชนที่ติดยาเสพติดไปฟื้นฟูสมรรถภาพ ขอให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์ โดยไม่ต้องให้พ่อ-แม่ ไปแจ้งความจับลูกก่อนที่จะนำลูกไปฟื้นฟู ซึ่งงานนี้เห็นว่าไปซ้ำซ้อนกับงานของกระทรวงกลาโหมและของ ปปส.ด้วย
๓. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
- ขณะนี้มีปัญหา คือ ประชาชนไม่รู้กฎหมาย และไม่รู้จะไปปรึกษาใครจึงเห็นสมควรให้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อให้คำแนะนำปรึกษาข้อกฎหมายกับประชาชน การที่เสนอให้ตัดงบประมาณเนื่องจากกรมนี้ทำงานไม่เข้าเป้า ไม่สามารถให้การคุ้มครอง สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ได้ตามวัตถุประสงค์
- การจ่ายเงินทดแทนให้กับผู้เสียหายในคดีอาญาล่าช้า ไม่เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรมที่ว่า "เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๔๕ วัน"
๔. กรมบังคับคดี มีหน้าที่ยึดทรัพย์และขายทรัพย์ที่ยึดไว้ ซึ่งการขายทรัพย์ควรคำนึงถึงพื้นฐานของความยุติธรรมด้วย เพราะมีเรื่องร้องเรียนจากลูกหนี้ที่โดนเร่งขายทรัพย์ที่ถูกยึดมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม และขณะนี้ได้มีการของบประมาณในส่วนของงบเงินเดือนและค่าจ้างชั่วคราวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๕ ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับข้าราชการหน่วยงานอื่น เพราะกรมบังคับคดีมีเงินรางวัลจากการทำยอดจำหน่าย ทรัพย์สินที่ยึดไว้อยู่แล้วเป็นจำนวนมากพอสมควร ดังนั้นงบเงินเดือนจึงไม่น่าที่จะขอเพิ่ม
๕. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ควรจะมีการดำเนินงานในด้านจิตวิทยากับเด็กที่อยู่ในความคุ้มครองมากกว่าการจะของบประมาณไปเพิ่มผู้คุมเด็ก และในส่วนของค่าใช้จ่ายในการนิเทศก์ จำนวน ๑.๖ ล้านบาท และการผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ ๖.๙ ล้านบาท อยากทราบว่า กรมพินิจจะนำไปทำการประชาสัมพันธ์อะไรบ้าง ขอให้กรรมาธิการช่วยไปตรวจสอบ
๖. กรมราชทัณฑ์ มีการตั้งงบประมาณด้านสาธารณูปโภค งบเพื่อการประชาสัมพันธ์การจ้างที่ปรึกษาติดตามประเมินผลตามยุทธศาสตร์กรมราชทัณฑ์ ตลอดจนการจ้างที่ปรึกษาเพื่อก่อสร้างเรือนจำเอกชน เห็นว่าไม่เหมาะสม ขอให้กรรมาธิการตรวจสอบรายละเอียดด้วย
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค
ประชาธิปัตย์ กล่าวต่อถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า
- เหตุใดจึงมีงบประมาณด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นมา และวัสดุพิเศษที่ใช้สำหรับการสืบสวนนั้น
เหตุใดจึงไม่จัดซื้อเท่าที่จำเป็น แต่จัดซื้อในครั้งเดียวเลย
- สำนักงานกิจการยุติธรรม เหตุใดงบประมาณในปี ๒๕๔๗ ได้รับจัดสรรเพียง ๖๔ ล้านบาท
แต่ในปี ๒๕๔๘ ได้รับจัดสรรถึง ๒๕๓ ล้านบาท ทำไมจึงไม่ประหยัด แต่อ้างเพราะว่าบุคลากรเพิ่มขึ้นนั้น เอามา
ทำยุติธรรมโพลล์ใช่หรือไม่
- เงินอุดหนุนทั่วไปโครงการวิจัย วิจัยอะไร ขอรายละเอียดด้วย
- เงินที่ใช้ในการประชุมองค์การสหประชาชาติ (UN)นั้น ในปีที่แล้วใช้อะไรบ้างขอรายละเอียด
- ค่าจ้างที่ปรึกษาในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ๕.๔ ล้านบาท ของสำนักงานกิจการ
ยุติธรรม และค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ๔ ล้านบาท ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จำเป็นหรือไม่
นางผุสดี ตามไท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
ขออภิปรายในมาตรา ๑๘ กระทรวงยุติธรรม ดังนี้
๑. สำนักงานปลัดกระทรวง ด้วยเหตุใดจึงปรับงบประมาณเพิ่มขึ้น ๑๘ ล้านบาท
๒. กรมควบคุมสิทธิและเสรีภาพ เหตุใดรัฐบาลจึงได้ตั้งงบประมาณน้อยกว่าปีก่อน และยังถูกคณะกรรมาธิการตัดงบอีก ทั้ง ๆ ที่เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งของประชาชนเอง และของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การฆ่าตัดตอน ๒,๕๐๐ ศพ การบุกยึดมัสยิดกรือเซะ เป็นต้น
๓. กรมพินิจและคุ้มครองเด็ก บ้านกาญจนาภิเษก เป็นตัวอย่างที่ดี แต่เหตุใดจึงได้รับ
การจัดสรรงบประมาณน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่ซึ่งใช้ความรักเข้าไปดูแลบำบัด ควรจะนำเงินที่ปรับเพิ่มให้กับสำนักปลัดมาเพิ่มให้กับบ้านกาญจนาภิเษกน่าจะเหมาะสมกว่า
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ คนที่สอง ได้ตอบชี้แจงในประเด็นดังนี้
๑. การตั้งข้อสังเกตในเรื่องของงบประมาณเงินเดือน เหตุที่ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาล
มีการปรับฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๓ ทำให้รัฐจะต้องจ่ายเงินให้แก่ข้าราชการเพิ่มขึ้น
๒. ข้อสังเกตเรื่องยุติธรรมโพลล์ ที่สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้ตั้งเวทียังต่างจังหวัด เพื่อจะได้รับทราบความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา
๓. เรื่องพ่อแม่ที่ห่วงลูกที่ติดยาเสพติดจะทำอย่างไร เพื่อให้ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัด ซึ่งการ
จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดมี ๓ วิธีด้วยกัน คือ
- บำบัดฟื้นฟูด้วยความสมัครใจ เช่น โรงพยาบาลของรัฐ และสถาบันธัญญรักษ์
ซึ่งมีผู้เข้ารับการบำบัด ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน
- การบังคับบำบัดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติด แต่เดิม
ผู้เสพยาจะต้องถูกฟ้องดำเนินคดี แต่กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสพคือผู้ป่วย ซึ่งกรมควบคุมประพฤติจะเป็น
ผู้ดูแลในเรื่องดังกล่าว โดยเมื่อได้ที่บำบัดสำเร็จถือว่าผู้บำบัดสำเร็จแล้ว พ้นผิดทางกฎหมาย
- กรมควบคุมสิทธิและเสรีภาพมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาทุกจังหวัด นอกจากนี้ยังมีสำนักงาน
อัยการสูงสุด และสภาทนายความรับให้คำปรึกษาด้วย
๔. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งจะมีศูนย์กาญจนาภิเษกเป็นส่วนหนึ่ง คุณหญิงจันทนีย์ สันตบุตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ให้การสนับสนุนในเรื่องค่าจ้างที่จ่ายให้แก่บุคลากรของศูนย์ เพราะกรมพินิจฯ จ่ายได้เพียงแค่อัตราค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น
๕. กรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีงบประมาณค่าสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น เนื่องจากสำนักงบประมาณให้ตั้งค่าใช้จ่ายจากค่าใช้จ่ายจริงในปีที่ผ่านมา ส่วนการจะลดงบประมาณเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล
๖. การประชุม UN นั้น การประชุมว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมนานาชาติ ครั้งที่ ๑๑ ซึ่งที่ผ่านมาจะต้องมีการเตรียมการไปดูงานการประชุม และทำการประชาสัมพันธ์การประชุมในปี ๒๕๔๘ ดังนั้นจึงต้องมีค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ล่วงหน้าก่อนที่จะจัดประชุมจริง
หลังจากนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ๒๗๗ เสียง
ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณามาตรา ๑๙ ซึ่งเป็นงบประมาณของกระทรวงแรงงาน โดยมีสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ดังนี้
นางผุสดี ตามไท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
ขอแปรญัตติแก้ไขในส่วนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีการปรับลดเพียงเล็กน้อย โดยเห็นว่าควรจะปรับลดงบประมาณให้ลดลงมากกว่านี้ เนื่องจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไม่สามารถคุ้มครองแรงงาน ได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งจะเห็นได้จากที่มีการร้องเรียนมายังสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยตลอด ยกตัวอย่างเช่น กรณีการเลิกจ้างแรงงานหญิงตั้งครรภ์ของบริษัท AMI ที่จังหวัดปทุมธานี โดยอ้าง เหตุผลว่า บริษัทขาดทุน จึงจำเป็นต้องลดกำลังการผลิต โดยการลดการจ้างงาน ซึ่งผู้เสียหายทั้งหมด ๑๑ คน ไม่ได้รับเงินชดเชยทั้ง ๆ ที่ทำงานมาไม่น้อยกว่า ๗ ปี ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมควรจะมีการปรับลด เนื่องจากไม่ได้ดูแลผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนอย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น กรณีหญิงมีครรภ์มาตรงตามที่แพทย์นัดไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ เนื่องจากไม่ได้มารักษาอาการป่วย
นายประกอบ รัตนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ตั้งไว้ ๑,๓๓๓ ล้านบาท ปรับลดงบประมาณลง ๒๓๐ ล้านบาท ไม่ทราบว่ากรรมาธิการได้สอบถาม เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของกรมด้วยหรือไม่ เช่น โครงการจัดภูมิทัศน์ ซึ่งเมื่อมีสอบสวนการทุจริตพบว่ามีการทุจริตจริง แต่ไม่สามารถเอาตัว ผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ จึงอยากจะขอเอกสารที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และขอทราบความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าว
นายวิทยา บุรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรค
ไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการ ตอบข้อซักถามดังต่อไปนี้
๑. กรณีที่บริษัทเลิกจ้างหญิงมีครรภ์ ทางกรรมาธิการฯ ยังไม่มีข้อมูล แต่จะดำเนินการ
ประสานงานให้
๒. กรณีหมอนัดตรวจ แต่ประกันสังคมไม่จ่าย จะรับไปดำเนินการ
๓. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมาธิการเน้นไปสนใจการฝึกฝนแรงงานสำหรับเครื่องจักรที่ได้รับผ่อนผันภาษี จะรับไปดำเนินการ ส่วนเรื่องการทุจริตของโครงการจัดภูมิทัศน์นั้นอยู่ในระหว่างการสอบสวน
หลังจากนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ๒๖๘ เสียง
จากนั้น ได้มีการพิจารณามาตรา ๒๐ กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีสมาชิกได้อภิปรายในประเด็น ต่าง ๆ ดังนี้
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายขอปรับลดลงร้อยละ ๗ จากงบประมาณที่ได้ตั้งไว้ ๒,๕๒๕,๕๘๔,๓๐๐ บาท (สองพันห้าร้อยยี่สิบห้าล้านห้าแสนแปดหมื่นสี่พันสามร้อยบาท) เพราะกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญมากที่เกี่ยวกับชาติ แต่กรรมาธิการได้มีการปรับลดงบประมาณของกระทรวงวัฒนธรรมลงในส่วนของกรมศิลปากร แผนงานการงานการศึกษาขั้นพื้นฐานของกรมศิลปากรคือ วิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเรื่องการเผยแพร่ความเป็นไทย มีโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก สำหรับในส่วนของค่าก่อสร้างและสิ่งก่อสร้าง ซึ่งมี ๒ กิจกรรม คือ อาคาร
ดนตรีไทย ๘ ชั้น พื้นที่ประมาณ ๑๓,๐๐๐ ตารางเมตร ๑ หลัง ซึ่งได้ตั้งงบประมาณไว้ ๕๔,๓๕๘,๖๐๐ บาท (ห้าสิบสี่ล้านสามแสนห้าหมื่นแปดพันหกร้อยบาท) กรรมาธิการได้ปรับลดลงจาก ๒๖,๓๕๘,๖๐๐ บาท (ยี่สิบหกล้านสามแสนห้าหมื่นแปดพันหกร้อยบาท) และในส่วนอาคารหอสมุดสารสนเทศและปฏิบัติวิชาชีพพร้อมลิฟท์ ๑ หลัง ได้ตั้งงบประมาณไว้ ๖๔ ล้าน ปรับลดลง ๔๐ ล้าน ขอเรียนถามกรรมาธิการว่า
๑. ได้มีการสอบถามรายละเอียดของอาคารทั้ง ๒ หลัง หลังจากได้มีการปรับลดแล้วมีปัญหา เรื่องการก่อสร้างหรือไม่ เพราะปรับลดลงเกินร้อยละ ๕๐
๒. อาคารทั้ง ๒ หลังนี้จะตั้งในวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่ไหน ตัดงบลงแล้วสามารถยืนยันได้หรือไม่ ว่าสามารถก่อสร้างได้
จากนั้น นายวิทยา บุรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงว่า การปรับลดงบประมาณของกรมศิลปากรลงนั้น กระทรวง
วัฒนธรรมเป็นผู้ปรับลด
ต่อจากนั้น นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายขอปรับลดงบประมาณลง เพราะไม่แน่ใจในทิศทางยุทธศาสตร์ กระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรม เคยชี้แจงกรรมาธิการว่ามีเรื่องดี ๆ ที่จะทำแต่ไม่มีทรัพยากรและไม่ได้รับการสนับสนุน จึงขอเรียนถามว่า กระทรวงวัฒนธรรมมียุทธศาสตร์หรือไม่อย่างไร และจากการทำการสำรวจจาก เอแบคโพลได้สำรวจพฤติกรรมของเยาวชน ๑๔,๗๘๓ ตัวอย่าง ใน ๒๙ จังหวัดทั่วประเทศพบว่าสังคมไทย เปลี่ยนแปลงไป เพราะการใช้เวลาอยู่กับบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง จากร้อยละ ๙๖.๒ เหลือเพียงร้อยละ ๘๔.๗ กิจกรรม เพื่อสังคมสาธารณประโยชน์จากร้อยละ ๘๖.๒ เหลือร้อยละ ๗๖.๙ การเข้าวัดทำบุญตักบาตรจาก ร้อยละ ๘๕ เหลือร้อยละ ๗๙ โดยเฉพาะการที่เยาวชนรักการอ่านหนังสือในห้องสมุดจากร้อยละ ๕๔ เหลือร้อยละ ๔๕ แต่เยาวชนเหล่านี้ดูหนังสือ อินเตอร์เนต ภาพยนตร์อนาจารจากร้อยละ ๒๕ เพิ่มเป็นร้อยละ ๓๘ ในเรื่อง ดังกล่าวนี้ คณะกรรมาธิการได้มีความวิตกในเรื่องนี้หรือไม่ กระทรวงวัฒนธรรมได้ทำงานแบบบูรณาการกับกระทรวงศึกษาธิการว่า จะมีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร และได้มีการสำรวจตนเองหรือไม่ว่าสังคมต้องการเป็นสังคมอย่างไรและจะดำเนินการไปทิศทางใด ดังนั้นจากการตัดลดงบประมาณของกระทรวงนี้ลง เพราะเห็นว่าล้มเหลวและต้องการให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมบูรณาการกับทุก ๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักพระพุทธศาสนาและขอให้กรรมาธิการทำในสิ่งที่ควรทำและต่อต้านในสิ่งที่ควรต่อต้าน
นายพินิจ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคไทยรักไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ ได้ตอบชี้แจงว่า ในเรื่องค่านิยมนั้นจะต้องมีการรณรงค์และเสริมสร้างพัฒนา คุณธรรมจริยธรรมให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอดีตได้มีการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม แต่ปัจจุบันไม่มี จึงได้ส่งเรื่องให้กระทรวงศึกษาธิการไปพิจารณาในเรื่องนี้ร่วมกัน และคณะกรรมาธิการจะทำบันทึกเสนอกระทรวงศึกษาธิการต่อไป
- การอบรมจริยธรรมนักเรียนเพื่อจริยธรรมคุณธรรมงบประมาณในปี ๒๕๔๘ นี้ได้ตั้งงบประมาณไว้ ๗ ล้านบาท
- อุดหนุนพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีก ๑๐ ล้านบาท
- เผยแพร่หลักธรรมในรูปละครเวที และธรรมทัศนาจรเป็นสถาบันครอบครัว
- เผยแพร่หลักธรรมในองค์กรพระพุทธศาสนา ๗ องค์กรเผยแพร่ประมาณ ๗๕๐ แห่ง
ในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้หลังจากได้จัดสรรงบประมาณให้แล้วจะมีการประเมินผลและประสานงานกับกระทรวงศึกษา ธิการด้วย
นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตอบการชี้แจงว่าไม่ติดใจอะไร
ต่อมาเป็นการพิจารณาในมาตรา ๒๑ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่มีการแก้ไข
จากนั้นได้มีการพิจารณามาตรา ๒๒ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีสมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ พันโทหญิงฐิติยา รังสิตพล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชี รายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ปรับลดงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการลงร้อยละ ๑๐ เป็นเงินประมาณ ๒๐,๓๘๘ ล้านบาท เพราะบริหารแรงงานไม่สัมฤทธิ์ผลตามนโยบายของการปฏิรูประบบราชการทำให้ขาดแคลนบุคลากรและ เครื่องมือสนับสนุนทางการศึกษามีการเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย และมีการทุจริตในการจัดซื้อคอมพิวเตอร์จึงขอตัดลดงบประมาณลง
นายวิชัย ตันศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่างบประมาณของการศึกษาในปีนี้ตั้งไว้สูงมากถึง ๒๐๓,๘๘๔,๐๙๙,๕๐๐ บาท (สองแสน สามพันแปดร้อยแปดสิบสี่ล้านเก้าหมื่นเก้าพันห้าร้อยบาท) คิดเป็นร้อยละ ๑๗ ของงบประมาณทั้งหมดทั่วประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดูสัดส่วนของบประมาณดังกล่าวว่า สอดคล้องกับอุดมการณ์และหลักการ หรือไม่ โดยเฉพาะ หลักการของการปฏิรูปการศึกษาจึงได้ขอปรับลดในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงไว้ ๑,๐๐๐ ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานขอปรับลด ๕๐ ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาขอปรับลด ๑๐ ล้านบาท สาเหตุที่แปรญัตติ เพราะต้องการให้แสดงความคิดเห็นและเพิ่มเติม เช่น โครงการโรงเรียนในฝันที่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จจึงอยากจะขอเปลี่ยนให้ทุกโรงเรียนในประเทศเป็นโรงเรียนในฝันของชุมชนเป็น โรงเรียนที่เกิดจากชุมชนและสนองต่อความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังได้อภิปรายถึงกองทุนพัฒนาครู ที่ปรากฏงบประมาณอยู่เฉพาะในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษานั่นหมายความว่าในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไม่มีงบพัฒนาครูอยู่เลยทั้ง ๆ ที่การพัฒนาครูในทั้ง ๒ ระดับนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และยังได้อภิปรายถึงปัญหาหนี้สินของครูที่ยังไม่มีงบประมาณเพื่อการนี้ ปัญหาที่จะ ต้องเร่งขยายการศึกษาขั้นอุดมศึกษา โดยการเพิ่มสัดส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนและการให้เงินสนับสนุนโดยตรงแก่นักศึกษาเพื่อให้สามารถเลือกได้ว่าจะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชนหรือมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาโดยเฉพาะในเรื่อง ICT เทคโนโลยีทางการศึกษา และภาษาอังกฤษ ปัญหาเรื่องวัฒนธรรม และการศึกษาต่อเนื่อง
นายประกอบ รัตนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน ๒๐๓,๘๘๔,๐๙๙,๕๐๐ บาท (สองแสนสามพันแปดร้อยแปดสิบสี่ล้านเก้าหมื่นเก้าพันห้าร้อยบาท) นับว่าสูงมาก จึงมีความกังวลว่าคุณภาพ ทางการศึกษากับงบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทนั้น กระทรวงศึกษาธิการสามารถทำให้เกิดประโยชน์ คุ้มค่าหรือไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องไปดำเนินการบริหารจัดการให้เกิดผลตามนั้น นอกจากนี้ยังได้อภิปรายถึงปัญหาต่าง ๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาอาทิ เช่น ปัญหาเรื่องความไม่พร้อม การขาดแคลนอัตรากำลังครูทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา ตลอดจนระดับอุดมศึกษา ปัญหาความแตกต่างระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนชนบท ในเรื่องความพร้อมด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านอุปกรณ์ การเรียน สถานที่และบุคลากรครู เป็นต้น
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติ ขอปรัดลดลงร้อยละ ๕ ได้เสนอแนะให้เพิ่มงบประมาณในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการสัมมนาและฝึกอบรม จาก ๕ ล้านบาท เป็น ๒๐ ล้านบาท นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับงานส่งเสริมและสนับสนุนการลูกเสือยุวกาชาดและกิจการนักเรียน เพื่อสร้างผู้นำในกิจการลูกเสือ สร้างวินัยให้กับคนในสังคม
นางสาวรังสิมา รอดรัศมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงคราม พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติขอปรับลดลง ๒๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับครู ซึ่งส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็ก และมีการใช้มาตรการที่ ๓ กับครู ทั้งนี้รัฐบาลควรให้ขวัญและกำลังใจครู เนื่องจากปัจจุบันยังขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ นอกจากนี้โรงเรียนในจังหวัดสมุทรสงคราม ยังไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินงานในปี ๒๕๔๘
นายสฤต สันติเมทนีดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงถึงงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ได้ จัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ไว้แล้ว และได้ตั้งกองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนขึ้นมาในปีนี้ด้วย นอกจากนี้ยังจัดงบประมาณสนับสนุนให้แก่นักศึกษาโดยตรงในการเลือกเรียนในสาขาและมหาวิทยาลัยที่ต้องการ
นางลาวัณย์ ตันติกุลพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมุกดาหาร พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงถึงบริษัทที่เคยประมูลคอมพิวเตอร์กับกระทรวงศึกษาธิการแล้วมีปัญหา เกิดขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทดังกล่าวไม่ได้มีธุรกรรมใด ๆ กับกระทรวงอีก และได้มีการจัดสรรงบประมาณในการเพิ่มบุคลากรครูในสถานศึกษาที่ยังขาดแคลน อีกทั้งยังเชิญข้าราชการครูที่เกษียณอายุก่อนเวลาให้กลับมาทำงาน อีกเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังชี้แจงถึงคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา โดยแต่ละสถาบันจะมีมาตรฐานและ หลักสูตรที่แตกต่างกัน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดการประกันคุณภาพการเรียนการสอนของแต่ละสถานศึกษาด้วย
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้อภิปรายพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกับกรรมาธิการด้วยคะแนน ๒๘๒ เสียง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ